หลังจากเปิดดำเนินการวันสุดท้าย เมื่อ 5 มกราคม 2562 โรงแรมดุสิตธานี ก็ปิดฉากลงเพื่อการพัฒนาใหม่ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกลุ่มเซ็นทรัลและโรงแรมดุสิตธานี ที่ประกาศร่วมทุนสร้างความฮือฮาสู่ตลาดเมื่อปีที่ผ่านมา กับแผนพัฒนา Mixed-use โครงการใหม่ "ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค" มูลค่ากว่า 3.67 หมื่นล้านบาท
ล่าสุดผู้บริหารทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันจัดงานแถลงข่าว เปิดเผยรายละเอียดแผนพัฒนาที่ดินแปลงงามเนื้อที่กว่า 23 ไร่ บริเวณหัวมุมถนนสีลม-พระราม 4 ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงแรมดุสิตธานีเดิม โดยขอเวลา 5 ปีในการพัฒนาเพื่อกลับมาใหม่ในชื่อ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” ภายใต้การบริหารโดย บริษัท วิมานสุริยา จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน โดย กลุ่มเซ็นทรัล ถือหุ้น 40% และ ดุสิตธานี 60% เพื่อพัฒนาโครงการ Mixed-use ที่ประกอบด้วย โรงแรม ที่พักอาศัย และโครงสร้างอาคารศูนย์การค้า ซึ่งจะมีจุดเด่นที่การใช้ฐานรากเดียวกันทั้งโครงการ พื้นที่ก่อสร้างรวมกว่า 4.4 แสนตารางเมตร
ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DTC กล่าวว่า ด้วยความตั้งใจของกลุ่มดุสิตฯ และซีพีเอ็น ที่จะพัฒนาพื้นที่บริเวณมุมถนนสีลม-พระราม 4 ให้เป็นทำเลศักยภาพใจกลางกรุงเทพฯ ผ่านการพัฒนาโครงการ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” ซึ่งจะเป็นโครงการพัฒนาแบบผสมผสาน หรือ Mixed-use ที่เป็นเอกลักษณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ด้วยการเชิดชูความเป็นไทยบนมาตรฐานสากล เหมือนที่ดุสิตธานีเคยสร้างการจดจำระดับโลกในฐานะสัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ มากว่า 50 ปีที่ผ่านมา
คงรูปแบบดุสิตธานีเพิ่มดีไซน์โมเดิร์น
โครงการนี้ออกแบบให้สะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นไทยผสานกลิ่นอายของความทันสมัย เป็นการหลอมรวมระหว่างงานอนุรักษ์และนวัตกรรมไว้ด้วยกัน ประกอบด้วยสามอาคารที่ถูกเชื่อมโยงกันด้วยหนึ่งฐานรากอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้โครงการมีความโดดเด่นต่างจากโครงการอื่น ด้วยการเป็นโครงการ Mixed-use แห่งเดียวในประเทศไทยที่สามารถเชื่อมต่อกับการจราจรทุกระนาบ ทั้งรถไฟฟ้า BTS และรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ตลอดจนการจราจรบนท้องถนน ซึ่งทุกอาคารสามารถมองเห็นวิวสวนลุมพินีได้อย่างชัดเจน
โดยส่วนของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ที่จะสร้างขึ้นมาใหม่ เป็นโรงแรมขนาด 250 ห้องบนอาคารสูง 39 ชั้น ในรูปทรงสถาปัตยกรรมคล้ายอาคารเดิม มีเสาสีทองเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นบนยอดอาคาร ซึ่งออกแบบให้เป็นพื้นที่จัดเลี้ยงและชมวิวแบบพาโนรามา โดยการออกแบบยังคงให้ความสำคัญกับการเก็บเรื่องราว องค์ประกอบสำคัญของโรงแรมดุสิตธานีเดิมเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบหรือการนำชิ้นส่วนเอกลักษณ์ต่างๆ มาใช้ในโครงการ มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดบริการช่วงปลายปี 2565
ในส่วนของ อาคารที่พักอาศัย หรือเรสซิเดนซ์ จะสร้างเป็นอาคารสูง 69 ชั้นที่สามารถรับชมวิวสวนลุมพินี และขอบฟ้ากรุงเทพฯได้แบบพาโนรามา ประกอบด้วยห้องชุดจำนวน 389 ยูนิต บนพื้นที่รวม 80,000 ตารางเมตร
แบ่งเป็นสองส่วน โดยส่วนแรก “ดุสิต เรสซิเดนเซส” (Dusit Residences) จำนวน 159 ยูนิต บนชั้นที่ 30-69 ขนาด 2-4 ห้องนอนพื้นที่ 120-600 ตารางเมตร เน้นเจาะกลุ่มผู้ที่ชื่นชอบที่อยู่อาศัยสไตล์คลาสสิก หรูหราเหนือกาลเวลา และมีความเป็นส่วนตัวสูง เหมาะกับครอบครัวขนาดกลางและใหญ่ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ตลอดจนนักธุรกิจที่เดินทาง
เรสซิเดนซ์ส่วนที่สอง “ดุสิต พาร์คไซด์” (Dusit Parkside) ตอบโจทย์ผู้ที่ชื่นชอบไลฟ์สไตล์คนเมือง ด้วยดีไซน์ที่ร่วมสมัย มีระดับ จำนวน 230 ยูนิต บนพื้นที่ชั้น 9-29 ขนาด 1-2 ห้องนอน พื้นที่ 60-80 ตารางเมตร เน้นเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ คนทำงานในเมือง และครอบครัวขนาดเล็ก โดยเรสซิเดนซ์ทั้งสองส่วนนี้เป็นสัญญาแบบสิทธิ์เช่าระยะยาวหรือลีสโฮลด์นาน 60 ปี (สัญญา 30 ต่อ 30 ปี) คาดว่าจะเปิดให้จองในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้
“ด้านราคาคายังไม่กำหนดชัดเจน จนกว่าจะเปิดจองในช่วงไตรมาส 3 แต่เบื้องต้นยืนยันได้ว่าจะถูกกว่าคอนโดในทำเลเดียวกัน เพราะโครงการนี้เป็นการขายแบบลีสโฮลด์สัญญายาว 60 ปี” ศุภจีกล่าว
เปิดนิยามใหม่ “ซูเปอร์คอร์ซีบีดี”
วัลยา จิราธิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภายใต้วิสัยทัศน์ Here for Bangkok สิ่งที่ซีพีเอ็นและดุสิตกำลังร่วมกันทำ จะเป็นมากกว่าการสร้าง Mixed-use ทั่วไป แต่เป็นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่จะบุกเบิกและพลิกโฉมกรุงเทพฯ
ด้วยการสร้าง ซูเปอร์คอร์ซีบีดี (Super Core CBD) ซึ่งจะเป็นหมุดหมายที่เชื่อมโยง 4 ย่านสำคัญจากทั้ง 4 ทิศของกรุงเทพฯ มุ่งตรงสู่ใจกลางเดียว ได้แก่ ย่านราชประสงค์ทางทิศเหนือ เจริญกรุงทางทิศใต้ สุขุมวิททางทิศตะวันออก และเยาวราชทางทิศตะวันตก ทำให้เกิดเป็น ‘The New Junction’ ที่เชื่อมโยงทุกย่านสำคัญของกรุงเทพฯ และเชื่อมให้ทุกย่านรอบพื้นที่นี้ให้เติบโตไปพร้อมกัน ทั้งย่านเก่าและย่านใหม่ รวมถึงย่าน Financial เข้ากับย่าน Commercial ซึ่งจะช่วยยกระดับผังเมืองกรุงเทพฯ ให้เชื่อมต่ออย่างลงตัวที่สุด ตอบโจทย์ทั้งทางธุรกิจและไลฟ์สไตล์ เช่นเดียวกับย่านดังในมหานครระดับโลกอย่าง London หรือ New York City
รีเทลแห่งอนาคตต่อเชื่อมไลฟ์สไตล์
สำหรับ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พาร์ค (Central Park) จะมีบทบาทสำคัญที่สุดในการเชื่อมโยงทุกองค์ประกอบของโครงการเข้าด้วยกัน เป็นการพัฒนารีเทลแห่งอนาคต ที่จะสร้าง New Urbanised Lifestyle ระดับเวิลด์คลาสอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ผสมผสานไลฟ์สไตล์ในร่มและกลางแจ้งเข้าด้วยกัน โดยรวบรวมแบรนด์ดังระดับไอคอนของโลกและประเทศไทยครอบคลุมทุกกลุ่มไลฟ์สไตล์ บนพื้นที่กว่า 80,000 ตารางเมตร เพิ่มการเชื่อมโยงการใช้ชีวิตในทุกมิติของคนเมืองจากภายในสู่ภายนอกด้วย Rooftop Park สวนดาดฟ้าพื้นที่สีเขียวร่มรื่นใจกลางกรุง ซึ่งจะก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในช่วงไตรมาส 3 ปี 2566
พื้นที่พัฒนาส่วนที่สาม “เซ็นทรัล พาร์ค ออฟฟิศเซส” (Central Park Offices) จะเป็นอาคารออฟฟิศสูง 49 ชั้นที่เป็นพื้นที่แห่งความคิดสร้างสรรรค์เป็น Professional Hub ที่คำนึงถึงความสมดุลในการใช้ชีวิตและการทำงาน พร้อมด้วยเทคโนโลยีที่เอื้อต่อไลฟ์สไตล์การทำงานของคนรุ่นใหม่ ที่ทุกอย่างต้องการความรวดเร็วและเชื่อมโยงเข้าถึงกัน บนพื้นที่ 90,000 ตารางเมตร รองรับการเป็นที่ตั้งของบริษัทตั้งแต่ Innovative Start-Ups ไปจนถึงสำนักงานบริษัทระดับโลก
เรื่อง: อรวรรณ หอยจันทร์ อ่านเพิ่มเติม