ภายใต้การกุมบังเหียนของ Wee Ee Cheong ธนาคารสัญชาติสิงคโปร์อย่าง UOB ได้ยกระดับขึ้นเป็นธนาคารชั้นนำแห่งภูมิภาคอย่างแท้จริงหลังเข้าซื้อธุรกิจกลุ่มลูกค้าบุคคลของ Citibank ในประเทศ แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่การจับมือกับซูเปอร์สตาร์คนดังอย่าง Taylor Swift สร้างกระแสร้อนแรงยิ่งกว่า
UOB ก่อตั้งขึ้นโดย Wee Kheng Chiang ปู่ของ Ee Cheong ในปี 1935 ในรูปแบบเป็นธนาคารเพื่อธุรกิจขนาดใหญ่ หลังจากนั้นบริษัทได้ขยับขยายจากธนาคารที่มีสาขาแห่งเดียวในสิงคโปร์จนกลายเป็นธนาคารยักษ์ใหญ่ระดับภูมิภาคที่มีสินทรัพย์ 5.24 แสนล้านเหรียญสิงคโปร์ (4.02 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ) ณ เดือนธันวาคม ปี 2023
นับตั้งแต่เขาสืบทอดตำแหน่งซีอีโอต่อจาก Wee Cho Yaw บิดาผู้ล่วงลับเมื่อปี 2007 Wee ยังคงรักษาความกระตือรือร้นในการทำงานไว้เช่นเดิม โดยเน้นย้ำว่า การขยายกิจการในต่างประเทศเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากโอกาสเติบโตในตลาดขนาดเล็กและมีผู้เล่นหนาแน่นอย่างสิงคโปร์มีจำกัด
“หากวันนี้ UOB ยังคงเป็นแค่ธนาคารในสิงคโปร์เราจะมีความเปราะบางสูงมาก” ผู้บริหารวัย 71 ปีกล่าวระหว่างการสัมภาษณ์พิเศษกับ Forbes Asia
ธนาคารรายงานกำไรสุทธิจากธุรกิจหลักที่สูงทุบสถิติ (ไม่รวมรายการกำไรขาดทุนพิเศษ) ที่ 6.1 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ในปี 2023 จากรายได้รวม 1.39 หมื่นล้านเหรียญสิงคโปร์

แต่สำหรับผลการดำเนินงานครึ่งปีของปี 2024 ตัวเลขกำไรสุทธิของธนาคารแทบไม่มีการเติบโต โดยอยู่ที่ 3.1 พันล้านเหรียญสิงคโปร์จากรายได้ 7 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ ขณะที่สัดส่วนกำไรจากธุรกิจในสิงคโปร์อยู่ที่ 57% และ 43% มาจากต่างประเทศ ธนาคารได้ตั้งเป้าที่จะเปลี่ยนสัดส่วนนี้เป็น 54% และ 46% ภายในปี 2026 “การเป็นเบอร์ 1 ในสิงคโปร์ไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญสำหรับเรา” Wee กล่าวพร้อมกับเสริมว่า “แต่เราเป็นผู้เล่นที่มีธุรกิจครอบคลุมภูมิภาคอาเซียนมากที่สุด”
UOB เป็นธนาคารรายใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของสิงคโปร์โดยวัดจากมูลค่าสินทรัพย์ ณ สิ้นปี 2023 โดยเป็นรองคู่แข่งในประเทศอย่าง DBS Group และ Oversea-Chinese Banking Corp. (OCBC) ที่มีสินทรัพย์ 7.39 แสนล้านเหรียญสิงคโปร์ และ 5.81 แสนล้านเหรียญสิงคโปร์ตามลำดับ ราคาหุ้นของธนาคารซึ่งจดทะเบียนซื้อขายในตลาดสิงคโปร์แห่งนี้เพิ่มขึ้น 12% จากต้นปี 2024 และปิดที่ราว 32 เหรียญสิงคโปร์
ในช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาเพื่อเสริมความแข็งแกร่งสู่เป้าหมายการเป็นธนาคารชั้นนำระดับภูมิภาคของ UOB Wee ได้วางเดิมพันครั้งใหญ่ในตลาดเอเชีย-ตะวันออกเฉียงใต้เมื่อปี 2022 โดยทุ่มงบประมาณ 4.9 พันล้านเหรียญสิงคโปร์เข้าซื้อธุรกิจธนาคารกลุ่มลูกค้ารายย่อยของ Citibank ในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม ซึ่งรวมถึงธุรกิจรับฝากเงิน การบริหารความมั่งคั่ง ไปจนถึงพอร์ตสินเชื่อแบบมีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน
