[JUST 100] เมื่อองค์กรอเมริกัน “กำกับตนเอง” เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม - Forbes Thailand

[JUST 100] เมื่อองค์กรอเมริกัน “กำกับตนเอง” เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

FORBES THAILAND / ADMIN
31 May 2019 | 09:29 AM
READ 4257

ไม่สำคัญว่าคุณจะเชื่อหรือไม่ว่ารัฐบาลควรกำหนดให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต้องขออนุญาตจากลูกค้าก่อนที่จะนำข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าไปเผยแพร่ หรือสั่งการให้ที่ปรึกษาทางการเงินกระทำการโดยยึดผลประโยชน์สูงสุดของลูกค้าเป็นสำคัญ มีบริษัทสัญชาติอเมริกันชั้นนำจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่เริ่ม “กำกับตนเอง” ในเรื่องที่เกี่ยวพันกับผลประโยชน์ของส่วนรวมในทุกๆ ด้าน

Just Capital ได้ทำการสำรวจคนอเมริกันมากกว่า 80,000 คนถึงสิ่งที่พวกเขาคาดหวังจากบริษัทในเรื่องของพนักงาน สิ่งแวดล้อม ลูกค้าและผลิตภัณฑ์ ชุมชน ผู้ถือหุ้น และสิทธิมนุษยชน ในประเทศที่เชื่อกันว่าเต็มไปด้วยการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายนี้ คนส่วนใหญ่เชื่อว่าบริษัทควรจ่ายค่าจ้างพนักงานอย่างเป็นธรรม รักษาความเป็นส่วนตัวของลูกค้า และลดการปล่อยมลพิษ การสำรวจนั้นออกมาเป็นทำเนียบ Just 100 บริษัทอเมริกันร้อยแห่งที่มีแนวปฏิบัติต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมดีที่สุด บริษัทในทำเนียบ Just 100 ใช้หลักการสำคัญในหนังสือ The Wealth of Nations ของ Adam Smith ที่ว่า “ในขณะที่แสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจตามสมควรแก่เหตุผล ท้ายที่สุดแล้วผู้นำองค์กรธุรกิจก็จะรับใช้สังคมไปพร้อมกันด้วย” เป็นต้นแบบ มีข้อมูลตัวเลขสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว ในระยะเวลา 50 สัปดาห์ สิ้นสุด ณ วันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ดัชนี S&P ให้ผลตอบแทน 3.6% แต่บริษัทในทำเนียบ Just 100 ให้ผลตอบแทน 7.5% และบริษัท Microsoft 29.9%
กำกับตนเอง
ผลวิจัยพบว่า บริษัทที่เคยมีปัญหาด้านสังคม สิ่งแวดล้อม หรือการบริหารที่สาธารณชนจับตามองจนเป็นเหตุให้ราคาหุ้นตก หุ้นนั้นมักจะไม่สามารถให้ผลตอบแทนได้เท่ากับหรือมากกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ได้อีก
เมื่อเร็วๆ นี้ Simon Glossner แห่ง Catholic University ใน Eichstätt ประเทศเยอรมนี ได้พิจารณาผลประกอบการของหุ้นของบริษัทสหรัฐฯ ที่เคยมีกรณีพิพาท ซึ่งหมายความว่าบริษัทเหล่านั้นเคยมีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม หรือการบริหารจัดการซึ่งสาธารณชนจับตามอง เนื่องจากราคาหุ้นของบริษัทเหล่านี้ปรับตัวลดลงแล้ว ถ้าตั้งคำถามว่านี่เป็นโอกาสในการซื้อหุ้นของบริษัทดังกล่าวหรือไม่ คำตอบก็คือไม่ จากปี 2009 ถึงปี 2016 หุ้นของบริษัทที่มีข้อพิพาทเหล่านั้นมีผลประกอบการย่ำแย่กว่าเบนช์มาร์กหรือดัชนีผลตอบแทนรวมตลาดหลักทรัพย์ถึง 3.5% ต่อปี แสดงให้เห็นว่าผลเสียของความล้มเหลวในการบริหารจัดการภายในองค์กรเหล่านั้นหยั่งรากลึกมากและใช้เวลานานกว่าจะแก้ไขได้ ผู้ซื้อหุ้น Wells Fargo และ Facebook น่าจะอยากจดบันทึกไว้เตือนใจตนเอง ด้วยผลสะท้อนที่เห็นเป็นรูปธรรมเหล่านี้ น่าจะเป็นแรงผลักดันส่วนหนึ่งที่ทำให้บริษัทอเมริกันบางแห่งเริ่มดำเนินการ “กำกับตนเอง” ดังตัวอย่างเหล่านี้  

ค่าจ้างที่เป็นธรรม

เมื่อพูดถึงแวดวงธุรกิจ คนอเมริกันให้คุณค่ากับการที่บริษัทจ่ายค่าจ้างอย่างเป็นธรรมมากที่สุด 84% พวกเขาบอกกับ Just Capital ว่านั่นเป็นสิ่งที่บริษัทควรทำ อารมณ์ความรู้สึกนี้แสดงออกมาเป็นคำตอบในแง่ที่ว่าบริษัทใดที่ผู้คนอยากติดต่อซื้อขายด้วย และบริษัทใดที่ผู้คนอยากร่วมงานด้วย ถึงแม้ว่าจะอยู่ในภาวะตลาดแรงงานตึงตัวถึงที่สุดก็ตาม ในปี 2017 Target ห้างค้าปลีกชั้นนำ เริ่มปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำภายในองค์กรจาก 10 เหรียญ (ปัจจุบันอยู่ที่ 12 เหรียญ) และให้คำมั่นว่าจะปรับค่าแรงเพิ่มเป็น 15 เหรียญภายในสิ้นปี 2020 ซึ่งเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำที่นักเรียกร้องสิทธิแรงงานต้องการให้รัฐบาลกำหนดเป็นข้อบังคับ และเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา Amazon ได้ปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำสำหรับแรงงานรายปีจำนวน 250,000 คน และแรงงานตามฤดูกาลจำนวน 100,000 คนเป็น 15 เหรียญในคราวเดียว  

สิทธิและความเสมอภาคของพนักงาน

ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์อย่าง Nvidia อนุญาตให้คุณแม่มือใหม่ลาหยุดโดยได้รับค่าจ้างนาน 22 สัปดาห์ และให้สิทธิพนักงานใช้บริการผู้ช่วยจัดการธุระส่วนตัวคนละไม่เกิน 6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ขณะที่ Adobe เสนอเงินมูลค่าไม่เกิน 20,000 เหรียญเพื่อช่วยค่ายารักษาภาวะเจริญพันธุ์ เงินมูลค่าไม่เกิน 25,000 เหรียญเพื่อช่วยค่าใช้จ่ายในการอุ้มบุญและการรับบุตรบุญธรรม และบริการเลี้ยงเด็กไม่เกิน 100 ชั่วโมงต่อปี ความเสมอภาคของค่าจ้างก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ภาครัฐอาจปล่อยปละละเลย หากแต่ทุกวันนี้สุดยอดบริษัทกำกับดูแลเรื่องนี้เอง โดยมีบริษัท 69 แห่งในทำเนียบ Just 100 ทำการวิเคราะห์ความเสมอภาคของค่าจ้างระหว่างเพศชายกับเพศหญิง ตัวอย่างเช่น Salesforce กำลังทำการตรวจสอบประจำปี เพื่อให้แน่ใจว่ามีการจ่ายค่าจ้างอย่างเท่าเทียมกันสำหรับงานที่ปริมาณเท่ากันโดยไม่แบ่งแยกเพศ เชื้อชาติ และกลุ่มชาติพันธุ์ การตรวจสอบที่ทำขึ้นในปี 2018 ซึ่งเป็นรอบที่ 3 พบว่าแรงงานของบริษัท 6% ได้รับค่าจ้างน้อยเกินไป ซึ่งลดลงจาก 11% ในปี 2017  

ลดใช้ไฟฟ้า ลดการปล่อยของเสีย

ภายในโกดังที่ Seattle เป็นศูนย์ข้อมูลขนาดเล็กของ Microsoft ภายในมีเครื่องจักรที่ทำงานด้วยพลังงานจากเซลล์เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ แทนการใช้กระแสไฟฟ้า ตั้งเรียงซ้อนขึ้นไป 20 ชั้น เป้าหมายสูงสุดของการทดลองนี้ก็คือการลดปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้าของศูนย์ข้อมูลลงครึ่งหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็ปล่อยของเสียซึ่งมีเพียงแค่น้ำที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้
กำกับตนเอง Microsoft
Christian Belady และ Sean James นักวิจัยของ Microsoft ด้านหน้า Advanced Energy Lab โครงการนำร่องดาต้า เซ็นเตอร์ที่ใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติ (PHOTO CREDIT: datacenterknowledge.com)
สิ่งนี้เป็นหนึ่งในสุดยอดนวัตกรรมด้านพลังงานที่ Microsoft จะทยอยเปิดตัวในอีก 2 ทศวรรษข้างหน้า โดยใช้งบประมาณหลายล้านดอลลาร์ ถึงแม้จะคำนึงถึงส่วนรวม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า Microsoft จะเป็นผู้ให้แต่ฝ่ายเดียว การเติบโตอย่างน่าทึ่งของ Microsoft ในระยะหลังนี้ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจคลาวด์มูลค่า 2.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการคลาวด์คอมพิวติ้งอย่าง Azure หากแต่ข้อจำกัดอันใหญ่หลวงของ Azure ก็คือเป็นศูนย์ข้อมูลที่ใช้กระแสไฟฟ้าสิ้นเปลืองอย่างที่สุด นี่จึงเป็นการกำหนดแนวทางในการดำเนินธุรกิจให้สอดรับกับผลประโยชน์ของส่วนรวมซึ่งไม่อาจเพิกเฉยได้ของ Microsoft  

ลดการใช้พลาสติก

ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่อย่าง P&G ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้สร้างขยะพลาสติกรายใหญ่ที่สุดในโลกกำลังประชาสัมพันธ์บรรจุภัณฑ์ใหม่ของแบรนด์ Tide ซึ่งผลิตจากวัตถุดิบที่มีส่วนประกอบของกระดาษแข็งมากขึ้นและใช้พลาสติกน้อยลง และขวดบรรจุผลิตภัณฑ์แบรนด์ Head & Shoulder ซึ่งทำจาก "พลาสติกรีไซเคิล" ขวดแชมพูที่ทำจากวัตถุรีไซเคิลซึ่งเป็นมากกว่ากลยุทธ์การประชาสัมพันธ์นี้ ได้รับการจัดวางอย่างโดดเด่นเป็นพิเศษโดยผู้ค้าปลีกซึ่งต้องการส่งสัญญาณถึงผู้บริโภคว่าตนก็ใส่ใจสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งนั่นหมายถึงการเพิ่มโอกาสในการขายอีกด้วย
กำกับตนเอง P&G
David Taylor ซีอีโอ Procter & Gamble ที่สำนักงานใหญ่ของ P&G ใน Cincinnati กล่าวว่า “ถ้าเรายกระดับมาตรฐานเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในความหมายที่ครอบคลุมกว้างที่สุด นั่นจะทำให้เราก้าวไปข้างหน้าได้ไกลที่สุด”
David Taylor ซีอีโอ P&G อธิบายถึงนวัตกรรมซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมของบริษัทว่า “เป็นไปตามที่กฎหมายท้องถิ่นกำหนดอยู่แล้ว และยัง (เป็น) มากกว่านั้นอีกด้วย” Taylor ยกตัวอย่างการเพิ่มไลน์สินค้าแบรนด์ Pampers Pures ซึ่งวางตลาดเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ใช้ใยฝ้ายเป็นส่วนประกอบและใช้สารเคมีน้อยลง โดยมีราคาขายสูงกว่าผลิตภัณฑ์รุ่นเดิมราว 25% Puresขึ้นแท่นเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายดีที่สุดในกลุ่มผลิตภัณฑ์ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ซึ่งผลิตจากวัสดุธรรมชาติแล้วในขณะนี้  

ทำธุรกิจอย่างโปร่งใส

Coinbase ซึ่งอยู่ในภาคส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมที่มีกฎหมายกำกับดูแลน้อยที่สุดในปัจจุบัน อันได้แก่ คริปโตเคอเรนซี ในปี 2013 มีทนายคนหนึ่งได้แนะนำผู้ร่วมก่อตั้งซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่อย่าง Brian Armstrong และ Fred Ehrsam ให้เพิกเฉยต่อ “แนวทางปฏิบัติที่ต้องอาศัยการตีความหมาย” ของ U.S. Financial Crimes Enforcement Network ซึ่งกำหนดให้ธุรกิจสตาร์ทอัพกระเป๋าเงินบิตคอยน์ของทั้งคู่ต้องจดทะเบียนเป็นผู้ให้บริการโอนเงินและปฏิบัติตามข้อบังคับในพระราชบัญญัติ Bank Secrecy Act ที่เต็มไปด้วยความยุ่งยาก แทนที่จะเชื่อฟังคำแนะนำดังกล่าว ทั้งสองกลับไล่ทนายคนนั้นออก และใช้เงินทุนที่มีอยู่อย่างจำกัดในการลงมือทำสิ่งที่ถูกต้องตั้งแต่เริ่มต้น สองเดือนต่อมา Union Square Ventures เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในการระดมทุนรอบ Series A ของ Coinbase ซึ่งทำเงินได้ 6.1 ล้านเหรียญในการระดมทุนรอบล่าสุด Coinbase ได้รับเงินอัดฉีดจำนวน 300 ล้านเหรียญจาก Tiger Global และผู้ลงทุนรายอื่นๆ จึงทำให้ซีอีโออย่าง Armstrong ซึ่งปัจจุบันอายุ 35 ปีขึ้นแท่นเป็นเศรษฐีพันล้าน สิ่งที่ทำให้ Coinbase โดดเด่นกว่าคู่แข่งก็คือ ความน่าเชื่อถือ และ ความซื่อสัตย์ ซึ่งคุณธรรมทั้งสองประการนี้เป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่งในวงการดังกล่าว “ระบบแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลที่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ และเชื่อมโยงกับระบบการเงินแบบดั้งเดิมเป็นองค์ประกอบสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยทำให้วงการเงินดิจิทัลเติบโตขึ้น” Armstrong แสดงความคิดเห็นไว้ในโพสต์ในปี 2016  
คลิกเพื่ออ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ เมษายน 2562 ในรูปแบบ e-Magazine