สุรเดช ตัณฑ์ไพบูลย์ พา ASIMAR ฝ่าคลื่นธุรกิจ - Forbes Thailand

สุรเดช ตัณฑ์ไพบูลย์ พา ASIMAR ฝ่าคลื่นธุรกิจ

ทายาทรุ่นสองแห่งครอบครัวตัณฑ์ไพบูลย์รับบทกัปตันขับเคลื่อน ASIMAR โต้มรสุมธุรกิจซ่อมและต่อเรือ มุ่งขยายงานราชการพร้อมตีตลาดต่างแดน แตกยอดสู่ธุรกิจวิศวกรรมเชื่อมโครงสร้างเหล็ก เล็งรับงานสนามบินสุวรรณภูมิเฟสสอง

สายน้ำแรกที่นำสู่เส้นทางก่อตั้งธุรกิจนาวาเริ่มต้นจากครอบครัว “ตัณฑ์ไพบูลย์” ผู้ถือหุ้นหลักเดินเครื่องธุรกิจขนส่งทางเรือในนาม หจก. ต.ไพบูลย์ ขนส่ง ตั้งแต่ปี 2500 ด้วยโจทย์ที่ต้องการอู่ซ่อมที่เป็นมาตรฐานเพื่อรองรับงานบำรุงรักษาเรือของบริษัท สู่การก่อตั้ง บริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด ขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2524 “หลังจากครอบครัวทำธุรกิจขนส่งทางเรือมาหลายสิบปี ในยุคนั้นประเทศไทยขาดแคลนอู่ซ่อมเรือที่เป็นมาตรฐาน จึงก่อตั้งกิจการขึ้น แต่หลังทำไปได้ระยะหนึ่งกิจการเริ่มดีขึ้น ทำให้บริษัทขยายขอบเขตจากการซ่อมเรือของบริษัทตนเองเป็นการให้บริการกับบริษัทอื่นๆ และเริ่มทำธุรกิจต่อเรือในปี 2529” สุรเดช ตัณฑ์ไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน) ทายาทรุ่นสองในวัย 43 ปี ผู้รับภารกิจนำพา ASIMAR ฝ่าคลื่นธุรกิจนาวาเล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้น “ต้องชมคุณลุง หรือคุณสุเทพ ตัณฑ์ไพบูลย์ ที่ได้รับมอบหมายจากคุณสุธรรม ตัณฑ์ไพบูลย์ ซึ่งเป็นพี่ชายและผู้ก่อตั้งกิจการขนส่งทางเรือเริ่มแรกของครอบครัวที่ให้ริเริ่มทำอู่ซ่อมเรือที่สุขสวัสดิ์ ซึ่งวางรากฐานไว้ดีตั้งแต่แรก จึงทำให้กิจการเติบโตคืบหน้ามาถึงวันนี้” เขากล่าวเสริม นับตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจต่อเรือจากเรือขนาดเล็กที่ใช้ในประเทศเช่น เรือขนส่งน้ำมันของบริษัท ทีพีไอฯ เรือตรวจการณ์ปืนของกองทัพเรือ เป็นต้น ในปัจจุบันบริษัทต่อเรือจำนวนเกือบ 50 ลำ ก่อนจะแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนในปี 2538 และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน) หรือชื่อย่อ “ASIMAR” สุรเดชยังคงจดจำได้ดีถึงภาพของเรือที่กำลังเทียบท่า ขณะยังเป็นเด็กชายติดตามบิดารับเรือที่ท่าเรือกรุงเทพ ซึ่งทำให้เขาตัดสินใจเลือกศึกษาด้านการขนส่งระหว่างประเทศคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนจะคว้าปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจากสหรัฐอเมริกา หลังจากสวมบทบาทพนักงานขายราว 2 ปี สุรเดชตัดสินใจเริ่มต้นความท้าทายใหม่นอกร่มเงาของครอบครัว โดยก้าวสู่สายธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคระหว่างปี 2547 ถึง ปี 2552 “จากการได้เรียนรู้ระบบการทำงานแบบสากลมาจากบริษัทระดับโลกในแวดวงค้าปลีก ก็สามารถนำความรู้และความเชี่ยวชาญที่ได้มาใช้บริหารงานที่นี่ (ASIMAR) ให้เป็นระบบและมีแบบแผนยิ่งขึ้น” สุรเดชเล่าถึงประสบการณ์ที่สั่งสม เพื่อนำมาปรับใช้ในธุรกิจครอบครัว โดยเข้าสู่กระบวนการสรรหาและแต่งตั้งบุคลากรตามกระบวนการบริษัทมหาชน ไล่เรียงตั้งแต่ผู้จัดการทั่วไป รองกรรมการผู้จัดการ และกรรมการผู้จัดการ ในปัจจุบัน กว่าจะสร้างอาณาจักรได้อย่างแข็งแกร่ง สุรเดชย้อนถึงช่วงเวลาที่ ASIMAR ต้องเผชิญคลื่นลมแรงและฟันฝ่ามรสุมวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในจังหวะที่บริษัทตัดสินใจซื้อเครื่องจักรขนาดใหญ่จากค่าเงินบาท 25 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ในวันสั่งซื้อ ทะยานสู่ 50 บาท/เหรียญ บริษัทใช้เวลาฟื้นตัวราว 3 ปีจึงสามารถปรับเข้าสู่สภาวะปกติได้ ความผิดพลาดในช่วงวิกฤตกลับกลายเป็นบทเรียนสำคัญในแต่ละย่างก้าวของ ASIMAR ในปัจจุบัน ซึ่งเติบโตเป็นธุรกิจอู่ซ่อมเรือและต่อเรือจากฐานการผลิตที่มีพื้นที่ต่อเรือพร้อมลานปล่อยเรือ (slipway) 2 แห่ง ทั้งด้านทิศเหนือและทิศใต้รวมเป็นพื้นที่ประมาณ 20,000 ตารางเมตร อีกทั้งฐานผลิตล่าสุดที่สาขาสุราษฎร์ธานีที่มีลานปล่อยเรือ 1 แห่งคิดเป็นพื้นที่รวมประมาณ 37,000 ตารางเมตร รวมถึงได้ต่อยอดไปยังธุรกิจก่อสร้างวิศวกรรมต่างๆ และขยายธุรกิจอื่นเพิ่มเติม ทั้งการจัดหาและฝึกหัดแรงงาน ตัวแทนจำหน่ายเครื่องจักรต่างๆ การร่วมกับ GLOBECO S.p.A. จากประเทศอิตาลีที่ 6.85% เพื่อดำเนินธุรกิจด้านการให้บริการเรือกำจัดมลภาวะทางน้ำ และวางแผนต่อยอดประสบการณ์และผลงานโครงสร้างเหล็กที่สนามบินสุวรรณภูมิเฟสแรก ด้วยการเข้าร่วมประมูลงานจากผู้รับเหมาช่วง เพื่อทำงานโครงสร้างเหล็กที่สนามบินสุวรรณภูมิในเฟสที่ 2 ที่รัฐบาลกำลังจะดำเนินการในอนาคตอันใกล้ สำหรับศักยภาพในด้านซ่อมเรือ (ship repair) มีอุปกรณ์หลัก เพื่อใช้ซ่อมเรือขนาดตั้งแต่ 5,000 ถึง 20,000 เดทเวทตัน ได้แก่ อู่ลอยรูปตัวอักษรยู (U groove) จำนวน 2 อู่ ซึ่งรองรับลูกค้าได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่กำลังการผลิตรวม 75 ลำ/ปี ขณะที่ด้านต่อเรือ (shipbuilding) มีพื้นที่ลานปล่อยเรือและอุปกรณ์ขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับเรือขนาดใหญ่ความยาวไม่เกิน 120 เมตร น้ำหนักไม่เกิน 20,000 เดทเวทตันคิดเป็นกำลังการผลิตรวม 3 ลำ/ปี ไม่เพียงสองงานหลักข้างต้นเท่านั้น รวมถึงบริษัทยังมีศักยภาพในส่วนของงานดัดแปลงเรือ (ship conversion upgrading) ที่ต้องใช้ประสบการณ์และเทคนิคพิเศษ “ธุรกิจเราก็เหมือนร้านอาหาร ถ้าลูกค้าเข้ามาและออกเร็ว เราก็สามารถรับลูกค้าใหม่ได้มากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เราใช้เวลาซ่อมเรือราว 3 ถึง 15 วันต่อลำ นอกจากมีคิวรอซ่อมยาว ก็อาจจะต้องรอคิวนานถึง 1 เดือน” ขณะที่ปัจจุบันบริษัทมีคู่แข่งด้านการต่อเรือภายในประเทศไทยที่มีมาตรฐานใกล้เคียงกับ ASIMAR อยู่ราว 4-5 บริษัทซึ่งหากเป็นงานราชการนั้นมักเป็นการแข่งขันกันที่ราคาประมูลงาน ส่วนการแข่งขันกับลูกค้าต่างประเทศ ได้แก่ ผู้ประกอบการจากประเทศจีนและเกาหลีใต้นั้น มักจะเฉือนกันที่ราคาและความชำนาญ สุรเดชย้ำว่า “เราขายที่ฝีมือช่างและคุณภาพของงาน แม้ราคาจะไม่ถูกเท่าจีนแต่ก็ไม่แพงเท่าสิงคโปร์หรือยุโรป” เนื่องจากบริษัทมั่นใจในความได้เปรียบที่เหนือกว่าประเทศจีนด้านความสามารถในการต่อเรือเฉพาะทางและความพร้อมรองรับเทคโนโลยีที่ซับซ้อน “เรือสนับสนุนการดำน้ำที่เราต่อให้ประเทศซาอุดิอาระเบียมีราคาราว 600 ล้านบาท ซึ่งไม่ต้องทิ้งสมอเพื่อยึดกับท้องน้ำป้องกันไม่ให้เรือเคลื่อนที่ แต่ใช้การเชื่อมต่อผ่านระบบดาวเทียมสั่งงานจากระยะไกลเพื่อควบคุมการขับเคลื่อนของเรือจึงสามารถลอยอยู่กลางทะเลได้โดยไม่ต้องทิ้งสมอเรืออีกทั้งมีช่องสำหรับหย่อนหุ่นยนต์ให้ลงไปทำงานใต้น้ำได้” สำหรับกลยุทธ์หลักของบริษัทอยู่ที่การควบคุมต้นทุนแรงงานและวัตถุดิบให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อคงอัตราส่วนของกำไรไว้ เนื่องจากปัจจัยการแข่งขันด้านราคา ทำให้บริษัทไม่สามารถคิดค่าบริการอัตราสูง รวมถึงความท้าทายด้านบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการซ่อมเรือและต่อเรือซึ่งเป็นธุรกิจเฉพาะทางดังนั้น ASIMAR จึงจัดตั้งโรงเรียนช่างเชื่อม เพื่อฝึกอบรมช่างเชื่อมขึ้นเมื่อ 4 ปีก่อน ด้วยหวังป้องกันการขาดแคลนแรงงานและการแย่งชิงแรงงานฝีมือ โดยเฉพาะช่างเชื่อมที่ฝีมือดีมักจะเลือกไปทำงานในต่างประเทศซึ่งบริษัทได้ทุ่มเทพัฒนาหลักสูตร “ASIMAR Standard” ทั้งนี้ ผู้นำธุรกิจนาวาของไทยทิ้งท้ายถึงโจทย์สำคัญในการสร้างการเติบโตให้อาณาจักร ภายใต้การกระตุ้นให้ทีมงานเกิดแรงบันดาลใจในการทำงานและสามารถแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ พร้อมแนวทางการดำเนินงานที่คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และแนวโน้มภาพรวมของภาคการขนส่งทางเรือ ตลอดจนราคาน้ำมันซึ่งเป็นความท้าทายที่ส่งผลต่อการบริหารธุรกิจโดยตรง
คลิกอ่าน "สุรเดช ตัณฑ์ไพบูลย์ พา ASIMAR ฝ่าคลื่นธุรกิจ” โฉมใหม่ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ กรกฎาคม 2560 ในรูปแบบ e-Magazine