Wee กล่าวว่า บิดาผู้ล่วงลับของเขาซึ่งใช้เวลา 5 ทศวรรษในอาชีพการทำงานที่ธนาคารสร้างข้อตกลงธุรกิจต่างๆ ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เกิดขึ้น ซึ่งรวมถึงการเข้าซื้อ Overseas Union Bank ของสิงคโปร์เมื่อปี 2001 ด้วยมูลค่า 1 หมื่นล้านเหรียญสิงคโปร์ (ประมาณ 5.5 พันล้านเหรียญในขณะนั้น) คิดว่าเป็นการเดินหน้าแบบ “รุกหนัก” แต่มันก็เกื้อกูลกัน “เขามั่นใจในตัวผมพอที่จะบอกว่า ‘เห็นด้วย’” Wee กล่าว
การถือหุ้นสัดส่วนใหญ่ใน UOB เป็นแหล่งความมั่งคั่งหลักของตระกูลที่ครอบครองทรัพย์สินมูลค่ากว่า 7.8 พันล้านเหรียญซึ่ง Wee ลูกชายคนโตและพี่น้องอีก 4 คนได้รับมอบมรดกหลังจากบิดาเสียชีวิตด้วยวัย 95 ปีในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2024 และทำให้พวกเขารั้งอันดับ 7 ผู้ที่มั่งคั่งที่สุดของสิงคโปร์

นอกจากนี้ ตระกูล Wee ยังถือครองหุ้นในบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ UOL Group ที่ Wee Ee Lim น้องชายของเขานั่งตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัท Kheng Leong และรวมถึง Haw Par บริษัทผู้ผลิตยาหม่องแก้ปวดชื่อดัง Tiger Balm ที่มี Wee Ee Chao น้องชายอีกคนนั่งเก้าอี้ประธานกรรมการ
การเข้าซื้อ Citibank ซึ่งใช้แหล่งเงินทุนภายในของกิจการทำให้ UOB มีสาขาเพิ่มขึ้น 24 แห่งพร้อมพนักงานอีก 5,000 คน ณ สิ้นปี 2023 รวมแล้วธนาคารแห่งนี้จะมีพนักงานมากกว่า 32,000 คน และเครือข่ายสาขาและสำนักงาน 500 แห่งใน 19 ประเทศและเขตการปกครอง โดยส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียและจำนวนหนึ่งในยุโรปและอเมริกาเหนือ
นอกจากนี้ บริษัทจะมีฐานลูกค้าบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นประมาณ 2.4 ล้านใบหลังเข้าซื้อกิจการ รวมเป็นราว 8 ล้านใบ ซึ่งธนาคารกล่าวว่า จะทำให้บริษัทติดอันดับ 1 ใน 5 ผู้ออกบัตรเครดิตรายใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย “สิ่งนี้จะทำให้เรามีข้อได้เปรียบในการเริ่มเปิดเกมชิงชัยกับคู่แข่ง” Wee กล่าว พร้อมเสริมว่า UOB ตั้งเป้าขยายฐานลูกค้าบัตรเครดิตให้ได้มากกว่า 10 ล้านใบภายในปี 2026
การเข้าซื้อกิจการเสร็จสมบูรณ์ตามกฎหมายเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2023 ขณะที่การโอนย้ายบัญชีและสินทรัพย์ทั้งหมดมีกำหนดแล้วเสร็จภายในกลางปี 2025 ในระหว่างการดำเนินการ UOB ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายทางการค้า Citibank และจะทยอยยกเลิกใช้เมื่อย้ายลูกค้าไปยังแพลตฟอร์มของ UOB ที่สำคัญกว่านั้นข้อมูลจาก UOB เผยว่า ธุรกิจใน 4 ประเทศนี้คาดว่าจะช่วยเพิ่มรายได้ให้ธนาคารได้ถึงปีละ 1 พันล้านเหรียญสิงคโปร์เมื่อการโอนย้ายเสร็จสิ้นในปี 2025
