มากกว่า 6 ทศวรรษของโรงแรมแบรนด์ไทยที่ส่งผ่านอำนาจการบริหารอาณาจักรภายในครอบครัว นับตั้งแต่ ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย เริ่มต้นก่อตั้งโรงแรมปริ๊นเซสแห่งแรกขึ้นบนถนนเจริญกรุงในปี 2491 จนถึงโรงแรมดุสิตธานีเปิดดำเนินกิจการในปี 2513 โดยเป็นอาคารที่สูงที่สุดของประเทศในเวลานั้น
ดุสิตธานีกำลังนับถอยหลังเข้าสู่การส่งท้ายตำนานบทแรกในวันที่ 16 เมษายน 2561 ก่อนได้รับการยกระดับเป็นอสังหาริมทรัพย์เต็มรูปแบบในปี 2565 ภายใต้การนำทัพโดย ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ซีอีโอหญิงมืออาชีพคนแรกที่ได้รับความไว้วางใจให้บริหารธุรกิจของตระกูล “โทณวณิก” แม้ตลอดเส้นทางของการเป็นผู้บริหารมืออาชีพของซีอีโอวัย 53 ปีจะเชื่อมโยงกับธุรกิจเทคโนโลยีและโทรคมนาคมเป็นหลัก แต่ ชนินทธ์ โทณวณิก ผู้นำอาณาจักรดุสิตยังคงเชื่อมั่นในความสามารถด้านการบริหารที่ไม่ธรรมดาของศุภจี ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้จัดการหญิงคนแรกของไอบีเอ็มประเทศไทยและดำรงตำแหน่งผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สำนักประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สำนักงานใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะเดินทางกลับประเทศไทย เพื่อเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มไทยคม โดยสามารถแสดงฝีไม้ลายมือล้างผลขาดทุนสะสมต่อเนื่องจนกลายเป็นกำไรภายในเวลาไม่นาน จากความสามารถอันโดดเด่นของหญิงแกร่งแห่งวงการไอที ทำให้ชนินทธ์ต้องส่งเทียบเชิญให้ศุภจีมารับมอบอำนาจการบริหารกลุ่มดุสิต โดยมีจำนวนโรงแรมและรีสอร์ทรวมทั้งสิ้น 29 แห่ง พร้อมทั้งธุรกิจเทวารัณย์ สปา วิทยาลัยดุสิตธานี และโรงเรียนสอนประกอบอาหารเลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต เพื่อให้ธุรกิจสามารถปรับตัวกับกระแสโลกที่รุดหน้าอย่างรวดเร็ว “เราเรียนเกี่ยวกับจิตวิทยา การบริหารคนซึ่งเกี่ยวข้องกับทุกธุรกิจ เราเป็นเพียงผู้กำหนดทิศทาง แม้จะชัดเจนถูกต้องอย่างไรก็แค่ 5% อีก 95% ต้องเกิดจากคนทั้งองค์กรที่นำบริษัทก้าวไปข้างหน้าในอัตลักษณ์ของดุสิต รวมถึงพื้นฐานการศึกษาด้านการเงินและบัญชี ทำให้เราเข้าใจรูปแบบการเงิน และสามารถวางกลยุทธ์หรือทิศทางได้” ศุภจีกล่าวถึงปรัชญาการบริหารงานของเธอ ภายใต้โจทย์การพลิกโฉมองค์กรและภารกิจที่ได้รับ ศุภจีเดินหน้ายกเครื่ององค์กรสู่ความเปลี่ยนแปลง เร่งวางแผนกลยุทธ์ทั้งระยะสั้นและยาวตามเป้าหมายหลัก ได้แก่ การสร้างสมดุลรายได้ในพอร์ตธุรกิจจากสัดส่วนเดิมที่อิงกับในประเทศมากกว่า 70% และธุรกิจโรงแรมมากกว่า 80% รวมถึงการมองหาธุรกิจใหม่เสริมทัพธุรกิจโรงแรมและสถาบันการศึกษา เพื่อให้บริษัทสามารถเติบโตอย่างน้อยเท่าตัวใน 3-5 ปีข้างหน้า นอกจากนั้น บริษัทยังมุ่งปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและลดความซับซ้อนลง ทั้งยังพัฒนาด้านเทคโนโลยี ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการต่อยอดทางธุรกิจ เช่น การปรับปรุงเว็บไซต์ การเช็คอินผ่านแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือหรือความบันเทิงในห้องพัก เป็นต้น “เราเป็นผู้บริหารที่ชอบเดินไปพร้อมกับคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่ “one woman show” เรามีความสุขที่มองกลับมาและเห็นทีมงานประสบความสำเร็จ เราต้องร่วมทุกข์ร่วมสุข ซึ่งวิธีการสร้างวิสัยทัศน์นั้นง่ายและเร็ว เราแค่บอกทีมงานว่าคืออะไร แต่เราต้องการให้ทุกคนมองไปในแนวทางเดียวกัน เราจึงโค้ชให้ทีมคิดและทำ มากกว่าแค่พูดว่าให้ทำอะไร”รุกต่อยอดธุรกิจอสังหาฯ
จากแนวทางการบริหารองค์กรที่วางไว้ ศุภจีพร้อมนำทัพดุสิตก้าวสู่ความเปลี่ยนแปลงและสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งการขยายธุรกิจในต่างประเทศและฐานผู้เข้าพักให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ รวมถึงการต่อยอดทางธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ตามจังหวะและโอกาสที่เล็งเห็น “เราสนใจการขยายธุรกิจโรงแรมไปยังแพลตฟอร์มอื่น เช่น Airbnb ซึ่งเป็น disruptive business model ที่น่าสนใจ โดยเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เราได้ลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพของไทยในลักษณะ share economy ชื่อ FAVSTAY ซึ่งมีรายชื่ออสังหาริมทรัพย์ในพอร์ตมากกว่า 12,000 ห้องและเราจะไม่หยุดแค่นี้” ศุภจีกล่าว ขณะเดียวกันยังขยายกลุ่มผู้เข้าพัก ด้วยการสร้างแบรนด์ใหม่ที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของกลุ่มคน millennial โดยเล็งเปิดตัวแบรนด์ใหม่ในทำเลแรกกลางตลาดนัดจตุจักร และวางแผนเปิดตัวแบรนด์ดังกล่าวรวม 5 แห่งภายในปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า นอกจากนั้น ศุภจียังรุกขยายธุรกิจในต่างประเทศ ด้วยการเซ็นสัญญาจับมือกับพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง ภายใต้เป้าหมายการขยายธุรกิจโรงแรมในต่างประเทศให้มีสัดส่วนมากกว่า 50% ของพอร์ตการลงทุน เช่น การลงนามเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ กลุ่มบริษัทโดสเซ่น อินเตอร์เนชั่นแนล (Dossen International Group) ในประเทศจีน โดยวางแผนร่วมกันขยายแบรนด์ดุสิตปริ้นเซสไปตามเมืองท่องเที่ยวต่างๆ ของจีนอย่างน้อย 40 แห่ง ใน 5 ปี ส่วนในประเทศญี่ปุ่น จัดตั้งบริษัทร่วมทุนภายใต้ชื่อ “ดุสิต คัลเลอร์ส” ร่วมกับ คัลเลอร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ไม่เฉพาะธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ท ศุภจียังให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรในสถาบันการศึกษาควบคู่กัน ไม่ว่าจะเป็นวิทยาลัยดุสิตธานีที่กรุงเทพและพัทยา, โรงเรียนสอนประกอบอาหาร เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต รวมถึงโรงเรียนดุสิตธานีการโรงแรม โดยปีหน้านี้กลุ่มดุสิตจะเปิดโรงแรมผสมผสานสถาบันการศึกษาที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งพนักงาน 75% ของโรงแรมจะเป็นนักศึกษาของสถาบัน กลยุทธ์ของศุภจียังต้องการต่อยอดกลุ่มดุสิต โดยจับมือกับ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)ทุ่มลงทุนราว 3.67 หมื่นล้านบาท เพื่อยกระดับ โรงแรมดุสิตธานี บริเวณหัวมุมถนนสีลมและพระราม 4 สู่ โครงการอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบผสมขนาดใหญ่ (mixed-use) ประกอบด้วย โรงแรม อาคารที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน พื้นที่ค้าปลีก หลังจากลงนามในสัญญากับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เพื่อต่อสัญญาเช่าที่ดินอีก 30 ปี และได้รับสิทธิในการเช่าที่ดินต่อเนื่องอีก 30 ปี อย่างไรก็ตาม แม้การจัดกระบวนทัพใหม่ของดุสิตจะทำให้ธุรกิจสามารถสร้างการเติบโตได้เป็นเท่าตัวในอนาคต แต่ระหว่างทางการขยายอาณาจักรอาจส่งผลกระทบต่อบุคลากรที่เกี่ยวเนื่องและรายได้ทดแทนในช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่บริบทใหม่ ศุภจีจำเป็นต้องวางแผนการเดินหมากด้านการบริหารอย่างรอบคอบ ด้วยการทยอยรื้อถอนอาคารเก่าด้านข้างก่อนเพื่อเตรียมพื้นที่สร้างโรงแรมต้นปีหน้า โดยยังคงเปิดให้บริการโรงแรมดุสิตธานีถึงช่วงเดือนเมษายนและรื้อถอนเดือนกรกฎาคมปี’61 เพื่อให้มีช่วงเวลาที่หายไปน้อยที่สุด ซึ่งน่าจะใช้เวลาประมาณ 3 ปี และจะปรับใช้โมเดล mixed-use ดังกล่าวพัฒนาพื้นที่อื่นๆ ด้วย เช่น พื้นที่เกือบ 20 ไร่ของโรงแรมดุสิต หัวหิน หรือพื้นที่มากกว่า 80 ไร่ที่สมุย เป็นต้น “รายได้ในช่วง 3-5 ปีนี้น่าจะใกล้เคียงเดิมหรืออาจจะลดลง เพราะปิดโรงแรม 3 ปี แต่เรามีการจัดโครงสร้างการเงินให้มีผลตอบแทนจากส่วนอื่นของโครงการไม่ให้เกิดผลกระทบ รวมถึงการนำส่วนอื่นของโรงแรมให้บริการข้างนอก เช่น สปา หรือร้านอาหาร โดยพนักงานสามารถทำในส่วนนี้และในโรงแรมอื่นๆ ที่เรากำลังเปิดใหม่” ปัจจุบันกลุ่มดุสิตมีพอร์ตโรงแรมและรีสอร์ทจำนวน 29 แห่ง แบ่งเป็น เจ้าของ 10 แห่งและรับบริหาร 19 แห่ง ครอบคลุมประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้แก่ จีน มัลดีฟส์ ฟิลิปปินส์ อเมริกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ และเคนยา รวมจำนวน 7,388 ห้อง โดยเตรียมเปิดตัว 57 แห่งใน 21 ประเทศ รวมจำนวนห้องพัก 12,436 ห้อง พร้อมเพิ่มบุคลากรในธุรกิจจำนวน 6,000 คนเป็น 12,000 คน เพื่อรองรับการขยายอาณาจักรในอนาคต ตลอดระยะเวลาการให้สัมภาษณ์อย่างเป็นกันเอง ภาพของผู้บริหารคิดบวกสะท้อนชัดอยู่ในบทสนทนา แนวคิดและวิธีซึ่งศุภจีย้ำถึงความสำคัญ ได้แก่ การคิดเชิงสร้างสรรค์ โดยพยายามมองหาโอกาสในทุกสถานการณ์ แม้ต้องเผชิญวิกฤตหรือปัญหา “เราไม่ยึดติดกับสิ่งที่เคยสำเร็จหรือผิดพลาดในอดีต แต่นำมาเป็นบทเรียนและโฟกัสทำวันนี้ให้ดีที่สุด...” ศุภจีปิดท้ายคลิกเพื่ออ่าน "ศุภจี สุธรรมพันธุ์ เช็คอินดุสิตโฉมใหม่" ฉบับเต็มได้ในรูปแบบ e-Magazine ฉบับเดือนสิงหาคม 2560