มหาเศรษฐีหน้าใหม่ ดาวเด่นประจำปี 2021 - Forbes Thailand

มหาเศรษฐีหน้าใหม่ ดาวเด่นประจำปี 2021

FORBES THAILAND / ADMIN
29 Dec 2021 | 05:40 PM
READ 4666

ทำเนียบมหาเศรษฐีที่มีแต่เจ้าเก่าๆ ในปีนี้ได้มี 'มหาเศรษฐีหน้าใหม่' อย่าง Rihanna และฝาแฝด Winklevoss เข้าสู่ทำเนียบสิบหลักแห่ง Forbes ได้สำเร็จเป็นครั้งแรก พร้อมกับดาวเด่นอีกหลายดวง

ท่ามกลางความหวาดกลัวภาวะเงินเฟ้อและโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่มาไม่หยุดหย่อน ตลาดหุ้นทั่วโลกก็ยังคงลอยตัวอยู่ได้ในปี 2021 โดยดัชนี S&P 500 และดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ก็พุ่งขึ้นจนเป็นเลขสองหลักในปีนี้ซึ่งเป็นผลมาจากกระแส IPO และการเข้าครอบครองแบบย้อนกลับที่สร้าง 'มหาเศรษฐีหน้าใหม่' มากมาย สกุลเงินคริปโตเองก็มาแรงใช่ย่อย โดยเป็นตัวสร้างเศรษฐีหน้าใหม่ในทำเนียบสิบหลักนี้เป็นจำนวนมากเลยทีเดียว ในขณะที่ธุรกิจการร่วมลงทุนและบริษัทไพรเวทอิควิตี้ก็ช่วยผลกให้เจ้าของกิจการและบริษัทเอกชนทั้งหลายเข้ามาติดโผนี้ได้อีกแรง โดยรวมแล้ว Forbes ได้ติดตามเหล่า 'มหาเศรษฐีหน้าใหม่' มากกว่า 400 รายในปี 2021 ซึ่งมีมูลค่าทรัพย์สินรวมเฉลี่ยเกิน 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ จากมหาเศรษฐีทั่วโลกมากกว่า 2,600 คนที่มีทรัพย์สินรวมถึง 14 ล้านล้านเหรียญ ณ วันที่ 17 ธันวาคม (ทรัพย์สินสุทธิในบทความนี้เป็นทรัพย์สิน ณ วันที่ 14 ธันวาคม 2021)
Seldon และ Miriam Adelson (Photo Credits: Bloomberg)
มหาเศรษฐีหน้าใหม่ที่รวยที่สุดในปี 2021 นี้คือ Miriam Adelson แม่หม้ายอดีตภรรยา Sheldon Adelson นักธุรกิจทรงอิทธิพลในแวดวงคาสิโน โดยเธอได้รับมรดกเป็นหุ้นของเขาใน Las Vegas Sands ซึ่งหุ้นในส่วนนั้นเป็นรายได้หลักของมูลค่าทรัพย์สินโดยรวมของเธอที่อยู่ที่ 2.71 หมื่นล้านเหรียญ