Wee กล่าวว่า การควักเงินซื้อกิจการครั้งนี้นับเป็นการพลิกเกมธุรกิจ “การซื้อกิจการทำให้เรามีพื้นฐานธุรกิจดีขึ้น” เขากล่าว และทำให้ UOB สามารถดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถมากขึ้นพร้อมสร้างทีมบริหารศักยภาพสูงที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิม
ต่างจาก DBS และ OCBC ที่พยายามขยายฐานธุรกิจในเอเชีย-เหนือผ่านการเข้าซื้อกิจการ แต่ Wee กล่าวว่า เขาชอบที่จะมุ่งเน้นตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แถบประเทศบ้านเกิดมากกว่า พร้อมเสริมว่า ข้อตกลงซื้อกิจการ Citibank เพิ่มศักยภาพให้ UOB เติบโตในภูมิภาคนี้ได้เร็วขึ้นอย่างน้อย 5 ปี

“ภาพลักษณ์ของ UOB โดยรวมได้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง” Wee กล่าว “ภาพลักษณ์ของธนาคารได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง”
ในขณะเดียวกันธนาคารกำลังพยายามดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่มีอายุน้อยลงด้วยการจับมือจัดกิจกรรมร่วมกับเหล่าคนดัง UOB เป็นธนาคารผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการสำหรับคอนเสิร์ต Taylor Swift ในสิงคโปร์เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2024 ซึ่งบัตรถูกขายจนหมดเกลี้ยง โดยลูกค้าบัตร UOB ได้รับสิทธิ์ในการจองซื้อบัตรก่อนใคร
การร่วมมือเป็นพันธมิตรครั้งนี้ทำให้ยอดสมัครบัตรเครดิตระหว่างวันที่ 21 มิถุนายน - 7 กรกฎาคม ปี 2023 ทะยานขึ้นเกือบ 120% จากเดือนก่อนหน้าซึ่งเป็นช่วงการขายบัตรคอนเสิร์ตรอบพิเศษก่อนการจองแบบทั่วไป ลูกค้าผู้ถือบัตรเครดิต UOB ใช้จ่ายเงินซื้อบัตรคอนเสิร์ตรวมทั้งสิ้นประมาณ 30 ล้านเหรียญสิงคโปร์ โดยเกือบ 1 ใน 4 ของยอดรวมมาจากการรูดใช้จ่ายนอกประเทศสิงคโปร์ และสัดส่วนราว 40% ของผู้ถือบัตรเป็นลูกค้าที่โอนย้ายมาจาก Citibank
แม้จะหันมารุกธุรกิจท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น แต่ Wee มีความมั่นใจว่า ไม่ว่าเหตุการณ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร การเดินหน้าอย่างกล้าหาญในตลาดเอเชีย-ตะวันออกเฉียงใต้ของ UOB และความพยายามดึงดูดกลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่จะเตรียมธนาคารให้พร้อมรับมือกับอนาคต “ในอดีตคนมองว่าเราเป็นองค์กรแบบดั้งเดิม” เขากล่าว “แต่ตอนนี้เราถูกมองว่าเป็นธนาคารที่มีความทันสมัยมากขึ้น”
เรื่อง: Jonathan Burgos เรียบเรียง: นวตา สันติวัฒนา ภาพ: Munster Cheong
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Richard Maloney ซีอีโอใหม่นำ UOB ไทยเติบใหญ่ในวิถียั่งยืน
อ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมกราคม 2568 ในรูปแบบ e-magazine
