10 มหาเศรษฐี ผู้มีทรัพย์สินลดลงมากที่สุด ประจำปี 2021 - Forbes Thailand

10 มหาเศรษฐี ผู้มีทรัพย์สินลดลงมากที่สุด ประจำปี 2021

FORBES THAILAND / ADMIN
22 Dec 2021 | 02:00 PM
READ 4878

แม้ว่าในปีนี้ เหล่ามหาเศรษฐีทั้งหมด 2,660 รายจะมีทรัพย์สินรวมกันเพิ่มมากขึ้นกว่า 1.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ทว่าในมูลค่านี้กลับปรากฎให้เห็นผู้ที่สูญเสียความมั่งคั่งมากมายจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม 

อาทิ บรรดามหาเศรษฐีของจีนซึ่งมีทรัพย์สินลดลงมากที่สุดแห่งปี จากการปราบปรามด้านกฎระเบียบที่ทวีความรุนแรงขึ้นในอุตสาหกรรมต่างๆ ตั้งแต่อี-คอมเมิร์ซไปจนถึงการศึกษาหลังเลิกเรียน ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการเทขายหุ้นอย่างถล่มทลาย และกวาดล้างมูลค่าหลายแสนล้านเหรียญจากบริษัทจีน  นำโดยหุ้น Pinduoduo ยักษ์ใหญ่ด้านอินเทอร์เน็ตที่มีมูลค่าลดลงราว 2 ใน 3 ขณะที่หุ้น Alibaba Group ร่วงลงเกือบร้อยละ 50 ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยต่างได้รับผลกระทบจากกฎหมายฉบับใหม่ของทางการจีน และค่าปรับที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลและการผูกขาด ส่งผลให้ผู้ก่อตั้งบริษัททั้ง 2 แห่งนี้สูญเสียความมั่งคั่งมากกว่าใครๆ ตลอดช่วงปี 2021  โดย Colin Zheng Huang ผู้ก่อตั้ง Pinduoduo มีมูลค่าทรัพย์สินลดลง 4.02 หมื่นล้านเหรียญ ณ วันที่ 10 ธันวาคม ตามมาด้วย Jack Ma ที่ 2.14 หมื่นล้านดอลลาร์ นอกจากประเด็นข้างต้นแล้ว ความกังวลอีกประการสำหรับนักลงทุนชาวจีน คือ วิกฤตการณ์บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ China Evergrande Group ซึ่งกำลังส่งผลกระทบในวงกว้างด้วยภาระหนี้สินมากกว่า 3 แสนล้านเหรียญ ทำให้ Hui Ka Yan ติดหนึ่งในทำเนียบมหาเศรษฐีผู้มีทรัพย์สินลดลงมากที่สุดเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน  ด้าน Zhang Yong ผู้ประกอบการหม้อไฟในสิงคโปร์ สูญเสียความมั่งคั่งร้อยละ 68 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะที่ Dan Gilbert เจ้าพ่อสินเชื่อบ้านชาวอเมริกัน ที่เคยก้าวขึ้นเป็นหนึ่งใน 10 มหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลกก่อนที่จะสูญเสียทรัพย์สินมูลค่ากว่า 1.32 หมื่นล้านเหรียญ เช่นเดียวกับเศรษฐีค้าปลีกเสื้อผ้าญี่ปุ่น Tadashi Yanai ซึ่งธุรกิจของ Uniqlo กำลังตกเป็นเรื่องอื้อฉาวระดับโลกหลายเรื่อง พบกับ 10 มหาเศรษฐี ผู้มีทรัพย์สินลดลงมากที่สุด ประจำปี 2021 ซึ่งได้รับการประเมินมูลค่าทรัพย์สินระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม 2020 ถึง 10 ธันวาคม 2021 มหาเศรษฐี ผู้มีทรัพย์สินลดลงมากที่สุด อันดับ 1  Colin Zheng Huang สัญชาติ: จีน มูลค่าทรัพย์สิน: 2.24 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ทรัพย์สินที่ลดลงในปี 2021: 4.02 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ การปราบปรามด้านกฎระเบียบของจีนไม่ได้ส่งผลกระทบต่อทรัพย์สินของเศรษฐีคนใดมากไปกว่า Huang ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ Pinduoduo