เศรษฐินีหน้าใหม่

นอกจากนี้ในรายชื่อดังกล่าวยังประกอบไปด้วย Melinda French Gates ที่หย่ากับ Bill Gates สามีของเธอไปเมื่อเดือนสิงหาคม และตอนนี้เธอมีทรัพย์สินอยู่ราวๆ 6.1 พันล้านเหรียญเลยทีเดียว ในส่วนของเศรษฐินีพันล้านหน้าใหม่ที่ประสบความสำเร็จด้วยตัวเองก็มีดังนี้ Rihanna นักร้องผู้ผันตัวเป็นนักธุรกิจด้านแฟชั่น เป็นนักดนตรีหญิงที่รวยที่สุดในโลก โดยมีทรัพย์สินรวมอยู่ราวๆ 1.7 พันล้านเหรียญ ทั้งนี้ก็ต้องขอบคุณหุ้นถึงร้อยละ 50 ในแบรนด์เครื่องสำอางของเธออย่าง Fenty Beauty ที่เธอถือไว้ด้วย นอกจากนี้ เธอยังนับเป็นเศรษฐีพันล้านคนแรกในบาร์เบโดสประเทศบ้านเกิดของเธอ และล่าสุด เธอก็ได้รับการยกย่องให้เป็น 'วีรสตรีแห่งชาติ' อีกด้วย Kim Kardashian ที่ฟ้องหย่าสามีนักดนตรีและนักธุรกิจรองเท้าผู้เป็นเศรษฐีพันล้านอย่าง Kanye West ไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ก็มาเข้าร่วมทำเนียบนี้ด้วยมูลค่าทรัพย์สินอยู่ที่ราวๆ 1.2 พันล้านเหรียญ โดยทรัพย์สินส่วนใหญ่ของเธอมาจากหุ้นในแบรนด์เครื่องสำอาง KKW Beauty และ Skims แบรนด์ชุดกระชับสัดส่วนของเธอ (อดีตดาวรายการเรียลลิตี้ปลด 'West' ออกจากชื่อของเธอเมื่อเดือนธันวาคม)
Skims ธุรกิจของ Kim Kardashian (Photo Credits: Getty Images)
Falguni Nayar จากอินเดีย อดีตวาณิชธนากรผู้ก่อตั้ง Nykaa บริษัทค้าปลีกด้านแฟชั่นและความงาม เป็นเศรษฐินีพันล้านที่สร้างตัวเองที่รวยที่สุดที่ติดโผมาในปีนี้ด้วยมูลค่าทรัพย์สินอยู่ที่ประมาณ 6.8 พันล้านเหรียญ หลังจากที่บริษัทแม่ของ Nykka เข้าสู่ตลาดหุ้น National Stock Exchange ณ เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ตามมาติดๆ คือ Melanie Perkins สาวออสเตรเลียผู้ร่วมก่อตั้ง Canva บริษัทซอฟต์แวร์ออกแบบ โดยเธอมีทรัพย์สินเฉลี่ยอยู่ที่ 6.5 พันล้านเหรียญซึ่งมาจากหุ้นในบริษัทร้อยละ 18 ที่เธอถืออยู่ อีกทั้งหลังจากการระดมทุนสองรอบในเดือนเมษายนและกันยายนที่ผลักให้บริษัทมีมูลค่าถึง 4 หมื่นล้านเหรียญ ในปีนี้ ทั้ง Perkins และ Cliff Obrecht สามีของเธอได้ลงนามใน Giving Pledge สัญญาว่าจะบริจาคทรัพย์สินอย่างน้อยครึ่งหนึ่งเพื่อการกุศล

