หลังจากที่ Whitney Wolfe Herd หันหลังให้กับ Tinder ท่ามกลางความบาดหมางอย่างรุนแรงมาได้ 3 ปี หญิงสาวก็ปาดหน้าเพื่อนร่วมงานเก่าด้วยการสร้างสรรค์แอพพลิเคชั่นหาคู่สำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ และกลายเป็นตัวอย่างให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ว่าทำอย่างไรจึงจะประสบความสำเร็จในตลาดที่อิ่มตัวไปแล้วได้
Bumble คือบริษัทเจ้าของแอพพลิเคชั่นหาคู่ที่โตเร็วที่สุดในสหรัฐฯ โดย Whitney Wolfe Herd วัย 28 ปี ผู้ร่วมก่อตั้ง Bumble คือผู้พลิกโฉมลีลาการหาคู่อย่างแท้จริง Bumble ให้ผู้หญิงเป็นฝ่ายเริ่มจีบก่อน และในเวลานี้ก็มีผู้ลงทะเบียนใช้งานกว่า 22 ล้านคนแล้ว เมื่อเทียบกับ 46 ล้านคนของ Tinder นอกจากนี้ยังมีอัตราการขยายตัวสูงกว่า 70% เมื่อเทียบกับ Tinder ซึ่งอยู่ที่ราวๆ 10% เท่ากับว่าช่องว่างกำลังหดกระชั้นเข้ามาอย่างรวดเร็ว Bumble เพิ่งจะเริ่มหาเงินผ่านแอพพลิเคชั่นแบบจ่ายเงินเพิ่มเติมสำหรับลูกเล่นที่มากขึ้นไปเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2016 แต่ปีที่แล้วทำยอดขายทะลุ 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เข้าไปแล้ว และคาดว่าตัวเลขนี้จะพุ่งเป็น 2 เท่าตัวในปีนี้ นับว่าเป็นเรื่องที่นึกไม่ถึงเลยทีเดียวสำหรับ Herd ที่เคยเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและรองประธานฝ่ายการตลาดให้กับ Tinder ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นที่คิดค้นการออกเดทและหาคู่รูปแบบใหม่ Herd มีส่วนร่วมในเรื่องราวความสำเร็จอันยิ่งใหญ่นี้แต่ต่อมากลับต้องพัวพันกับเรื่องราวที่เรียกได้ว่าอื้อฉาวที่สุดแห่งยุคเรื่องหนึ่งเช่นกัน เมื่อเดือนมิถุนายน 2014 เธอฟ้องร้องTinder ว่ามีการล่วงละเมิดทางเพศ โดยกล่าวหาว่า Justin Mateen ซึ่งเป็นทั้งแฟนเก่าและเจ้านายเก่าของเธอนั้นเรียกเธอว่า “อีตัว” และ “หน้าเงิน” ทั้งยังกระหน่ำส่งข้อความข่มขู่และว่าร้ายสารพัด นอกจากนี้ยังกล่าวหาว่า Tinder ริบตำแหน่งผู้ร่วมก่อตั้งของเธออย่างไม่เป็นธรรม ในที่สุดคดีดังกล่าวยอมความกันได้ โดย FORBES รายงานว่า ตัวเงินน่าจะตกลงกันได้ที่ราว 1 ล้านเหรียญ (การยอมความนั้นยังเป็นการห้ามทั้ง 2 ฝ่ายออกมาพูดถึงคดีนี้อีกต่อไปด้วย) อย่างไรก็ตาม Herd ไม่มัวแต่มาโกรธเคือง Tinder ให้เสียเวลา เธอลุกขึ้นมาท้าชนเลยต่างหาก ทำให้เธอได้เข้ามาร่วมวงธุรกิจดิจิทัลที่อิ่มตัวที่สุดกลุ่มหนึ่งเอาเมื่อสาย (ธุรกิจสตาร์ทอัพด้านบริการหาคู่ออนไลน์กว่า 90% มีอันต้องล้มไม่เป็นท่า) แต่กลยุทธ์เจาะความต้องการของกลุ่มเป้าหมายเพียงกลุ่มเดียวก็ทำให้เธอสามารถเข้าไปจับจองแหล่งทำเงินได้สำเร็จ ผู้ใช้งาน Bumble กว่า 10% ยอมจ่ายค่าสมาชิกรายเดือน 9.99 