ที่สูญเสียทรัพย์สินกว่าร้อยละ 64 ในปีนี้ จากการปรับตัวลงของหุ้นบริษัทที่เขาก่อตั้ง บริษัทอายุ 6 ขวบรายนี้ได้รับแรงสั่นสะเทือนมากขึ้นจากการลาออกอย่างกะทันหันของ Huang ในฐานะประธานในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ Pinduoduo แซงหน้า Alibaba ขึ้นแท่นเป็นบริษัทอี-คอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ด้วยจำนวนผู้ใช้งานรายปี อันดับ 2   Jack Ma  สัญชาติ: จีน มูลค่าทรัพย์สิน: 3.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ทรัพย์สินที่ลดลงในปี 2021: 2.14 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ Ma ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดของจีน ใช้เวลาส่วนใหญ่ในปี 2021 โดยไม่ออกสู่สายตาของสาธารณชน หลังจากที่หน่วยงานกำกับดูแลของจีนได้ยกเลิกแผนการเสนอขายหุ้น IPO มูลค่า 3.5 หมื่นล้านเหรียญของ Ant Group ในเดือนพฤศจิกายน 2020  ไม่นานหลังจากนั้น พวกเขาก็โจมตี Alibaba ยักษ์ใหญ่อี-คอมเมิร์ซที่ร่วมก่อตั้งโดย Ma ด้วยค่าปรับ 2.8 พันล้านเหรียญในเดือนเมษายน ฐานฝ่าฝืนกฎหมายต่อต้านการผูกขาด  ปัจจุบัน มูลค่า ณ ราคาตลาดของ Alibaba ลดลงมากกว่าร้อยละ 46 จนถึงปีนี้ ส่งผลให้ Ma สูญเสียทรัพย์สินไป 3.7 หมื่นล้านเหรียญหรือราวร้อยละ 37 มหาเศรษฐี ผู้มีทรัพย์สินลดลงมากที่สุด อันดับ 3  Hui Ka Yan  สัญชาติ: จีน มูลค่าทรัพย์สิน: 9.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ทรัพย์สินที่ลดลงในปี 2021: 2.14 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ Hui ติดหนึ่งในทำเนียบมหาเศรษฐีผู้มีทรัพย์สินลดลงมากที่สุดเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน จากการที่ China Evergrande Group ยักษ์ใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเขาก่อตั้งและดำรงตำแหน่งประธาน ผิดนัดชำระหนี้ให้กับนักลงทุนทั่วโลกเป็นครั้งแรกในเดือนธันวาคม ขณะที่หุ้นของบริษัท ณ วันที่ 15 ธันวาคม ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงที่มูลค่า 0.19 เหรียญต่อหุ้น ปัจจุบัน Hui อยู่ภายใต้แรงกดดันในการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ของ Evergrande มูลค่า 3 แสนล้านเหรียญ เนื่องจากความกังวลเรื่องฟองสบู่เกี่ยวกับศักยภาพของวิกฤตหนี้ที่มากขึ้นในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีน โดย Forbes ประเมินว่า Hui ได้รับเงินปันผล 8 พันล้านเหรียญจาก Evergrande ตั้งแต่ปี 2009 จนถึงปี 2020 มหาเศรษฐี ผู้มีทรัพย์สินลดลงมากที่สุด อันดับ 4   Zhang Yong  สัญชาติ: สิงคโปร์ มูลค่าทรัพย์สิน: 7.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ทรัพย์สินที่ลดลงในปี 2021: 1.59 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ Haidilao เชนธุรกิจหม้อไฟที่ใหญ่ที่สุดของจีน ซึ่งมีสาขาอยู่ทั่วโลก ได้รับผลกระทบครั้งใหญ่ในช่วงการระบาดใหญ่ จนส่งผลกระทบให้ร้านอาหารกว่า 1,600 แห่งที่กำลังดำเนินการขยายต้องหยุดชะงัก เนื่องจากผู้บริโภคกังวลเกี่ยวกับประสบการณ์การรับประทานอาหารร้าน  ล่าสุด ในเดือนพฤศจิกายน บริษัทประกาศว่าจะปิดให้บริการร้านอาหาร 300 แห่งภายในสิ้นปีนี้ ส่งผลให้หุ้นบริษัทปรับตัวลงร้อยละ 71 ณ วันที่ 15 ธันวาคม มหาเศรษฐี ผู้มีทรัพย์สินลดลงมากที่สุด อันดับ 5 Tadashi Yanai สัญชาติ: ญี่ปุ่น  มูลค่าทรัพย์สิน: 3.04 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ทรัพย์สินที่ลดลงในปี 2021: 1.