กลยุทธ์พลิกธุรกิจให้กลับทางของ "Michael S. Smith" เศรษฐีพันล้านก๊าซหินดินดาน - Forbes Thailand

กลยุทธ์พลิกธุรกิจให้กลับทางของ "Michael S. Smith" เศรษฐีพันล้านก๊าซหินดินดาน

FORBES THAILAND / ADMIN
15 Dec 2021 | 07:25 AM
READ 1794

Michael S. Smith เคยเดิมพันผิดพลาดครั้งใหญ่ว่า สหรัฐฯ จะต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) แต่ตอนนี้เขากำลังเตรียมจะทำเงินจากสถานีส่งออก LNG มูลค่า 1.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ของเขาแล้ว

เกาะ Quintana เป็นเกาะเล็กๆ ยาว 7 ไมล์ใกล้เมือง Freeport รัฐ Texas ซึ่งอยู่ติดแผ่นดินใหญ่ตรงที่แม่น้ำ Brazos ไหลลงอ่าวเม็กซิโก ช่วง 200 ปีที่ผ่านมาเกาะแห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งป้อมปราการของเม็กซิโกและกลายเป็นเมืองท่าชายทะเลอันคึกคักที่เกษตรกรชาว Texas ในยุคแรกใช้ขนส่งฝ้าย เรือของฝ่ายเหนือเคยยิงถล่มกองทหารฝ่ายใต้ซึ่งประจำการอยู่ที่นี่ ต่อมาในปี 1900 มหาเฮอริเคนแห่งเมือง Galveston พัดถล่มแถบนี้จนมีผู้เสียชีวิต 11,000 คน และกวาดล้างเกาะ Quintana จนราบ และเมื่อ Michael S. Smith ก้าวสู่เกาะนี้เป็นครั้งแรกในปี 2002 มันเป็นแค่เกาะหงอยๆ ที่มีบ้านโทรมๆ อยู่ไม่กี่สิบหลัง เป็นสวรรค์ของนกอพยพ มีหาดทราย และพื้นที่อุตสาหกรรม ซึ่งมีถังเก็บของเหลวตั้งอยู่บนโคลนถมที่ดิน ซึ่งขุดมาจากร่องน้ำลึก “สมัยนั้นถ้าเรายืนอยู่ กับที่นานๆ ก็คงจมโคลน” Smith เล่า Smith ร่วมสร้างประวัติศาสตร์บนเกาะนี้เช่นกัน หลังจากลงทุนไป 1.4 หมื่นล้านเหรียญ ปัจจุบันเขาถือหุ้นที่มีอำนาจควบคุมในบริษัท Freeport LNG ซึ่งแช่เย็นและส่งออกก๊าซธรรมชาติวันละ 2 พันล้านลูกบาศก์ฟุต ก๊าซจากชั้นหินดินดานของบริษัทนี้ส่วนใหญ่ขุดเจาะด้วยแรงดันน้ำ (fracking) ตามแนวนอน ถ้าคำนวณตามราคาตลาดในปัจจุบัน Freeport ผลิตก๊าซได้เป็นมูลค่าประมาณวันละ 14 ล้านเหรียญ ซึ่งบริษัทได้ค่ารับจ้างผลิตก๊าซประมาณวันละ 5 ล้านเหรียญ “เราขุดเจาะก๊าซธรรมชาติที่สะอาดของอเมริกา สร้างมูลค่าเพิ่มอย่างมหาศาล แล้วส่งออกไปให้ประเทศที่มีพลังงานไม่พอใช้ ไม่อย่างนั้นพวกเขาก็ต้องเผาถ่านหินซึ่งสกปรก” เขากล่าว นับตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจนี้เมื่อเดือนกันยายน ปี 2019 Freeport LNG ส่งเรือบรรทุกก๊าซ 200 ลำออกไปยังญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และโครเอเชีย แต่ละลำบรรทุกก๊าซมากพอจะเป็นพลังงานให้คนหลายหมื่นคนได้ทั้งปี Freeport จะส่งออก LNG ประมาณ 15 ล้านตันในปีนี้ ซึ่งเทียบเท่าพลังงานที่ได้จากน้ำมัน 130 