เหรียญเพื่อสิทธิพิเศษต่างๆ เช่น จะได้เวลาเพิ่มขึ้นเพื่อตัดสินใจว่า หนุ่มที่เหล่เธออยู่นั้นคู่ควรที่จะได้รับข้อความจากสาวเจ้าหรือเปล่า ขณะเดียวกัน Jefferies บริษัทด้านการลงทุนรายงานว่า ผู้ใช้ Tinder ที่จะยอมจ่ายเงินเป็นค่าบริการในลักษณะเดียวกันนี้มีเพียง 5% เท่านั้น “ฉันไม่ว่างที่จะมานั่งเปลืองพลังงานไปกับการโกรธใคร โกรธอะไร โกรธสถานที่ไหนๆ” Herd บอก แต่ถ้าความสำเร็จคือการแก้แค้นที่หอมหวานที่สุดแล้วละก็ รายได้ 9 หลัก 3 ปีติดต่อกันก็น่าจะเป็นการแก้แค้นชนิดที่คนชอบหยิบเอาไปทำหนังได้เลย เส้นทางสู่ Bumble ของ Herd เป็นเรื่องบังเอิญเสียมากกว่า ตลอดกระบวนการต่อสู้คดีและยอมความกับ Tinder ระยะเวลาหลายเดือนนั้น เธอเผชิญกับการถูกโจมตีในโลกออนไลน์ จากคำพูดให้ร้ายกลายเป็นคำขู่ฆ่า ขู่ข่มขืน อาการจิตตกทำให้เธอหนีไปพักใจเงียบๆ และเริ่มร่างภาพ Merci เครือข่ายโซเชียลสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะที่จะให้ความสำคัญกับการมองโลกในแง่ดี “ไม่มีการชื่นชมรูปร่างหน้าตา แต่ให้ชมตัวตนที่พวกเธอเป็น” จากนั้นจู่ๆ ก็มีอีเมลฉบับหนึ่งมาจากคนซึ่งที่อยู่ก็ไม่รู้จัก และยังมีชื่อเป็นภาษารัสเซียว่า Andrey Andreev เขาเกิดที่ Moscow แต่อาศัยอยู่ที่ London ในปี 2006 Andreev ก่อตั้ง Badoo ซึ่งเป็นเครือข่ายหาคู่ออนไลน์แห่งหนึ่งที่ปัจจุบันมีขนาดใหญ่ที่สุด มีผู้ลงทะเบียนใช้งาน 360 ล้านคนจาก 190 ประเทศ Herd พบกับ Andreev ระหว่างรับประทานอาหารค่ำครั้งหนึ่งตอนที่เธอยังทำงานอยู่ที่ Tinder ซึ่งเธอก็สร้างความประทับใจให้เขาทันที “จริงๆ แล้ว ผมหลงรักพลังงานของเธอกับความรักในสิ่งที่เธอทำทันทีเลย ผมคิดว่าเธอเป็นผู้หญิงที่เจ๋งสุดๆ ซึ่งผมจะต้องจับตามองให้ดี ในตอนแรกผมอยากให้เธอมารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดที่ Badoo” Andreev วัย 43 กล่าว แต่ Herd ไม่ได้ตอบอีเมลฉบับนั้น ปรากฏว่า Herd ต้องไปต่อเครื่องบินที่ London จึงแวะพบกับ Andreev แม้จะไม่ได้สนใจรับตำแหน่งที่ Badoo เธอเล่าให้เขาฟังเรื่อง Merci ซึ่ง Andreev มองว่า Herd น่าจะรักษาจุดแข็งของเธอและตัวเขาเองไว้มากกว่า นั่นคือธุรกิจจับคู่ เขาบอกเธอว่าอยากจะดึงพรสวรรค์แท้ๆ ที่เธอมีในด้านการตลาดและการสร้างแบรนด์มาผนึกกำลังเข้ากับโครงสร้างพื้นฐานเงินทุน และแหล่งทรัพยากรความรู้ในการหาช่องทางทำเงินและขยายผลิตภัณฑ์ที่เขาจากการทำงานที่ Badoo มาเกือบ 10 ปี ในที่สุดหลัง Herd ยอมความกับ Tinder สำเร็จ Andreev เสนอควักเงินลงทุนก้อนแรกให้กับแอพพลิเคชั่นใหม่ของเธอประมาณ 10 ล้านเหรียญ จากนั้นจึงเติมเงินเพิ่มเพื่อรองรับการขยายตัว เท่ากับเป็นเจ้าของบริษัทในสัดส่วน 79% ส่วนเธอจะได้เป็นผู้ก่อตั้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริษัท และเป็นเจ้าของ 20% ซึ่งเธอจะได้รับอิสรภาพในการทำงานอย่างเต็มที่ คืนหนึ่งในงานค็อกเทล Herd ค้นพบน้ำจิ้มสูตรเด็ดของ Bumble “ฉันอยากมีโอกาสแบบนี้มาตลอด คือเวลาที่ผู้ชายไม่มีเบอร์โทรศัพท์ของฉัน แต่ฉันมีเบอร์ของเขาเรียบร้อยแล้ว” เธอเล่าให้ฟังด้วยว่าเธอบอกกับ Andreev ไปว่า “ถ้าผู้หญิงเป็นฝ่ายเริ่มจีบก่อนล่ะ ส่งข้อความไปหาก่อน แต่ถ้าไม่ทำ การจับคู่จะหายไปใน 24 ชั่วโมง” นับว่าเป็นการพลิกสถานการณ์ที่เด็ดจริงๆ จากแนวคิดของคนที่เข้าใจกลุ่มเป้าหมายคือผู้หญิงซึ่งกลัวการใช้งานแอพพลิเคชั่นหาคู่ Bumble เปิดตัวขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2014 และมียอดดาวน์โหลดในเดือนแรก 100,000 ครั้ง แอพพลิเคชั่นนี้จะเป็นธีมผึ้ง โดยมีสีเหลืองสัญลักษณ์ของ Bumble วิธีการคือเมื่อผู้ใช้งาน 2 คนต่างเพศกันต่างเลื่อนหน้าจอไปทางขวามือบนหน้าโพรไฟล์ของแต่ละฝ่ายนั้น จะถือว่าเจอคู่ ฝ่ายหญิงจะต้องส่งข้อความไปหาคู่เดทในเป้าหมายของเธอก่อนไม่อย่างนั้นแล้วจะสูญเสียการเชื่อมต่อ Bumble ให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกการติดต่อในครั้งแรก Bumble จึงให้ความรู้สึกสุภาพและปลอดภัยมากกว่าคู่แข่ง เนื่องเพราะหลีกเลี่ยงพวกภาพขยะทั้งหลายที่แพร่ระบาดในโลกออนไลน์รวมถึงภาพอวัยวะเพศชายที่มีบ้างในครั้งบางคราวด้วย ไม่ได้แปลว่า Bumble จะป้องกันการจาบจ้วงหรือประสบการณ์ไม่พึงประสงค์ได้ทั้งหมด แต่ก็ถือว่าทำให้น้อยลง ขณะที่ Match Group บริษัทแม่ของ Tinder ผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดในธุรกิจจับคู่ออนไลน์ในสหรัฐฯ เจ้าของ Match.com, OkCupid, PlentyOfFish และเว็บไซต์หาคู่เฉพาะกลุ่มอื่นๆ เห็นได้ชัดว่า พวกเขาคงอยากจะมี Bumble ไว้ในพอร์ตด้วย แหล่งข่าวผู้ซึ่งล่วงรู้ข้อมูลการเจรจาเผยว่า Herd เพิ่งจะปฏิเสธข้อเสนอจาก Match Group ที่ต้องการเข้าซื้อทั้งบริษัทเป็นเงิน 450 ล้านเหรียญ แหล่งข่าวยังบอกด้วยว่าเมื่อฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมานี้เอง Match ได้ติดต่อบริษัทกลับไปอีกครั้งเพื่อเปิดโต๊ะเจรจาในราคาที่มากกว่า 1 พันล้านเหรียญ Herd ไม่ขอแสดงความคิดเห็นเรื่องที่มีความพยายามเข้าซื้อกิจการของเธอ แต่ถ้าหากขาย Bumble ไปให้กับบริษัทแม่ของ Tinder คงจะเป็นตอนจบแบบหักมุมสุดๆ ของเรื่องอื้อฉาวเมื่อปี 2014 เลยทีเดียว เรื่อง: ClARe O’COnnOR เรียบเรียง: ปาริชาติ ชื่นชม อ่านเพิ่มเติม: 30 Under 30 กลุ่มดาวรุ่งของคนรุ่นใหม่สร้างธุรกิจด้วยแนวคิดสร้างสรรค์ ตอนที่ 1อ่านฉบับเต็ม "BUMBLE กลเกมหาคู่พันล้าน" ได้ใน นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ มกราคม 2561 ในรูปแบบ E-Magazine