หน้าใหม่ จากที่ใหม่

เหล่าหน้าใหม่ทั้งหลายในปีนี้ส่วนมากมาจากจีน โดยมีเศรษฐีพันล้านหน้าใหม่กว่า 160 คนเรียกมาจากประเทศจีน ตามมาด้วยสหรัฐที่ส่งมหาเศรษฐีมาเข้าทำเนียบเกือบ 100 คน ทางอินเดียและเยอรมันก็ได้ส่งรายชื่อมาอีกประเทศละ 20 คน แต่ที่โดดเด่นที่สุดก็ต้องยกให้กับสวีเดน ถึงแม้จะมีเศรษฐีพันล้านหน้าใหม่เพียง 12 คน แต่ทั้งหมดนั้นก็สร้างเนื้อสร้างตัวเองล้วนๆ และนอกเหนือจากบาร์เบโดสแล้ว  ก็ยังมีประเทศที่ส่งเศรษฐีพันล้านมาเข้าร่วมทำเนียบปี 2021 นี้เป็นปีแรกถึง 3 ประเทศดังนี้
Kiri และ Georgi Domuschiev
บัลแกเรีย สถานที่ที่สองพี่น้องเศรษฐีพันล้านอย่าง Kiri และ Georgi Domuschiev สร้างอาณาจักรมูลค่า 4.2 พันล้านเหรียญที่ครอบคลุมทั้งสุขภาพสัตว์, ชิปปิ้ง, อสังหาริมทรัพย์ และฟุตบอลผ่านการโอนกิจการของรัฐมาเป็นของเอกชน เอสโตเนีย บ้านเกิดของ Kristo Kaarmann และ Taavet Hinrikus ผู้ก่อตั้ง Wise บริษัทบริการโอนเงิน ที่เข้าสู่ตลาดหุ้น London Stock Exchange เมื่อเดือนกรกฎาคม อุรุกวัยได้แจ้งเกิดเศรษฐีพันล้านครั้งแรกในปีนี้ถึง 3 คนด้วยกัน หลังจากสตาร์ทอัพด้านการชำระเงินไร้พรมแดน dLocal ได้ขาย IPO ไปเมื่อเดือนมิถุนายน และแม้ว่า 1 ในนั้นจะหลุดทำเนียบไปแล้ว แต่สองผู้ก่อตั้งแห่ง dLocal ทั้ง Andres Bzurovski และ Sergio Fogel ยังคงติดโผอยู่ด้วยทรัพย์สินมูลค่าราวๆ 2 พันล้านเหรียญ

อุตสาหกรรมทำเงิน

มากกว่าครึ่งของมหาเศรษฐีหน้าใหม่ประจำปี 2021 มาจากอุตสาหกรรม 3 แห่งด้วยกัน นั่นก็คือการผลิต, เทคโนโลยี และ การเงิน & การลงทุน โดยกลุ่มมหาเศรษฐีหน้าใหม่ส่วนมากมาจากอุตสาหกรรมการผลิต และส่วนมากก็มากจากประเทศจีนอีกด้วย Deng Weiming ประธาน CNGR Advanced Material บริษัทผู้ผลิตส่วนประกอบของแบตเตอรี่ลิเทียม เป็นมหาเศรษฐีด้านการผลิตที่รวยที่สุดในปี 2021 ด้วยทรัพย์สินราวๆ 9.4 พันล้านเหรียญ
Scott Watterson (Photo Credits: Forbes)
อีกหนึ่งคนที่ตบเท้าเข้าร่วมขบวนมหาเศรษฐีพันล้านคือ Scott Watterson ผู้ร่วมก่อตั้ง Logan บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ในยิมจาก Utah และ iFIT บริษัทคู่อริของ Peloton ซึ่งผลิตลู่วิ่ง, จักรยานปั่นอยู่กับที่ และเครื่องเล่นฟิตเนสอื่นๆ ทั้งนี้ ทางบริษัทได้เลื่อนการขาย IPO รอบเดือนตุลาคมออกไป โดยเหตุผลคือ "สภาพตลาดที่ไม่เป็นมิตร"

