สราวุฒิ อยู่วิทยา สร้างธรรมนูญธุรกิจ “TCP” - Forbes Thailand

สราวุฒิ อยู่วิทยา สร้างธรรมนูญธุรกิจ “TCP”

จะมีสักกี่คนที่คิดว่าต้องนำเรื่องความยั่งยืนมาอยู่ในกระบวนการธุรกิจ และวางเป้าการทำธุรกิจโดยไม่เน้นที่กำไรสูงสุด (maximize profit) เพียงอย่างเดียว แต่สำหรับ สราวุฒิ อยู่วิทยา แห่ง กลุ่มธุรกิจ TCP นี้คือวาระสำคัญ

แต่สำหรับกลุ่มธุรกิจ TCP ของตระกูลมหาเศรษฐีอันดับ 2 ของไทยประจำปี 2563 โดยการจัดอันดับของนิตยสาร Forbes ครอบครัวนี้มีทรัพย์สินมากกว่า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นเจ้าของธุรกิจเครื่องดื่มแบรนด์ดังกระทิงแดง, เรดบูล, เรดดี้, สปอนเซอร์, แมนซั่ม, เพียวริคุ และขนมขบเคี้ยว ซันสแนค ประสบความสำเร็จทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ส่งผ่านการบริหารจากรุ่นบุกเบิกสู่รุ่นที่ 2 สืบทอดการทำาธุรกิจด้วยหลักคิดการยืนเคียงข้างสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่พบว่า ตั้งแต่ต้นปี 2563 ผู้นำ TCP เข้าไปมีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างมาก เพราะเขามองว่า เหตุการณ์นี้คือวิกฤตของสังคมซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) ที่สำคัญของบริษัท “หากสังคมวิกฤต ชุมชนมีปัญหา TCP ก็คงอยู่ไม่ได้” เขาจึงเต็มที่กับเรื่องโควิด-19 ไม่เพียงบริจาคเงิน แต่ยังลงแรง ช่วยแก้ปัญหาเท่าที่สามารถทำได้ การสัมภาษณ์ของทีมงาน Forbes Thailand กับผู้บริหารสูงสุด TCP เมื่อต้นเดือนมิถุนายนจึงได้รับทราบสิ่งที่ สราวุฒิ อยู่วิทยา ผู้นำธุรกิจรุ่นที่ 2 ของตระกูลอยู่วิทยา ทุ่มเททั้งเงินทุนและระดมทีมงานเข้าไปช่วยเรื่องนี้อย่างเต็มที่  

-ฝ่าวิกฤตโควิด-19 ชุมชนยั่งยืน-

ความรู้สึกร่วมกับเหตุการณ์นี้เริ่มต้นมาจาก TCP มีโรงงานผลิตเครื่องดื่มกระทิงแดง (บริษัท เรดบูล เบฟเวอเรจ จำกัด) ถึง 2 แห่งที่เมือง Wuhan แน่นอนเมื่อเกิดโรคระบาดย่อมได้รับผลกระทบโดยตรงหลังจากนั้น สราวุฒิก็นำตัวเองและทีมงานจากหลายบริษัทในกลุ่มเข้าไปให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ กับโรงพยาบาลและทีมแพทย์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเต็มความสามารถตลอด 4 เดือนในช่วงเฝ้าระวัง คือตั้งแต่เดือนมีนาคม-มิถุนายนที่ผ่านมา สราวุฒิบอกว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ต่อบริษัทไม่ต่างจากธุรกิจอื่น แต่โชคดีที่ TCP ทำธุรกิจเครื่องดื่มและอาหาร แม้จะเกิดโรคระบาดรุนแรงผู้คนก็ยังต้องบริโภคประกอบกับการมีเครือข่ายการตลาดที่แข็งแรง ทั้งบริษัทในเครือและคู่ค้าที่กระจายอยู่ทั่วไทย รวมถึงพันธมิตรธุรกิจอีกหลายประเทศ ทำให้ TCP สามารถปรับตัวรับมือได้ระดับหนึ่ง และยังมีแรงพอที่จะทุ่มให้กับการช่วยแก้ปัญหาโควิด-19 อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องกังวลกับธุรกิจ ซึ่งเขาบอกว่าทำใจไว้แล้ว “ปีนี้รายได้ของกลุ่ม TCP คงลดลง” หลังจากนั้น สราวุฒิได้ทำอีกหลายโครงการความช่วยเหลือโดยไม่เน้นการบริจาค แต่มุ่งซัพพลายสิ่งของจำเป็นที่โรงพยาบาลและแพทย์ต้องการเพื่อช่วยแก้ปัญหาแบบเร่งด่วน เพราะมองว่า “การบริจาคเงินไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด อุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ที่ขาดแคลนแม้มีเงินก็อาจจะหาซื้อไม่ได้” และทางโรงพยาบาลก็มีขั้นตอนยุ่งยากจากระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง และการขาดแคลนก็ทำให้ต้องควานหาสินค้าจากหลายแหล่ง ต้องใช้คนที่มีความสามารถในการติดต่อสื่อสารและต้องใช้เวลา หากโรงพยาบาลทำเองคงไม่ทันกับปัญหา  

