สินีนุช โกกนุทาภรณ์ ต่อยอด TEGH ผลิตยางแท่งพรีเมียม - Forbes Thailand

สินีนุช โกกนุทาภรณ์ ต่อยอด TEGH ผลิตยางแท่งพรีเมียม

จากโรงงานผลิตน้ำยางข้นเมื่อ สินีนุช โกกนุทาภรณ์ หนึ่งในผู้บริหารรุ่น 2 รับช่วงดูแลธุรกิจพวกเขาใช้เวลา 25 ปีนำพากิจการเติบใหญ่ ก้าวสู่การเป็นผู้ผลิตยางแท่งมาตรฐานพรีเมียม ค้าขายโดยตรงกับผู้ผลิตยางรถยนต์แบรนด์ชั้นนำของโลก สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนพร้อมมุ่งหน้านำองค์กรที่สร้างเศรษฐกิจคาร์บอนสีเขียว

เมื่อปี 2534 สมชาย โกกนุทาภรณ์ เกษตรกรจังหวัดชลบุรี ได้ก่อตั้ง บริษัท ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TEGH ขึ้น โดยศึกษาและทดลองปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมันในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ด้วยวิสัยทัศน์ว่าหากจะทำเกษตรแปลงใหญ่ควรปลูกไม้ยืนต้น ที่เป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศที่สามารถจัดการอุตสาหกรรมต่อยอดง่ายกว่าเมื่อเทียบกับการทำไร่อ้อยและมันสำปะหลังที่เขาเพาะปลูกอยู่ในขณะนั้น ในปีเดียวกันเมื่อผลผลิตปาล์มน้ำมันในภาคตะวันออกเริ่มเก็บเกี่ยวได้ สมชายได้ตั้งโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบขนาดเล็กเพื่อรองรับผลผลิตในนาม บจ. อีสเทิร์น ปาล์มออยล์ เป็นโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบแห่งแรกในภาคตะวันออก มีโรงกลั่นน้ำมันปาล์มเพื่อบริโภคเป็นกลุ่มลูกค้าหลัก และขยายสู่ธุรกิจอุตสาหกรรมยางพาราในปี 2537 โดยสร้างโรงงานผลิตน้ำยางข้นภายใต้ บจ. ไทยอีสเทิร์น รับเบอร์ ลูกค้าคือ โรงงานอุตสาหกรรมผู้ผลิตถุงมือ เส้นด้ายยางยืด ถุงยางอนามัย กาว และที่นอน ธุรกิจถูกส่งต่อมายังรุ่น 2 สินีนุช โกกนุทาภรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เล่าถึงการดำเนินธุรกิจในช่วงเริ่มต้นว่า “คุณพ่อเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทผลิตน้ำยางข้น และครอบครัวมีสวนยางด้วย ช่วงนั้นในพื้นที่มีโรงงานแห่งเดียว ช่วงหน้ายาง ยางออกเยอะ ติดคิว เราไม่สามารถส่งวัตถุดิบทำให้เสียหายคุณพ่อมองว่าไม่มีโรงงานรองรับเพียงพอเกษตรกรได้รับผลกระทบ ก็เลยสนใจสร้างอุตสาหกรรมทำเป็นโรงงานน้ำยางข้น ทำได้ 4-5 ปี ปี 2539 นุชกับพี่ชายเรียนจบก็กลับมาช่วยคุณพ่อและต่อยอดจากที่ทำไว้” สินีนุชเป็นบุตรคนที่ 2 ของสมชาย คุ้นชินกับการทำงานมาตั้งแต่เด็ก เธอเริ่มหัดขับรถขณะเรียนชั้น ม. 5 เมื่อขาเหยียบถึงคันเร่ง งานแรกที่ทำคือ ขับรถรับส่งคนงานตัดอ้อย ช่วงกลางวันก็ช่วยมารดานำข้าวไปส่งให้กับคนงานในไร่ หรือจ่ายตลาดหาซื้อของใช้ตามที่คนงานต้องการ ตอนที่ผู้เป็นบิดาเริ่มสร้างโรงงานเธอกำลังเรียนมหาวิทยาลัย ช่วงที่กลับบ้านในวันหยุดสุดสัปดาห์ก็หัดขับรถตักและคัดปาล์ม ก่อนไปเรียนเมืองนอกก็ช่วยงานเปิดตลาดต่างประเทศ ระหว่างเรียนปริญญาโทบริหารธุรกิจด้านการเงินและการค้าระหว่างประเทศที่ University of San Francisco สหรัฐอเมริกา ก็ติดต่อหาลูกค้าใหม่ๆ ทำใบสรุปราคาเสนอลูกค้า เพื่อเปิดตลาดน้ำยางข้น หลังเรียนจบสินีนุชและพี่ชาย “เฉลิม” กลับมาทำธุรกิจของครอบครัวในปี 2539 ส่วนน้องๆ อีก 2 คนทยอยกันเข้ามาและช่วยกันสานต่อกิจการจน TEGH เติบใหญ่ขึ้นหลายเท่าตัว ปัจจุบัน “เฉลิม” พี่ชายคนโตดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และคอยมองหาโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจหรือ business partner มาร่วมทุน ส่วน “สินีนุช” เป็นกรรมการผู้จัดการ ดูแลระบบหลังบ้าน การบริหารจัดการคุณภาพ งานบุคคล บัญชีและการตลาด “ก้องกิต” เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการด้านพลังงาน ส่วน “เกริกกุล” รับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ ด้านยางพาราและปาล์มน้ำมัน

