แม้ครั้งหนึ่ง Microsoft จะถูกหาว่าเป็นบริษัทคร่ำครึที่ผ่านพ้นยุครุ่งเรืองไปแล้ว แต่ตอนนี้ Microsoft กำลังกลับมาทะยานฟ้าอีกครั้ง และความลับของ CEO อย่าง Satya Nadella คือการรีเซตวัฒนธรรมองค์กรเพื่อเปิดประตูป้อมปราการของบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์แห่งนี้และมุ่งไปสู่คลาวด์ คลาวด์ คลาวด์
ประมาณต้นปี 2016 เมื่อ Satya Nadella เข้ามาเป็นซีอีโอของ Microsoft ได้ 2 ปี ตอนนั้น Nadella ใกล้ปิดดีล 2.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับการซื้อกิจการเว็บไซต์ LinkedIn แต่เขาก็อยากคุยเรื่องการซื้อกิจการอีกบริษัทหนึ่งที่เขาอยากได้มากคือ GitHub ซึ่งในที่สุด GitHub ก็ทำเซอร์ไพรส์ด้วยการเลือก Microsoft ให้เข้ามาซื้อกิจการเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้วแทนที่จะเลือก Google
นั่นคือความสำเร็จที่น่าทึ่งครั้งล่าสุดของ Nadella วัย 51 ปี ผู้ทำให้ Microsoft สลัดหลุดจากตัวตนในระยะหลัง (อันหมายถึงการเป็นบริษัทซอฟต์แวร์ที่ปิดตัวเองจากภายนอกและเป็นปฏิปักษ์กับคนอื่น) และกลับคืนสู่รากเหง้าสมัยที่ Bill Gates ยังบริหารอยู่ได้สำเร็จ
สัญญาณความก้าวหน้าที่ขึ้นเกิดจากฝีมือ Nadella พบเห็นได้ในทุกที่ ตั้งแต่ระบบสั่งงานด้วยเสียงของ Microsoft ที่ใช้ใน Alexa ของ Amazon ไปจนถึงการจับมือเป็นพันธมิตรอย่างลึกซึ้งกับ Samsung และจุดสำคัญที่สุดที่มองเห็นได้คือในงบการเงินของบริษัทเอง
รายได้ Microsoft 1.1 แสนล้านเหรียญโตขึ้นเป็นเลข 2 หลักหลังจากร่วงมาเกือบตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยเหตุผลส่วนใหญ่มาจากการทำธุรกิจเชิงรุกอย่างหนักด้วยการขายซอฟต์แวร์แบบ cloud suite ที่มีอัตรากำไรสูง ซึ่งเป็นโมเดลที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับการขายโปรแกรม Office และคลาวด์แพลตฟอร์ม Azure ที่ Microsoft ส่งให้มาเป็นผู้ท้าชิงเพื่อชนกับยักษ์ใหญ่ด้านระบบคลาวด์ของ Amazon
กำไรสุทธิของ Microsoft อยู่ที่ 1.66 หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งกำไรที่เพิ่มขึ้นนี้มาจาก Azure เป็นตัวช่วยส่ง เนื่องจาก Azure มีการเติบโต 91% ต่อปี และเริ่มมีการให้บริการแบบทำสัญญาระยะหลายปีเข้ามาช่วยดันกำไรสุทธิ
เมื่อสิ้นสุดเดือนพฤศจิกายนปีก่อน Microsoft จึงเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก นำหน้า Apple และ Amazon ซึ่งนักวิเคราะห์เห็นตรงกันว่า มูลค่าตามราคาตลาดของ Microsoft จะขึ้นถึง 1 ล้านล้านเหรียญภายในปีนี้
Nadella ส่งสัญญาณแสดงเจตนาดีของเขาด้วยการใช้ iPhone เข้ามาช่วย โดยหลังจากที่เขาเริ่มเข้ามาเป็นซีอีโอได้ไม่กี่สัปดาห์ Microsoft ก็เปิดให้บริการระบบคลาวด์ Azure ซึ่งช่วยให้นักพัฒนาแอพฯ สามารถเขียนแอพฯ สำหรับ iOS ได้ง่ายขึ้น ปีต่อมา Nadella ก็นำ iPhone ไปแสดงการใช้บนเวทีในงานอีเวนต์อีกด้วย
ไม่มีใครคาดคิดว่าจะได้เห็นเรื่องแบบนี้จากบริษัทที่เปิดตัว Windows phone ในปี 2010 แถมทุ่มทุนอีก 7 พันล้านเหรียญในปี 2014 เพื่อซื้อส่วนงานโทรศัพท์มือถือของ Nokia ให้มารองรับ Windows ซึ่งตอนนี้กลายเป็น OS ที่รั้งท้ายตลาดไปแล้ว และเมื่อ Nadella เข้ามารับช่วงบริหาร เขาก็ตัด Windows phone ทิ้งในฐานะธุรกิจที่ขาดทุน
Nadella ย้ายถิ่นฐานจากอินเดียมาอยู่อเมริกาปี 1988 เขาเป็นพนักงาน Microsoft ที่ดูแลธุรกิจคลาวด์ของบริษัทมาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น ก่อนมารับตำแหน่งผู้บริหารสูงสุด เขารีบแต่งตั้งผู้บริหารชุดใหม่และทลายกำแพงที่กั้นระหว่าง Microsoft กับคู่แข่งอย่าง Linux ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการ opensource ที่เคยถูกอดีตซีอีโอจอมท้าชนอย่าง Steve Ballmer แขวะด้วยคำสุดฮิตว่าเป็น “มะเร็ง”
Nadella และ Scott Guthrie หัวหน้าฝ่ายธุรกิจคลาวด์คนใหม่อ้าแขนรับ Linux เข้ามาใน IT framework ของ Azure ซึ่งใช้กับระบบคอมพิวเตอร์ครึ่งหนึ่งที่ทำงานบนแพลตฟอร์มคลาวด์ของ Microsoft ในตอนนี้
View this post on Instagram
Starbucks ซึ่งใช้ระบบของ Microsoft กับแอพฯ สั่งเครื่องดื่มของร้าน ส่งวิศวกร 10 กว่าคนไปร่วมงานที่จัดโดย Microsoft ซึ่งเป็นงานแฮกกาธอนที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเปิดให้เข้าร่วมเฉพาะผู้ได้รับเชิญเท่านั้น
งานนี้เป็นอีกหนึ่งไอเดียของ Nadella “นี่เป็นแนวทางที่ต่างจากบริษัทซอฟต์แวร์ดั้งเดิม” Gerri Martin-Flickinger ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี ของ Starbucks กล่าว
แต่เรื่องน่าตื่นเต้นยินดีก็มีดอกจันห้อยท้าย เมื่อความสำเร็จของ Microsoft ส่วนใหญ่เกิดจากการย้ายกลุ่มลูกค้าที่มีอยู่เดิมไปใช้บริการระบบคลาวด์และโปรแกรม Office 365 ที่ปรับโฉมใหม่แทน จึงมีผู้กังวลว่าที่จริงแล้ว Microsoft อาจแค่เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากเรื่องที่ทำได้ง่ายเท่านั้น
ตอนนี้ Microsoft มี GitHub เข้ามาร่วมหลังจากที่ซื้อบริษัทผู้ผลิตเกม Minecraft (ด้วยมูลค่า 2.5 พันล้านเหรียญ ในปี 2014) Xamarin ผู้ให้บริการเครื่องมือสร้างแอพฯ (มูลค่าตามรายงานคือ 400 ล้านเหรียญในปี 2016) และเว็บไซต์ LinkedIn และทีมของ Nadella ก็ต้องระวังไม่ทำเรื่องแย่ๆ อย่างการทำสัญญาระยะยาวโดยกำหนดเงื่อนไขที่เข้มงวดเกินไป
อีกทั้งเรื่องที่จะเป็นบททดสอบสำหรับ Nadella ในขั้นต่อไปคือ Microsoft จะบูรณาการธุรกิจที่ซื้อมาเหล่านี้อย่างไร เพราะประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นแล้วว่าเรื่องแบบนี้เป็นงานยาก แต่ Nadella จะก้าวผ่านความท้าทายเช่นนี้ไปโดยใช้วิสัยทัศน์อันกว้างไกลของเขาที่มองว่า ถ้าพนักงาน ลูกค้า หุ้นส่วน หรือแม้แต่พวกโปรแกรมเมอร์หัวร้อนมีความสุขขึ้นและได้รับผลตอบแทนที่ดี ธุรกิจ Microsoft ก็จะไปได้สวยเช่นกัน
“ผลิตภัณฑ์ที่ประสบความสำเร็จ คือสิ่งที่ช่วยสร้างความสำเร็จออกไปรอบตัวมันได้” Nadella กล่าว
เรื่อง: Alex Konrad เรียบเรียง: ธรรดร โสตถิอำรุง
คลิกเพื่ออ่านฉบับเต็ม “ลีลาใหม่ของ Microsoft” ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ เมษายน 2562 ในรูปแบบ e-Magazine