ห้างขายยาเต๊กเฮงหยู ธุรกิจครอบครัวที่ยืนยงมาถึง 127 ปี ในวันนี้ถึงยุคที่ทายาทรุ่น 4 เพชร โอสถานุเคราะห์ ปฏิรูปโครงสร้างธุรกิจ พร้อมแปรสภาพกิจการสู่บริษัทมหาชน โดยนำหุ้นออกขายไอพีโอที่ราว 500 ล้านหุ้น เทรดวันแรก 17 ตุลาคมนี้
ยากฤษณากลั่น ตรากิเลน คือตำนานแห่งความสำเร็จของร้านขายยาเต็กเฮงหยู ในยุคเริ่มแรกนับแต่ก่อตั้งกิจการเมื่อปี 2434 โดย แป๊ะ โอสถานุเคราะห์ (เดิมใช้แซ่ลิ้ม) จนเริ่มก่อร่างเป็น บริษัท โอสถสภา (เต๊กเฮงหยู) จำกัด ในปี 2492 ซึ่งนับจากนั้นบริษัทได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาธุรกิจมาอย่างต่อเนื่องโดยล่าสุดครอบครัวโอสถานุเคราะห์ติดอันดับที่ 12 ท่ามกลาง 50 อันดับแรกของบรรดามหาเศรษฐีของไทยประจำปี 2018 (Thailand’s 50 Richest 2018) ที่จัดโดยนิตยสาร Forbes ด้วยมูลค่าสินทรัพย์สุทธิกว่า 7 หมื่นล้านบาท ( 2.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ)กระทั่งถึงยุคที่ทายาทรุ่น 4 เพชร โอสถานุเคราะห์ วัย 64 ปี ขึ้นมาเป็นประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.โอสถสภา หรือ OSP ในปี 2558 ที่เล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปกิจการ ซึ่งเริ่มดำเนินโครงการปรับโครงสร้างธุรกิจในปี 2559 พร้อมเดินหน้าแปรสภาพบริษัทสู่กิจการมหาชนและเสนอขายหุ้นต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) เป็นจำนวนไม่เกิน 506.75 ล้านหุ้น วันที่ 17 ตุลาคมปี 2561
ปัจจัยที่ทำให้กิจการซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 สามารถสืบสานยาวนานมาถึงวันนี้ได้นั้น ทายาทรุ่น 4 ยกให้เป็นเครดิตของปู่ทวดที่มีความสามารถในการปรุงยาและผลิตยาที่มีคุณภาพ จนได้รับความเชื่อถือในวงกว้าง ส่งผ่านด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและตั้งใจจริงจนถึงสมัยรุ่นปู่ สวัสดิ์ โอสถานุเคราะห์ และต่อมาจนถึงรุ่นพ่อ สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ที่ไม่หยุดพัฒนาและยังนำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เข้ามาสู่บริษัทแม้เพชรจะเป็นดังวาทยกรที่กำกับจังหวะการดำเนินธุรกิจของ บมจ.โอสถสภา ในฐานะประธานกรรมการบริหาร เมื่อปี 2558 แต่ตัวเขาเองเริ่มเข้ามาบริหารกิจการของครอบครัวอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2526 ในบทบาทของกรรมการผู้จัดการ และยังดำรงตำแหน่งนี้อยู่จนถึงปัจจุบันด้วยทั้งนี้ บมจ.โอสถสภา ยังคงเดินเครื่องผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค โดยมีธุรกิจหลัก ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มและกลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล และธุรกิจให้บริการผลิตสินค้า บรรจุภัณฑ์ และจัดจำหน่ายสินค้า ที่ปัจจุบันทำรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ราว 3 หมื่นล้าน/ปี โดยมีกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มถือเป็นขุมพลังหลักที่ทำรายได้กว่า 72% ของรายได้รวม
