หลังจาก smart phone และ smart device ใช้กันอย่างแพร่หลาย ทำให้การใช้งานการสื่อสารในยุคหลังไม่ว่าจะเป็น 3G หรือ 4G ส่วนใหญ่จะเน้นไปในเรื่องของข้อมูลมากขึ้น ผู้ผลิตและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีล่าสุดปัจจุบันคือ 5G
สิ่งสำคัญที่ต้องเข้าใจก่อนคือ ประโยชน์จากการใช้ 5G ไม่ได้เกิดจากการใช้งานตัวเองโดยตรงมากนัก แต่ 5G เปรียบเสมือนเป็นแรงส่งเสริม (force multiplier) ให้การใช้งานเทคโนโลยีได้เต็มศักยภาพมากกว่าโดยจากผลสำารวจของ Deloitte เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา ผู้บริหารมากกว่าร้อยละ 80 เชื่อว่าเทคโนโลยีสื่อสารความเร็วสูงทั้ง 5G และ Wi-Fi 6 จะช่วยให้เราสามารถใช้ประโยชน์เทคโนโลยีใหม่ๆ (emerging technology) เช่น IoT, Cloud, AI และ edge computing ได้อย่างเต็มที่
3 รูปแบบการใช้งาน 5G
เทคโนโลยีในยุคก่อนหน้านี้มักจะมุ่งเน้นในการพัฒนาความเร็วในการสื่อสารที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 5G ก็เช่นเดียวกัน ตามสเปกแล้ว 5G จะมีความเร็วการรับส่งข้อมูลสูงกว่า 4G ถึง 10-100 เท่าเลยทีเดียวซึ่งในความเป็นจริง 5G ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องความเร็วเท่านั้น แต่ความสามารถที่น่าสนใจของ 5G ยังได้แก่ การสนับสนุนการทำงานระหว่างอุปกรณ์ เครื่องจักรและเทคโนโลยีใหม่ เช่น การรองรับอุปกรณ์ IoT จำนวนมาก การลดเวลาในการติดต่อ ทำางาน และความหน่วงระหว่างอุปกรณ์ (latency)
นอกจากนี้ การที่อุปกรณ์ขยายเครือข่ายสัญญาณ 5G มีขนาดเล็กลงมากกินไฟน้อยลงแต่ให้สัญญาณที่ชัดเจนมีความเสถียรสูงขึ้น ทำให้เปิดโอกาสในการนำมาประยุกต์ใช้งานในรูปแบบใหม่ได้หลากหลายขึ้น
ขณะที่รูปแบบการนำเทคโนโลยี 5G ไปใช้งานมีทั้งหมด 3 รูปแบบหลัก ได้แก่ การสื่อสารไร้สายความเร็วสูง (enhanced mobile broadband) การใช้งานที่มีการส่งข้อมูลความเร็วสูงในระดับกิกะบิตต่อวินาทีเร็วกว่าเทคโนโลยีในยุคก่อนๆ เป็น 100 เท่า ตัวอย่างเช่น การส่งข้อมูลวิดีโอความละเอียดสูง (ultra-high definition) การใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงโดยไม่ต้องอาศัยการเดินสาย fiber broadband แบบปัจจุบัน รวมถึงการใช้งานด้าน AR/VR
นอกจากนั้น 5G ยังมีการนำไปใช้งานการเชื่อมต่ออุปกรณ์จำนวนมหาศาลไว้ในที่เดียวกัน (massive machine type communications) โดยสามารถรองรับอุปกรณ์ได้มากกว่า 4G หลายเท่า ทำให้การใช้งานกับอุปกรณ์เซนเซอร์ IoT จำนวนมากเป็นไปได้ เช่น การใช้งานในการจัดการวางแผนเมืองแบบใหม่ smart cities เป็นต้น
ส่วนสุดท้ายคือ การสื่อสารที่มีความเสถียรสูงและความหน่วงต่ำ (ultra-reliable low latency communications) สามารถนำไปใช้กับระบบงานที่ต้องติดต่อควบคุมอุปกรณ์ทางไกลที่ต้องการการตอบสนองทันที แม่นยำ ลดความผิดพลาด เช่น การควบคุมเครื่องจักรกล รถยนต์ไร้คนขับ
ขณะเดียวกันหนึ่งในเป้าหมายในการทำ digital transformation คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้รวดเร็ว ถูกต้องและมีความปลอดภัย รวมไปถึงการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้า ซึ่งความสามารถใหม่ของเทคโนโลยี 5G เปิดโอกาสให้ธุรกิจสามารถนำมาประยุกต์ใช้งานร่วมกับเทคโนโลยีอื่นๆ ได้มากมาย ดังตัวอย่างต่อไปนี้
5G, AI, Cloud และ Edge Computing
บริษัทขุดเจาะน้ำมันนอร์เวย์ AkerBP ไดทดลองนำหุ่นยนต์มาช่วยในตรวจสอบความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นในแท่นขุดเจาะน้ำมันเนื่องจากสภาวะการทำงานที่มีความเสี่ยงอันตรายโดยเฉพาะในเวลากลางคืนที่ไม่มีพนักงานอยู่ ซึ่งบริษัทได้ร่วมกับบริษัทหุ่นยนต์ Boston Dynamics ในการติดตั้งระบบทั้งกล้องเซนเซอร์ตรวจจับอุณหภูมิแก๊ส เสียง ร่วมกับระบบ AI ที่ให้หุ่นยนต์สามารถเดินตรวจสอบบริเวณแท่นฯ ด้วยตัวเองได้
และถ้าพบสิ่งผิดปกติก็จะรายงานและส่งแจ้งเตือนพนักงานที่เกี่ยวข้อง ด้วยเทคโนโลยี edge computing ที่เซนเซอร์ต่างๆ สามารถตรวจจับ เก็บและประมวลผลข้อมูลได้ด้วยตัวเองระดับหนึ่ง ไม่ต้องส่งข้อมูลเข้าส่วนกลางตลอดเวลา จะส่งเพียงแค่สิ่งผิดปกติที่ตรวจจับผ่านระบบ Cloud เท่านั้น ทำให้การทำงานตอบสนองได้รวดเร็วและปลอดภัยยิ่งขึ้น เจ้าหน้าที่อยู่ห่างไกลไม่ได้อยู่ที่แท่นก็สามารถควบคุมตรวจสอบข้อมูลได้ตลอดเวลา
5G กับธุรกิจค้าปลีก
กรณีศึกษาต้นแบบธุรกิจค้าปลีกจากการศึกษาของทาง Deloitte โดยนำาเทคโนโลยี 5G, IoT และ edge computing ทำให้เกิดความยืดหยุ่นในการประยุกต์เลือกใช้แล้วแต่กรณีตามความต้องการและความพร้อมของธุรกิจนั้นๆ ในเบื้องต้นบริษัทจะต้องจัดวางระบบเทคโนโลยี 5G ก่อน เพื่อสร้างพื้นฐานในการสื่อสาร เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานโดยรวม และเชื่อมต่อการสื่อสารเพื่อเพิ่มประสบการณ์การซื้อของกับลูกค้าในร้านค้าด้วย smart shelves และการจัดการสินค้าคงคลัง (inventory management)
โดยการติดกล้องวงจรปิดแบบไร้สาย และเซนเซอร์ IoT ในชั้นวางสินค้าเพื่อดูแลตรวจสอบสินค้าทั้งที่อยู่บนชั้นวางในคลังสินค้าและในบริเวณร้านค้า ระบบจะคอยส่งสัญญาณเตื่อนพนักงานเพื่อเติมสินค้าที่พร่องไปในชั้นสินค้า หรือกรณีวางสินค้าผิดตำแหน่ง ซึ่งอาศัยการทำงานร่วมกันของระบบ AI และ edge computing
นอกจากนั้น ระบบ application ชั้นถัดไปคือ การตรวจวัดความสดของสินค้าในแผนกสินค้าอาหารสด ด้วยการใช้ AI ร่วมกับระบบภาพและกล้องในการตรวจสอบความสดของสินค้าตลอดเวลา เช่น ผัก ผลไม้ เราสามารถปรับเปลี่ยนราคาสินค้าบนป้ายราคาดิจิทัลได้ทันที (dynamic pricing) เพื่อกระตุ้นความต้องการและเพิ่มยอดขาย รวมถึงลดความสูญเสียจากการต้องทิ้งสินค้าที่ไม่สดเพียงพอ
เนื่องจากจากเทคโนโลยี 5G สามารถรองรับภาพความละเอียดสูงที่ต้องใช้ในการวิเคราะห์ความสดของสินค้าและ edge computing ทำให้เราสามารถวิเคราะห์ประมวลผลและปรับเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ได้ทันท่วงที ยิ่งไปกว่านั้นยังได้มีการนำ 5G มาช่วยสร้าง customer engagement มากขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นการติดเซนเซอร์ IoT ที่ตัวสินค้าเพื่อใช้ร่วมกับเทคโนโลยี AR/VR ที่ลูกค้าสามารถเข้าถึงสินค้าในรูปแบบใหม่ๆ รวมถึงการให้บริการจ่ายสินค้าแบบไม่ต้องมีแคชเชียร์ (cashier-free checkout) และสุดท้ายคือนำข้อมูลทั้งหมดนี้ม่วางแผนในการจัดซื้อสินค้า การตั้งราคา และจัดวางสินค้าต่อไป
บทความโดย ปาริชาติ จิรวัชรา พาร์ทเนอร์ บริการที่ปรึกษาด้านความเสี่ยง ดีลอยท์ ประเทศไทย
คลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2564 ในรูปแบบ e-magazine