-สร้างคอร์ปอเรทแบรนด์ “TCP”-

“เราเน้นทำมากกว่าพูดทั้งธุรกิจและทุกเรื่อง” ทีมบริหาร TCP ที่ร่วมในการสัมภาษณ์วันนั้นพูดขึ้นก่อนที่สราวุฒิจะยืนยันเพิ่มว่า ที่ผ่านมา TCP ไม่ค่อยมีเรื่องราวการสัมภาษณ์ผ่านสื่อให้เห็นมากนัก แต่ในภาวะปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปมากการสื่อสารเกิดขึ้นรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีข่าวลือข่าวไม่จริงก็อาจกลายเป็นภาพจำได้ง่ายหากเจ้าตัวไม่ออกมาชี้แจงให้สังคมได้รับรู้ว่า คิดอะไร ทำอะไร ดังนั้นผู้บริหาร TCP จึงเปิดตัวให้ข้อมูลกับสังคมมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพื่อสร้างการรับรู้ในคอร์ปอเรทแบรนด์ “TCP” จากที่ก่อนหน้านี้คนส่วนใหญ่จะรู้จักแต่แบรนด์ “กระทิงแดง” และ “เรดบูล” ไม่คุ้นชื่อที่ทางกลุ่มได้รวมกิจการมาใช้ชื่อ “กลุ่มธุรกิจ TCP” ซึ่งทำมา 4 ปี แล้วยังคงต้องสร้างการรับรู้ให้มากขึ้น พยายามสื่อสารในสิ่งที่ทำเพื่อให้สังคมรู้จักและเข้าใจ เพื่อให้คนส่วนใหญ่เข้าถึงแนวคิดการดำเนินธุรกิจของบริษัท ที่เน้นสร้างประโยชน์ให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน เพื่อย้ำว่า TCP ยืนอยู่คู่สังคม สร้างการเติบโตและแบ่งปันมาตลอด 6 ทศวรรษที่ดำเนินกิจการมา “เราทำธุรกิจเน้นเรียบง่าย เติบโตได้ลงทุนได้แต่ต้องไม่ประมาท” คำสอนที่สราวุฒิบอกว่าจำขึ้นใจ เพราะบิดาเขาทั้งพูดและทำให้เห็นมาตลอดเส้นทางการเติบโตของบริษัท “ตั้งแต่สมัยคุณพ่อสร้างบริษัทมาก็เหนื่อย ล้มลุกคลุกคลาน ท่านบอกเสมอทำอะไรอย่าประมาท เราสำเร็จแล้วอย่าประมาทอย่ากลับไปลำบากอีก เรามีนโยบายบริษัทมองภาพยาวความยั่งยืน ตอนนี้ก็ 64 ปีแล้ว ที่ทำกันมาต่อเนื่อง เมื่อ 2 ปีก่อน (2561) มีหลายเรื่องให้ต้องระวัง ทั้งเรื่องโลกร้อนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เราก็ต้องให้ความสำคัญสมัยคุณพ่อท่านก็ทำมาหมด โครงการอีสานเขียวก็ทำ” สราวุฒิสรุปแนวคิดการทำธุรกิจของบิดาผู้ก่อตั้งกิจการอย่างเห็นภาพ นั่นคือมุมมองต่อการบริหารธุรกิจที่ทำอยู่ซึ่งมีการคิดทบทวนว่า ในกระบวนการธุรกิจที่ทำกระทบใครบ้าง จะพัฒนาอะไรได้บ้าง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการคิดเรื่องความยั่งยืน (sustainability) เขาจึงได้จ้างบริษัทไทยพัฒน์ มาเป็นที่ปรึกษาช่วยสร้างเฟรมเวิร์กการทำงานและความยั่งยืนของบริษัทให้ชัดเจน โดยอ้างอิงกับหลักความยั่งยืนของสหประชาชาติ SDG: sustainable development goals ซึ่งมีเป้าหมาย 17 ข้อ “เรามีครบทุกข้อ” สราวุฒิยืนยันก่อนจะอธิบายสิ่งที่ทำเรื่องความยั่งยืนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน แม่ทัพ TCP เจเนอเรชั่น 2 บอกว่า หลักความยั่งยืนในการทำธุรกิจของกลุ่มจะทำงานอยู่บน 6 เสาหลัก 3 แกน ประกอบด้วย integrity พันธมิตรธุรกิจยั่งยืน, quality คุณภาพสินค้าและบริการ และ harmony รักษ์สิ่งแวดล้อม ส่วนอีก 3 เสาหลักคือองค์กรธรรมาภิบาล คุณภาพชีวิตบุคลากรและชุมชนยั่งยืน รวมเป็น TCP Sustainability, The Sustainable Winning Power Momentum หรือพลังชัยชนะที่ยั่งยืน ซึ่งผู้บริหาร TCP ตั้งไว้เป็นธีมหลักในการพัฒนาองค์กร  

