ณพงศ์ ปริพนธ์พจนพิสุทธิ์ ทายาทรุ่นที่ 3 ในครอบครัวอัสสกุล รับไม้สานต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 'โอเชี่ยน พรอพเพอร์ตี้' ขยับพลิกโฉมขุมสมบัติที่ดินก่อสร้างโครงการทั่วไทย หวังสร้างการเติบโตสู่รายได้ 1 พันล้านภายในปี 2564
ภายในพื้นที่ท่าเรือโอเชี่ยน มารีน่า ยอท์ช คลับ เมืองพัทยา เต็มไปด้วยผู้คนจากหลายสัญชาติเดินกระทบไหล่ เนื่องจากเป็นวันเริ่มลงทะเบียนวันแรกของงานแข่งขันเรือยอชต์ Top of the Gulf Regatta 2018 ซึ่งจัดขึ้นที่นี่ติดต่อกันเป็นปีที่ 14 แล้ว “เป็นงานระดับนานาชาติเลย บางคนแล่นเรือมาจากประเทศจีนเพื่อมาแข่งงานนี้โดยเฉพาะ” ณพงศ์ ปริพนธ์พจนพิสุทธิ์ กล่าว ท่าเรือยอชต์และโรงแรมขนาด 50 ห้องแห่งนี้สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2538 และเป็นหนึ่งในธุรกิจตั้งต้นของ บริษัท โอเชี่ยน พรอพเพอร์ตี้ จำกัด หนึ่งในธุรกิจของครอบครัวอัสสกุลตระกูลผู้ก่อตั้งธุรกิจหลากหลายประเภทใต้ร่มเงาเครือโอเชี่ยน กรุ๊ป เช่น บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) บริษัท โอเชียนกลาส จำกัด (มหาชน) เป็นต้น ปัจจุบัน ณพงศ์ วัย 39 ปี คือทายาทรุ่นที่ 3 ที่เข้ามารับไม้ต่องานของโอเชี่ยนพรอพเพอร์ตี้ ในฐานะรักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจ Residential Business แม้ชื่อตำแหน่งจะดูแลเฉพาะกลุ่มที่อยู่อาศัย แต่เขาก็รับทราบการทำงานทุกธุรกิจภายใต้บริษัท ณพงศ์เปิดเผยว่า ปี 2560 ที่ผ่านมาโอเชี่ยน พรอพเพอร์ตี้ทำรายได้ประมาณ 600 ล้านบาท ขณะที่ข้อมูลจากกรมธุรกิจการค้ารายงานว่าโอเชี่ยน พรอพเพอร์ตี้มีรายได้ 578 ล้านบาทในปี 2559 ณพงศ์ออกตัวว่าการเติบโตของบริษัทอาจดูไม่สูงนักเพราะรายได้ส่วนใหญ่ยังมาจากพอร์ตกลุ่มอสังหาฯ เพื่อเช่าเป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วน 70% “ค่าเช่าจะเติบโตได้ราว 3-5% ต่อปีเป็นปกติ เมื่อเราไม่ได้ขยายพื้นที่เช่าการเติบโตก็จะได้ประมาณนี้เท่านั้น” นั่นทำให้ทายาทโอเชี่ยน พรอพเพอร์ตี้วางเป้าหมายใหม่เพื่อให้บริษัทเติบโตได้เร็วขึ้นโดยจะสร้างให้พอร์ตกลุ่มอสังหาฯ เพื่อเช่ากับอสังหาฯ เพื่อขายทำรายได้สมดุลกันที่อัตราส่วน 50:50 ภายใน 3 ปีข้างหน้า “ค่าเช่าเหล่านี้เราจะเก็บไว้เป็นเงินก้นถุงเป็นเหมือน cash cow ของเรา แต่เนื่องจากอสังหาฯ เพื่อเช่านั้นลงทุนสูงและใช้เวลาคืนทุนนาน บางครั้งเกิน 10 ปีกว่าจะคืนทุนทำให้เราอยากพัฒนาที่อยู่อาศัยขายเพิ่มเพื่อทำรายได้คืนทุนเร็วขึ้นภายใน 2-3 ปี” ณพงศ์กล่าว โอเชี่ยน พรอพเพอร์ตี้ มีพอร์ตโครงการที่ยังอยู่ระหว่างขายของบริษัท อาทิ คอนโดมิเนียม โอเชี่ยน พอร์โตฟิโน่ พัทยา และคอนโดฯ โอเชี่ยน เรสซิเดนซ์ มิตรภาพ-ขอนแก่น เป็นต้น โดยณพงศ์วางแผนว่าปลายปีนี้บริษัทจะเปิดตัวเพิ่ม 1 โครงการที่ จ.ภูเก็ต ในชื่อ โอเชี่ยน ทาวน์-ภูเก็ต ซึ่งจากแผนงานดังกล่าว การปลุกปั้นพอร์ตที่อยู่อาศัยเพื่อขายจะเริ่มเห็นเป็นรายได้เข้าบริษัทเต็มเม็ดเต็มหน่วยในปี 2564 ณพงศ์เรียบเรียงแผนรายได้และสรุปว่า บริษัทคาดหวังจะทำรายได้แตะ 1 พันล้านบาทได้ ภายใน 3 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม เขายังคงยึดถือปรัชญาการทำงานในแนวทางเดียวกับครอบครัว นั่นคือลงทุนเฉพาะในโครงการที่บริหารความเสี่ยงได้ “เราคงไม่กระโดดเข้ามาบุกตลาดหนักๆ เราเลือกทำโครงการที่มั่นใจว่าจะขายได้ ถ้ามีความเสี่ยงสูง การเก็บที่ดินเปล่าไว้ยังมีประโยชน์มากกว่า” ณพงศ์กล่าวขุมสมบัติ 1 หมื่นไร่
สำหรับกลยุทธ์ของโอเชี่ยน พรอพเพอร์ตี้อาจจะแตกต่างจากค่ายอสังหาฯ อื่นๆ อยู่เล็กน้อย เพราะครอบครัวอัสสกุลนั้นเป็น “แลนด์ลอร์ด” มีที่ดินราว 1 หมื่นไร่กระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่เป็นที่ดินในต่างจังหวัด มีการถือครองที่ดินทั้งผ่านบริษัทต่างๆ ของครอบครัวและถือในนามส่วนตัว “กลยุทธ์คือเราจะดูที่ดินที่มีในเครือเป็นหลัก เพราะถ้าหากเกิดอะไรขึ้นกับยอดขายโครงการ อย่างน้อยเงินที่จมก็ยังอยู่ในเครือเดียวกัน” ณพงศ์กล่าว “แต่ถึงจะเป็นบริษัทในเครือเราก็ต้องซื้อขายที่ดินในราคาตลาด ไม่ได้กดราคา เพราะเราจะเอาเปรียบผู้ถือหุ้นของบริษัทอื่นไม่ได้” ดังนั้นข้อได้เปรียบเรื่องที่ดินของโอเชี่ยนพรอพเพอร์ตี้จึงไม่ใช่เรื่องราคา แต่เป็นความยืดหยุ่นในการแบ่งแปลงที่ดิน สามารถทยอยขอแบ่งแปลงซื้อเพียง 1-2 ไร่หรือหลักสิบไร่ได้ ณพงศ์ยังได้เปิดเผยที่ดินแปลงสำคัญที่โอเชี่ยนพรอพเพอร์ตี้เล็งเห็นศักยภาพ เช่น ที่ดินบริเวณริมถนนมิตรภาพ จ.ขอนแก่น ที่บริษัทพัฒนาคอนโดฯ แล้ว 2 ไร่ แต่ยังเหลือที่ดินในบริเวณนั้นอีกจำนวนมากที่พัฒนาเพิ่มได้ กระทั่งพื้นที่ที่พัฒนามานานอย่างโอเชี่ยนมารีน่า ยอท์ช คลับ และคอนโดฯ พอร์โต ฟิโน่ ริมถนนสุขุมวิท ก็เพิ่งใช้ที่ดินไป 4 ไร่จากทั้งหมด 120 ไร่ นอกจากนี้บริษัทยังมีที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งฝั่งถนนพระราม 3 ติดกับโรงแรมมณเฑียร ริเวอร์ไซด์ ขนาด 16 ไร่ ณพงศ์แจกแจงแผนงานว่า กลุ่มธุรกิจออฟฟิศบิลดิ้ง โอเชี่ยน ทาวเวอร์ 1 และ 2 มีอัตราการเช่า 99-100% สม่ำเสมอ แต่คาดว่าจะไม่มีการพัฒนาอาคารสำนักงานใหม่อย่างน้อยในระยะ 3 ปีจากนี้ ด้านโรงแรมเมอเวนพิค อัสสรา รีสอร์ท แอนด์ สปา หัวหิน บริษัทได้ลงทุนรีโนเวทไป 180 ล้านบาท เริ่มปิดบริการบางส่วนเพื่อปรับปรุงซ่อมแซมตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 และจะกลับมาเปิดบริการเต็มรูปแบบเดือนตุลาคม 2561ด้านท่าจอดเรือยอชต์ แต่เดิมที่โอเชี่ยนมารีน่า ยอท์ช คลับ สามารถจอดเรือได้ 380 ลำ แต่ได้ลงทุนมูลค่า 100 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพพื้นที่ให้จอดเพิ่มได้อีก 60 ลำ รวมเป็น 440 ลำ ซึ่งถือว่าเต็มพื้นที่และเต็มตามจำนวนที่ระบุไว้ในใบอนุญาตก่อสร้าง
ณพงศ์มองว่าธุรกิจท่าจอดเรือยอชต์ยังมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี โดยลูกค้าของโอเชี่ยนมารีน่าฯ 60% เป็นคนไทย อีก 40% เป็นชาวต่างชาติ ซึ่งมักจะเป็นชาวต่างชาติที่ทำงานในไทย (expat) หรือคนวัยเกษียณกลุ่มลูกค้าเหล่านี้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจไม่มาก