น.สพ.ธนวัฒน์ คงเจริญสมบัติ “BIS” พลังเพื่อน Synergy - Forbes Thailand

น.สพ.ธนวัฒน์ คงเจริญสมบัติ “BIS” พลังเพื่อน Synergy

เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยคือครัวโลก โดยกระทรวงอุตสาหกรรมประเมินว่า ปี 2564 ไทยมีมูลค่าการส่งออกอาหารสูงกว่า 1 ล้านล้านบาท และมีปริมาณการผลิตเนื้อสัตว์เพื่อการบริโภคในประเทศและส่งออกมากกว่า 21 ล้านตันต่อปี

หนึ่งในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่สำคัญคือ ผู้ให้บริการดูแลสัตว์เศรษฐกิจให้เติบโตและมีสุขภาพแข็งแรง บริษัท ไบโอซายน์ แอนิมัล เฮลธ์ จำกัด (มหาชน) หรือ BIS เป็น 1 ใน 5 ผู้นำในธุรกิจยา วัคซีน และเวชภัณฑ์สัตว์และสัตว์เลี้ยงในประเทศไทย ที่ได้รับการยอมรับจากบริษัทผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายเวชภัณฑ์ระดับสากลโดยเป็นผู้แทนจำหน่ายยา วัคซีนและเวชภัณฑ์สำหรับสัตว์กว่า 446 รายการ จากแบรนด์ชั้นนำของโลกรวมทั้งแบรนด์ของบริษัทเอง ล่าสุดประสบความสำเร็จในการร่วมพัฒนาชุดตรวจโรค ASF หรือไข้หวัดแอฟริกันในสุกรออกสู่ตลาด รวมทั้งพัฒนาชุดตรวจระบบ Real-time PCR สำหรับใช้ในสัตว์และคน และเป็นบริษัทแรกของไทยที่ได้รับอนุญาตจากองค์การอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งคนไทยจำนวนไม่น้อยเพิ่งรู้จักโรคไข้หวัดแอฟริกันเมื่อเนื้อหมูสำหรับบริโภคราคาแพงขึ้น เพราะป่วยจากโรคดังกล่าว  

- รวมพลังคนหนุ่ม -

เสียงสรวลเสเฮฮาของสัตวแพทย์ทั้ง 6 นาย ซึ่งเดินเข้ามาในห้องโถงเพื่อให้ทีมงาน Forbes Thailand สัมภาษณ์และถ่ายภาพ ทำให้รู้สึกว่าเหมือนกำลังอยู่ในงานรวมรุ่น ทั้งหมดเป็นผู้บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง BIS ประกอบด้วย นายสัตวแพทย์เกรียงไกร โตธิรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ, นายสัตวแพทย์สุชาติ วรวุฒางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ, นายสัตวแพทย์ธนวัฒน์ คงเจริญสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร, นายสัตวแพทย์ปรเมศวร์ ขำภักตร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ, นายสัตวแพทย์รุ่งโรจน์ ถาวรธนากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน และ นายสัตวแพทย์จารุนพ รุจิรกาโมทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ หลังฝึกปรือฝีมือเป็นผู้จัดการบริษัทในธุรกิจอาหารสัตว์มาพักใหญ่ นายสัตวแพทย์ธนวัฒน์ คงเจริญสมบัติ ซึ่งวันนี้คือ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ไบโอซายน์ แอนิมัล เฮลธ์ คิดว่าถึงเวลาที่จะมีกิจการของตนเอง ปี 2547 ขณะอายุ 34 ปี เขาและเพื่อนอีก 6 คน จึงลาออกและระดมเงินตั้งบริษัทด้วยทุนเริ่มต้น 5 ล้านบาท “ต้องบอกว่า ผมโชคดีมาก จะทำธุรกิจแล้วมีคนพร้อมออกมาลุยด้วย ทีมนี้เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องกันมา รู้จักกันที่ทำงาน ตอนทำงานก็สนุก บางทีตี 1 ตี 2 ยังประชุมกันอยู่เลย สิ่งที่คุยมาตลอดคือ ถ้าเราทำให้บริษัทได้ เราเชื่อว่าออกมาทำเองน่าจะไปได้ คิดแบบเด็กๆ ไม่ได้คิดอะไรมาก” ปีที่ก่อตั้งมียอดขาย 37 ล้านบาท ช่วงแรกทำธุรกิจแบบซื้อมาขายไป หลังจากนั้น 2-3 ปีเดินทางไปร่วมงานแฟร์ในต่างประเทศที่ผู้ผลิตจากทั่วโลกมาออกร้านหาคู่ค้า ซึ่งบริษัทได้รับความสนใจจากผู้ผลิตเป็นอย่างดี เนื่องจากประเทศไทยเป็นฮับของการเลี้ยงสุกรและสัตว์ปีกเพื่อส่งออก บริษัทมีเกณฑ์ในการเลือกสินค้ามาจำหน่ายคือ ทำให้สัตว์เศรษฐกิจสุขภาพแข็งแรงเติบโตไว ผู้ผลิตมีมาตรฐานระดับโลก มีนวัตกรรมใหม่ๆ ตอบโจทย์เกษตรกรไทยและกลุ่มประเทศ CLMV  

- ครบวงจรทั้งอาหารและยา -

บริษัทเป็นผู้จัดหาผลิตภัณฑ์จำหน่าย ทั้งในลักษณะเป็นตัวแทนจำหน่ายเพียงผู้เดียวในประเทศ เป็นตัวแทนทั่วไป ว่าจ้างผู้ผลิตสินค้าและผลิตสินค้าที่โรงงานของบริษัทเอง โดยแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มดังนี้ กลุ่มแรก ผลิตภัณฑ์รักษาและป้องกันโรคได้แก่ ยาและวัคซีน กลุ่ม 2 สารเสริมอาหารและวิตามิน กลุ่ม 3 ผลิตภัณฑ์เพื่อการวินิจฉัยโรค กลุ่ม 4 วัตถุดิบอาหารสัตว์สำหรับโรงงานขนาดใหญ่ผู้ผลิตอาหารสัตว์ กลุ่ม 5 อาหารเม็ดสำเร็จรูป BIS จากรายได้ 37 ล้านบาทในปีแรก และแตะหลักพันล้านในปีที่ 10 ณ ไตรมาส 3 ของปี 2564 มีรายได้รวม 1,417 ล้านบาท กำไรสุทธิ 53 ล้านบาท โดยสัดส่วนรายได้ มาจากผลิตภัณฑ์สำหรับสุกร 50% สัตว์ปีก/สัตว์น้ำ 35% และสัตว์เลี้ยง 15% พัฒนาการของ BIS แบ่งออกเป็น 3 ช่วง ช่วงแรกเป็นเทรดเดอร์ ช่วงที่ 2 นำเข้าสินค้า ช่วง 3 ทำวิจัยและพัฒนา โดยขณะนี้กำลังเข้าสู่ช่วงที่ 3  