-ยั่งยืนในทุกกระบวนการธุรกิจ-

แม่ทัพ TCP รุ่น 2 เขาเป็นบุตรชายคนรองสุดท้องจากภรรยาคนที่ 2 ของเฉลียว อยู่วิทยา ที่สืบทอดแนวคิดหลายอย่างมาจากผู้ก่อตั้ง โดยเฉพาะการทำธุรกิจให้สำเร็จด้วยความร่วมมือกับพันธมิตรจากต้นน้ำถึงปลายน้ำเขาคิดเสมอว่า จะทำอย่างไรให้พันธมิตรทำตามบริษัท ทั้งในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมและการทำงานทุกอย่างซึ่งมีการทำ quote of conduct เป็นเหมือนธรรมนูญ หรือจรรยาบรรณกำกับไว้ ซึ่งทำกับซัพพลายเออร์ทุกราย โดยกำหนดว่าการทำงานต้องราบรื่นและได้ตามมาตรฐาน harmony เรื่องสิ่งแวดล้อมคือความยั่งยืนสำคัญอีกเรื่องที่สราวุฒิบอกว่า ทำมาตั้งแต่ยุคเริ่มแรก “สินค้าเราใช้วัตถุดิบอันดับ 1 คือ น้ำ เราใช้น้ำเยอะมาก อันนี้ต้องมอบความดีให้คุณพ่อที่ท่านมองการณ์ไกลตอนไปตั้งโรงงานที่ปราจีนบุรี ท่านขุดบ่อไว้จำนวนมาก พื้นที่กว่า 1,000 ไร่น่าจะเป็นบ่อเกินกว่าครึ่ง ทำให้มีน้ำใช้เพียงพอในการผลิต และมีเหลือปล่อยให้ภาคเกษตรใช้ในหน้าแล้ง นอกจากเราไม่แย่งน้ำของภาคเกษตร ไม่แย่งน้ำชาวบ้านแล้ว ยังมีเหลือเผื่อแผ่ให้ด้วย” สราวุฒิย้ำโดยไม่ลืมที่จะยกความดีความชอบเรื่องนี้ว่า มาจากวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกลของบิดา โครงการประเภทสร้างความยั่งยืนชุมชนผู้นำ TCP บอกว่า ทำมาตลอดแบบเงียบๆ เนื่องจากคุณพ่อสอนว่า “ทำอะไรไม่ต้องพูดมาก สวรรค์เห็นไม่ต้องพูดเยอะ แต่ช่วงหลังมานี่เริ่มรู้สึกโดยเฉพาะกับชุมชน ถ้าเราทำอะไรแล้วไม่สื่อสารชุมชนก็จะไม่เข้าใจ ยิ่งเดี๋ยวนี้มีสื่อสังคมเยอะก็ต้องสื่อสารให้เข้าใจ ทำด้วยสื่อสารด้วยเพื่อให้คนเข้าใจ อย่างหน้าโรงงานเราโชว์ตัวเลขการผลิตและอื่นๆ ให้ชุมชนเห็นชัดเจนทำความเข้าใจซึ่งกันและกันแบบตรงไปตรงมา” ไม่เพียงตัวเลขที่ติดโชว์หน้าโรงงานแต่ผู้นำ TCP ยังให้ความสำคัญกับการสื่อสารเรื่องความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม

-วิถีไทยช่วยเหลือด้วยใจ-

ในวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา สราวุฒิบอกว่าเขาได้เรียนรู้ในบางเรื่องที่คาดไม่ถึง จากสิ่งที่ทีมงาน TCP ทำไม่ใช่แค่นี้ ช่วงโควิด-19 ทำให้บริษัทเกิดกิจกรรมใหม่ที่คาดไม่ถึง เช่น กรณีที่จังหวัดพิจิตร ซึ่งเป็นชุมชนผลไม้ที่บิดาเขาผูกพันเพราะไปเติบโตที่นี่ ชุมชนนี้มีปัญหามะม่วงขายไม่ได้ ทางบริษัทก็พยายามช่วยด้านการตลาดช่วยขาย ในที่สุดก็รับซื้อมาเป็นของฝากลูกค้าพร้อมเรื่องเล่าที่มาที่ไป จากนั้นกลายเป็นว่าลูกค้าชอบสั่งซื้อมะม่วงเข้ามาจำนวนมากบางวันขายได้ถึง 2 ตัน ขายไม่ถึง 1 สัปดาห์ ไปได้กว่า 6.8 ตัน เป็นตัวอย่างที่เห็นเรื่องน้ำใจคนไทยได้ชัดเจน สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องไม่คาดคิด บริษัทขายเครื่องดื่มมาจัดซื้อเครื่องมือแพทย์และเวชภัณฑ์ มาขายมะม่วงให้เกษตรกรได้เป็นตันๆ สิ่งเหล่านี้ผู้นำ TCP บอกว่า มันเป็น learning “เรื่องบางอย่างมันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน คุณจะเอาอดีตมาตัดสินปัจจุบันมันก็ไม่ใช่ เรื่องใหม่ก็ต้องเรียนรู้ใหม่ โควิดทำให้เห็นอะไรใหม่ๆ และเรียนรู้อะไรใหม่ๆ เยอะมาก” สราวุฒิบอกว่า เขาได้บทเรียนที่น่าสนใจจากวิกฤตรอบนี้ว่า องค์กรที่เน้นการบริหารเพื่อความยั่งยืน มั่นคง ทำให้ยามวิกฤตสามารถช่วยคนอื่นได้ แต่ที่สำคัญต้องเริ่มจากการดูแลคนในองค์กรก่อน ส่วนในแง่ธุรกิจนั้นสราวุฒิบอกว่า TCP ก็คงเติบโตต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ “เราเติบโตเรื่อยๆ แต่ไม่ประมาท คำว่าไม่ประมาทไม่ใช่ไม่เติบโต เรายังโตและขยายธุรกิจต่อเนื่องโดยไม่ประมาท ถ้าเราอยู่เฉยๆ ไม่ขยายไม่เติบโต อันนี้แหละเรียกว่าประมาท” สราวุฒิพูดทิ้งท้ายเรื่องธุรกิจไว้เพียงสั้นๆ เพราะมองว่า เขาเคยพูดเรื่องธุรกิจมาบ่อยแล้วในการแถลงข่าวประจำปี ความยั่งยืนบนถนนสายธุรกิจต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการเติบโตที่ต้องไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใหญ่ของโลก เป็นโจทย์ที่ทุกคนควรตื่นตัวและให้ความสำคัญ สำหรับสราวุฒิเขาบอกว่า “คุณไม่ควรจะมาคิดว่า วันนี้จะเซฟโลกอย่างไร แต่คุณควรที่จะคิดว่า จะทำพรุ่งนี้อย่างไรให้มันสะเทือนโลกน้อยที่สุดให้มีผลกระทบน้อยที่สุดจะเวิร์กกว่า”
คลิกอ่าน สราวุฒิ อยู่วิทยา SUSTAINABILITY IN PROCESS ธรรมนูญธุรกิจ “TCP” ฉบับเต็มได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine