คุยกับ “ทวีศักดิ์ แสงทอง” เอ็มดีใหม่ ออราเคิล ประเทศไทย กับทิศทางระบบ “คลาวด์” ปี 2562 - Forbes Thailand

คุยกับ “ทวีศักดิ์ แสงทอง” เอ็มดีใหม่ ออราเคิล ประเทศไทย กับทิศทางระบบ “คลาวด์” ปี 2562

ทวีศักดิ์ แสงทอง เพิ่งเข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการคนใหม่ของ ออราเคิล ประเทศไทย เมื่อเดือนธันวาคม 2561 แม้เป็นเอ็มดีใหม่แต่เขาคร่ำหวอดในวงการเทคโนโลยีมานาน 30 ปี และมองว่า ปี 2562 จะเป็นทิศทางการเติบโตยิ่งขึ้นของระบบคลาวด์ในไทยและส่งผลดีกับออราเคิล

Forbes Thailand มีโอกาสพูดคุยและรับฟังข้อมูลในงานแถลงข่าวครั้งแรกของ ทวีศักดิ์ แสงทอง กรรมการผู้จัดการ ออราเคิล ประเทศไทย บริษัทเทคโนโลยีผู้พัฒนาระบบคลาวด์ระดับโลก และนี่คือความเห็นของเขาต่อตลาดระบบคลาวด์ในไทย รวมถึงพันธกิจของออราเคิล ประเทศไทยในช่วงปีนี้

Q: การปรับตัวด้านเทคโนโลยีของธุรกิจไทย

A: ที่จริงแล้วไทยเป็นผู้นำในการปรับตัวทีเดียว ซึ่งสิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทยถือว่าล้ำหน้า โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสถาบันการเงิน ที่ต้องนำเทคโนโลยีมาเป็นตัวนำธุรกิจแล้ว ธนาคารกลายเป็นผู้นำในระดับที่ผันตัวไปเป็น Solutions Provider ให้กับธุรกิจอื่นๆ ด้วยซ้ำ

เรื่อง Digital Transformations ถ้าองค์กรใหญ่ไหนไม่ทำก็จะถูกดึงลูกค้าไปอยู่กับองค์กรที่ปรับตัวได้เร็วกว่า การลงทุนกับเทคโนโลยีจึงเป็นเรื่องท้าทายของทุกองค์กร

Q: สิ่งที่ออราเคิลมองว่าจะเกิดขึ้นกับธุรกิจ ในแง่ของเทคโนโลยี

A: หนึ่ง การนำระบบคลาวด์มาใช้กับทั้งองค์กรจะยิ่งสูงขึ้น ในมุมภาคเอกชนเริ่มต้นไปนานแล้วและจะยิ่งมากขึ้น ส่วนภาครัฐ ในอดีตอาจจะต้องทำความเข้าใจ แต่ปัจจุบันรัฐเข้าใจมากขึ้น

สอง AI (Artificial Intelligence) จะเข้าไปอยู่ในทุกซอฟต์แวร์ ทุกแอปพลิเคชั่นของธุรกิจ และมีประสิทธิภาพขึ้น

สาม คือ บุคลากร องค์กรจะลงทุนกับการพัฒนาทักษะของบุคลากรให้ใช้เทคโนโลยีได้คล่องแคล่ว เพื่อให้องค์กรมีความ ‘agile’ คือทำงานได้รวดเร็วว่องไวเหมือนกับเป็นองค์กรสตาร์ทอัพ

Q: ภาครัฐยังไม่ก้าวหน้าในการใช้เทคโนโลยี "คลาวด์" งั้นหรือ?

A: หลายๆ หน่วยงานรัฐใช้คลาวด์ในระดับ entry-level เพราะเขาเพิ่งเริ่มใช้งานกัน ส่วนจะมีการพัฒนาใช้งานมากขึ้นไหม รัฐบาลกลางพูดถึงเรื่อง คลาวด์ บิ๊กดาต้า AI มากขึ้นแล้ว แต่ขึ้นอยู่กับหัวหน้าหน่วยงานนั้นๆ ต้องให้ความสำคัญด้วย อันที่จริงบางหน่วยงานใช้เทคโนโลยีที่พื้นฐานมาก แต่ออกแบบให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมาก อย่างเช่นสำนักงานหนังสือเดินทาง ที่ปัจจุบันออกแบบระบบให้จองคิวล่วงหน้าได้ การดำเนินการก็จะเร็วขึ้น เป็นประโยชน์ต่อประชาชน

ผมมองว่าถ้าหากรัฐตั้งโมเดลต้นแบบขึ้นมา อาจจะเป็นกระทรวงหนึ่งหรือหน่วยงานหนึ่งของรัฐที่ใช้ระบบคลาวด์เต็มรูปแบบจะเห็นชัดเจนถึงความเปลี่ยนแปลง

Q: ยกตัวอย่างความเร็วที่เกิดขึ้นกับกระบวนการทำงานเมื่อใช้ระบบคลาวด์

A: ยกตัวอย่างลูกค้าของออราเคิล บมจ.ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นเจ้าของ ตู้บุญเติม เราจัดทำระบบให้ข้อมูลการใช้จ่ายผ่านตู้บุญเติมทั่วประเทศขึ้นมาเก็บในคลาวด์และมาใช้วิเคราะห์ ซึ่งทำให้ได้เห็นข้อมูลชัดเจน เช่น บางช่วงเวลาที่จะมีคนมาใช้บริการตู้สูงเป็นพิเศษทุกจุด ยกเว้นบางจุดที่กลับไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อเห็นข้อมูลก็ลงไปตรวจสอบและพบว่าเป็นเพราะการตั้งตู้ไม่อยู่ในทำเลที่เหมาะสม บริษัทก็จะย้ายตู้ไปจุดอื่น ทำให้ลูกค้าบุญเติมได้รับประโยชน์เพราะหาตู้ง่าย และบริษัทก็จะได้รายได้มากขึ้น

Q: ภาคเอกชน กลุ่มอุตสาหกรรมใดที่ก้าวหน้าเชิงเทคโนโลยี และกลุ่มใดที่มีโอกาสพัฒนามากขึ้น

A: ชัดที่สุดคือ ธนาคาร เขามีมาตรฐานในการให้บริการซึ่งการใช้ระบบคลาวด์ทำให้สนับสนุนการทำงานได้ดีขึ้น อีกอย่างคือเมื่อเป็นสังคมไร้เงินสด คนหันมาทำธุรกรรมออนไลน์มากขึ้น การดูแลระบบข้อมูลให้ไม่ล่มในช่วง peak time ต้องระมัดระวังมาก คลาวด์ก็จะเข้ามามีบทบาท

อีกกลุ่มคือ รีเทล เพราะการแข่งขันไม่ใช่แค่ในไทยแล้วแต่แข่งกับบริษัทรีเทลจากต่างประเทศด้วย ระบบบริหารจัดการพฤติกรรมผู้บริโภค การเก็บข้อมูลมาทำนายว่าลูกค้าต้องการอะไร และมาบริหารการจัดหาสินค้าและจัดเก็บในโกดังให้พอดีความต้องการ ของไม่ขาด มีความสำคัญมาก

ส่วนอุตสาหกรรมที่น่าจะหันมาใช้ระบบคลาวด์ มองว่าเป็น ธุรกิจการแพทย์ อย่างปีนี้เชื่อว่าจะได้เห็นการจองคิวแพทย์เฉพาะทางที่มีชื่อเสียงผ่านระบบคลาวด์ เพราะแพทย์ชื่อดังเหล่านี้ไม่ได้ทำงานในโรงพยาบาลแห่งเดียว ดังนั้นการจัดระบบคิวแบบ pool ร่วมกันจะสะดวก

อีกกลุ่มที่น่าสนใจคือ การบริหารซัพพลายเชน คล้ายๆ กับรีเทล คือถ้าสามารถทราบความต้องการลูกค้าแล้วสะท้อนกลับไปหาการผลิตได้จะทำให้การทำงานไวขึ้น เพราะผลิตมาตรงความต้องการ ไม่เสียโอกาสการขาย

ทวีศักดิ์ แสงทอง กรรมการผู้จัดการ วัย 53 ปี ของออราเคิล ประเทศไทย ระหว่างบรรยายข้อมูล

Q: สำหรับการรับตำแหน่งที่ออราเคิล ประเทศไทย มีพันธกิจอย่างไร

A: สำคัญที่สุดคือ ผมบอกเลขาฯ ผมไว้เลยว่า ตารางงานผม 80% ต้องอยู่กับลูกค้าและพาร์ทเนอร์ ซึ่งผมจะถ่ายทอดสิ่งนี้ให้กับพนักงานด้วย เพราะผมมองว่าลูกค้าเราหลายท่านยังไม่ได้ใช้งานผลิตภัณฑ์ได้เต็มประสิทธิภาพ เราจึงต้องการผลักดันให้ลูกค้าได้ใช้งานอย่างน้อย 50% ของสิ่งที่เขาจ่าย ส่วนลูกค้ารายใหม่ๆ ก็ยังคงพยายามเข้าหาและอธิบายประโยชน์ของระบบคลาวด์ให้ทราบ

ในแง่ของการลงทุน มองว่าจะเป็นเชิงบุคลากร ทั้งพนักงานภายในออราเคิล และการต่อยอด Oracle Academy ส่วนนี้เป็นเหมือนโครงการซีเอสอาร์ของบริษัท ที่ผ่านมา 3 ปี เราร่วมมือกับสถาบันการศึกษา 92 แห่งเพื่อเปิดอบรมการใช้โปรแกรม Java และ Oracle Database โดยมีการจัดงานอบรมไปแล้ว 36 ครั้ง มีนักเรียนตั้งแต่ระดับมัธยมปลาย ปวช. ปวส. และปริญญาตรีเข้าร่วม 11,000 คน

เรามองว่าการสนับสนุนส่วนนี้จะสร้างประโยชน์ให้ประเทศได้ จึงตั้งใจว่าภายใน 3 ปีนี้จะขยายการอบรมให้เพิ่มขึ้นเท่าตัว นั่นคือจัดอบรมนักเรียนให้ได้ 22,000 คน และอาศัยเครือข่ายลูกค้าหรือพันธมิตร ออราเคิล ประเทศไทย ต่อยอดให้นักเรียนที่ผ่านการอบรมเหล่านี้ได้งานทำ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะฟรีแลนซ์ พนักงานประจำ หรือสตาร์ทอัพก็ตาม

Q: ในมุมการแข่งขันทางการตลาด ออราเคิลมีจุดแข็งอย่างไร

A: เราเป็นเจ้าใหญ่ที่มีครบทุกระดับของคลาวด์ โซลูชันส์ คือตั้งแต่ระดับต้น Infrastructure as a service (IaaS) โดยมีแหล่งเก็บดาต้าของบริษัทเอง มี Platform as a service (PaaS) พัฒนาเทคโนโลยีระบบเอง เช่น แมชชีน เลิร์นนิ่ง จนถึงการทำ Software as a service (SaaS) พัฒนาแอปพลิเคชันซอฟต์แวร์ครบวงจรอย่าง ERP, CRM ที่ลูกค้านำไปใช้ได้เลย สุดท้ายคือ Data as a service (DasS) อันนี้เป็นโปรดักส์ใหม่ คือการส่งต่อดาต้าให้องค์กรนำไปใช้วิเคราะห์ได้ทันที

เรามองว่า SaaS และ DaaS ออราเคิลคือเจ้าเดียวในไทยที่พร้อมสนับสนุนลูกค้า แม้ว่าลูกค้าส่วนใหญ่จะยังมีความต้องการเพียงระดับ IaaS กับ PaaS แต่เราถือว่าเรามีความพร้อมเมื่อองค์กรต่างๆ ต้องการระบบคลาวด์ที่ขั้นสูงมากขึ้น

 

Forbes Facts

  • ทวีศักดิ์ แสงทอง มีประสบการณ์ร่วมงานกับบริษัทเทคโนโลยีมาตลอด 30 ปี เช่น Microsoft, SAS, Hitachi Data Systems (HDS), Amdocs, Compaq และล่าสุดที่ FIS
  • ออราเคิล ในเอเชีย มีแหล่งเก็บดาต้าที่จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย โดยประเทศไทยจะใช้แหล่งเก็บดาต้าที่อินเดียเป็นหลัก
  • แหล่งรายได้ออราเคิล ประเทศไทยส่วนใหญ่มาจากการขายระบบคลาวด์ และลูกค้า 70% เป็นองค์กรเอกชน เช่น เมืองไทยประกันชีวิต, .รังสิต, ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น, เซเว่น-อีเลฟเว่น ส่วนอีก 30% คือหน่วยงานรัฐ