คริปโตตัวดี

สกุลเงินคริปโตและหุ้นมีมทั้งหลายก็จองที่หน้าหนึ่งในปีนี้ใช่เล่น และกลุ่มมหาเศรษฐีหน้าใหม่ก็โผล่ขึ้นมาให้เราได้เห็น ในเดือนมกราคมเมื่อ GameStop บริษัทขายวิดีโอเกมผลักให้ Ryan Cohen นักลงทุน นักกิจกรรม ผู้ก่อตั้งและอดีตซีอีโอแห่ง Chewy ยักษ์ใหญ่ด้านอี-คอมเมิร์ซของสัตว์เลี้ยง เข้าสู่ทำเนียบพันล้านได้สำเร็จ และสกุลเงินคริปโตยังคงทะยานขึ้นเรื่อยๆ ตลอดปี 2021 สร้างเศรษฐีหน้าใหม่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น
Sam Bankman-Fried (Photo Credits: Forbes)
Sam Bankman-Fried ผู้ก่อตั้ง FTX บริษัทแลกเปลี่ยนสกุลเงินคริปโตได้มีรายชื่ออยู่ใน Forbes 400 มหาเศรษฐีชาวอเมริกันที่มั่งคั่งที่สุดของปีนี้ในฐานะหน้าใหม่ที่ประสบความสำเร็จด้วยตัวเองที่รวยที่สุดเป็นประวัติกาล โดยเขามีทรัพย์สินอยู่ราวๆ 2.65 หมื่นล้านเหรียญเลยทีเดียว นักธุรกิจคริปโตสองพี่น้อง Cameron และ Tyler Winklevoss มีทรัพย์สินกันอยู่คนละราวๆ 5 พันล้านเหรียญที่มาจากการลงทุนในคริปโตและหุ้นในแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนคริปโตอย่าง Gemini และสองพี่น้องฝาแฝดนี้ก็ได้มาขึ้นปก Forbes ไปเมื่อเดือนเมษายนด้วย Vitalik Buterin ผู้ถือสัญชาติแคนาดา-รัสเซียคนนี้เป็นผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มบล็อกเชน Ethereum และสกุลเงินคริปโต Ether ซึ่งถือเป็นสกุลเงินคริปโตที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ตามมูลค่าตลาด โดยเขามีทรัพย์สินอยู่ประมาณ 1.3 พันล้านเหรียญ (Buterin ได้เข้าๆ ออกๆ ทำเนียบมหาเศรษฐีเรื่อยๆตามราคา Ethereum ที่ขึ้นๆ ลงๆ)

ฟินเทคสุดล้ำ

ผู้ก่อตั้งบริษัทฟินเทคท้ังหลายก็กลายเป็นมหาเศรษฐีหน้าใหม่กันทั่วโลก ด้วยการเปิดขาย IPO และการระดมทุนรอบใหม่ๆ ในปี 2021 โดยเหล่าผู้ตบเท้าเข้าทำเนียบประกอบไปด้วย David Velez จากโคลัมเบีย และ Christina Junqueira จากบราซิล ผู้ร่วมก่อตั้ง Nubank ธนาคารดิจิทัล ซึ่งปัจจุบัน​ Velez มีทรัพย์สินอยู่ราวๆ 9.7 พันล้านเหรียญ ส่วน Junqueira นั้นมีอยู่ราวๆ 1.2 พันล้านเหรียญ หลังจากที่บริษัทขายหุ้น IPO ใน New York Stock Exchange เมื่อเดือนธันวาคม Guillaume Pousaz ผู้ก่อตั้ง Checkout.com บริษัทดำเนินการชำระเงินที่ตั้งอยู่ในลอนดอน ชาวสวิสคนนี้ได้เข้าสู่ทำเนียบเศรษฐีพันล้านหลังจากการระดมทุนรอบมกราคมสร้างเม็ดเงินให้กับบริษัทได้ถึง 450 ล้านเหรียญ ผลักให้บริษัทนี้มีมูลค่าอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านเหรียญเลยทีเดียว
Sebastian Siemiatkowski (Photo Credits: Forbes)
Victor Jacobsson และ Sebastian Siemiatkowski สองผู้ก่อตั้งบริษัทที่ให้คุณซื้อตอนนี้ จ่ายตอนหลังอย่าง Klarna กลายเป็นเศรษฐีพันล้านเมื่อเดือนมีนาคมหลังจากทางบริษัทระดมทุนได้ถึง 1 พันล้านเหรียญจากมูลค่าบริษัท 3.1 หมื่นล้านเหรียญทำให้ Jacobsson มีทรัพย์สินราวๆ 2.7 พันล้านเหรียญ และ Siemiatkowski 2.2 พันล้านเหรียญ

IPO และ SPAC

จำนวนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ครั้งแรกมีมากเป็นปรากฏการณ์ในปี 2021 ทั้งในรูปแบบของ IPO และผ่านการควบรวมกับบริษัทเช็คเปล่าที่รู้จักกันในนาม SPACs (Special Purpose Acquisition Company) SPAC Analytics เผยว่า SPAC นับเป็นร้อยละ 64 ของการเสนอขายหุ้น 953 หุ้นในสหรัฐฯ ในปีนี้ นั่นถือว่ามากกว่าร้อยละ 140 ของจำนวนทั้งหมดในปี 2020 ในขณะเดียวกันการจดทะเบียนใหม่ก็เพิ่มขึ้นถึงสองเท่า ทำให้เกิดมหาเศรษฐีหน้าใหม่จาก IPO และ SPACs ในปี 2021 นี้จำนวนหนึ่ง โดยในกลุ่มคนเหล่านั้นก็มี Mat และ Justin Ishbia แห่ง United Wholesale Mortgage จาก Michigan บริษัทให้กู้ยืมที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของประเทศได้ผันตัวเป็นบริษัทมหาชนผ่านการควบรวมกิจการโดย SPAC เมื่อเดือนมกราคม ส่งผลให้หุ้นส่วนที่ Mat ถืออยู่มีมูลค่าประมาณ 7.3 พันล้านเหรียญ ในขณะที่หุ้นของ Justin มีมูลค่าประมาณ 2.2 พันล้านเหรียญ
Sytse 'Sid' Sijbrandij (Photo Credits: Forbes)
Sytse 'Sid' Sijbrandij ผู้ก่อตั้ง Gitlab แพลตฟอร์มพัฒนาซอฟต์แวร์สัญชาติดัตช์ก็ได้เข้าสู่ตลาดหุ้น Nasdaq ในฐานะ IPO ที่ดังเป็นพลุ และปัจจุบัน คาดว่าเขามีทรัพย์สินถึง 2 พันล้านเหรียญด้วยกัน

อิทธิพลจากปลาใหญ่

บริษัทเอกชนต่างๆ ก็ได้รับทุนจำนวนมากเป็นปรากฎการณ์จากบริษัทไพรเวทอิควิตี้และธุรกิจการร่วมลงทุน ซึ่งช่วยยกระดับให้เหล่าผู้ก่อตั้งทั้งหลายเข้าสู่ทำเนียบเศรษฐีพันล้านได้โดยไม่จำเป็นต้องนำบริษัทเข้าตลาดหุ้น ในขณะที่หลายๆ คนก็กลายเป็นเศรษฐีพันล้านได้ด้วยการควบรวมกิจการกับบริษัทที่ใหญ่กว่า Alex Shavchenko และ Max Lytvyn สองชาวยูเครนผู้ก่อตั้ง Grammarly เครื่องมือเช็คไวยากรณ์ มีทรัพย์สินอยู่ที่คนละราวๆ 4 พันล้านเหรียญหลังจากที่ Grammarly สามารถระดมทุนได้ถึง 200 ล้านเหรียญเมื่อเดือนพฤศจิกายน โดยผู้ทุ่มทุนในครั้งนั้นมีทั้ง ​Billie Gifford และ BlackRock โดยบริษัทมีมูลค่าอยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านเหรียญ
Peter Jackson (Photo Credits: Getty Images)
ผู้กำกับ Lord of the Rings อย่าง Peter Jackson ได้ทำการขาย Weta Digital บริษัทด้าน visual effects ในนิวซีแลนด์ของเขาให้กับ Unity Software บริษัทซอฟต์แวร์วิดีโอเกมไปในราคา 1.6 พันล้านเหรียญเมื่อเดือนพฤศจิกายน การปิดดีลครั้งนั้นทำให้ Jackson กลายเป็นมหาเศรษฐีพันล้านหน้าใหม่ที่มีทรัพย์สิน 1.5 พันล้านเหรียญด้วยกัน แปลและเรียบเรียงโดย ทัตชญา บุษยากิตติกร จากบทความ Rihanna, The Winklevoss Twins, And More: Here Are The Most Notable New Billionaires Of 2021 เผยแพร่บน Forbes.com อ่านเพิ่มเติม: 10 มหาเศรษฐี ผู้มีทรัพย์สินลดลงมากที่สุด ประจำปี 2021
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine