ปพิตชญา สุวรรณดี ต่อจิ๊กซอว์เมืองในฝัน “เมกาซิตี้” ตอบโจทย์ทุกความต้องการ - Forbes Thailand

ปพิตชญา สุวรรณดี ต่อจิ๊กซอว์เมืองในฝัน “เมกาซิตี้” ตอบโจทย์ทุกความต้องการ

ปพิตชญา สุวรรณดี ต่อจิ๊กซอว์เมืองในฝัน “เมกาซิตี้” ตอบโจทย์ทุกความต้องการ เติมเต็มแลนด์มาร์กโซนกรุงเทพตะวันออก ความสำเร็จของเมกาบางนาที่เป็นมากกว่าศูนย์การค้ายังคงเป็นเพียงก้าวแรกบนปลายทางที่วาดหวังถึงการปักหมุดสร้างเมืองแห่งการใช้ชีวิตครบวงจร

ปพิตชญา สุวรรณดี ปพิตชญา สุวรรณดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์การค้าเมกาบางนา และโครงการเมกาซิตี้ บริษัท เอสเอฟ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด เล่าถึงการร่วมงานกับศูนย์การค้าเมกาบางนาในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายบริหารศูนย์การค้าเมื่อปี 2557 และได้รับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการใหญ่ศูนย์การค้าดูแลรับผิดชอบการบริหารศูนย์การค้าในภาพรวม ตั้งแต่งานด้านการตลาด การบริหารพื้นที่ เช่น งานวิศวกรรมและโครงการและงานปฏิบัติการ ก่อนจะได้รับแต่งตั้งให้นั่งเก้าอี้ซีอีโอในปัจจุบัน “เมกาบางนาเปิดช่วงปี 2555 เราเข้ามาทำงานในเดือนพฤศจิกายนปี 2557 โดยความรับผิดชอบในวันนั้นคือ ดูแลงาน customer service ทั้งหมด ตั้งแต่เดินเข้าศูนย์การค้าทุกอย่างขึ้นอยู่กับ operation ไม่ว่าจะเป็นแม่บ้าน รปภ. น้ำไฟ แอร์ อากาศ อุณหภูมิ ซึ่งถือเป็นพื้นฐานที่ดีที่ทำให้เราเตรียมตัวกับความรับผิดชอบที่มากขึ้นก่อนจะขยายความรับผิดชอบสู่งาน leasing งาน marketing และทีม operation จนปี 2559 เราขึ้นเป็นซีอีโอช่วงที่เมกาบางนาพร้อมต่อจิ๊กซอว์อื่นๆ เป็นเมกาซิตี้ในปี2560 ดังนั้น จึงเหมือนเราทำมาด้วยกันตลอดทางและต่อเนื่องถึงทุกวันนี้” ภาพร่างที่เข้าใกล้ความเป็นจริงของการสร้างอาณาจักรเมกาซิตี้บนพื้นที่กว่า 400 ไร่ ซึ่งเริ่มต้นจากศูนย์การค้าเมกาบางนาเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่สร้างรายได้และความสำเร็จอย่างต่อเนื่องสู่ความมั่นใจขยายเมืองในฝันให้เป็นความจริง ทั้งคอนโดมิเนียมโดยอารียา พรอพเพอร์ตี้ สวนสาธารณะเมกา พาร์ค โรงเรียนประถมศึกษานานาชาติดิษยะศริน กรุงเทพ เมกา สมาร์ท คิดส์ และเมกา ฮาร์เบอร์แลนด์ รวมถึงท็อปกอล์ฟ ซึ่งเป็นสปอร์ตแอนด์เอ็นเตอร์เทนเมนต์เต็มรูปแบบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมเดินหน้าสานต่อโครงการระยะยาว เช่น อาคารสำนักงานโรงแรม โรงพยาบาล ภายใต้งบลงทุนที่วางไว้กว่า 6.7 หมื่นล้านบาท  
  • ปั้นเมกาบางนาสู่ Meeting Place
ผลงานความสำเร็จที่สามารถพิสูจน์ฝีมือความสามารถในการขับเคลื่อนธุรกิจได้สะท้อนชัดในตัวเลขการเติบโต และการพัฒนาศูนย์การค้าเมกาบางนาอย่างต่อเนื่อง ถึงการขยายอาณาจักรเมกาซิตี้ได้ตามแผนการดำเนินงานที่วางไว้ 14 ปี (2560-2574) เพื่อให้เป็นเมืองขนาดใหญ่สำหรับการใช้ชีวิตแบบครบวงจรในรูปแบบอสังหาริมทรัพย์มิกซ์ยูส “เมกาซิตี้วางแผนการพัฒนาเมืองล่วงหน้า ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มต้น โดยศูนย์การค้าเป็นแค่จิ๊กซอว์แรกที่เริ่มทำ ใช้พื้นที่ 200 ไร่ หลังจากมั่นใจแล้วเราจึงเริ่มต้นเมกาซิตี้ในปี 2560 ซึ่งเราวางแนวทางให้นักลงทุนหรือ ดีเวลลอปเปอร์ที่มีความรู้ความสามารถในธุรกิจนั้นๆ เข้ามาร่วมกับเรา เพื่อให้เป็นสถานที่ที่ทุกคนสามารถใช้เวลา 1 วันได้อย่างครบถ้วน โดยถึงขณะนี้เราเดินหน้าทำโครงการร่วมกับพาร์ตเนอร์แล้ว 100 ไร่ ยังเหลืออีก 100 ไร่” ปพิตชญากล่าวถึงการพัฒนาหลายเฟสในโครงการระยะยาว ซึ่งมีการใช้พื้นที่แล้ว 300 ไร่ โดยเป็นพื้นที่ของศูนย์การค้าเมกา บางนา 200 ไร่ และพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นส่วนต่อขยายเมกาฟู้ดวอล์ค ที่มาพร้อมกับที่จอดรถ 1,200 คัน และอาคารจอดรถอิเกีย 8 ชั้น ที่เชื่อมต่อกับตึกเดิมของอิเกียรองรับรถได้ถึง 2,000 คัน ซึ่งทำให้เราสามารถรองรับรถได้มากถึง 12,000 คัน ส่วนต่อขยายโซนเมกา สมาร์ท คิดส์ สวนสาธารณะเมกา พาร์ค โรงเรียนประถมศึกษานานาชาติดิษยะศริน กรุงเทพ และคอนโดมิเนียม high-rise สูง 35 ชั้น 2 โครงการ โดยอารียา พรอพเพอร์ตี้ สร้างบนพื้นที่รวม 2 โครงการกว่า 7 ไร่ และสามารถขายหมดตั้งแต่วันแรกที่เปิดตัว นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนการรีโนเวตศูนย์การค้าเมกาบางนาทุกปีเพื่อความทันสมัย และสามารถส่งมอบประสบการณ์น่าประทับใจทุกครั้งที่ใช้บริการ ทั้งยังเดินหน้าปรับปรุงสาธารณูปโภคและการจราจรเพื่อรองรับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการมากขึ้น ด้วยการปรับถนนภายในโครงการช่วยเพิ่มสภาพคล่องการจราจร และเตรียมพร้อมรองรับการพัฒนาโครงการเมกาซิตี้ “ที่ผ่านมาเราทำหลายโครงการ เช่น ส่วนต่อขยายศูนย์การค้า เมกา ฟู้ดวอล์คมีร้านอาหารเพิ่มขึ้นอีก 33 ร้าน พื้นที่เพิ่มไม่ถึง 10% แต่ระยะเวลา 1 เดือนสามารถเพิ่มจำนวนลูกค้าเข้าใช้บริการมากกว่า 10% ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของเรา และเราก็ไม่หยุดแค่นั้น เรายังเพิ่มโครงการเมกา สมารท์ คิดส์ เสริมทักษะเด็กๆ พร้อมต้อนรับครอบครัวทุกวัย และเมกา ฮาร์เบอร์แลนด์ร่วมกับฮาร์เบอร์แลนด์เป็น indoor playground ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ” สำหรับโครงการล่าสุดบริษัทได้ร่วมมือกับพันธมิตรยักษ์ใหญ่อย่างท็อปกอล์ฟจากประเทศสหรัฐอเมริกา สร้างสปอร์ตแอนด์เอ็นเตอร์เทนเมนต์ในรูปแบบใหม่ ซึ่งผสานดิจิทัลเทคโนโลยีกับกีฬากอล์ฟ และเอ็นเตอร์เทนเมนต์ไลฟ์สไตล์แบบเต็มรูปแบบแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บนพื้นที่มากกว่า 47,000 ตารางเมตร (29 ไร่) ซึ่งมีพื้นที่ใหญ่เกือบเท่ากับสนามฟุตบอล 7 สนามรวมกัน โดยเป็นศูนย์รวมความบันเทิงสูง 3 ชั้น และฮิตติ้งเบย์กลางแจ้งถึง 98 ช่อง พร้อมที่นั่งรองรับผู้เล่นกว่า 600 คน ปพิตชญาย้ำถึงคีย์สำคัญในการสร้างการเติบโตทางธุรกิจและความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งให้ความสำคัญกับนโยบายสร้างธุรกิจอย่างมีคุณค่า และดูแลสังคมแบบยั่งยืนด้วยการสานต่อภารกิจการพัฒนาองค์กรควบคู่การดำเนินธุรกิจศูนย์การค้าที่สร้างคุณค่า และเป็นหนึ่งเดียวกับสังคมและชุมชนโดยรอบ “หัวใจการดำเนินธุรกิจศูนย์การค้าคือ การทำให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีและความพึงพอใจ โดยเราต้องสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ครบถ้วนทุกวันและทุกเวลา ซึ่งเราจะบอกกับพนักงานและลูกค้าของเราตลอดว่า เราไม่ต้องการเป็นแค่ศูนย์การค้า แต่เราต้องการเป็น meeting place หรือสถานที่ที่ทุกคนสามารถทำทุกกิจกรรมตั้งแต่พบปะสังสรรค์ รับประทานอาหาร พักผ่อนหย่อนใจ โดยไม่ต้องมาเพื่อซื้อของเท่านั้น แต่ให้การมาเมกาบางนาเป็น moment สำคัญ ทำให้จดจำและคิดถึงการกลับมาอีกครั้ง ดังนั้น เราจึงมีกิจกรรมเยอะมาก หรือสถานที่ให้ครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกัน ขณะที่ในส่วนของผู้เช่าวันนี้เราเต็ม 100% เรามีการพูดคุยกับผู้เช่าทุกวันเหมือนเพื่อนหรือครอบครัวเดียวกัน เพราะถ้าเขาประสบความสำเร็จ นั่นคือความสำเร็จของเรา”  
  • เติมเต็มแลนด์มาร์กแห่งอนาคต
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบแทบทุกธุรกิจอุตสาหกรรม โดยเฉพาะช่วงที่มีมติสั่งปิดสถานประกอบการตามมาตรา 35 พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ซึ่งศูนย์การค้าได้รับคำสั่งล็อกดาวน์ ยกเว้นซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ และร้านอาหารเฉพาะสั่งกลับเท่านั้น พร้อมทั้งประกาศมาตรการทางสาธารณสุขเรื่องการเว้นระยะห่างจากสังคม (social distancing) รวมถึงความเปลี่ยนแปลงวิถีปกติใหม่ หรือ new normal ได้กลายมาเป็นความท้าทายสำหรับธุรกิจศูนย์การค้าที่ต้องปรับตัว อย่างไรก็ตาม ปพิตชญายังสามารถสร้างการเติบโตทางธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยจำนวนผู้เข้าศูนย์การค้าเพิ่มขึ้น 10% ทุกปี อยู่ที่จำนวนราว 50 ล้านคนในปี 2562 และลดลงเล็กน้อยในปี 2563 จากการล็อกดาวน์ช่วงโควิด-19 เช่นเดียวกับรายได้ค่าเช่าที่ลดลงเนื่องจากมาตรการช่วยเหลือพาร์ตเนอร์ผู้เช่า โดยการสนับสนุนส่วนลดค่าเช่าหรือค่าใช้จ่าย เพื่อช่วยบรรเทาภาระทางธุรกิจให้ผู้เช่าสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติมากที่สุด เมกาซิตี้ “ทุกปีที่ผ่านมาเรามีการเติบโต 2 หลักตลอด ซึ่งในปี 2563 ถือเป็นปีที่ท้าทายสำหรับทุกธุรกิจ แต่เราก็สามารถผ่านปัญหา และช่วยเหลือผู้เช่าของเราทั้งเรื่องการยกเว้นค่าเช่าช่วงล็อกดาวน์ และสนับสนุนส่วนลดค่าเช่าหลังเปิดกิจการแล้ว รวมถึงเรายังสามารถคงจำนวนพนักงานทั้งเอาต์ซอร์สและพนักงานของเมกาบางนาให้มีรายได้คงที่ โดยผลประกอบการของเราอาจจะลดลงแต่ยังคงกำไรอยู่ และเราเชื่อว่าปีนี้จะเป็นปีที่เรากลับมามีผลกำไรเท่าเดิม” นอกเหนือจากความท้าทายในการบริหารธุรกิจสร้างการเติบโตช่วงหลังโควิด-19 ธุรกิจค้าปลีกหรือศูนย์การค้ายังต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่สามารถแปรเปลี่ยนเป็นโอกาสได้ ด้วยการเชื่อมโยงประสบการณ์ออนไลน์และออนกราวด์ พร้อมใช้เป็นตัวช่วยส่งเสริมการขายให้กับสินค้าบางประเภทได้ รวมทั้งการซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางอี-คอมเมิร์ซยังช่วยเพิ่มความสะดวกสบายได้มากขึ้น ขณะเดียวกันบริษัทยังมุ่งเน้นการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อตอบโจทย์ความต้องการและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในปัจจุบัน ด้วยการเปิดตัวเมกาบางนาแอปพลิเคชันในปี 2562 โดยใช้เป็นช่องทางส่งข้อมูลข่าวสารโปรโมชั่นกิจกรรมรายละเอียดร้านค้า การสมัครสมาชิก และการสะสมคะแนนหรือแลกคะแนนได้ ทั้งยังอยู่ระหว่างการพัฒนาการใช้งานให้สามารถใช้แอปพลิเคชันจองระบบการบริการจอดรถหรือ valet service ในรูปแบบ e-valet โดยไม่ต้องรับบัตรจอดรถได้ นอกจากนี้ ปพิตชญายังเล็งเห็นความสำคัญการเลือกใช้ข้อมูลและเครื่องมือในการวิเคราะห์ big data อย่างระมัดระวังเนื่องจากข้อมูลที่ผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง อาจจะส่งผลให้การตัดสินใจผิดพลาด และทำให้บริษัทต้องเสียค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นจำนวนมากโดยไม่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างแท้จริง “ความท้าทายในอนาคตอย่างแรกคือการแข่งขันของศูนย์การค้าที่มีทั้งละแวกเดียวกันและในเมือง เราจะทำอย่างไรให้เป็นที่ 1 ในใจของทุกคน และเป็น top of mine ให้คนที่มาแล้วอยากจะกลับมาอีก โดยจากประสบการณ์ตลอด 9 ปี มันคือประสบการณ์และความรู้สึกที่เขาจำได้เมื่อมาเมกาบางนา ซึ่งเราต้องส่งความรู้สึกนั้นอย่างต่อเนื่อง และการตอบสนองความต้องการเขาให้เกิดความสะดวกสบายเมื่อมาเมกาบางนา รวมถึงความท้าทายเรื่องออนไลน์ที่ต้องทำหน้าที่เชื่อมต่อกับลูกค้าตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน โดยเราต้องการให้เมกาบางนาเป็นส่วนหนึ่งของเขาในทุกๆ วัน หรือ meeting place และเมกาซิตี้เป็นเมืองที่เราสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ในสถานที่เดียวครบทุกความต้องการ” และสำหรับหนึ่งในกุญแจสำคัญของการขับเคลื่อนธุรกิจให้สามารถก้าวผ่านความท้าทายและสร้างการเติบโตได้อย่างยั่งยืนอยู่ที่การบริหารทรัพยากรบุคคลให้ร่วมเติบโตควบคู่กับธุรกิจ ซึ่งปพิตชญาเชื่อมั่นในหลักการเป็นผู้นำองค์กรที่ดีควรให้ความสำคัญกับการเปิดรับความรู้ใหม่ และพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง รวมถึงควรมีความรู้และความเข้าใจในธุรกิจที่ทำเพื่อให้สามารถกำหนดทิศทางธุรกิจได้ในทุกสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลง     อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2564 ในรูปแบบ e-magazine