จัดระบบหลังบ้าน

ช่วงที่เธอกลับมาช่วยงานทางบ้านขณะนั้นมีโรงงาน 2 แห่งคือ โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบ กับโรงงานผลิตน้ำยางข้น มีรายได้รวม 400 ล้านบาท งานแรกที่ทำคือ การสร้างระบบบริหารจัดการให้กับองค์กร โดยนำแนวทาง Thailand Quality Award มาใช้ ระหว่างนั้นเธอและพี่ชายก็ศึกษาตลาดและมองหาโอกาสขยายธุรกิจ “เราเริ่มจากทำสินค้าให้ได้มาตรฐาน พัฒนาคน วางระบบบริหารคุณภาพ นำ balanced scorecard และ KPI มาประยุกต์ใช้ และปรับปรุงคุณภาพชีวิตพนักงานใช้เวลาประมาณ 4 ปีทำให้องค์กรภายในแข็งแรงและเข้มแข็ง” ภายในเวลา 25 ปี รุ่น 2 ของโกกนุทาภรณ์ได้สร้างการเติบโตให้ TEGH อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ จากโรงงานยางพาราที่ค้าขายกับอุตสาหกรรมขนาดกลางในประเทศ มาวันนี้มีคู่ค้าเป็นบริษัทผู้ผลิตยางล้อรถยนต์แบรนด์ระดับโลกกว่า 60 แบรนด์ที่ไว้วางใจให้บริษัทเป็นซัพพลายเออร์ ทั้งยังมีเป้าหมายว่าจะเป็นผู้นำด้านการผลิตวัตถุดิบที่ยั่งยืนของประเทศไทย สินีนุชแบ่งการเติบโตของบริษัทออกเป็น 3 ช่วงคือ organic growth (ปี 2543-2552), inorganic growth (ปี 2553-2558) และ sustainable growth (ปี 2558-2568) ปฐมบทแห่งการเติบโตเริ่มต้นขึ้นในปี 2543 เมื่อเธอและพี่น้องตัดสินใจจะขยายธุรกิจยางพารา ประเด็นคือจะผลิตยางแผ่นหรือยางแท่ง และได้ข้อสรุปว่าจะผลิตยางแท่ง การตัดสินใจในครั้งนั้นแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของทายาทโกกนุทาภรณ์ โดยเลือกสิ่งที่ยากกว่าแต่เป็นการผลิตสินค้าตามเกณฑ์มาตรฐานสากลที่ลูกค้าต่างชาติยอมรับ เมื่อตัดสินใจว่าจะผลิตยางแท่งจึงนำเศษยางที่ได้จากการผลิตน้ำยางข้นมาทำเป็นก้อน ส่งไปเทสต์ตลาดลูกค้าในไทยและเกาหลี ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตยางล้อรถยนต์ ด้วยกำลังการผลิต 10 กว่าตันต่อวัน ปรากฏว่าลูกค้าให้การตอบรับดี จึงมั่นใจว่ามาถูกทางแล้ว ปี 2543 ตั้ง บริษัท อี.คิว. รับเบอร์ จำกัด เพื่อรองรับโดยกู้เงินจากธนาคารมาลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตยางแท่งมาตรฐาน STR 20 แห่งแรกในจังหวัดชลบุรี มูลค่า 200 กว่าล้านบาท ใช้เครื่องจักรที่ทันสมัยจากประเทศมาเลเซีย มีผู้เชี่ยวชาญชาวมาเลเซียเป็นผู้ควบคุมกระบวนการผลิตและถ่ายทอดความรู้ ปัจจุบัน บจ. อี.คิว. รับเบอร์ เป็นผู้ผลิตยางแท่ง กลุ่มลูกค้าหลักคือ ผู้ผลิตยางล้อรถยนต์ชั้นนำของโลก ถัดมาอีก 5 ปีได้ตั้งบริษัทใหม่ชื่อ ไทยอีสเทิร์น อินโนเวชั่น จำกัด เพื่อผลิตยางแท่งเกรดพิเศษ ได้แก่ ยางควบคุมความ หนืดคงที่ (STR CV), ยางคอมปาวด์ เน้นกลุ่มลูกค้าที่ต้องการสินค้าเกรดพรีเมียม ช่วงที่ตัดสินใจสร้างโรงงานใหม่ ประเทศไทยยังอยู่ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจจากต้มยำกุ้ง “ตอนก่อสร้างโรงงานยางแท่งเงินบาทเริ่มอ่อน เรานำเข้าเครื่องจักรจากมาเลเซียเจอปัญหาค่าเงินบาทอยู่บ้าง แต่หลังจากเราเดินเครื่องและส่งออกก็ได้ประโยชน์ทันที เป็นการลงทุนที่ถูกจังหวะ...ตอนจะสร้างโรงงานสามารถเลือกได้สองอย่าง กู้ BIBF (Bangkok International Banking Facilities) หรือธนาคาร ถ้ากู้ BIBF เป็นเงินเหรียญสหรัฐฯ ได้วงเงินเยอะกว่า แต่คุณพ่อบอกว่า เอาเท่าที่จำเป็นต้องใช้” การตัดสินใจกู้ธนาคารเป็นเงินสกุลบาททำให้ไม่โดนผลกระทบต้นทุนค่าเงินที่เปลี่ยนแปลง ขณะที่นักธุรกิจไทยจำนวนไม่น้อยบาดเจ็บจากการลอยตัวค่าเงินบาท และหนี้สินเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากการที่เงินบาทอ่อนค่า หลังเหตุการณ์ครั้งนั้นสินีนุชได้แนวคิดในการลงทุนว่า ให้ทำอย่างพอเพียงพอดี อย่าทำอะไรเกินตัว เพื่อจะได้ไม่เป็นภาระในการบริหารจัดการ

