“แกมโบล-กีโต้” รองเท้าแตะแบรนด์ไทย ครองใจตลาดอาเซียน - Forbes Thailand

“แกมโบล-กีโต้” รองเท้าแตะแบรนด์ไทย ครองใจตลาดอาเซียน

จากอดีตเด็กวิ่งขายรองเท้าเลหลังคู่ละ 3 บาทสู่เจ้าของ "แกมโบล-กีโต้" โรงงานรองเท้าสำเร็จรูปที่ใหญ่สุดในประเทศไทย เมื่อหันมาสร้างแบรนด์ไทยด้วยคุณภาพการผลิตและมาตรฐานสากล ทำให้ติดตลาดทั้งในไทยและอาเซียน

ถนนพระราม 2 ฝั่งขาเข้าช่วงซอย 100 เป็นที่ตั้งโรงงานผู้ผลิตและจำหน่ายรองเท้าแตะแบรนด์ แกมโบล (GAMBOL) และ กีโต้ (KITO) ของ 7 พี่น้องตระกูล กิจกำจาย (แซ่โง้ว) นำโดย 2 บริษัทหลักคือ บริษัท บิ๊กสตาร์ จำกัด และ บริษัท กีโต้ ประเทศไทย จำกัด โดยโรงงานแห่งนี้เป็นโรงงานขนาดใหญ่มีพนักงานกว่า 2,600 คน มีกำลังการผลิต 30,000 คู่ต่อวัน (เต็มกำลังการผลิตอยู่ที่ 60,000 คู่ต่อวัน)

สมพงษ์ กิจกำจาย กรรมการผู้จัดการ บริษัท บิ๊กสตาร์ จำกัด วัย 67 ปีกล่าวกับทีมงาน Forbes Thailand ว่า เหตุที่ใช้พนักงานจำนวนมากเนื่องจากโรงงานแห่งนี้ยังใช้งานฝีมือจากช่างควบคู่การใช้เครื่องจักรในการผลิต ซึ่งจะทำให้งานได้คุณภาพละเอียดกว่าการผลิตแบบใช้เครื่องจักรอัตโนมัติ 100% จึงต้องดูแลกันเป็นพิเศษเพื่อรักษาแรงงานให้คงอยู่มากที่สุด เพราะการผลิตต้องเดินหน้าต่อเนื่อง

แกมโบล-กีโต้-โรงงานพระราม-2
โรงงานบิ๊กสตาร์ที่ ถ.พระราม 2 บนพื้นที่ 32 ไร่ เป็นโรงงานรองเท้าสำเร็จรูปที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
 

ภาพรวมตลาดชะลอตัว

สมพงษ์เล่าว่า ก่อนหน้านี้ยุครุ่งโรจน์ของบริษัทเคยทำยอดขายได้สูงสุดกว่า 2 พันล้านบาท แต่ใน 2-3 ปีหลังยอดขายของบิ๊กสตาร์ลดเหลือกว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งสถานการณ์เป็นไปตามภาวะตลาดที่ชะลอตัว ทั้งตลาดโลกและตลาดในประเทศ

ถึงกระนั้นรองเท้าก็ยังคงเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่ทุกคนต้องใช้ ธุรกิจรองเท้าจึงเป็นอีกอุตสาหกรรมที่เติบโตต่อเนื่อง ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปอย่างไร เศรษฐกิจจะตกต่ำแค่ไหน คนก็ยังต้องใส่รองเท้า โดยเฉพาะรองเท้าแตะหรือรองเท้าลำลอง แม้สนนราคาจะต่ำที่สุดหากเทียบกับรองเท้าประเภทอื่น แต่อัตราการใช้มีความถี่มากกว่ารองเท้าทุกประเภทและมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ผู้บริหารบิ๊กสตาร์เผยว่า รองเท้าแตะอาจจะมีราคาไม่แพงแต่ตลาดใหญ่มาก ทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม ถือเป็นตลาดสำคัญที่สินค้าของบิ๊กสตาร์รุกได้ค่อนข้างดี เนื่องจากผู้บริโภคในแถบอาเซียนยอมรับสินค้าไทยว่าเป็นสินค้าคุณภาพ

 

อาเซียนตลาดหลักส่งออก

แบรนด์ของเราทั้งแกมโบลและกีโต้เป็นที่ยอมรับของตลาด สินค้าส่วนใหญ่ขายผ่านเซลส์บริษัทที่เดินสายทั่วประเทศสั่งสินค้าตรงจากร้านค้าในท้องถิ่น อีกส่วนส่งขายตามชายแดน และเรามีตัวแทนจำหน่ายในประเทศเพื่อนบ้านสมพงษ์ยังบอกด้วยว่า เวียดนามคือตลาดใหญ่ ยอดขายดีมาก และบิ๊กสตาร์ก็มีตัวแทนจำหน่ายที่ สปป.ลาว และกัมพูชาด้วย

เรียกได้ว่าตลาดในอาเซียนเป็นลูกค้าหลักในการส่งออกของบริษัท จากยอดขายต่อปีราว 1 พันล้านบาท แบ่งเป็นตลาดส่งออก 30% ในจำนวนนี้เป็นอาเซียนมากกว่า 80% ที่เหลือเป็นตะวันออกกลาง

ยอดขายเกือบ 300 ล้านบาทในอาเซียน เป็นการส่งสินค้าไปจำหน่ายในแบรนด์ตัวเอง คือแกมโบลและกีโต้ โดยกีโต้เป็นแบรนด์ที่เกิดมาก่อนมีอายุราว 30 ปี ส่วนแกมโบลเป็นแบรนด์ที่เพิ่งทำตลาดมาได้ 10 ปี แต่ก่อนหน้านี้บิ๊กสตาร์มีประสบการณ์เป็นโรงงานรับจ้างผลิต หรือ OEM ให้แบรนด์ต่างๆ เช่น Adidas, Puma, Polo เป็นต้น

นอกจาก แกมโบล-กีโต้ แล้ว บิ๊กสตาร์ยังมีรองเท้าแบรนด์ SAHAB ที่ผลิตเพื่อส่งออกประเทศเพื่อนบ้าน

ด้วยประสบการณ์ที่ผลิตให้กับแบรนด์ระดับสากลมาเป็นเวลานาน ทำให้โรงงานแห่งนี้มีมาตรฐานการผลิตที่ค่อนข้างสูง เมื่อหันมาทำแบรนด์ของตัวเองจึงได้การยอมรับอย่างรวดเร็ว

ตอนนี้ส่งนอกไม่ไหวถ้าไม่เปลี่ยนทิศทางใหม่คงแย่ แบรนด์ดังเขาไปให้จีนทำต้นทุนถูกมากสมพงษ์กล่าวและว่าส่วนงานยากๆ ยังส่งมาให้เมืองไทยทำ เช่น งานรัดส้น งานเย็บจำนวนมากจีนไม่รับ จะเน้นงานง่ายๆ โดยใช้แม่พิมพ์เครื่องจักรในการผลิต แต่สมพงษ์มองว่ารองเท้าที่ใช้เครื่องจักรทำทั้งหมดไม่สวย ต้องใช้ฝีมือเย็บจักรประจำเครื่องงานจะออกมาสวยกว่า

การปรับตัวหันมาผลิตแบรนด์ตัวเองถือว่าเดินมาถูกทาง เพราะปัจจุบันแบรนด์ดังๆ ย้ายฐานผลิต OEM ไปยังประเทศที่มีต้นทุนค่าแรงถูกกว่า จากเดิมที่บิ๊กสตาร์เคยทำ OEM ส่งต่างประเทศ 70% ไปยังยุโรปและสหรัฐอเมริกา ที่เหลืออีก 30% ขายในประเทศ แต่ปัจจุบันกลับกันส่งออกลดเหลือ 30% ขายในประเทศ 70%

 

ศึกษาตั้งโรงงานประเทศเพื่อนบ้าน

เมื่อพบว่าตลาดอาเซียนเติบโตค่อนข้างดี ผู้บริหารบิ๊กสตาร์จึงมองโอกาสที่จะขยายไปตั้งโรงงานผลิตในประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม

แกมโบล-กีโต้-การผลิต
การผลิตในโรงงานของบิ๊กสตาร์ยังใช้แรงงานฝีมือเป็นหลัก

ตลาดเพื่อนบ้านเรามีตัวแทนที่ลาว กัมพูชา ตัวแทนฝั่งนั้นซื้อขายเป็นเงินไทยโอนเงินมา เวียดนามยอดขายดีมาก สำหรับประเทศเพื่อนบ้านสินค้าไทยคล้ายๆ ไฮเอนด์เป็นของดีคุณภาพดี แฟชั่นก็โอเคทำให้ผู้บริหารบิ๊กสตาร์บอกว่ามีแนวโน้มคิดว่าจะไปตั้งโรงงานที่นั่น แต่ก็ต้องไปศึกษาวัฒนธรรม กฎหมาย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระแสไฟฟ้าที่ยังไม่เพียงพอ เขาจึงขอศึกษาให้ดีก่อนตัดสินใจ ระหว่างนี้ขอส่งขายผ่านยี่ปั๊วที่ประเทศเพื่อนบ้านไปก่อน

รองเท้าไม่ว่าใครก็ต้องใส่ คนเดียวใส่หลายคู่ ประเภทที่ขายดีคือรองเท้าที่ออกแบบมาเป็นยูนิเซ็กซ์ ใส่ได้ทั้งผู้หญิงผู้ชาย ขายได้เยอะในแบบกลางๆสมพงษ์กล่าว

 

"อยู่กับธุรกิจรองเท้ามาทั้งชีวิต"

สมพงษ์ กิจกำจาย กรรมการผู้จัดการ บิ๊กสตาร์ อยู่ในธุรกิจรองเท้ามายาวนานถึง 52 ปี เรียกได้ว่าอยู่กับธุรกิจนี้มาทั้งชีวิตก็ไม่ผิด เพราะเขาบอกว่าผมทำมาตั้งแต่อายุ 15 ตอนนี้ 67 ปีทำรองเท้ามาตลอด ดูออกทุกอย่างเกี่ยวกับรองเท้า

สมพงษ์และรัตนา (ภรรยา) ทั้งคู่ยังนั่งบริหารในบริษัทบิ๊กสตาร์ ขณะที่มีบุตรชายเข้ามาช่วยงานหลายปีแล้ว เนื่องจากสมพงษ์บอกว่าเขาไม่อยากปล่อยมือธุรกิจไปเลยทีเดียว เพราะหลายครั้งที่พบบางบริษัทเมื่อเปลี่ยนมือผู้บริหารจากรุ่นสู่รุ่นเร็วเกินไปกิจการมีปัญหา

กว่าครึ่งศตวรรษที่สมพงษ์เติบโตและต่อสู้มาในธุรกิจรองเท้า ไม่ใช่เขาเพียงลำพังแต่ยังมีพี่น้องผู้ชายร่วมกัน 5 คน เริ่มต้นจากการขายก่อน

เราเริ่มต้นจากการขายรองเท้าเลหลังคู่ละ 3 บาท เอามาจากโรงงานย่านฝั่งธนฯ ...เป็นรองเท้าแตะคีบ พี่ชายขี่มอเตอร์ไซค์ผมขี่จักรยานตระเวนขาย ตอนหลังเหลือคู่ละ 2 บาท เลิกเลย

จากนั้นสมพงษ์และพี่ชายก็ปรับมาขายส่ง โดยเป็นตัวแทนขายให้กับรองเท้า บาจา (Bata) ก่อนที่จะมาทำโรงงานผลิตรองเท้าสำเร็จรูป ลงทุน 200 ล้านบาท

การผลิตเร็วขึ้น แต่การจะขายได้มากต้องขายได้ก่อนแล้วค่อยมาผลิตเพิ่มสมพงษ์อธิบายขั้นตอนคร่าวๆ ในการออกแบบการผลิตและการขาย โดยแต่ละเดือนบริษัทต้องออกแบบทุกวันซึ่งเยอะมากจนไม่สามารทำแคตตาล็อกได้ ต้องทำเป็นโบรชัวร์

การออกแบบที่เร็วและมากมีความจำเป็นโดยเฉพาะกับการกำหนดราคา ซึ่งเขาบอกว่ารองเท้าสำเร็จรูปที่วางจำหน่ายไปแล้วไม่สามารถปรับราคาขึ้นได้ การจะปรับราคาขายต้องเป็นการออกแบบรองเท้ารุ่นใหม่แล้วกำหนดราคาขายใหม่

ทุกวันนี้สินค้าของบิ๊กสตาร์ขายผ่านทีมเซลส์ 10 กว่าคนของบริษัทประมาณ 80% อีก 20% ขายผ่านห้างโมเดิร์นเทรดต่างๆ เรียกว่าช่องทางขายดั้งเดิมยังคงเป็นตลาดใหญ่ ส่วนการขายออนไลน์ก็มีเสริมเข้ามาเพื่อให้ทันสมัยแต่ยอดขายผ่านช่องทางออนไลน์ยังน้อยมาก

ยอดขายออนไลน์ยังไกลมาก สู้ขายผ่านยี่ปั๊วยังไม่ได้ ขายผ่าน Shopee จริงๆ อั๊วไม่ชอบแต่คนสมัยนี้ชอบเราก็ต้องทำถ้าไม่ทำเขาก็ว่าเชย

ภาพ: กิตติเดช เจริญพร


คลิกอ่านฉบับเต็ม “รองเท้าแตะแบรนด์ไทย ครองใจตลาดอาเซียน” ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกันยายน 2562 ได้ในรูปแบบ e-Magazine