ล้านบาร์เรล และน่าจะทำรายได้เกือบ 2.5 พันล้านเหรียญ หุ้นของ Smith 63% ในห้างหุ้นส่วนจำกัดแห่งนี้มีมูลค่ากว่า 1 พันล้านเหรียญ การผลิตก๊าซเหลวจะต้องนำก๊าซมีเทนมาแช่เย็นจนกลายเป็นของเหลวอุณหภูมิ -260 องศา เพื่อสามารถปั๊มใส่เรือบรรทุกก๊าซที่เปรียบเสมือนกระติกเก็บความเย็นสำหรับส่งออกไปทั่วโลกได้ Freeport LNG สร้างหน่วยเครื่องจักรผลิต LNG ขนาดใหญ่ติดอันดับโลกที่เรียกว่า“เทรน” (trains) โดยเริ่มจากการตอกเสาเข็ม 36,000 ต้นลงไป 100 ฟุตในพื้นดินนิ่มของเกาะ Quintana และปัจจุบันพื้นที่ตรงนี้มีเครื่องจักรที่ทำจากเหล็กจำนวนมากพอจะสร้างหอไอเฟลได้ 6 หอตั้งตระหง่าน พร้อมด้วยท่อใหม่เอี่ยมยาวรวม 192 ไมล์ ทั้งหมดตั้งอยู่บนฐานคอนกรีต 496,000 ตัน แต่สิ่งที่น่าประทับใจที่สุดคือ ผู้ที่สร้างสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่บริษัทพลังงานข้ามชาติยักษ์ใหญ่ แต่เป็นคนคนเดียว นั่นคือ Smith จอมดื้อผู้เกิดในย่าน Bronx

- การเดิมพันที่ผิดพลาด -

เขายอมรับว่า เขาวางเดิมพันผิดพลาดในตอนแรก ในปี 2002 เมื่อ Smith เริ่มงานบนเกาะ Quintana เขาไม่ได้คิดกลยุทธ์การส่งออก LNG ไว้เลย แต่เขาอยากนำเข้าเพราะตอนนั้นเขาเชื่อว่าสหรัฐฯ จะใช้ก๊าซธรรมชาติราคาไม่แพงจากการซัพพลายในประเทศหมดในไม่ช้า และแน่นอนว่าเขาระดมทุนมา 800 ล้านเหรียญในตอนแรก เพื่อจะสร้างท่าเรือนำเข้าก๊าซ แต่พอถึงปี 2008 โครงการนี้กลับตกยุคไปตั้งแต่ก่อนจะสร้างเสร็จด้วยซ้ำ แม้กลยุทธ์จะล้มเหลวแต่เขาก็เริ่มทำก่อนรายอื่น Smith จึงอยู่ในจุดที่เหมาะจะกลับลำและหันมาส่งออก LNG แทนการนำเข้า ทั้งหมดที่เขาต้องทำก็แค่จัดการความเสี่ยงไม่กี่อย่าง นั่นคือต้องระดมทุน 1.4 หมื่นล้านเหรียญ ฝ่าฟันกระบวนการยุ่งยากด้านการกำกับดูแล และทำโครงการก่อสร้างงานใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของโลกให้เสร็จ “เราคิดค่าใช้จ่ายการลงทุนผิดไปเกิน 2 เท่า” เขาเล่า “ตอนนั้นเราไม่รู้เลยจริงๆ” 1 ทศวรรษต่อมาการปฏิวัติวิธีการขุดเจาะแบบแฟรกกิ้งช่วยให้ในปัจจุบันสหรัฐฯ ส่งออกก๊าซได้มากเป็นประวัติการณ์ถึง 10,000 ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือประมาณ 1 ใน 10 ของก๊าซที่ผลิตได้ในประเทศ แต่เมื่อราคาน้ำมันพุ่งขึ้นในช่วงปลายยุค 1970 เขาเช่าที่ดินเพื่อขุดเจาะน้ำมันใกล้กับจุดที่บริษัทซึ่งมีประสบการณ์มากกว่า ขุดพบบ่อน้ำมันบ่อใหญ่ๆ เขาเล่าว่า “สมัยผมเริ่มขุดบ่อน้ำมัน ผมจะนั่งปากบ่อเอง” หมายถึงเขาเข้าไปพักอยู่ในพื้นที่ร่วมกับคนงานขุดเจาะ “แล้วผมก็รู้ตัวว่า ผมมีพื้นฐานพอจะเข้าใจเรื่องเชิงเทคนิคในธุรกิจนี้ได้” แทนที่จะจ้างวิศวกร