Junji Ota - วราภรณ์ โอสถาพันธุ์ ภารกิจ "คูโบต้า" เครื่องจักรกลการเกษตรระดับโลก - Forbes Thailand

Junji Ota - วราภรณ์ โอสถาพันธุ์ ภารกิจ "คูโบต้า" เครื่องจักรกลการเกษตรระดับโลก

เกษตรสมัยใหม่และสมาร์ทฟาร์มมิ่งไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย แม้ภาคเกษตรของไทยส่วนใหญ่ยังคงทำเกษตรแบบเดิม แต่อุปกรณ์และครื่องจักรกลการเกษตรได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น แรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากเครื่องจักรกลการเกษตรแบรนด์ดังอย่าง "คูโบต้า" ที่อยู่คู่ไทยมากว่า 4 ทศวรรษ


    เมื่อ 45 ปีก่อน ผู้ผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรแบรนด์ดังจากญี่ปุ่น Kubota (คูโบต้า) ได้เข้ามาสู่ภาคการเกษตรไทยตั้งแต่ปี 2521 Junji Ota กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เริ่มต้นบอกเล่าความเป็นมาของสยามคูโบต้ากับทีมงาน Forbes Thailand ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์อันยาวนานของบริษัทที่สืบทอดธุรกิจในไทยมาเกือบครึ่งศตวรรษ

    “ยุคนั้นเครื่องยนต์ดีเซลนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด ไม่เหมาะสมกับการใช้งานในตลาดประเทศไทย เพราะเมื่อเครื่องยนต์เสียซ่อมไม่ได้ ไม่รู้จะซ่อมอย่างไร ไม่มีช่าง ไม่มีอะไหล่เปลี่ยน” นั่นคือสถานการณ์ในยุคเริ่มแรกที่คูโบต้าเข้ามาทำตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรในไทย จึงได้ก่อตั้ง บริษัท สยามคูโบต้าดีเซล จำกัด ขึ้นเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ปี 2521 ผลิตและจำหน่ายสินค้าแบรนด์ “คูโบต้า” และ “ตราช้าง” ณ นิคมอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดปทุมธานี โดยผลิตเครื่องยนต์สูบนอนที่เหมาะกับตลาดไทย

Junji Ota กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด


เทคโนโลยีญี่ปุ่นสู่ไทย

    หลังจากนั้นปี 2523 คูโบต้าได้เริ่มผลิตรถไถเดินตาม โดยได้นำเข้าเครื่องยนต์ของคูโบต้าคอร์ปอเรชั่นจากญี่ปุ่นเข้ามา และในปี 2536 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท สยามคูโบต้าอุตสาหกรรม จำกัด เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ปี 2536 หลังจากนั้นในปี 2545 ได้เริ่มจำหน่ายรถแทรกเตอร์ รถเกี่ยวข้าว ยอดขายก็เติบโตอย่างก้าวกระโดด

    โดยก่อนหน้านี้เกษตรกรใช้รถไถนาเดินตามใส่เครื่องดีเซล หรือซื้อรถแทรกเตอร์มือสองมาใช้ แต่พอสยามคูโบต้านำรถแทรกเตอร์ใหม่เข้ามาทำให้ยอดขายเติบโตขึ้นอย่างมาก เพราะช่วยให้ผลผลิตดีขึ้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น อีกทั้งเกษตรกรเริ่มประสบปัญหาแรงงานในภาคเกษตรหายากจึงหันมาใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรมากขึ้น

    “คูโบต้าตั้งใจตลอดว่าเราจะทำสินค้าให้ใกล้ชิดกับเกษตรกรท้องถิ่น เป็น culture ขององค์กร เพื่อให้การผลิตใกล้ชิดลูกค้าและช่วยลูกค้าแก้ปัญหาได้ทันท่วงที” Junji ย้ำก่อนจะเล่าว่า ถ้าย้อนกลับไปปี 2521 ยุคที่ก่อตั้งบริษัทขณะนั้นคูโบต้าได้มีการเข้าไปหาเกษตรกร รวบรวมปัญหา และหาแนวทางแก้ไขช่วยเหลือเกษตรกรตั้งแต่ยุคนั้นจนกระทั่งมีวลีติดปากที่เกษตรกรมักกล่าวถึงนั่นคือ “คูโบต้ามาแล้ว” เป็นสัญญาณที่บอกว่า คูโบต้าเข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้เกษตรกรตั้งแต่ยุคนั้น

    การสร้างชื่อและการยอมรับในแบรนด์คูโบต้ามีมากขึ้น ต่อมาในปี 2549 ได้มีการตั้งบริษัท สยามคูโบต้า ลีสซิ่ง จำกัด ขึ้นมาช่วยด้านการเช่าซื้อสินค้าของบริษัท หลังจากตั้งบริษัทลีสซิ่งได้สำเร็จทำให้ยอดขายของคูโบต้าในกลุ่มเครื่องจักรกลการเกษตรเติบโตขึ้นไปอีกขั้น จากนั้นก็มีการนำเข้ารถดำนามาขายให้ประเทศไทย

    ต่อมาในปี 2550 จึงได้ก่อตั้ง บริษัท สยามคูโบต้าแทรกเตอร์ จำกัด ขึ้นมาเพื่อผลิตและจำหน่ายรถแทรกเตอร์ แต่การผลิตเริ่มขึ้นในปี 2552 และต่อมาก็ผลิตรถเกี่ยวข้าวในปี 2553 ปีนี้เองที่บริษัทได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ปี 2553 เป็นการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท สยามคูโบต้าอุตสาหกรรม จำกัด และ บริษัท สยามคูโบต้าแทรกเตอร์ จำกัด มาเป็น บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด จนถึงปัจจุบัน


    การควบรวมบริษัทเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าในการจัดหาและให้ความรู้กับเกษตรกรในการทำการเกษตรด้วยเครื่องจักรกลการเกษตรต่างๆ รายการวิทยุที่กล่าวถึงก็เป็นส่วนหนึ่งของการให้ความรู้แก่เกษตรกร ซึ่งเนื้อหาในรายการวิทยุเป็นการเล่าเรื่องว่าถ้าเกษตรติดปัญหาต้องแก้ไขอย่างไรด้วยคำเสนอแนะแนวทางให้เกษตรกร

    “สยามคูโบต้าอยู่ในฐานะผู้นำตลาดเครื่องจักรกลการเกษตร มีวิสัยทัศน์ที่จะมุ่งมั่นในการเป็นผู้นำธุรกิจเครื่องจักรกลการเกษตรและเครื่องจักรอุตสาหกรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” Junji อธิบายว่า สิ่งที่จะเน้นคือ นวัตกรรมการจัดการเกษตรกรรมอัจฉริยะหรือ Agri-Innovation เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของประชากรอย่างยั่งยืน


เพิ่มผลผลิต-ลดต้นทุน

    สิ่งที่สยามคูโบต้าทำไม่ต่างจากบริษัทแม่คูโบต้าคอร์ปอเรชั่นที่ญี่ปุ่นคือ อยู่เคียงข้างเกษตรกรด้วยคำมั่นว่า On Your Side ที่ญี่ปุ่นบริษัทแม่ของคูโบต้ามีอายุยาวนานกว่า 134 ปี ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2433 โดย Gonshiro Kubota ผู้ก่อตั้งสมัยนั้นเขาเป็นเด็กหนุ่มวัย 19 ปี คิดค้นและทำท่อเหล็กลำเลียงน้ำเพื่อช่วยระบบสาธารณูปโภคซึ่งช่วงนั้นระบบประปาในญี่ปุ่นยังไม่ทั่วถึง ประชาชนประสบปัญหาโรคระบาดอหิวาตกโรค จะเห็นว่าประวัติศาสตร์ บริษัทพยายามช่วยแก้ปัญหาในสังคมมาตั้งแต่ต้น

    ความตั้งใจนี้ถ่ายทอดมาถึงปัจจุบัน ครอบครัวคูโบต้าทั่วทุกภูมิภาคกว่า 50,000 คนยังคงสืบทอดเจตนารมณ์ ดูแลช่วยแก้ปัญหาเกษตรกรตลอดมา จากญี่ปุ่นซึ่งการเกษตรเป็นการทำนาน้ำ (นาข้าว) ทั้งหมด คูโบต้าได้พัฒนาเครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อการทำนาน้ำ เช่นเดียวกับหลายประเทศในภูมิภาคนี้ที่ทำนาข้าว

    “เรายังมีฟาร์มของเราเอง คูโบต้าฟาร์มนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเป็นเทคโนโลยีของเราเอง ทำบนพื้นที่กว่า 220 ไร่ มีเทคโนโลยีต่างๆ มากมาย” Junji บอกว่า สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญของเกษตรไทยคือ การมี productivity น้อย หรือผลผลิตต่ำเมื่อเทียบกับอาเซียนด้วยกัน คูโบต้าพยายามหาสาเหตุก็พบว่า สิ่งที่ทำให้ไทยมีผลผลิตทางการเกษตรต่ำกว่าเพื่อนบ้านคือการไม่มีเขตชลประทานที่พร้อมในทุกพื้นที่ อีกทั้งจำนวนเกษตรกร พื้นที่ทำการเกษตรไม่พอเพียง และผลผลิตต่อพื้นที่ต่ำจึงทำได้น้อยกว่าประเทศอื่น


    คูโบต้าพยายามนำเสนอวิธีการเพิ่มผลผลิต หากดูจากคูโบต้าฟาร์มจะเห็นว่าทำขึ้นมาเพื่อทดลองให้เกษตรกรเห็นชัดเจนเรื่องการลดต้นทุน และมีพื้นที่ให้เกษตรกรทดลองใช้เครื่องจักรกลการเกษตรต่างๆ ว่าช่วยเพิ่มผลผลิตได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้คูโบต้าพยายามสื่อสารและส่งผ่านเครือข่ายทีมงานทั่วโลกกว่า 50,000 คน เฉพาะประเทศไทยประมาณ 3,000 คนในส่วนของสยามคูโบต้า


นวัตกรรมเกษตรเพื่ออนาคต

    วิสัยทัศน์ของ บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด คือ ต้องการเป็นผู้นำธุรกิจเครื่องจักรกลการเกษตรและเครื่องจักรอุตสาหกรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยนวัตกรรมการจัดการเกษตรกรรมอัจฉริยะหรือ Agri-Innovation

    นอกจากนี้ ยังศึกษาพัฒนาโครงการและโซลูชันโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้เกษตรกรมีองค์ความรู้ที่ทันสมัยเป็นช่องทางในการเพิ่มรายได้

    “เราต้องการทำให้เห็นว่า 5 ปีต่อจากนี้โลกเกษตรกำลังจะเปลี่ยนแปลงไป และเราเป็นผู้ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติของการทำการเกษตรที่ผู้คนทุกกลุ่มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งได้ เราจะไม่หยุดคิดค้นพัฒนานวัตกรรมเกษตรเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงและเดินทางไปสู่โลกเกษตรใหม่ที่ยั่งยืน” วราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เอ่ยถึงความตั้งใจของบริษัท และกล่าวถึงปัญหาของภาคการเกษตรในประเทศไทยว่า ปัจจุบันมีลูกค้าที่อายุมากกว่า 50 ปีเพิ่มขึ้นทุกปี หมายความว่ามีคนรุ่นใหม่ก้าวเข้ามาทำเกษตรน้อย

วราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด


    “เราอยากให้คนรุ่นใหม่เข้ามานำองค์ความรู้ ทักษะ ที่เขามีมายกระดับการเพาะปลูกมากขึ้น เพิ่มศักยภาพพื้นที่ให้เพาะปลูกได้มากขึ้น เราอยากขยายเทคโนโลยีต่างๆ ออกไปให้คนทั่วไปหรือเกษตรกรรุ่นใหม่ๆ ได้เห็นว่าเกษตรไม่ยาก ถ้ามีความรู้ เอาข้อมูลมาใช้ มีการวางแผน ภาคเกษตรจะมีศักยภาพมากในอนาคต เกษตรเป็นจุดฐานรากที่ขยายได้มาก ผ่านโควิดเห็นเลยว่าทุกคนหันมาทำเกษตรเยอะมาก จำนวนไม่ได้ลดลงเลย เพราะรู้ว่าอาหารเป็นสิ่งสำคัญที่สุด”


เสริมพลังชุมชนเกษตร

    เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชนและพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก บริษัทดำเนินการผ่าน 3 โครงการคือ

    1.โครงการชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า โครงการนี้เริ่มในปี 2554 โดยร่วมกับวิสาหกิจชุมชนเกษตรที่มีศักยภาพในการเป็นชุมชนต้นแบบ ปัจจุบันมี 7 กลุ่มในทุกภาคของประเทศไทย ได้แก่ ศรีสะเกษ (2 กลุ่ม) อุดรธานี แพร่ เพชรบูรณ์ ชัยนาท และสุราษฎร์ธานี

    2.โครงการคูโบต้าร่วมมือ เกษตรร่วมใจ สนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยร่วมกันใช้เครื่องจักรเพื่อลดต้นทุนและสร้างรายได้ให้กับกลุ่ม มีการสอนการใช้เครื่องจักรอย่างถูกวิธี การบริหารจัดการเครื่องจักรโดยใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มและระบบ KIS GPS Telematics เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและใช้ในการเก็บข้อมูลเพื่อช่วยในการวางแผนบริหารจัดการเครื่องจักรกลการเกษตร โดยส่งมอบเครื่องจักรกลการเกษตรให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2563 ปัจจุบันมีจำนวนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์การเกษตรรวมทั้งสิ้น 184 กลุ่ม ใน 72 จังหวัด

    3.โครงการสยามคูโบต้าชุมชนเพาะสุข มีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาความยากจนให้เกษตรกรรายครัวเรือน เพื่อยกระดับรายได้ให้สูงกว่าเส้นความยากจน (หมายถึงรายได้ต่ำกว่า 36,000 บาทต่อคนต่อปี) โดยใช้หลักศาสตร์พระราชาคือ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ในการเข้าเก็บข้อมูลครัวเรือนพิจารณาความถนัดของแต่ละคนและส่งเสริมให้เกิดอาชีพใหม่เพื่อสร้างรายได้ โดย Pilot Model ที่จังหวัดน่านกำลังอยู่ในช่วงขยายผลสู่ระดับตำบลและทดลองทำในจังหวัดอื่นๆ


    “บางปัญหาใหญ่เกินไปที่เอกชนจะทำคนเดียวทำได้ เราต้องร่วมมือภาครัฐ อย่างโครงการชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขฯ เกิดจากการลงพื้นที่ที่ทำเกษตรมีปัญหา เขาอาจรวมกลุ่มอยู่แล้ว เราเข้าไปพูดคุยและหารือว่าจะช่วยได้อย่างไร สำคัญที่สุดคือ เราต้องดูผู้นำเป็นหลัก ผู้นำต้องเข้มแข็ง เพราะต่อให้มีอุปสรรคก็ยังไปได้ สามารถชักชวนคนในพื้นที่มาร่วมงานกับเรา”

    หลักการของ “โครงการชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขฯ” คือ พัฒนาให้องค์ความรู้จากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ช่วยเกษตรกรในการลงมือปฏิบัติจริงเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ในการเพิ่มรายได้ ทำให้เกษตรกรในชุมชนมีความอยู่ดี กินดี พึ่งพาตนเองได้

    โดยปี 2565-2566 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง-เกษตรทิพย์ และวิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลผักไหมในจังหวัดศรีสะเกษ ได้ยกระดับเป็นฟาร์มต้นแบบ Smart Farming Model ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้วิถีการทำเกษตรสมัยใหม่

    “เราเห็นเกษตรกรเอาเครื่องยนต์ไปต่อเป็นรถอีแต๋น ใช้รถไถแทนวัว 40 ปีที่ผ่านมาเป็น machine learning มาตลอด ตอนนี้มีโอกาสนำเทคโนโลยีมาต่อยอดเยอะมาก เช่น การบริหารจัดการน้ำ การใช้โดรนบินเพื่อถ่ายภาพเก็บข้อมูลว่าพื้นที่เพาะปลูกสีแบบนี้ ความหวาน ผลผลิต เป็นอย่างไร เก็บไว้เป็น data เพื่อพัฒนาเป็น model มา forecast ดูค่าดินต่างๆ สำหรับใช้ในการวางแผน การให้น้ำให้ปุ๋ย การเก็บเกี่ยว เพิ่มความแม่นยำ ซึ่งจะเพิ่มผลผลิตรายได้เกษตรกร เราจะขับเคลื่อนไปเรื่อยๆ เพิ่มศักยภาพเครื่องจักรและช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม”

    ปัจจุบันทั้ง 3 โครงการได้ถ่ายทอดองค์-ความรู้ให้กับเกษตรกรไปแล้วกว่า 17,000 คน ใน 192 ชุมชนทั่วประเทศ นำเทคโนโลยีและองค์ความรู้ไปช่วยลดต้นทุนการทำเกษตรได้ถึง 29% และเพิ่มรายได้กว่า 18%



เรื่อง: อรวรรณ หอยจันทร์ และ สินีพร มฤคพิทักษ์

ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์ และ บจ.สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น


​​เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ในวันที่เติบใหญ่ของ Mark Zuckerberg

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2566 ในรูปแบบ e-magazine