Max Levchin เศรษฐีพันล้าน “มือปราบบัตรเครดิต” - Forbes Thailand

Max Levchin เศรษฐีพันล้าน “มือปราบบัตรเครดิต”

FORBES THAILAND / ADMIN
15 Sep 2021 | 07:27 AM
READ 4294

คนยุคมิลเลนเนียลเลี่ยงการใช้เงินพลาสติก และอาจจะระแวดระวังการเป็นหนี้จากการบริโภค ส่วนบริษัท Affirm ของ Max Levchin ก็มองเห็นลู่ทางการเสนอขายสินเชื่อ “ซื้อก่อน ผ่อนทีหลัง” ให้กับคนรุ่นใหม่และนั่นเองทำให้เขาขึ้นแท่นเป็นเศรษฐีพันล้าน

ณ วันที่ 26 เมษายน ปี 1986 Max Levchin ในวัย 10 ปี และครอบครัวอาศัยอยู่ในกรุง Kiev ประเทศยูเครน ซึ่งอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Chernobyl 90 ไมล์ ในขณะที่รัฐบาลโซเวียตพยายามอย่างหนักที่จะปกปิดความรุนแรงของภัยพิบัติดังกล่าว มารดาของ Levchin ซึ่งเป็นนักฟิสิกส์เข้าใจดีถึงอันตรายของกัมมันตภาพรังสี จึงหอบลูกชายทั้งสองไปฝากไว้กับยายซึ่งพำนักอยู่ใน Crimea ห่างออกไปหลายร้อยไมล์ 5 ปีต่อมาครอบครัว Levchin ย้ายมา Chicago ในฐานะผู้อพยพพร้อมกับเงินติดตัวเพียง 700 เหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากสกุลเงินรูเบิลล่มสลาย และรัฐบาลมีคำสั่งจำกัดวงเงินที่ผู้คนจะนำออกนอกประเทศได้ “ประสบการณ์ส่วนหนึ่งในการย้ายจากประเทศสังคมนิยมมาพำนักในสหรัฐฯ ก็คือ ผมไม่ได้เตรียมตัวมาพบเจอกับหลายสิ่งหลายอย่างที่มีอยู่ในประเทศนี้ทั้งสิ่งที่ดีและสิ่งที่ไม่ดี ผมมีบัตรเครดิตใบแรก 2-3 ปีหลังจากเดินทางมาอเมริกา และทำลายเครดิตของตัวเองลงแทบจะในทันที เพราะผมไม่รู้จักวิธีใช้เครื่องมืออันทรงอานุภาพนี้” Levchin ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา ในวันที่ Affirm Holdings ธุรกิจฟินเทคซึ่งเสนอขายสินเชื่อ “ซื้อก่อน ผ่อนทีหลัง” ที่เขาร่วมก่อตั้งและนั่งแท่นบริหารในฐานะซีอีโอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หุ้นของบริษัทมีราคาเพิ่มขึ้นเท่าตัวภายในวันเดียวกันนั้นเองเป็น 96 เหรียญ ส่งผลให้บริษัทมีมูลค่าอยู่ที่ 2.4 หมื่นล้านเหรียญ และหุ้นที่ Levchin ครอบครองอยู่มีมูลค่า 2.5 พันล้านเหรียญ Max Levchin ให้สัมภาษณ์กับ Forbes จาก Big Island ใน Hawaii ซึ่งเป็นสถานที่ที่ตัวเขา ภรรยา และลูกอีก 2 คน ใช้เวลาพักผ่อนช่วงหยุดพักร้อนตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา Levchin ไม่สวมรองเท้าใส่กางเกงออกกำลังกายขาสั้นและเสื้อยืด Affirm สีดำ เครื่องแต่งกายเป็นเพียงสิ่งเดียวที่ผู้ประกอบการซึ่งไม่ยอมหยุดนิ่งรายนี้ปล่อยตามสบายๆ Levchin ซึ่งเป็นอัจฉริยบุคคลในสาขาคณิตศาสตร์พร้อมด้วยแรงขับในฐานะผู้อพยพร่วมก่อตั้ง PayPal ซึ่งปฏิวัติการชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ในวัย 23 ปี
Max Levchin
Max Levchin ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอ Affirm Holdings
ปัจจุบัน Levchin ก็ขึ้นแท่นเศรษฐีพันล้านแล้วเช่นกัน เนื่องมาจากการขยายตัวของการค้าขายบนโลกออนไลน์ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 และการที่ตัวเขาคาดการณ์อนาคตได้อย่างถูกต้องเมื่อเกือบ 1 ทศวรรษที่ผ่านมา อาศัยประสบการณ์ตรงจากเคราะห์ร้ายที่เกี่ยวเนื่องกับบัตรเครดิตซึ่งเกิดขึ้นกับตัวเขาเองในอดีต Levchin สรุปว่า ความเชื่อที่ได้รับการยอมรับจากผู้เชี่ยวชาญและคนทั่วไปที่ว่า คนยุคมิลเลนเนียลซึ่งมีแผลเป็นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ (Great Recession) และเป็นลูกหนี้เงินกู้เพื่อการศึกษาขยาดบัตรเครดิตและสินเชื่อผู้บริโภคนั้นหลุดประเด็น ความจริงแล้วไม่ใช่ภาระหนี้สินหรืออัตราดอกเบี้ยสูงที่ทำให้คนกลุ่มนี้มองหาทางเลือกอื่น หากแต่พวกเขาไม่ชอบใจเงื่อนไขบางอย่างของบัตรเครดิต อัตราดอกเบี้ยของ Affirm นั้นไม่ถือว่าต่ำ โดยอยู่ระหว่าง 0-30% ต่อปี ขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือด้านเครดิตของผู้กู้ยืม และขึ้นอยู่กับว่าผู้ขายให้การสนับสนุนแผนการชำระเงินแบบปลอดดอกเบี้ยหรือไม่ Affirm ไม่เคยคิดค่าธรรมเนียมล่าช้า และบอกให้ผู้ซื้อทราบล่วงหน้าก่อนว่า จะต้องเสียดอกเบี้ยทั้งหมดเท่าใด สำหรับยอดซื้อดังกล่าวถ้าหากต้องการแบ่งชำระเป็นงวดตามที่กำหนดไว้ ซึ่งโดยทั่วไปอยู่ที่ 3-12 เดือนหรือไม่เกิน 4 ปีสำหรับยอดซื้อที่มีมูลค่าสูง ผู้บริโภคสามารถจ่ายเงินซื้อสินค้าราคาแพงผ่าน Affirm ได้ทันที โดยชำระค่าใช้จ่ายตามที่บัตรเครดิตเรียกเก็บเต็มจำนวนทุกเดือน ในทางกลับกันเมื่อผู้ถือบัตรมียอดค้างชำระกับบัตรเครดิตหมุนเวียน ยอดซื้อที่เกิดขึ้นใหม่ทุกครั้ง แม้กระทั่งการซื้อกาแฟแก้วละ 4 เหรียญก็จะถูกนำมาคำนวณดอกเบี้ย (ประมาณ 40% ของผู้ถือบัตรมียอดค้างชำระ) สินเชื่อที่จุดขายได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่างล่อตาล่อใจสำหรับกลุ่มลูกค้าอายุน้อย จนปัจจุบันแบรนด์ชั้นนำอย่าง Peloton, Mirror และ West Elm ได้สนับสนุนสินเชื่อเงินผ่อนปลอดดอกเบี้ย โดยผ่าน Affirm การชำระเงินในการซื้อขายปลีกคิดเป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งของรายได้ 596 ล้านเหรียญของ Affirm ในช่วงระยะเวลา 12 เดือนสิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายนปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ Affirm ยังไม่มีกำไร และขาดทุน 97 ล้านเหรียญในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ทุกวันนี้บรรดานักลงทุนจะเลือกลงทุนกับธุรกิจที่มีการเติบโต และ “ซื้อก่อน ผ่อนทีหลัง” จะกลายเป็นวิธีการชำระเงินในธุรกิจอี-คอมเมิร์ซที่เติบโตเร็วที่สุดในโลกภายในปี 2025 ตามการคาดการณ์ของ Worldpay  