Smith จึงใช้แค่เครื่องคิดเลข “ผมคำนวณด้วยเครื่องคิดเลขรุ่น HP 12c ของผมเอง” “ผมมองโลกในแง่ดีมาตลอด” เขาเล่าต่อ “แต่ก็กลัวอยู่เสมอว่ายังมีอะไรที่ผมไม่รู้อีกมาก” เช่น เรื่องที่ราคาน้ำมันมักจะผันผวน เมื่อราคาน้ำมันตกฮวบในช่วงปลายยุค 1980 Smith ต้องซื้อหุ้นจากหุ้นส่วนที่จะออกจากกิจการด้วยราคาสูงกว่าในข้อตกลงยอมรับภาระหนี้สินเล็กน้อย และต้องประหยัดเงินสดด้วยการยกผลประโยชน์หลายๆ อย่างในบ่อน้ำมันแห่งใหม่ให้ Halliburton และ Maverick Tube ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ Smith นำบริษัท Basin Exploration ของเขาเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 1992 แต่เมื่อการขุดพบบ่อขนาดใหญ่เริ่มกลายเป็นเรื่องยากขึ้นเรื่อยๆ เขาจึงปรับโครงสร้างของ Basin ในปี 1995 ด้วยการขายสินทรัพย์แถบเทือกเขาร็อกกี้ ลดจำนวนพนักงาน และย้ายธุรกิจไปอยู่เมือง Houston เพื่อขุดเจาะในอ่าวเม็กซิโกแทน แต่ที่ใหม่ก็ยังมีปัญหาอีก Smith จึงมั่นใจว่าซัพพลายก๊าซธรรมชาติในประเทศกำลังจะหมดลง เขาขาย Basin ให้ Stone Energy ในปี 2000 ด้วยราคา 410 ล้านเหรียญ ซึ่งตัวเขาเองได้เงินประมาณ 60 ล้านเหรียญ
Michael S. Smith
แม้อายุเพียง 45 ปีแต่ Michael S. Smith ก็รวยแล้ว แต่เขายังไม่พร้อมจะออกมาเล่นสกีเต็มเวลา แล้วเมื่อปี 2001 ที่โรงแรม Brown Palace ในเมือง Denver เขาก็ได้พบกับ Charif Souki อดีตวาณิชธนากรและเจ้าของร้านอาหารผู้มีบริษัทก๊าซเล็กๆ ชื่อ Cheniere Energy ทั้งคู่เชื่อว่าอีกไม่นานสหรัฐฯ จะต้องนำเข้าก๊าซ และ Souki ตรวจสอบพื้นที่ริมอ่าวมาอย่างละเอียดแล้วเพื่อหาทำเลชั้นเยี่ยมสำหรับธุรกิจ LNG โดยมีทางเลือก 3 พื้นที่ซึ่งรวมถึงเมือง Freeport อันที่จริง Smith จะเข้าไปร่วมงานกับ Souki ก็ได้ แต่เขาอยากคุมธุรกิจของตัวเองมากกว่า เขาจึงระดมทุน 1.4 หมื่นล้านเหรียญเพื่อถือหุ้น 60% ในโครงการที่ Freeport เขาต้องใช้ทั้งทักษะด้านอสังหาฯ และพลังงานในโครงการนี้ Smith ได้เงินทุนก้อนแรกคืนเมื่อเขาชวนว่าที่ลูกค้ารายใหญ่อย่าง Dow Chemical และ ConocoPhillips ให้มาวางมัดจำและยอมเซ็นสัญญา 20 ปีได้ในที่สุด เพื่อสิทธิ (แต่ไม่ใช่ข้อผูกมัด) ในการแปรรูป LNG ที่ Freeport ให้เป็นก๊าซที่นำไปใช้ต่อได้ และเมื่อมีผู้เช่ารายใหญ่พร้อมแล้ว ConocoPhillips ก็ร่วมลงทุนกว่า 500 ล้านเหรียญเพื่อสร้างสถานีนำเข้าก๊าซซึ่งมีถังติดฉนวนเก็บความเย็นขนาดใหญ่พอให้เอาเครื่องบินโบอิง 747 ไปวางซ้อนกันในนั้นได้หลายลำ Smith กล่าวว่า “ถ้าผมรู้ก่อนว่าต้นทุนมันจะสูงขนาดนี้ ผมคงดูข้อเสนอของ Charif แล้วตอบปฏิเสธ จากนั้นก็ไปทำอย่างอื่น”  

