กฤศ โกษานันตชัย รุ่น 2 “EVT” ขยายธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าคนไทย - Forbes Thailand

กฤศ โกษานันตชัย รุ่น 2 “EVT” ขยายธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าคนไทย

คนรุ่นใหม่กับแนวคิดใหม่ทางธุรกิจมักเดินมาด้วยกัน แม้เป็นการสืบทอดธุรกิจของครอบครัวแต่ความต่างของเจเนอเรชั่นก็มีส่วน ทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ แนวคิดใหม่ และการรุกตลาดที่เปลี่ยนไป


    บริษัทผู้ผลิตรถไฟฟ้าของคนไทยที่หลายคนรู้จักในชื่อ EVT เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการส่งต่อธุรกิจครอบครัวสู่เจเนอเรชั่นใหม่และพบว่ามีแนวโน้มเติบโตที่ต่างออกไป ภายใต้การขับเคลื่อนโดยผู้นำรุ่น 2 กฤศ โกษานันตชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท รถไฟฟ้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ EVT ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายรถไฟฟ้าของคนไทย ซึ่งให้บริการในตลาดมากว่า 30 ปี ภายใต้การนำของ “ดร. นุชนาถ วสุรัตน์” นักธุรกิจหญิงที่สร้างธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าให้เติบโตมาอย่างต่อเนื่องก่อนจะส่งต่อการบริหารสู่กฤศ บุตรชายที่สำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมเข้ามาสานต่อกิจการ

    “ประมาณปี 2553 ผมได้เข้ามาช่วยงานใน EVT ตอนนั้นส่วนใหญ่เป็นงานโครงการซึ่งประมูลมา มีทั้งรถไฟฟ้าที่ใช้ในมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และมหาวิทยาลัยต่างๆ” กฤศย้อนอดีตการเริ่มต้นทำงานให้ครอบครัว เขาเล่าว่า ตอนนั้นเพิ่งจบมาด้านวิศวกรรมศาสตร์ก็จะเข้าไปดูงานแนววิศวะคลุกคลีกับช่างเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้เข้ามานั่งบริหารเสียทีเดียว งานส่วนใหญ่ที่เข้าไปดูตอนนั้นคืองานออกแบบ ดูว่าทำงานอย่างไรได้โจทย์มาแล้วออกแบบอย่างไรให้ตรงกับความต้องการลูกค้า


14 ปีเรียนรู้สู่การพัฒนา

    สินค้าของ EVT เป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด มีทั้งรถกอล์ฟ รถบักกี้ มีชื่อเรียกต่างกันไปตามรุ่น เช่น EVT Buggy, EVT Chalet Proof, EVT Classik มีหลายรุ่นหลายขนาดหลากหลายตามความต้องการของลูกค้า มีทั้งรถที่บริษัทออกแบบเป็นมาตรฐานและรถที่ออกแบบพิเศษตามคำสั่งหรือความต้องการของลูกค้า ต่อมาได้พัฒนาเป็นรถบัสไฟฟ้า เช่น รถบัสที่วิ่งในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นรถของ EVT โดยรถบัสไฟฟ้า EVT E-BUS 7M ออกแบบมาเพื่อรองรับผู้โดยสาร 20 ที่นั่ง สร้างจากวัสดุโลหะคุณภาพดี เย็นสบาย ไร้มลพิษ กำลังมอเตอร์ 82 kW (160) AC Motor ระบบส่งกำลังแบบอัตโนมัติ เครื่องประจุไฟ 220 โวลต์ สร้างความเร็วสูงสุด 90 กม./ชม ระยะทางวิ่งต่อชาร์จ 150-200 กม. การไต่เนิน 10° ระบบเบรกหน้าดิสก์เบรก ระบบเบรกหน้าดิสก์ ระบบเบรกหลังดรัมเบรก เป็นรถบัสทางเลือกที่ไม่ก่อมลพิษทางอากาศ

    กฤศเล่าว่า เขาใช้เวลาอยู่กับแผนกช่างและออกแบบ เรียนรู้จากการทำจริงเปรียบเทียบกับสิ่งที่เรียนมาว่าไปด้วยกันได้แค่ไหน และใช้เวลาคลุกคลีกับงานส่วนนี้มากกว่า 3-5 ปี

    นอกจากเรียนรู้เรื่องการออกแบบและการผลิตแล้ว สิ่งที่เขาพยายามพัฒนาไปพร้อมกันคือเรื่องของการบริการ เนื่องจากในช่วงนั้น (ปี 2553) รถไฟฟ้าถือว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับเมืองไทย เพราะฉะนั้นผู้ขายต้องพร้อมบริการเพื่ออำนวยความสะดวกกับลูกค้าอย่างเต็มที่งานใน 2 ส่วนนี้เป็นภารกิจหลักในช่วงเริ่มต้นของเขา


    “เมื่อก่อนตลาดรถไฟฟ้ายังใหม่จึงไม่มี supply chain ส่วนใหญ่ต้อง sourcing จากต่างประเทศ ช่วงนั้นจีนเริ่มวาง strategy EV ผมก็ไปดูโรงงานที่จีนซึ่งเริ่มขยายมากขึ้น แต่ยังไม่ทันสมัยมากนัก” เขาเล่าประสบการณ์ช่วงเริ่มต้นศึกษาเกี่ยวกับรถ EV อย่างจริงจัง ซึ่งต่อมาได้นำชิ้นส่วนเข้ามาประกอบในไทย แต่หลังจากมีประสบการณ์มากขึ้นก็ผลิตเองเพราะง่ายกว่า เร็วกว่า และดีกว่าการไป outsource เข้ามา

    “พอร์ตลูกค้าเราตอนนี้ถ้านับเป็นรายหรือนับเป็นจํานวนรถที่เราผลิตให้น่าจะมีเป็นหมื่นคันแล้ว มีรถหลายประเภทการใช้งาน ทั้งรถเล็กรถใหญ่ และรถขนาดกลาง”

    ผู้บริหารรุ่น 2 EVT ย้ำว่า ในช่วง 10-15 ปี ก่อนเน้นทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก เป็นงานโปรเจ็กต์ เช่น ในสนามกอล์ฟ บางโครงการซื้อ 10-20 คัน และมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ได้วอลูมในการขายเพิ่มขึ้น นำไปสู่งานสัมปทานเป็นโครงการ ให้บริการหลังการขายด้วย เช่น การดูแลและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าเหล่านั้น มีทั้งแบบที่ขายและไม่ได้ขาย แต่เป็นการให้บริการซึ่งค่อนข้างหลากหลายแล้วแต่ความต้องการของลูกค้า 

    เขาอธิบายบริการรถไฟฟ้าของ EVT ว่า เป็นเหมือนแพลตฟอร์มคือ เป็นการออกแบบให้บริการที่เหมาะสมกับลูกค้า เริ่มต้นด้วยการใช้งานง่ายๆ ลูกค้าซื้อปลีกนำไปใช้ได้ไม่ยุ่งยาก ไม่ได้ทำเป็นธุรกิจใหญ่แบบรถยนต์นั่ง เพราะรถที่ทำตลาดช่วงนั้นเป็นรถไฟฟ้าขนาดเล็กเป็นหลัก การตลาดก็เป็นเฉพาะกลุ่มจึงไม่ได้มีโชว์รูมมากเหมือนการจำหน่ายรถยนต์นั่งทั่วไป


ขยายทั่วไทย นำร่องภูเก็ต

    ล่าสุดนอกจากบริการรถโดยสารให้ กทม. EVT ยังได้รุกขยายตลาดไปยังภูเก็ต หลังได้บรรลุข้อตกลงด้านการตลาดและการให้บริการหลังการขายกับ บริษัท ใหญ่ยนต์เซอร์วิส 24 จำกัด ให้บริการในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียง

    “ภูเก็ตถือเป็นตลาดภูมิภาคแห่งแรกที่ EVT ได้ร่วมมือกับพันธมิตรอย่างเป็นทางการในการพัฒนาตลาดและรับผิดชอบด้านบริการหลังการขาย” กฤศยังบอกด้วยว่า นอกจากภูเก็ตแล้ว EVT ได้เร่งดำเนินการเจรจากับพันธมิตรในภูมิภาคต่างๆ อย่างต่อเนื่อง คาดว่าภายในปีนี้จะได้ร่วมมือกับพันธมิตรในภูมิภาคอื่นๆ ไปทั่วประเทศ

    กฤศย้ำและว่า นอกจากร่วมทุนขยายตลาดแล้วเขายังเดินหน้าเร่งเจรจากับพันธมิตรต่างชาติเจ้าของเทคโนโลยีผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าสำหรับรถไฟฟ้าเพื่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ป้อนโรงงานผลิตรถไฟฟ้าในประเทศไทย โดยตั้งเป้าการลงทุนไว้ที่ 100 ล้านบาท ดังนั้น ก้าวต่อไปของ EVT คือ ต้องการนำกิจการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

    ทั้งหมดนี้คือเป้าหมายและความท้าทายจากมุมมองและแนวคิดในการขยายธุรกิจแบบคนรุ่นใหม่ที่เน้นต่อยอดความสำเร็จกับพาร์ตเนอร์ เอาความพร้อมของแต่ละคน มาช่วยกันผลักดันสร้างความเชื่อมั่นและความยอมรับในตลาด พร้อมก้าวไปสู่ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าที่พร้อมบริการอย่างรอบด้านตอบโจทย์ทั้งนโยบายของประเทศ และกระแสการตอบรับเรื่องการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นวาระของโลกที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ



ภาพ: EVT



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : สวยและรวยมาก! Taylor Swift ขึ้นแท่นนักดนตรีหญิงมั่งคั่งที่สุดในโลก

คลิกอ่านเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2567 ในรูปแบบ e-magazine