- เพิ่มมูลค่าด้วยสินค้านวัตกรรมและวัคซีน -

ด้วยเป้าหมายที่จะพัฒนาธุรกิจสู่ระดับภูมิภาคอาเซียน BIS จึงให้ความสำคัญกับการลงทุนวิจัยเพื่อส่งเสริมการดำเนินงานและศักยภาพในการแข่งขัน ตามแผนการลงทุนปี 2565-2567 มีการขยายโรงงานการผลิตสินค้าและการลงทุนเพิ่มเติมในเครื่องจักร โดยต้นปี 2564 เปิดดำเนินการโรงงานผลิตสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและวิตามินประเภทสารผสมล่วงหน้าในอาหารสุกร สัตว์ปีก และวัว ซึ่งตลาดมีความต้องการสูง ภายใต้แบรนด์ของบริษัท เช่น Optimix, Nutrimix ปัจจุบันเครื่องจักรมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 300 ตันต่อเดือน อัตราการใช้กำลังการผลิต 30-40% และโรงงานถึงจุดคุ้มทุนแล้ว รวมทั้งมีแผนลงทุนขยายโรงงานการผลิตสินค้า โรงงานเดิมลงทุนเพิ่มเติมในเครื่องจักรอีก 20.22 ล้านบาท เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ประเภทวิตามินและแร่ธาตุที่ช่วยเร่งสารอาหารในอาหารสัตว์สำหรับสุกร โคเนื้อ โคนม และสัตว์ปีก ภายใต้แบรนด์ NutriPro ของบริษัท ซึ่งปัจจุบันได้ว่าจ้างผู้ผลิตสินค้าภายนอก (OEM) และขยายสายการผลิตสำหรับผลิตภัณฑ์ประเภทสารทดแทนน้ำมันในอาหารสัตว์ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ นายสัตวแพทย์ปรเมศวร์ ขำภักตร์ ประธาน เจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการซึ่งดูแลด้านโรงงานอธิบายว่า โรงงานแบ่งสินค้า ออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 เป็นสินค้านวัตกรรมเกี่ยวกับพลังงาน โดยสนับสนุนทุนให้ สวทช. วิจัยตั้งแต่ปี 2561 คาดว่าจะผลิตสินค้าออกจำหน่ายได้ภายในไตรมาส 3 ของปี 2565 กลุ่มที่ 2 เป็นสินค้าที่ร่วมพัฒนากับซัพพลายเออร์และจ้างผลิตเป็นสารเสริมสำหรับสัตว์ เมื่อบริษัทมีโรงงานเองจึงค่อยๆ ดึงกลับมาผลิต ปัจจุบันจ้าง OEM 30% ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่จำหน่าย การที่บริษัทขยายโรงงานให้ครอบคลุมกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารวิตามิน และผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ทำให้ควบคุมต้นทุนสินค้าได้ดียิ่งขึ้น สามารถบริหารจัดการสินค้าคงเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคาดว่าหากดำเนินการติดตั้งเครื่องจักรทั้งหมดเสร็จสิ้น จะมีกำลังการผลิตรวม 800 ตันต่อเดือน และใช้กำลังการผลิต 50% ในปี 2565 “วัคซีน” เป็นอีกผลิตภัณฑ์ที่บริษัทตระหนักถึงความสำคัญและดำเนินการค้นคว้าวิจัยมาระยะหนึ่งแล้ว โดยปกติวัคซีน 1 ตัวใช้เวลาวิจัยและพัฒนา 5-10 ปี BIS มีโครงงานวิจัยและพัฒนาวัคซีนโรคระบบทางเดินหายใจและระบบสืบพันธุ์ (PRRS) สำหรับสุกร โดยร่วมกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ใช้งบฯ ลงทุนในโครงการนี้ 40.09 ล้านบาท โดยบริษัททำหน้าที่รวบรวมสายพันธุ์เชื้อที่ระบาดในประเทศนำไปทดลองกับสัตว์ในฟาร์ม ภายใต้ภาวะควบคุมการทำแผนการผลิต แผนการตลาด ปัจจุบันงานวิจัยอยู่ในขั้นตอนการทดสอบและปรับแต่งเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพคุ้มกันโรคที่ดีที่สุด คาดว่างานวิจัยจะแล้วเสร็จปลายปี 2565 และผลิตเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ในปีถัดไป ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเอ่ยอย่างภาคภูมิใจว่า ปีที่ผ่านมาได้ใช้ชุดตรวจ ASF ช่วยเหลือเกษตรกรเฝ้าระวังไม่ให้โรค เข้าถึงฟาร์ม หาแนวทางป้องกันให้เกิดความเสี่ยงน้อยที่สุด เพราะถ้าโรคนี้เข้าฟาร์มจะมีอัตราการตายของสุกรถึง 90% “ปี 2564 ชุดตรวจเป็นพระเอกเลย เพราะยอดเติบโตจากปี 2563 เกือบ 120% หลักๆ มาจากยอดใช้ในสุกร ยอดตรวจทั้งในปศุสัตว์และสัตว์เลี้ยง” เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายสัตวแพทย์สุชาติ วรวุฒางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการขยายความว่า บริษัททำนวัตกรรมในกลุ่มวัคซีน สารเสริม และชุดตรวจตั้งแต่ 6 ปีก่อน เพราะเป็นสินค้าที่มีกำไรสูง โดยร่วมกับไบโอเทค สวทช. พัฒนาวัคซีนขึ้นมาตัวแรก ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทดลอง “เมื่อทำวัคซีนสิ่งที่ต้องการทราบคือ ภูมิคุ้มกันดีหรือไม่ต่อโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้น เราเป็นสัตวแพทย์แต่เกี่ยวโยงถึงห่วงโซ่อาหาร สุขภาพของคน เนื่องจากโรคมากกว่า 70% มาจากในสัตว์ก่อนแล้วจึงไปสู่คน หรือติดจากอาหาร เป็นโรคอุบัติใหม่ๆ ที่ไปสู่คน เรามองว่า สัตว์เป็นอาหารก็ควรตรวจด้วย ดังนั้น คอนเซ็ปต์คือ ตรวจได้ในคน สัตว์ และอาหาร จึงพัฒนาชุดตรวจที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาดพวกนี้ออกมา 2 ตัว ตัวแรกที่ได้รับความนิยมคือ ASF และชุดตรวจโควิด Real-time PCR ซึ่งตรวจได้ทั้งในคนและสัตว์” ปัจจุบันวัคซีนทุกตัวที่ใช้ในสัตว์ทั้งหมดนำเข้าจากต่างประเทศ โดยวัคซีนที่ใช้กับสุกรมีเกือบ 20 ชนิด เฉพาะที่ใช้ป้องกันโรค PRRS ตลาดในไทยมูลค่าประมาณ 700 ล้านบาท ถ้ารวมเวียดนาม กัมพูชา และลาว คาดว่ามีมูลค่าประมาณ 2 พันล้านบาท ปัจจุบันวัคซีนดังกล่าวราคาโดสละ 50 บาท นายสัตวแพทย์สุชาติบอกว่า หากบริษัทผลิตและจำหน่ายราคา 25 บาทก็ยังมีกำไร “ราคาต้องช่วยเกษตรกรไทย ที่สำคัญคือ ตรงต่อโรคที่เกิดในไทยมากกว่า เป็นการยกระดับเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนสัตว์ในประเทศไทยและประเทศกลุ่ม CLMV ตลอดจนช่วยส่งเสริมเกษตรกรไทยให้ได้ใช้วัคซีนที่มีคุณภาพระดับสากล เฉพาะเจาะจงกับเชื้อโรคในประเทศไทยในราคาที่สมเหตุสมผล” เราไม่เคยคำนวณว่าวัคซีนทุกตัวมีมูลค่าเท่าไร ยังมีวัคซีนสำหรับไก่และสัตว์น้ำอีก ตอนนี้ผมอยู่ในคณะอนุกรรมการที่ทำเกี่ยวกับวัคซีน ซึ่งพยายามผลักดันให้มีการทำวัคซีนปศุสัตว์คือ หมู ไก่ วัว และสัตว์น้ำ ซึ่งมีโอกาสในการเติบโตค่อนข้างมาก เราเลือกตัวที่มีมูลค่าการตลาดสูงสุดก่อน” อีกไม่นานเกินรอเราคงได้เห็นวัคซีนป้องกันโรค PRRS ซึ่งจะเป็นตัวแรกที่ผลิตโดยบริษัทของคนไทย   ภาพ: กิตติเดช เจริญพร และ BIS อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนเมษายน 2565 ในรูปแบบ e-magazine