เพชรเล่าถึงที่มาและเหตุผลที่บริษัทต้องปรับตัวครั้งใหญ่สู่การเป็นบริษัทมหาชนนั้นเริ่มจากต้องการความยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งเชื่อว่าการเป็น private company หรือ family business ในปัจจุบันและในอนาคตอาจจะไม่ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน ซึ่งหมายถึงระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการมีกลยุทธ์อย่างชัดเจน“อีกเหตุผลคือด้วยเป้าหมายและวิสัยทัศน์ซึ่งกว้างกว่าเดิมมาก ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่ขยายไปสู่ระดับภูมิภาคและเชื่อมโยงไปยังประเทศต่างๆ นอกเอเชียไปถึงยุโรป อเมริกา และจีน ในอนาคตอันใกล้ เราจึงจำเป็นต้องระดมทุน ซึ่งทำให้เราเปลี่ยนตัวเองเป็นบริษัทมหาชน”
เพิ่มพลังตลาดนอก
ด้วยความมุ่งมั่นดังกล่าวจึงกลายเป็นวิสัยทัศน์ของ บมจ.โอสถสภา ที่จะเป็นบริษัทด้านสินค้าอุปโภคบริโภคที่ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีเครือข่ายเชื่อมโยงถึงทวีปอื่นๆ ทั่วโลก โดยเพชรถ่ายทอดเพิ่มเติมว่า “วิสัยทัศน์นี้จะเป็นแบบทำทีละก้าว ทีละขั้น ทีละตอน ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เราถนัด”
อย่างไรก็ตาม จากผลประกอบการในปี 2560 บริษัทมีรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มและของใช้ส่วนบุคคลของบริษัทในต่างประเทศกว่า 16% ของรายได้รวมผ่านสรรพกำลังของบริษัทในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ขณะนี้ค่อนข้างแข็งแกร่งในหลายประเทศ ได้แก่ เมียนมา กัมพูชา และ สปป.ลาวทั้งยังจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มในประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวม 25 ประเทศผ่านผู้จัดจำหน่ายซึ่งรวมถึงประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย แอฟริกา ยุโรปตะวันออก อเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้การขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดต่างประเทศได้รับการสนับสนุนจากจากกลยุทธ์ “ประเทศ ประเภท และช่องทาง” โดยใช้รูปแบบที่หลากหลายในการขยายตัวสู่ตลาดต่างประเทศ ได้แก่ (1) การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ใหม่ให้เข้ากับรสนิยมของผู้บริโภคในภูมิภาคนั้นๆ (2) การพัฒนากลยุทธ์ทางการตลาดและการส่งเสริมการขายสำหรับตลาดโดยเฉพาะ ด้วยการเชื่อมโยงรสนิยมและพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคผ่านการทำวิจัยทางการตลาดในประเทศนั้นๆ และ (3) การสร้างความเชื่อมั่นว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทจะเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในตลาดนั้นๆ ผ่านการดำเนินงานร่วมกับผู้จัดจำหน่ายชั้นนำในท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด
โดยมีแผนจะเพิ่มรายได้ในระยะกลางจากการขายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มและของใช้ส่วนบุคคลในต่างประเทศ ผ่านกลยุทธ์สร้างความมั่นคงในการเป็นผู้นำในตลาดเมียนมาและ สปป.ลาว ขณะที่ขยายส่วนแบ่งตลาดในกัมพูชาและอินโดนีเซียด้วย พร้อมกับพยายามที่จะขยายธุรกิจเข้าสู่เวียดนามในช่วงระยะกลางถึงระยะยาวต่อไปนอกจากนี้ ในช่วงเวลาระยะกลางจนถึงระยะยาว ยังมุ่งเน้นที่จะทำให้ตราสินค้าของบริษัทฯ เป็นที่รู้จักมากขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก และประเทศจีน ผ่านการเข้าเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจและช่องทางการจัดจำหน่ายแบบอี-คอมเมิร์ซอีกด้วยด้วยเป้าหมายดังกล่าวสามารถสะท้อนมาสู่ก้าวแรกที่ต้องยกระดับให้ OSP ขยับรายได้จากการขายสินค้าผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มในตลาดต่างประเทศ จากสัดส่วน 15.3% ของรายได้รวมในปี 2560 ให้เป็น 20% ในระยะกลาง
เด่นที่ทีมเวิร์ก
“เรามีทีมเวิร์กที่ดี ผมพูดได้เต็มปากว่าเราเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีทีมเวิร์กดีที่สุดในประเทศไทย และ (คณะกรรมการ) หลายคนมีประสบการณ์ระดับโลก ไม่ใช่แค่ระดับประเทศ” คือคำยืนยันของซีอีโอแห่ง บมจ.โอสถสภา ที่บอกเล่าถึงรูปแบบการบริหารงานของบริษัท ที่ปัจจุบันตัวเขานั่งหัวโต๊ะของคณะกรรมการบริหารที่มีผู้ทรงคุณวุติหลายคนที่ต่างมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขามาร่วมช่วยกันพิจารณา
ไม่เพียงเท่านั้น การคัดสรรทีมผู้บริหารมืออาชีพก็เป็นอีกหนึ่งตัวกรองที่เพชรให้ความสำคัญ เพราะนอกจากมีความสามารถเป็นที่ประจักษ์แล้ว ยังต้องเป็นที่ไว้วางใจอีกด้วยโดยเขาเปิดเผยว่าตัวชี้วัดในครั้งแรกคือ “เรื่องของจิตใจ” นั่นคือ “คุยกันรู้เรื่องหรือไม่ จิตใจดีหรือไม่ เวลาผมรับคนจะเลือกแบบนี้ เรื่องเคมีสำคัญที่สุด” เพราะเขาเชื่อว่าเรื่องศักยภาพของผู้บริหารมืออาชีพแต่ละคนยังต้องใช้เวลาพิสูจน์เมื่อลงมือทำงานจริง ส่วนเรื่องจิตใจเป็นสิ่งที่สามารถสัมผัสได้ตั้งแต่แรกเพชรยังย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของเขากับ บมจ.โอสถสภา ว่า ตั้งแต่เข้ามาทำงานใหม่ๆ ซึ่งเป็นสถานที่ทำงานแรกหลังจากเรียนจบทางด้านบริหารธุรกิจ สาขาการตลาด จาก Southern Illinois University สหรัฐอเมริกา ซึ่งเขาให้คำจำกัดความสถานะในตอนนั้นว่าเป็น “รุ่นใหม่ไฟแรง” จึงต้องการทำงานแบบมืออาชีพและไม่วางตัวแบบลูกเจ้าของ จากจุดนั้นเองที่ทำให้ตัวเขามีความคาดหวังตั้งแต่แรกแบบเงียบๆ ว่าต้องการสร้างให้บริษัทเป็นองค์กรที่ทำงานแบบมืออาชีพระดับสากล“ในที่สุดวันนั้นก็มาถึง ตอนนี้เราเป็นเช่นนั้นแล้ว จึงมีเป้าหมายต่อไปที่มุ่งมั่นเป็นบริษัทที่มีทีมงานสุดยอดในระดับประเทศและระดับอินเตอร์มาอยู่กับเรา ...ยิ่งหลังจากที่เราเป็นบริษัทในตลาดหุ้น ก็น่าจะมีทุนและได้รับการสนับสนุนอบอุ่น”
ภาพ: ชัยสิทธิ์ จุนเจือดีอ่านเพิ่มเติม"วรรณิภา ภักดีบุตร ปรับสูตรโอสถสภาแรงเกินร้อย"
คลิกอ่าน "เพชร โอสถานุเคราะห์ พลิกตำนานบทใหม่ ใส่พลังโอสถสภาสู่เวทีโลก" ฉบับเต็มได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand เดือนกันยายน 2561 ในรูปแบบ e-Magazine