Hester Chew กับโอกาสใหม่ใน 'Asian Foods' - Forbes Thailand

Hester Chew กับโอกาสใหม่ใน 'Asian Foods'

Dine with the Boss ครั้งนี้เราไม่ได้นัดกันในร้านอาหารเหมือนทุกๆ ครั้งที่ผ่านมาเนื่องจากแขกคราวนี้ คือ Hester Chew ประธาน คณะกรรมการและซีอีโอ บริษัท แมคไทย จำกัด ผู้บริหารแฟรนไชส์ McDonald’s ในประเทศไทย

เราจึงตกลงใช้ห้องรับรองของแมคไทยบนชั้น 5 อาคารบิ๊กซี ราชดำริ ซึ่งมีทั้งมุมโซฟาและเคาน์เตอร์บริการเครื่องดื่มนานาชนิดแล้วสั่ง Signature Collection ชุดเนื้อแองกัสที่เสิร์ฟพร้อมเฟรนช์ฟรายส์ และน้ำอัดลมเพื่อให้ได้บรรยากาศของ Quick Service Restaurant (QSR) Hester จะครบรอบ 30 ปีที่เขาเดินทางเพื่อมาทำงานในประเทศไทยในเดือนตุลาคมนี้ เมื่อเขาได้รับมอบหมายจากสำนักงานภูมิภาคของ Tricon Global Restaurants (ปัจจุบันคือ Yum! Brands, Inc) ที่สิงคโปร์ในขณะนั้นให้เข้ามารับตำแหน่งเป็นผู้จัดการทั่วไปบริษัทร่วมทุนระหว่าง Tricon กับเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ที่เพิ่งได้รับสิทธิ์ในการบริหารแฟรนไชส์ KFC ในประเทศไทย “ตอนนั้นทั้ง KFC McDonald’s มีประมาณ 4 สาขาเท่านั้น ผมมาเริ่ม JV ใหม่กับซีพี มีประเสริฐ พุ่งกุมาร สมัยก่อนก็เจอคุณมิน คุณพงษ์ คุณอดิเรก ดร.อาชว์ (ปัจจุบัน) ผมก็ยังทานข้าวกับคุณอดิเรกอยู่ปีที่แล้วก็กินข้าวกับคุณประเสริฐ นานๆ ที ก็คุยกับ ดร.หลิน กินข้าวคุยถามสารทุกข์สุกดิบกันไม่มีอะไร” จาก 4-5 สาขา KFC ภายใต้การนำของ Hester ได้เติบโตขึ้นมาเป็นเครือข่าย QSR ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยด้วยจำนวน 300 สาขาภายในเวลา 13 ปี โดยมีหตุการณ์พิสูจน์ฝีมือเขาที่สุดอาจเป็นช่วงปี 2543-2544 ที่ Bill Heinecke ยื่นฟ้อง Tricon ที่ศาลใน New York แล้วปลดป้ายร้าน Pizza Hut ทั้ง 116 สาขาในไทยเปลี่ยนเป็น The Pizza Company ซึ่งหลังจากนั้น เขาได้เริ่มสร้างเครือข่าย Pizza Hut ในไทยใหม่จากศูนย์ Hester ใช้เวลา 2 ปีเปิดสาขา Pizza Hut ได้ประมาณ 100 สาขา ในช่วงที่อยู่ Tricon เขายังเป็นผู้นำเอา Taco Bell เข้ามาเปิดในสิงคโปร์ และเปิดสาขาแรกของ KFC ในเวียดนามอีกด้วย หลังจากทำงานที่ KFC ประมาณ 20 ปี ราวปี 2545 Hester ลาออกไปร่วมงานกับ Délifrance แฟรนไชส์ร้านเบเกอรี่จากฝรั่งเศส ในฐานะผู้บริหารเบอร์ 1 ที่ดูแลตลาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และหลังจากนั้นได้ตั้งบริษัทที่ปรึกษาที่เน้นลูกค้าในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม และสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) รวมทั้งธุรกิจแฟรนไชส์ในเอเชีย จนกระทั่งได้รับเชิญจาก วิชา พูลวรลักษณ์ ให้มาร่วมทุนซื้อแฟรนไชส์ McDonald’s จากบริษัทแม่ในปี 2549 “มกราคม ปี 2006 FA (financial advisor ของ McDonald’s) เขาอยากขาย FA ไปหาหลายบริษัทอยู่ สุดท้ายก็เป็นวิชากับผม วิชาเป็นหุ้นใหญ่ ผมกับวิชารู้จักกันใกล้ 30 ปีแล้วเพราะผมเปิดสาขาที่ 3 KFC อยู่ห้างเวลโก้ปิ่นเกล้า ของพ่อเขา แล้ววิชามีออฟฟิศเป็นเจ้าของที่ พี่ชายเขาเป็นเอ็มดี วิชาเป็นมาร์เก็ตติ้งไดเร็กเตอร์ ผมก็สนิทคุยกับเขาเป็นเพื่อนกันอยู่”

ลงทุนเพื่ออนาคต

Hester บอกว่า 11 ปีที่ผ่านมาแมคไทยไม่เคยขาดทุนเลย โดยสามารถทำกำไรได้ตั้งแต่ปีแรก อย่างไรก็ตามกำไรในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมาลดลงไปพอสมควรเนื่องจากบริษัทโหมลงทุนเพื่อขยายสาขา standalone และ drive-thru ซึ่งใช้เงินลงทุนสูง แต่เขามองว่าน่าจะช่วยสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าในระยะยาว นอกจากนี้เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ McDonald’s ไม่สามารถปรับราคาสินค้าขึ้นมา 2 ปีแล้ว “การลงทุนในสาขา free-standing สูงกว่า สัญญาเช่าเฉลี่ย 20-25 ปี ยาวกว่าศูนย์การค้าที่เฉลี่ย 12 ปี ผมคิดระยะยาวเพราะในอนาคต 5 ปีพื้นที่ดีๆ ในระยองชะอำ อาจจะไม่มีอีกแล้ว บางทีอีก 3 ปีอาจจะดีกว่า แต่ถ้ารอ 3 ปีอาจไม่มีโอกาส” ปัจจุบัน McDonald’s มีสาขาทั้งสิ้น 252 แห่งในประเทศไทย (ในจำนวนนี้ 82 สาขา หรือประมาณ 1 ใน 3 เป็น standalone/drive-thru) เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจาก 96 สาขาเมื่อ 12 ปีที่แล้วที่วิชาและ Hester เทกโอเวอร์กิจการมาจากบริษัทแม่เจ้าของแฟรนไชส์ในสหรัฐอเมริกา Hester มอง McDonald’s ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมากในไทย โดยดูจากจำนวนลูกค้าซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 9-10 ล้านคนต่อเดือน และจำนวน visit ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 1.3 ครั้งต่อเดือน

มองธุรกิจใหม่ “Asian Foods”

Hester กล่าวว่าเรื่องธุรกิจใหม่นั้นยังเป็นสิ่งที่แมคไทยมองเห็นโอกาสในการเติบโตจากการใช้ competencies ที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคน การฝึกอบรมและกระบวนการจัดการต่างๆ อย่างไรก็ตามการทำธุรกิจใหม่ๆ นั้น จะต้องมีการพูดคุยกับบริษัทแม่เจ้าของแฟรนไชส์ McDonald’s ให้เรียบร้อยก่อนด้วยเช่นกัน “ผมก็เคยคุยกับเขา เขาบอกยูต้องเมคชัวร์ไม่ compete ผมบอกผมทำอะไรก็ไม่อยาก compete แต่ถ้าเป็นอาหารก็ต้องแข่งแล้วใช่ไหม ผมจึงอยากจะเคลียร์ทุกอย่างก่อนแต่ก็จะเป็นโปรดักส์ใหม่ คอนเซปท์ใหม่แน่นอน ก็คิดอยู่ สาขาก็อาจจะเล็กกว่า ลงทุนน้อยกว่าแมคเยอะ โปรดักส์ก็เสิร์ฟได้ 2-3 มื้ออาหารเช้า อาหารเย็น snack ต้องกินอิ่มไม่ได้กินเล่นอย่างเดียวใช่ไหม”

Key success

เมื่อถามถึงปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จ Hester ตอบว่าคือการทำงานหนักแต่ขณะเดียวกันการทำงานหนักไม่จำเป็นต้องซีเรียส และจะต้องโฟกัสในสิ่งที่ถูกต้อง “ผมคิดว่าเราทำงานหนัก แต่เราไม่จำเป็นต้องทำตัวเองซีเรียส คุณสามารถสนุกสนานอย่างผมก็อาจจะแต่งตัวในชุดตลกๆ ในบางครั้ง เพราะถ้าเราทำตัวซีเรียส องค์กรก็จะมีความซีเรียสตามไปด้วย ผมคิดว่าองค์กรต้องสบายๆ หน่อย แต่ต้องโฟกัสอยู่ในงาน และในสิ่งที่ควรต้องใส่ใจ”   ภาพประกอบ: มังกร สรพล
คลิกอ่านฉบับเต็ม "Hester Chew กับโอกาสใหม่ใน Asian Foods'" ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ เมษายน 2561 ในรูปแบบ e-Magazine