ยางแท่งเกรดพรีเมียม

บริษัทมีโรงงานผลิตยางแท่ง 2 แห่งที่จังหวัดชลบุรี มีโรงงานซึ่งเป็นการร่วมทุนกับ บริษัท ซูมิโตโม รับเบอร์ อินดัสตรี้ จากประเทศญี่ปุ่นอีก 1 แห่งที่อุดรธานี รวมทั้งมีโรงงานสาขาที่จังหวัดบึงกาฬและอุบลราชธานี โดยร้อยละ 90 เป็นการผลิตยางแท่งเกรดพรีเมียมจำหน่ายให้กับลูกค้าผู้ผลิตยางล้อรถยนต์ นอกจากการลงทุนเองแล้ว “การร่วมทุน” ถือเป็นทางลัดที่จะต่อยอดธุรกิจ โดยช่วงปี 2553 ยางดิบราคาสูงถึง 180-200 บาทต่อกิโลกรัม เนื่องจากผลผลิตน้อยและขาดตลาด บริษัทญี่ปุ่นเห็นปัญหาด้านซัพพลายเชนจึงมองหาบริษัทร่วมทุนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบ เป็นจังหวะที่ TEGH ปรับปรุงระบบภายในจนแข็งแรงดีแล้ว เมื่อคู่ค้าต้องการพาร์ตเนอร์ในไทย บริษัทก็พร้อมเติบโตไปด้วยกัน “พอมีเจ้าหนึ่งมาก็มีอีกเจ้าหนึ่ง เรามองว่าการมีพาร์ตเนอร์ทำให้เราเติบโตแข็งแรงขึ้น ที่เรามองว่าได้เปรียบเพราะคู่ค้าแข็งแรง เราแข็งแรงตาม (ผ่านได้) ทุกวิกฤต ทั้ง Subprime, โควิด, สงครามยูเครน-รัสเซีย” โดยในปี 2553 ก่อตั้ง บริษัท ไทยอีสเทิร์น คอร์ปอเรชั่น จำกัด เพื่อร่วมทุนกับ บริษัท ซูมิโตโม รับเบอร์ อินดัสตรี้ ประเทศญี่ปุ่น เกิดเป็นโครงการร่วมทุน 2 โครงการ คือ 1. บริษัท ซูมิรับเบอร์ ไทยอีสเทิร์น แพลนเทชั่น จำกัด ตั้งอยู่ที่จังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อวิจัย พัฒนา และป้อนวัตถุดิบคุณภาพให้กับโรงงาน 2. บริษัท ซูมิรับเบอร์ ไทยอีสเทิร์น คอร์ปอเรชั่น จำกัด ตั้งอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี ผลิตยางแท่งเกรดพิเศษ และทำโครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางใหม่ๆ ให้กับญี่ปุ่น ส่วนลูกค้าของธุรกิจปาล์มน้ำมันคือโรงกลั่นน้ำมันพืชเพื่อบริโภค โรงงานไบโอดีเซล โรงงานอาหารสัตว์ และอุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอล ถัดมาอีก 3 ปี ร่วมทุนกับกลุ่ม Sime Darby ประเทศมาเลเซีย ตั้ง บริษัท ไทยอีสเทิร์น ตราด จำกัด เป็นโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบแห่งแรกในจังหวัดตราด “ช่วงปี 2553-2558 เป็น inorganic growth และเป็น sustainable growth ปี 2558-2568 เริ่มโมเดลรับบริหารจัดการกากอินทรีย์...มองว่าการเติบโตอย่างยั่งยืนต้องมีหลายๆ องค์ประกอบร่วมกัน ทั้งในเรื่องผลิตภัณฑ์ trend อนาคต การมีแหล่งเงินทุนที่เพียงพอและเหมาะสม” น่าสังเกตว่า TEGH มีบริษัทย่อย 11 แห่ง และบริษัทร่วมทุนอีก 1 แห่ง สินีนุชอธิบายว่าบริษัทแต่ละแห่งดำเนินธุรกิจ 1 ประเภท แยกออกจากกันชัดเจน ทั้งนี้ผู้บริหาร TEGH ได้นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2565