- การเติบโตของสินเชื่อ “ซื้อก่อน ผ่อนทีหลัง” -

การระบาดของไวรัสโควิด-19 นำมาซึ่งความต้องการสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้ยังไม่ใช่ผลกำไร ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2019 ถึงเดือนกรกฎาคม ปี 2020 Affirm มีจำนวนผู้กู้ยืมที่เป็นคนอเมริกันเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเป็น 5.6 ล้านคน ปริมาณสินเชื่อในระยะเวลา 12 เดือนสิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายนปีที่ผ่านมาแตะ 5.3 พันล้านเหรียญจากการสนับสนุนครั้งใหญ่จาก Peloton ผู้จำหน่ายจักรยานออกกำลังกายในบ้านซึ่งมีราคาสูงกว่าคันละ 2,000 เหรียญรายนี้มียอดขายเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าในฤดูร้อนที่ผ่านมา เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ในไตรมาสที่ 3 รายได้ของ Affirm 30% มาจาก Peloton ถ้าหากไม่มีรายได้ส่วนนี้การเติบโตของรายได้ของ Affirm ในไตรมาสนั้นจะอยู่ที่ 61% แทนที่จะเป็น 98% Bill Ryan กรรมการผู้จัดการของ Compass Point กล่าวสรุป เห็นได้ชัดว่า Affirm มีความท้าทายที่จะต้องดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับมูลค่าตามประมาณการของบริษัท ( 8 วันหลังจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์) ที่ 2.6 หมื่นล้านเหรียญ โดยมูลค่าดังกล่าว ทิ้งห่างรายได้ 12 เดือนของบริษัทอยู่ถึง 44 เท่า Affirm มีราคาเทียบเท่ากับหุ้นบริษัทเทคโนโลยี ไม่เหมือนกับหุ้นของผู้ให้บริการสินเชื่อ หรือบริษัทซึ่งให้บริการการชำระเงินซึ่งเติบโตเต็มที่ (มูลค่าของ PayPal น้อยกว่า 12 เท่าของยอดขายของบริษัท) เพื่อทำให้ Affirm เติบโตอย่างต่อเนื่อง Levchin ได้ดำเนินการบางอย่างที่มีความสำคัญมากและมาพร้อมกับต้นทุนที่แพงแสนแพง ในเดือนกรกฎาคมในการทำข้อตกลงเพื่อเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อเงินผ่อนเพียงรายเดียวสำหรับร้านค้าจากอเมริกาบนแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซอย่าง Shopify นั้น Affirm มอบวอแรนต์ของบริษัท 5% ให้กับ Shopify เป็นการแลกเปลี่ยน โดยในปัจจุบันสินทรัพย์ดังกล่าวมีมูลค่า 2 พันล้านเหรียญ ในเดือนธันวาคม Affirm ซื้อกิจการของบริษัทสินเชื่อ “ซื้อก่อน ผ่อนทีหลัง” สัญชาติแคนาดาอย่าง PayBright มาในราคา 264 ล้านเหรียญ ในขณะเดียวกันการแข่งขันก็อาจสร้างแรงกดดันให้กับ Affirm ในการคิดค่าธรรมเนียมกับร้านค้า Affirm จะหักราว 6% ของยอดขายจากผู้ค้าปลีก เปรียบเทียบกับ Afterpay และ Klarna ซึ่งคิดเพียง 4-5% และ 3-4% ตามลำดับ ประกอบกับการตอบโต้จากบรรดาบริษัทบัตรเครดิต โดย JPMorgan Chase, Citi และบริษัทบัตรเครดิตอื่นๆ เริ่มเชื้อเชิญให้ลูกค้าบางรายเปลี่ยนยอดซื้อที่มีมูลค่าสูงเป็นสินเชื่อแบบผ่อนชำระเป็นงวดแยกต่างหาก สรุปก็คือ การให้สินเชื่อกับการซื้อมูลค่าสูงดังกล่าวโดยไม่คิดค่าธรรมเนียมในการใช้จ่ายผ่านบัตรอื่นๆ รวมถึงดอกเบี้ย ดังนั้น สภาพการให้สินเชื่อก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน โดยอัตราดอกเบี้ยจะมีการปรับเพิ่มขึ้นในท้ายที่สุด และบางทีอัตราการผิดนัดชำระหนี้ของ Affirm (ซึ่งในปัจจุบันค่อนข้างต่ำ หรืออยู่ที่ประมาณ 4%) ก็อาจเพิ่มสูงขึ้นได้ในที่สุด เช่นเดียวกับธุรกิจฟินเทคอื่นๆ ซึ่งเริ่มต้นด้วยการให้ความสำคัญกับธุรกิจเพียงภาคส่วนเดียว Affirm ตั้งเป้าที่จะทำกำไรโดยการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางการเงินอีกหลายอย่างกับฐานลูกค้าที่จงรักภักดี ซึ่งชอบใจการคิดค่าธรรมเนียมแบบโปร่งใสอันเป็นจุดขายของบริษัท ในเดือนกันยายน Affirm ได้เปิดตัวบัญชีเงินฝากออมทรัพย์แบบไม่มีขั้นต่ำ ไม่มีค่าธรรมเนียม และให้ดอกเบี้ยสูงทุกวันนี้บริษัทมีเงินสด 1.2 พันล้านเหรียญจากการเสนอขายหุ้นไอพีโอฝากอยู่ในธนาคาร แล้วก้าวต่อไปของ Affirm จะเป็นอะไรเล่าอาจจะเป็นมิติใหม่ของบัตรเครดิตที่เป็นมิตรกับคนยุคมิลเลนเนียลก็เป็นได้   เรื่อง: Jeff Kauflin เรียบเรียง: ริศา ภาพ: Platon/Trunk Archive อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่าน "มือปราบบัตรเครดิต" ฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกรกฎาคม 2564 ในรูปแบบ e-magazine