มีชาวไทยไม่มากนักที่ทราบว่าประเทศของเราสามารถผลิต “เรือรบ” ได้เองด้วยฝีมือการออกแบบของวิศวกรสัญชาติไทย 100% บริษัทที่เป็นเจ้าของนวัตกรรมดังกล่าวนั้นคือ บมจ.มาร์ซัน ซึ่งอยู่ภายใต้การนำของ ภัทรวิน จงวิศาล ทายาทรุ่น 2 ผู้สืบทอดบริษัทที่หันเข็มทิศองค์กรไปสู่น่านน้ำสากล
ทายาทรุ่น 2 ของตระกูลและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มาร์ซัน จำกัด (มหาชน) “ภัทรวิน จงวิศาล” แหวกม่านห้องประชุมของบริษัทพลางชี้ชวนให้ Forbes Thailand ชมเรือลำหนึ่งที่จอดอยู่ในอู่กลางแดดจัดจ้า
“เรือลำนั้นเป็นเรือที่เราทำให้กรมศุลกากรเมื่อเกือบ 30 ปีก่อน ตอนนี้ก็ยังใช้งานได้ดีอยู่” ซีอีโอหนุ่มวัย 37 ปีกล่าว
เขาคือลูกชายคนโตของ สัญชัย จงวิศาล ที่เข้ามารับตำแหน่งนี้เมื่อปี 2560 เพื่อบริหารงานแทนบิดาในอู่ต่อเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยา ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ
ภัทรวินชี้แจงให้เราฟังว่า อู่ต่อเรือของเขามีความแตกต่างจากอู่อื่นๆ เพราะเป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทของประเทศที่สามารถต่อเรือที่มีความซับซ้อนสูง เช่น เรือรบ เรือช่วยรบที่ใช้ในภารกิจทางการทหารได้ และมีความภูมิใจที่เป็นบริษัทคนไทย 100% แม้แต่วิศวกรในบริษัทก็เป็นคนไทยทั้งหมด ทั้งยังมีการออกแบบและวิจัยพัฒนาเรือเองโดยไม่ต้องพึ่งพิงแบบเรือจากต่างประเทศด้วย
มาร์ซันกำลังย่างเข้าขวบปีที่ 39 โดยเป็นบริษัทรับต่อเรือและซ่อมแซมเรือที่มีการส่งมอบงานไปแล้วสะสม 310 ลำ มีความสามารถในการต่อเรือขนาดกลางความยาวไม่เกิน 60 เมตรในทุกวัสดุ ทั้งวัสดุคอมโพสิท เช่น ไฟเบอร์กลาส ไปจนถึงเหล็กและอะลูมิเนียม
ที่ผ่านมางานเด่นๆ ที่สร้างชื่อให้มาร์ซันจะเป็นงานของภาคราชการโดยเฉพาะงานผลิตเรือรบป้อนให้กับกองทัพเรือ แต่ภัทรวินยืนยันว่านั่นไม่ใช่ทั้งหมดของบริษัท
“กลุ่มลูกค้ามาร์ซันจะเรียกว่าเป็นกลุ่มผู้ใช้เรือตลาดเฉพาะ กลุ่มนี้ให้ความสำคัญด้านคุณภาพมาก ตัวอย่างภารกิจของเขา หากเป็นภารกิจทางทหาร เราจะทำเรือรบและเรือช่วยรบ ถ้าเป็นเรือพาณิชย์ จะเป็นด้านฐานขุดเจาะน้ำมัน ออฟชอร์ พลังงานทดแทน เรือเฟอร์รี่ชั้นดี เรือยอชต์บางส่วน” ภัทรวินอธิบาย
เพาะมาร์ซันให้เบ่งบาน
ย้อนไปเมื่อปี 2523 สัญชัย จงวิศาล และ ยง นนท์โสภา เพื่อนผู้หอบเสื่อผืนหมอนใบมาจากประเทศจีนและเป็นหุ้นส่วนในยุคก่อตั้งเลือกเช่าที่ดินในซอยวัดสวนส้ม ถ.ปู่เจ้าสมิงพราย จ.สมุทรปราการ เพื่อสร้างอู่ต่อเรือ
สัญชัยที่เป็นลูกจ้างเก่าบริษัทต่อเรือ ใช้วิชาความรู้ที่ได้มารับจ้างต่อเรือโดยสาร เรือสปีดโบ๊ท เรือข้ามฟาก เริ่มจากเรือขนาด 10 เมตร แล้วค่อยๆ ขยับขนาดขึ้นจนไปถึง 25 เมตร จากนั้นจึงใช้ประวัติการทำงานให้ภาคเอกชนที่สะสมมาเข้าไปร่วมประมูลงานราชการ
เมื่อมีโอกาสขยายตัว สัญชัยจึงตัดสินใจย้ายมาเช่าที่ที่ใหญ่ขึ้นบน ถ.ท้ายบ้าน ซึ่งสามารถรองรับเรือได้รวม 100 เมตร และเป็นที่ติดน้ำ มีหน้าน้ำเต็ม 200 เมตร ทำให้การทดสอบทดลองเรือทำได้ง่ายขึ้น
ยุค 20-30 ปีก่อนของบริษัท เมื่อต้องการต่อเรือที่มีความซับซ้อนสูง มาร์ซันยังมีพาร์ทเนอร์ในเยอรมนีที่ทางบริษัทขอซื้อแบบเรือมาใช้ แต่ด้วยความที่งบมีจำกัด บริษัทจึงตัดสินใจซื้อแบบเรือมาเพียง 1 ใน 4 ส่วน และเลือกใช้งบลงทุนในบุคลากรและอุปกรณ์เพื่อพัฒนาต่อยอดเอง ซึ่งภัทรวินบอกว่านั่นเป็นกุญแจที่ทำให้มาร์ซันมีโอกาสเติบโต
ความจำเป็นในครั้งนั้นกลายเป็นฐานที่ทำให้บริษัทเติบโตมาถึงหลักพันล้านบาท แม้จะยังทรงตัวอยู่ได้ แต่เมื่อมองย้อนกลับไปในงบตลอด 5 ปีที่ผ่านมา (2557-61) จะเห็นได้ว่าบริษัทเริ่มหดตัวลงตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งทำให้บริษัทเลือกออกแสวงหาโอกาสในต่างประเทศ
"มาร์ซัน" ยกพลขึ้นบกตลาดต่างแดน
บนพื้นที่ 51,000 ตร.ม. ของอู่นั้น มาร์ซันจะต้องบริหารให้มีการประมูลโครงการเข้ามาดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และเน้นในงานเรือที่มีความซับซ้อนสูงเพื่อสร้างมูลค่าสูงสุดจากการใช้พื้นที่อู่ต่อเรือซึ่งกินเวลา 10-24 เดือนต่อลำ
“พื้นที่เรารับได้ 100 เมตร แต่ว่าใน 100 เมตรนั้นอยู่ที่คุณจะเลือกรับเรือชนิดไหน คุณอาจเลือกเรือสินค้าที่มีมูลค่า 300-400 ล้านบาทซึ่งต่อกันเยอะในจีนและเกาหลี แต่ถ้าเป็นเรือรบ-เรือช่วยรบขนาด 50 เมตร ลำเดียวก็ 1 พันล้านบาทแล้ว” ภัทรวินอธิบาย
นั่นทำให้เขาต้องการเปิดโอกาสให้บริษัทได้ประมูลงานในต่างประเทศให้มากที่สุด ไม่จำกัดตัวเองเฉพาะตลาดไทยเพื่อเป็นการขยายการเติบโต ซึ่งกลยุทธ์นี้ได้เริ่มต้นไปแล้วด้วยการส่งทีมไปทำการตลาดทั่วโลกมาร่วม 2-3 ปี เน้นหนักในตลาดตะวันออกกลาง แอฟริกา และอาเซียน
ซีอีโอมาร์ซันเชื่อว่า นวัตกรรมของบริษัทมีความพร้อมมากพอที่จะลงสนามแข่งขันกับคู่แข่งหลักจากยุโรป สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ผ่านกลยุทธ์ด้านราคาที่เขาใช้คำว่า “คุ้มค่าในสิ่งที่ลูกค้าจ่าย”
ที่ผ่านมามาร์ซันได้ประมูลและส่งมอบงานเรือลูกค้าต่างประเทศบ้างแล้ว เช่น เรือระบายพล 1 ลำแก่สาธารณรัฐกาบอง, เรือบรรทุกคนนำร่อง 1 ลำ เรือจู่โจม 4 ลำ เรือเร็วโจมตีอาวุธปล่อยนำวิถี 2 ลำ แก่สาธารณรัฐอิสลามแห่งปากีสถาน รวมถึงเรือบรรทุกคนนำร่อง 1 ลำ เรือใบ 1 ลำ เรือโดยสาร 4 ลำ และเรือยอชต์ 1 ลำ ให้กับลูกค้าภาคเอกชน
“ในแง่ของการรับรู้แบรนด์ เราเริ่มเป็นที่ยอมรับของตลาดแล้วในกลุ่มเรือขนาดกลาง แต่เราต้องมุ่งมั่นมากขึ้นเพื่อทำสัญญาให้ได้ในปริมาณที่เป็น dramatic change ใน 2-3 ปีที่จะถึงนี้” เขาเสริม
วิจัยพัฒนาต่อยอดสู่พาหนะไร้คนขับ
งานวิจัยและพัฒนาเรือนั้น ภัทรวินอธิบายว่า จะมีทั้งโจทย์จากลูกค้าให้บริษัทคิดค้นเพื่อไปนำเสนอในการแข่งขันประมูลงาน และเป้าหมายของทีมวิจัยเองที่จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพให้เรือเหล่านี้
นอกจากนี้ มาร์ซันยังฉีกออกไปพัฒนายานพาหนะสำหรับอนาคตด้วย โดยมีโครงการวิจัย “เรือไร้คนขับ” ขนาดประมาณ 10-15 เมตร ใช้ในภารกิจทางทหาร กึ่งทหาร หรือพาณิชย์ เช่น เรือสำรวจร่องน้ำ เรือสำรวจแผนที่ ซึ่งสามารถบังคับเรือผ่านห้องควบคุม
ทั้งยังมีโครงการข้ามฟากจากน้ำไปสู่อากาศ โดยพัฒนา UAV (Unmanned Aerial Vehicle) หรือ อากาศยานไร้คนขับ ร่วมกับกองทัพอากาศไทยโดยมาร์ซันร่วมสนับสนุนด้านองค์ความรู้วิศวกรรมที่สามารถปรับใช้กับอากาศยานได้ เกิดเป็นผลงาน UAV ต้นแบบของกองทัพอากาศ TigerShark II Type 3 ขนาด 6 เมตร
ทุกวันนี้ ภัทรวินกล่าวว่าบริษัทก้าวสู่การออกแบบเองถึง 99% ของแบบทั้งหมด อีก 1% นั้นคืออาจมีการซื้อแบบเรือต่างประเทศเป็นครั้งคราวเพื่ออัปเดตตนเองถึงทิศทางของบริษัทอื่น รวมถึงเป็น 1% เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับพาร์ทเนอร์เชิงกลยุทธ์
ซีอีโอมาร์ซันยังบอกด้วยว่า จากวิสัยทัศน์ที่ต้องการให้บริษัทเติบโตอย่างยั่งยืน ทำให้บริษัทต้องการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เพื่อนำมาขยายโครงสร้างพื้นฐาน โดยอยู่ระหว่างจัดทำแผนเพื่อยื่นไฟลิ่ง และเขาคาดหวังว่ามาร์ซันจะสามารถเติบโตได้ 7-10% ต่อปี
ตลอดการพูดคุยของเรากับภัทรวิน เราสัมผัสได้ถึงความตั้งใจและภาคภูมิใจในการผลักดันศักยภาพบุคลากรไทยไปสู่เวทีโลก ด้วยความมั่นใจว่าคนไทย “มีดี” หากเพียงแต่รัฐจะให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมต่อเรือหรือพาณิชย์นาวีให้มากขึ้น ซึ่งเขาเชื่อว่าอุตสาหกรรมนี้สามารถเป็นตัวคูณทางเศรษฐกิจได้ไม่แพ้อุตสาหกรรมยานยนต์
ภาพ: กิตติเดช เจริญพร และ บมจ.มาร์ซัน
คลิกเพื่ออ่านฉบับเต็ม “ภัทรวิน จงวิศาล ถือหางเสือ "มาร์ซัน" พาเรือรบไทยสู่น่านน้ำสากล” ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ พฤษภาคม 2562 ในรูปแบบ e-Magazine