- พลิกธุรกิจให้กลับทาง -

เมื่อถึงปี 2008 ก็เป็นที่แน่ชัดแล้วว่ากระแสเฟื่องฟูของการขุดเจาะก๊าซจากชั้นหินดินดานทำให้สถานีนำเข้าก๊าซของพวกเขาตายสนิทตั้งแต่ยังไม่เกิด แต่ต้องขอบคุณสัญญา 20 ปีที่ช่วยให้ Freeport LNG ยังได้เงิน 25 ล้านเหรียญต่อปี แม้ไม่ได้ทำอะไรเลย Smith เล่าว่า “เราสร้างสถานีขึ้นมาแต่ไม่เคยได้ใช้งาน” เขาจึงวางเดิมพันว่า การพลิกธุรกิจหันมาส่งออกขุมทรัพย์ก๊าซธรรมชาติของอเมริกาน่าจะทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำมากกว่า (มีการขุดก๊าซได้เพิ่มขึ้น ถึง 74% ในช่วง 2 ทศวรรษ ซึ่งต้องขอบคุณวิธีแฟรกกิ้งที่ช่วยให้ขุดได้ประมาณ 33 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตต่อปี) Jason Feer จากบริษัทที่ปรึกษาPoten & Partners กล่าวว่า “พวกเขาทำความเข้าใจได้เร็วว่าสินทรัพย์ ซึ่งถูกปล่อยไว้เฉยๆ เหล่านี้ยังมีคุณค่าให้เอาไปใช้อย่างอื่นได้” Smith ระดมทุนอีกครั้งด้วยการขายสัญญา 20 ปีสำหรับบริการผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวให้ BP และบริษัทยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นอย่าง Osaka Gas กับ Jera และเขายังขายหุ้นที่ให้สิทธิความเป็นเจ้าของในบางส่วนของโครงการด้วย โดยบริษัทญี่ปุ่น 2 บริษัทนี้ลงทุน 1.25 พันล้านเหรียญเพื่อถือหุ้น 50% ในเทรน 1 บริษัทไพรเวทอิควิตี้สัญชาติออสเตรเลียชื่อ IFM Investors ลงทุน 1.3 พันล้านเหรียญเพื่อถือหุ้น 56% ในเทรน 2 และในปี 2014 ยักษ์ใหญ่ด้านไพรเวทอิควิตี้อย่าง GIP ก็เข้าซื้อหุ้น 25% ในห้างหุ้นส่วนจำกัดแห่งนี้ด้วยราคา 850 ล้านเหรียญ เมื่อได้ผู้สนับสนุนที่แข็งแกร่งทีมของ Smith จึงกู้เงินได้ก้อนใหญ่มาก ปัญหาการถูกชาวบ้านขับไล่จบลงเกือบทั้งหมดเมื่อ Freeport LNG ซื้อและรื้อถอนบ้าน 60 กว่าหลังบนเกาะ แต่ปัญหาใหญ่ที่สุดคือ พายุเฮอร์ริเคน Harvey ซึ่งทำให้น้ำฝนท่วม 2 ฟุตในปี 2017 จนอุปกรณ์เสียหายหนัก แล้วในที่สุดช่วงปลายปี 2019 Freeport LNG ก็ได้เปิดดำเนินการ “เขาสร้างเสร็จ เขาทำสิ่งน่าทึ่งได้สำเร็จ และทำได้ดีเยี่ยมเลยด้วย” Souki ซึ่งเป็นคู่แข่งที่เป็นมิตรของ Smith กล่าว เขาออกจาก Cheniere เมื่อปี 2015 เพื่อก่อตั้งบริษัทพัฒนา LNG ชื่อ Tellurian Energy “โครงการนี้ไม่มีความเสี่ยงเรื่องการก่อสร้างแล้ว มันเป็นโมเดลธุรกิจที่ปลอดภัยที่สุด และเป็นธุรกิจรับจ้างผลิตที่ทุกวันนี้ไม่มีใครเลียนแบบได้” ปัจจุบัน Freeport LNG มีหนี้สิน 1.3 หมื่นล้านเหรียญ และนั่นก็เป็นเรื่องที่บริษัทสามารถจัดการได้ เพราะเมื่อลูกค้าติดสัญญาต้องจ่ายเงินปีละ 2.5 พันล้านเหรียญไปอีก 2 ทศวรรษ บริษัทก็จะมีเงินพอให้ชำระหนี้ เดินเครื่องจักร และจ่ายส่วนแบ่งให้ Smith กับเหล่าหุ้นส่วน แต่ปัญหาปวดหัวก็ยังไม่หมด Freeport LNG เริ่มเดินเครื่องเทรนทั้งสามเมื่อต้นปี 2020 ได้ไม่เท่าไรก็มีการประกาศล็อกดาวน์เพราะโควิด-19 จนทำให้ความต้องการก๊าซทั่วโลกตกฮวบ ในขณะที่เรือขนส่งถูกยกเลิก ราคา LNG ช่วงฤดูร้อนก็ดิ่งลงเหลือ 3.40 เหรียญต่อล้านบีทียู อย่างไรก็ตาม ราคา LNG ในเอเชียช่วงเดือนมกราคมปีนี้พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 18.50 เหรียญต่อล้านบีทียู ก่อนจะตกเหลือ 7 เหรียญอีกครั้ง แต่ความผันผวนเช่นนี้ก็ช่วยเร่งให้เกิดการทำข้อตกลงธุรกิจได้ “มันกระตุ้นให้ลูกค้าอยากเซ็นสัญญาซัพพลาย 20 ปี เพราะผู้ให้บริการสาธารณูปโภคในญี่ปุ่นอยากมั่นใจว่าพวกเขาจะได้ก๊าซตามที่ต้องใช้” Alex Munton นักวิเคราะห์จากบริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงาน Wood Mackenzie กล่าว และสำหรับ Freeport นั้น “พวกเขาก็จำเป็นต้องรู้ว่ามีลูกค้าอยากซื้อก๊าซ” Smith ได้รับอนุมัติให้สร้างเทรนหน่วยที่ 4 แล้ว และอาจใช้เทรนนี้ผลิต LNG ชนิดพรีเมียมที่มีปริมาณการปล่อยคาร์บอนฟุตปริ้นต์น้อยลงออกมาขาย ถึงแม้ฟังดูเหมือนไม่น่าจะได้ประโยชน์อะไรจริงจังแต่ลูกค้าก็อยากซื้อ และการที่ Freeport LNG ใช้ไฟฟ้าทั้งหมดจากโครงข่ายพลังงานของรัฐ Texas ซึ่งได้อานิสงส์จากการที่พลังงานลมเฟื่องฟูมาเป็นสิบปีแล้วก็ช่วยให้ Smith โฆษณาได้ว่า สินค้าของเขารักโลกมากกว่า LNG ที่ผลิตด้วยเครื่องผลิตไฟฟ้ากังหันก๊าซ ตัวก๊าซเองก็ดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า จากข้อมูลของ Lawrence Berkeley National Lab ความนิยมขุดเจาะก๊าซจากชั้นหินดินดานด้วยวิธีแฟรกกิ้งช่วยให้การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในสหรัฐฯ ลดลงได้เกือบครึ่งตั้งแต่ปี 2005 เมื่อผู้ผลิตไฟฟ้าเปลี่ยนจากการใช้ถ่านหินที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงกว่ามาใช้ก๊าซแทน แต่การใช้ถ่านหินก็ยังลดลงได้อีกเยอะ “ไม่ว่าเราจะเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนได้เร็วแค่ไหนก็ยังต้องใช้เวลาอีกนาน” Smith กล่าว “ก๊าซธรรมชาติจะยังมีบทบาทอีกมาก” เขามั่นใจว่า ตลาด LNG จะโต 50% ภายในปี 2030 และเรือบรรทุกก๊าซจะยังเข้าเทียบท่าเรือบนเกาะ Quintana ต่อไปอีกหลายทศวรรษ   เรื่อง: Chris Helman เรียบเรียง: ธรรดร โสตถิอำรุง ภาพ: Matthew Mahon และ Freeport LNG อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนตุลาคม 2564 ในรูปแบบ e-magazine