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ Yanai สูญเสียทรัพย์สินไปประมาณ 1 ใน  3 ในปีนี้หลังจากหุ้น Fast Retailing อาณาจักรเสื้อผ้าในกรุงโตเกียว ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ดังอย่าง Uniqlo และ Theory ตกลงไปประมาณร้อยละ 34 แม้ว่ารายรับประจำปีจนถึงเดือนสิงหาคม 2021 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 และกำไรก่อนหักภาษีเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 70 จากปี 2020  แต่ผู้ค้าปลีกยังคงได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการโควิด-19 ในปีนี้ ซึ่งรวมถึงการเปิดปิดโรงงานในเวียดนาม ผนวกกับปัญหาของซัพพลายเออร์ในเมียนมาร์ ซึ่งเกิดการการรัฐประหาร ตลอดจนการถูกกล่าวว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ว่าด้วยการบังคับใช้แรงงานของชนกลุ่มน้อยใน Xinjiang ของจีน ซึ่งทาง Fast Retailing ได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้ มหาเศรษฐี ผู้มีทรัพย์สินลดลงมากที่สุด อันดับ 6 Lei Jun  สัญชาติ: จีน มูลค่าทรัพย์สิน: 1.63 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ทรัพย์สินที่ลดลงในปี 2021: 1.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ทรัพย์สินของ Lei ผู้ร่วมก่อตั้งและประธาน Xiaomi ซึ่งเป็นหนึ่งในแบรนด์สมาร์ทโฟนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก ลดลงเกือบครึ่งหนึ่งในปีนี้ แม้ว่าจะหลีกเลี่ยงการตรวจสอบกฎระเบียบที่สร้างความเสียหายให้กับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีนรายอื่นๆ ได้  แต่ Xiaomi ก็ประสบปัญหาด้านซัพพลายเชน ซึ่งก็คือปัญหาการขาดแคลนชิปทั่วโลก พร้อมกับการแข่งขันที่รุนแรงซึ่งลดส่วนแบ่งการตลาดลง จนส่งผลให้บริษัทมียอดขายน้อยที่สุดนับตั้งแต่ต้นปี 2020 อันดับ 7 Masayoshi Son สัญชาติ: ญี่ปุ่น  มูลค่าทรัพย์สิน: 2.51 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ทรัพย์สินที่ลดลงในปี 2021: 1.36 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ความไม่แน่นอนที่สร้างปัญหาให้กับบริษัทจีนได้ส่งผลกระทบต่อ Masayoshi Son ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ Softbank Group ยักษ์ใหญ่ด้านการลงทุนของญี่ปุ่น ซึ่งให้การสนับสนุน Alibaba, Didi Global และบริษัทอื่นๆ อีกมากมาย ส่งผลให้กองทุน Vision Fund ของ Softbank ขาดทุนเป็นประวัติการณ์ถึง 7.3 พันล้านเหรียญ  มูลค่าทรัพย์สินที่ลดลงของ Son ยังทำให้ Takemitsu Takizaki ผู้ก่อตั้ง Keyence Corp. ธุรกิจผู้ผลิตเซ็นเซอร์อิเล็กทรอนิกส์ ก้าวขึ้นเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในญี่ปุ่นอีกด้วย มหาเศรษฐี ผู้มีทรัพย์สินลดลงมากที่สุด อันดับ 8 Daniel Gilbert สัญชาติ: อเมริกัน มูลค่าทรัพย์สิน: 2.96 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ทรัพย์สินที่ลดลงในปี 2021: 1.32 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ปีนี้นับเป็นปีแห่งความผันผวนของราคาหุ้น Rocket Companies บริษัทรับจำนองของ Dan Gilbert หนึ่งในบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกในระยะเวลาสั้นๆ หลังจากที่ทรัพย์สินของเขาแตะ 8 หมื่นล้านเหรียญในเดือนมีนาคม  ทว่า ณ วันที่ 15 ธันวาคม หุ้นของผู้ให้กู้กลับร่วงลงร้อยละ 62 นับตั้งแต่แตะจุดสูงสุด ท่ามกลางการชะลอตัวของรายรับและผลกำไรจากธุรกิจที่เฟื่องฟูในรอบปี 2020  ล่าสุด Rocket รายงานรายรับสุทธิ 1.4 พันล้านเหรียญจากรายรับ 3.1 พันล้านดอลลาร์ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายนของปีที่แล้ว อันดับ 9 Zhang Bangxin สัญชาติ: จีน มูลค่าทรัพย์สิน: 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ทรัพย์สินที่ลดลงในปี 2021: 1.13 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ Zhang ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานบริษัทให้บริการด้านการศึกษา TAL Education สามารถยืนยันได้  หลังจากที่รัฐบาลจีนได้เพิ่มมาตรการต่อต้านบริษัทกวดวิชาหลังเลิกเรียนในปีนี้ด้วยข้อกำหนดที่เข้มงวดและประกาศห้ามระดมทุนจากนักลงทุนต่างประเทศและผ่านการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ พร้อมบังคับให้ลงทะเบียนเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร หุ้นของบริษัท TAL Education ก็ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง  ในขณะที่มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของ Zhang ลดลงมากถึงร้อยละ 90 นั้น ผู้ประกอบการด้านการสอนบางคนกลับแย่ลงไปอีก เช่น Larry Xiangdong Chen ซีอีโอของบริษัทด้านการศึกษา GSX Techedu ซึ่งปัจจุบันมีทรัพย์สินเหลือเพียง 250 ล้านเหรียญจากระดับสูงสุดที่ 1.58 หมื่นล้านเหรียญ  อันดับ 10 Zhong Huijuan  สัญชาติ: จีน มูลค่าทรัพย์สิน: 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ทรัพย์สินที่ลดลงในปี 2021: 1.04 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ Zhong ผู้ก่อตั้ง ประธาน และซีอีโอ Hansoh Pharmaceutical ผู้ผลิตยาจีน ก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในผู้หญิงที่ร่ำรวยที่สุดในโลกหลังจากนำบริษัทเข้าเสนอขายหุ้น IPO ในปี 2019 และหลังจากนั้นหุ้นของบริษัทก็ปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าร้อยละ 130 (Zhong และลูกสาวของเธอมีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทมากกว่า 3 ใน 4)  ทว่าในปี 2021 หุ้นกลับตกลงไปมากกว่าร้อยละ 50 และขณะนี้อยู่ต่ำกว่าราคาจดทะเบียน IPO ที่ 14.26 เหรียญฮ่องกง (1.82 เหรียญ) ต่อหุ้น เป็นผลให้ความมั่งคั่งของ Zhong ลดลงร้อยละ 51 ในปีนี้ แปลและเรียบเรียงโดย ชญาน์นัทช์ ธนินท์พงศ์ภัค จากบทความ The Biggest Losers: These Billionaires’ Fortunes Fell $152 Billion In 2021 เผยแพร่บน ​Forbes.com อ่านเพิ่มเติม: 10 มหาเศรษฐี ผู้มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากที่สุด ประจำปี 2021