มุ่งสู่ Sustainable Growth

บริษัทสร้างความแตกต่างจากผู้ผลิตรายอื่นๆ ด้วยการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีความยั่งยืน (sustainable material) ด้วยการเป็นผู้ผลิตยางแท่งรายแรกที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืน (FSC) และเป็นผู้ผลิตน้ำยางข้นรายเดียวที่ได้รับมาตรฐานน้ำยางข้นออร์แกนิก พัฒนากระบวนการผลิตยางแท่งให้ใช้ “เชื้อเพลิงชีวภาพ” ทดแทนการใช้ LPG ซึ่งปัจจุบันใช้ทดแทน 91.73% และใช้ไฟฟ้าจากพลังงานชีวภาพทดแทนการใช้ไฟฟ้าจากภายนอกได้ 51.3% ทำให้ปี 2564 สามารถลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 93,613 ตันคาร์บอน ก้าวต่อไปของ TEGH คือ sustainable growth โดยตั้งเป้าว่า จะเป็นผู้นำผลิตยางแท่ง 5 อันดับแรกของประเทศ จากกำลังการผลิต 241,294 ตันในปี 2564 เป็น 416,494 ตันในปี 2567 เป็นองค์กรที่สร้างเศรษฐกิจคาร์บอนสีเขียว (green carbon economy) และมีความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutral organization) ภายในปี 2573 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศด้วยการใช้พลังงานหมุนเวียนในกระบวนการผลิตทดแทนฟอสซิล ซึ่งจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์กลายเป็น eco product รวมทั้งเป็นผู้นำด้านการผลิตพลังงานชีวภาพแบบครบวงจร และเป็นศูนย์กลางการให้บริการรับบริหารจัดการกากอินทรีย์ครอบคลุมพื้นที่ EEC “เราใช้เวลา 25 ปีปั้นยอดขายขึ้นมา จากเกือบ 400 ล้านบาทเป็น 11,087 ล้านบาท และสร้างความเข้มแข็งขององค์กร เราสร้างมาตรฐานสินค้าจนได้รับการยอมรับจากลูกค้าระดับโลก ได้รับรางวัลชนะเลิศ Pirelli Supplier Awards 2021 ด้านความยั่งยืน, รางวัลชนะเลิศ Apollo Sustainability Award 2021 จาก Apollo Tyres...และขยายธุรกิจใหม่แตกยอดจากเกษตรแปรรูปไปสู่พลังงานทดแทนและรับบริหารจัดการกากอินทรีย์ เราสร้างการยอมรับจากคู่ค้าสร้างโปรเจ็กต์และได้รับความสำเร็จคือ ญี่ปุ่น 2 โปรเจ็กต์กับมาเลเซีย 1 โปรเจ็กต์ เราโปรโมตว่าเป็น sustainable material และทำได้จริง “เราเป็นโรงงานยางแท่งรายแรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืน และผลิตออกมาเป็นยางแท่งขาย เป็นผู้ผลิตน้ำยางข้นรายเดียวในประเทศที่ได้รับมาตรฐาน organic สากล ขายให้กับผู้ผลิตหมอนและที่นอน ซึ่งสหรัฐฯ บังคับใช้มาตรฐาน organic ปีที่แล้วเราใช้พลังงานสะอาดในการผลิตยางแท่ง 91.71%...ใช้พลังงานไฟฟ้าจากชีวภาพมากกว่า 50% ปีที่ผ่านมาลดการปล่อย 93,000 ตันคาร์บอน สิ่งที่ภูมิใจคือ เราจะแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนซึ่งเป็นความยั่งยืนของบริษัท” สินีนุชกล่าว อย่างมุ่งมั่นในตอนท้าย ภาพ: กิตติเดช เจริญพร
คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกรกฎาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine