ไม่บ่อยครั้งนักที่บริษัทเอกชนอายุยาวเกือบศตวรรษยังคงมีลูกหลานสานต่อกิจการ ทว่าวันที่ "จิ้นฮ่วย" ส่งต่อถึงมือทายาทรุ่น 3 และกำลังฝึกปรือรุ่น 4 ที่เข้ามาเรียนรู้งาน
เมื่อ 97 ปีก่อน 3 พี่น้องตระกูลซี ได้แก่ ซี หยกปิ, ซี ฮ่วงน้ำ และ ซี เกี้ยยู้ จากเมืองซัวเถา (Guangdong) สาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมกันตั้ง บริษัท จิ้นฮ่วย จำกัด (Chin Huay) โดยประกอบธุรกิจการผลิตน้ำปลา ต่อมาขยายสู่การผลิตปลากระป๋องและธุรกิจผลไม้อบแห้งซึ่งเป็นรายได้หลักในปัจจุบัน ปี 2564 “จิ้นฮ่วย” ปัจจุบันคือ บริษัท เจริญอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ CH มีรายได้ 1,442 ล้านบาท ลดลงจากปี 2563 ที่มีรายได้ 1,634 แต่กำไรสุทธิคงเดิมคือ 67 ล้านบาท CH ดำเนินธุรกิจผลิตและแปรรูปอาหาร 3 กลุ่ม ประกอบด้วย ปลากระป๋อง ผลไม้อบแห้ง และขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพ กว่า 70% เป็นการรับจ้างผลิต (OEM) ให้บริษัทต่างประเทศและขายแบบแพ็กใหญ่ (bulk pack) โดยผลิตผลไม้อบแห้งกว่า 50 ชนิด มียอดส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 74.39% ใน 51 ประเทศ อาทิ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป จำหน่ายในประเทศ 25.61% ภายใต้แบรนด์ Eros และ Bangkok Tasty- จากปลากระป๋องสู่ผลไม้อบแห้ง -
บ่ายวันหนึ่งของสัปดาห์ Forbes Thailand มีนัดสัมภาษณ์ ศักดา ศรีแสงนาม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจริญอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ CH ที่สำนักงานใหญ่บนถนนพระราม 2 เมื่อผ่านประตูอาคารเข้ามาขวามือเป็นรูปปั้นตุ๊กตาตัวใหญ่มีผลมะม่วงและผลไม้อื่นเทินอยู่บนหัว บริเวณกลางลำตัวมีข้อความว่า chin huay มาทราบภายหลังว่าเป็นมาสคอตของสินค้า เนื่องจากว่าเป็นวันศุกร์และบริษัทอนุญาตให้แต่งกายลำลอง เราจึงได้เห็นผู้บริหาร CH สวมเสื้อเชิ้ตแขนยาวสีขาว กางเกงยีนส์ ซึ่งเป็นชุดสำหรับออกบูธหรือร่วมงานแฟร์ สิ่งสะดุดตาอีกอย่างคือ แหวน 3 วง โดยนิ้วชี้ขวาสวมแหวนรูปทรงเกลี้ยงๆ ซึ่งศักดาบอกว่า ทำขึ้นมาแจกคณะกรรมการด้านในของแหวนมีข้อความภาษาจีนแปลเป็นไทยว่า “ขยัน ประหยัด” คือคุณค่าพื้นฐานที่บรรพบุรุษส่งต่อมา และเป็นปรัชญาที่ทำให้บริษัทรอดพ้นวิกฤต หลังจากไปเผชิญโลกภายนอกอยู่ 8 ปี โดยทำงานด้านคอมพิวเตอร์ตามวิชาชีพที่ได้ร่ำเรียนมา เมื่อประเทศไทยเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 “ศักดา” คิดว่าถึงเวลาที่ต้องกลับมาช่วยงานทางบ้าน โดยลาออกจากการเป็น system engineer ที่รับผิดชอบการออกแบบและขายระบบด้านคอมพิวเตอร์ ซึ่งขณะนั้นได้เงินเดือนหลักแสนมารับเงินเดือน 25,000 บาท โดยเป็นเซลส์แมนธุรกิจกงสีของครอบครัว ซึ่งเขาคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก เนื่องจากก่อนเข้าโรงเรียนคุณปู่พาไปที่โรงงานเสมอ ได้ไปดูบ่อน้ำปลาและวิ่งเล่นในรั้วโรงงานทำให้เกิดความผูกพัน "ตอนที่ตัดสินใจกลับมาทำธุรกิจของครอบครัวในปี 2540 บริษัทไม่มีปัญหา แต่คิดว่ามีวิกฤตเศรษฐกิจควรกลับมาช่วยที่บ้าน ก็บอกคุณพ่อๆ กลับมาคุยกับพี่น้อง (ผู้บริหาร) ซึ่งเป็นรุ่น 2 ตอนนั้นยังไม่มีรุ่น 3 คนอื่นเข้ามาทำงาน full time” ตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาปลากระป๋องเป็นสินค้าที่ทำรายได้หลัก กระทั่ง 7 ปีก่อนขณะที่บริษัทมีอายุครบ 90 ปี รายได้จากกลุ่มนี้ลดลง สาเหตุจากวัตถุดิบเกือบทั้งหมดต้องนำเข้า กฎระเบียบของต่างประเทศส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขัน สินค้ามาร์จินต่ำเมื่อเทียบกับ ผลไม้อบแห้งที่จัดหาวัตถุดิบจากภายในประเทศได้ และเป็นกลุ่มสินค้าที่ทำรายได้หลักในปัจจุบัน แม้ตลาดไม่เติบโตกว่านี้ แต่ CH ยังพยายามรักษาสินค้า “ปลากระป๋อง” ให้ยืนนานที่สุด เพราะเป็นธุรกิจแรกๆ ที่บรรพบุรุษสร้างมา ข้อดีคือ เป็นสินค้าติดตลาดแล้ว มีลูกค้าจากทั่วโลกทั้งสหรัฐฯ ยุโรป ตะวันออกกลาง โดยมีคู่แข่งสำคัญคือ จีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม ส่วนผลไม้อบแห้งคู่แข่งในตลาดโลกคือ ฟิลิปปินส์ จีน และเม็กซิโกเป็นคู่แข่งรายสำคัญ เพราะมีภูมิประเทศติดกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ ทั้งภาครัฐยังส่งเสริมให้ผลิตมะม่วงอินทรีย์ แต่บริษัทยังแข่งขันได้เนื่องจากจำหน่ายในราคาต่ำกว่า- ลงทุนศูนย์นวัตกรรม 53 ล้าน -
เพื่อขยายไลน์การผลิตปี 2559 เริ่มพัฒนาสินค้ากลุ่มใหม่คือ ขนมขบเคี้ยว หรือ innovative healthy food ที่ผลิตออกมาแล้วคือ กราโนล่า (granola) อาหารให้พลังงานที่มีคุณค่าทางอาหารและไฟเบอร์สูงภายใต้ตราสินค้า MeBle, มะม่วงโปรไบโอติกส์, เผือกและมันที่ทอดด้วยระบบสุญญากาศไร้น้ำมัน และเนื้อเทียมที่ทำจากพืช (plant based) แต่มีรสสัมผัสและกลิ่นใกล้เคียงเนื้อสัตว์ ทั้งยังมีสารอาหารโปรตีนและธาตุเหล็กครบถ้วน เป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้บริโภคอาหารมังสวิรัติหรืออาหารเจ เพื่อเพิ่มโอกาสในการขายปี 2563 จึงตั้งโรงงานผลิตผลไม้อบแห้งที่ Phum Smach, Khum Ram, Srok Prey Nub, Preah Sihanouk ประเทศกัมพูชา ด้วยกำลังการผลิต 2,000 ตันต่อปี จุดแข็งของที่นี่คือ เป็นแหล่งเพาะปลูกมะม่วง ค่าจ้างแรงงานต่ำกว่าไทย ที่สำคัญคือ ประเทศกัมพูชาได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized Systems of Preferences: GSP) จากประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า ขณะเดียวกันบริษัทได้ตั้งศูนย์นวัตกรรมด้วยงบลงทุนประมาณ 53 ล้านบาทเพื่อวิจัยและพัฒนาสินค้าใหม่ๆ เพื่อตอบเทรนด์ผู้บริโภครุ่นใหม่ที่ใส่ใจในสุขภาพ “เราลงทุนพัฒนา R&D สร้างศูนย์นวัตกรรมปีที่แล้วเพื่อดึงดูดนักวิทยาศาสตร์มาทำงานด้วย เราทำออฟฟิศแบบคนรุ่นใหม่เลยให้เขามีอารมณ์ในการ create และสร้างแผนกมาร์เก็ตติ้งโดยคนรุ่นใหม่เพื่อเจาะตลาดลูกค้าให้ตรงเป้าหมายมากขึ้น จากเดิม B2B เป็น B2C “ภายใน Innovation Center รวบรวมอุปกรณ์ทันสมัยต่างๆ รวมถึงเครื่องจักรและห้องทดลองที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้แผนกวิจัยและพัฒนา สามารถใช้ในการคิดค้นพัฒนาสินค้าใหม่ๆ...เรามี vision ว่าจะเป็นผู้นำอาหารสุขภาพตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว และเริ่มพัฒนาสินค้าออกมา เช่น สินค้าตรา MeBle เป็นกราโนล่าบอลที่มีคุณค่าทางอาหาร, มะม่วงโปรไบโอติกส์เพิ่งผลิตออกมาปีที่แล้ว นอกจากได้ประโยชน์จากมะม่วงยังมีโปรไบโอติกส์สำหรับช่วยย่อยอาหาร แต่ยังไม่ได้เริ่มทำตลาดในประเทศพอผลิตได้ก็เกิดโควิด”- บริษัทระดับโลก -
นอกจากการตั้งโรงงานแห่งใหม่ที่กัมพูชาแล้ว CH ยังได้จดทะเบียนตั้งบริษัทในประเทศสิงคโปร์ โดยปี 2564 จดทะเบียนจัดตั้ง Chin Huay Holding (Singapore) Pte. Ltd. (CHHS) เพื่อประกอบธุรกิจลงทุนในต่างประเทศ หรือร่วมลงทุนกับพันธมิตรในต่างประเทศ ด้วยทุนจดทะเบียน 50,000 เหรียญสหรัฐฯ และจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทอีกแห่งชื่อ Chin Huay Trading (Singapore) Pte. Ltd. (CHTS) ในสิงคโปร์เช่นกัน เพื่อประกอบธุรกิจซื้อขายสินค้าในตลาดต่างประเทศ ด้วยทุนจดทะเบียน 50,000 เหรียญสหรัฐฯ เหตุผลที่เลือกตั้งบริษัทในสิงคโปร์เพื่อความคล่องตัวในการทำธุรกรรม “สิงคโปร์ภาษีถูกกว่า ที่ดีอีกอย่างคือ การสร้าง environment กัมพูชาใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นหลัก quote ราคาซื้อขายเป็นดอลลาร์ทำให้ไม่เสียอัตราแลกเปลี่ยน หากมีกำไรจังหวะดีๆ จึงโอนกลับประเทศไทย ถ้าทุกอย่างอยู่ที่ไทยต้อง convert อัตราแลกเปลี่ยน เมื่อ trading ที่สิงคโปร์กำไรสามารถเอาปันผลเข้า holding และลงทุนต่างประเทศได้เลย ไม่ต้องดึงเงินจากประเทศไทย" “เรามี Chin Huay ไทยและกัมพูชาเป็นผู้ผลิต เราเตรียมตัวเพื่อขยายไปต่างประเทศ รุ่น 3 เราวาง fundamental ถ้าเราทำที่กัมพูชาสำเร็จคงจะบุกประเทศ อื่นอีก เรา set up holding ที่สิงคโปร์ สมมติว่าเปิดโรงงานอีกแห่งก็ใช้สิงคโปร์เป็นฐานไปลงทุน หรือเปิด sale office และเปิด trading ที่สิงคโปร์ เพื่อเป็นตัวแทนขายของ ที่ผลิตจากกัมพูชาไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก... ตอนที่ (ประเทศไทย) มีปัญหาเสื้อเหลืองเสื้อแดง เพื่อนบ่นบอกว่าไม่อยากอยู่ ผมก็บอกคุณคิดใหม่สิว่า (เรา) เป็นประชาชนอาเซียนและใช้ประโยชน์จากอาเซียน ความฝันคือเป็นประชาชนของโลก เหมือนกับว่าทำไมต้องเอาไข่ทุกใบมาเก็บไว้ที่นี่ กระจายไปไว้ข้างนอกบ้าง” เมื่อถามถึงบทบาทของทายาทแต่ละรุ่น ผู้บริหาร CH ตอบว่า รุ่นที่ 1 สร้างธุรกิจ รุ่นที่ 2 สร้างและขยาย รุ่นที่ 3 กิจการเติบโตและจัดระเบียบใหม่ “ระเบียบใหม่” ข้างต้น หมายถึงการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ด้วยความตั้งใจที่จะให้บริษัทมีแนวทางการบริหารงานแบบมืออาชีพ เพื่อให้กิจการคงอยู่อย่างยั่งยืน การระดมทุนนับป็นเรื่องรอง เขาตอบคำถามพร้อมกลั้วหัวเราะน้อยๆ ว่า “เรามีเงินอยู่แล้วครับ ไม่ได้เดือดร้อนเรื่องเงิน แต่ต้องการจัดระเบียบบริษัทให้เป็นมาตรฐานเพื่อส่งต่อรุ่นสู่รุ่น รุ่นต่อไปจะได้บริหารงานง่าย (หากไม่บริหาร) ก็มีมูลค่าตามตลาดฯ การได้คนเก่งๆ มาบริหารก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ลูกค้ารายใหญ่ๆ ก็ไว้ใจเรามากขึ้น และอยากค้าขายกับเรา ณ วันนี้เราไม่เดือดร้อนมากนัก แต่อนาคต ใครจะรู้ การจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทำให้เราสามารถระดมทุนง่ายขึ้น เราสร้างเครื่องมือ สร้างระบบให้คนรุ่นต่อไป เพื่อทำให้บริษัทเจริญเติบโตต่อไป” รวมทั้งเพิ่งจัดทำ “ธรรมนูญครอบครัว” เมื่อเร็วๆ นี้ “นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่เรานำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพราะคิดว่าจากรุ่น 3 ไปรุ่นที่ 4 ความรู้จักกันน้อยลง การบริหารงานต้องเป็นมืออาชีพมากขึ้น ระบบต้องโปร่งใสมากขึ้น อยากให้บริษัทเป็น multinational หากวางโครงสร้างอย่างนี้จะอยู่ในหลายประเทศ มีโรงงานอยู่ประเทศนี้ ทีมขายอยู่อีกประเทศ” อะไรคือหัวใจสำคัญที่ทำให้กิจการดำรงอยู่มายาวนานเกือบศตวรรษ? ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CH ตอบว่า สิ่งสำคัญที่สุด คือ 1. พี่น้องต่างมีความเคารพ ให้เกียรติซึ่งกันและกัน เมื่อมีข้อขัดแย้งก็ฟังเหตุผลของอีกฝ่ายทำให้ทำงานด้วยกันได้ 2. บริษัทได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า เนื่องจากมีความซื่อสัตย์สุจริต จริงใจ 3. สินค้ามีคุณภาพ สม่ำเสมอ ราคาสมเหตุผล ภาพ: กิตติเดช เจริญพร และ CH อ่านเพิ่มเติม:- “ไทยประกันชีวิต” ทรานส์ฟอร์มเข้าตลาดหุ้นไทย STEP UP สู่โลกใบใหญ่กว่าเดิม
- การจัดอันดับ “เมืองที่มีค่าครองชีพแพงที่สุดในโลก” ประจำปี 2022
- ASHWIN DESAI วิศวกรเคมีวัย 70 ปี “มหาเศรษฐีพันล้าน” คนล่าสุดของอินเดีย
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine