รุ่น 3 แห่ง “ซอโสตถิกุล” ขอพิสูจน์ฝีไม้ลายมือผนึกกำลังฝ่ายผลิตและการตลาด ปรับภาพลักษณ์รองเท้านันยางให้ทันสมัยครองใจคนรุ่นใหม่ ปักหลักเบอร์หนึ่งในไทยพร้อมหมายมั่นขยายส่วนแบ่งตลาดต่างประเทศ
รองเท้าผ้าใบนักเรียนพื้นยางสีเขียวซึ่งผลิตจากยางพาราอันเป็นเอกลักษณ์ของนันยางจำนวนหลายร้อยคู่แขวนอยู่บนราวล้อเลื่อนในโรงงานเนื้อที่ราว 20 ไร่ ย่านบางแค ซึ่งมีกำลังการผลิตรองเท้าผ้าใบและรองเท้าแตะรวมกันกว่า 50,000 คู่ต่อวัน โดยมี 2 ผู้บริหารหนุ่ม ชัยพัชร์ ซอโสตถิกุล วัย 37 ปี รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท นันยางอุตสาหกรรม จำกัด และ จักรพล จันทวิมล วัย 32 ปี ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมกันผลักดันธุรกิจที่มีอายุกว่า 60 ปี และมีพนักงานรวมกันทั้งสองบริษัทราว 1,000 คน ให้รุดหน้า ปฐมบทนันยาง ซู ถิง ฟาง หรือ วิชัย ซอโสตถิกุล เดินทางรอนแรมข้ามน้ำข้ามทะเลมากับบิดาเพื่อตั้งรกรากในเมืองไทยในรัชกาลที่ 6 เขาอดทนทำงานเป็นลูกจ้างโรงเหล็กและโรงไม้ เมื่อเก็บเงินได้ก็เริ่มกิจการ ฮั่วเซ่งจั่น ทำธุรกิจซื้อมาขายไป แต่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น ทำให้วิชัยต้องย้ายถิ่นไปก่อตั้ง บริษัท วัฒนสินพาณิชย์ จำกัด ที่ย่านตลาดน้อย ในปี 2491 บริษัทใหม่นี้ทำธุรกิจนำเข้า-ส่งออก และหนึ่งในสินค้าที่นำเข้าคือรองเท้าผ้าใบจากสิงคโปร์ยี่ห้อ “หนำเอี๊ย”แม้ขาดทุนใน 2 ปีแรกแต่ความทนทานของรองเท้าทำให้ตลาดยอมรับและได้กำไรในที่สุด เมื่อไปได้ดี วิชัยจึงจำหน่ายเฉพาะรองเท้าและเปลี่ยนชื่อยี่ห้อเป็น “นันยาง ตราช้างดาว” เพื่อให้ดูเป็นภาษาไทย ต่อมาในปี 2496 วิชัยจึงร่วมทุนกับ Soh Koon Choo ประธานของนันยางและกลุ่มนักธุรกิจชาวสิงคโปร์ ก่อตั้ง บริษัท ผลิตยางนันยาง (ไทย) จำกัด ในปี 2496 พร้อมขอซื้อโนว์ฮาวการผลิตรองเท้าผ้าใบจากนันยาง ต่อมาบริษัทนี้กลายเป็นนันยางอุตสาหกรรม ขณะที่วัฒนสินพาณิชย์คือนันยางมาร์เก็ตติ้ง เริ่มแรกนันยางเป็นรองเท้าสารพัดโอกาสไม่ว่าจะใส่ไปทำงาน เรียน เที่ยว เล่นกีฬา ฯลฯ แต่ให้หลังอีกราว 20 ปี แบรนด์รองเท้าจากต่างประเทศเริ่มบุกเมืองไทย นันยางจึงเลือกวางตำแหน่งหลักตัวเองในกลุ่มนักเรียนที่เป็นตลาดใหญ่และมีกำลังซื้อต่อเนื่อง ถึงเวลาไม้ใหญ่ผลัดใบ เหล่าทายาท 5 ใน 9 คนของวิชัยจึงเข้ามาช่วยสานต่อกิจการกลุ่มนันยาง ได้แก่ เพียรศักดิ์ (ลูกคนโต) กอบชัย (ลูกคนที่ 2) ธวัชชัย (ลูกคนที่ 6) เกริกชัย (ลูกคนที่ 7) และ ศิรินทร (ลูกคนที่ 8) สดใหม่แบบรุ่น 3 “นันยางเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ทนและเท่ ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้วหลายสิบปี ไม่ใช่สิ่งที่พวกเราพูดกันขึ้นมาเอง” ชัยพัชร์บอก เขาเป็นลูกชายคนโตของธวัชชัย-พัชรดา ส่วนจักรพลเป็นลูกคนเล็กของอาทร-พรจันทร์ จันทวิมล (พรจันทร์เป็นลูกคนที่ 9 ซึ่งเป็นลูกคนเล็กของวิชัย) ทั้งคู่เรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาแห่งเดียวกันคือที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (แน่นอนว่าขณะนั้นรองเท้าผ้าใบนักเรียนที่ทั้งสองคนสวมใส่คือนันยาง) ก่อนที่ชัยพัชร์จะเรียนต่อปริญญาตรีในคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และจบปริญญาโทสาขา Multinational Commerce ที่ Boston University สหรัฐอเมริกา และเริ่มทำงานที่ธนาคารกรุงเทพก่อนจะกลับมาทำงานที่นันยางในปี 2550 ด้านจักรพลจบปริญญาตรีจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำงานด้านการขายที่ เอสซีจี เปเปอร์ (ปัจจุบันคือ เอสซีจี แพคเกจจิ้ง) พ่วงปริญญาโทด้านการตลาดที่ London Metropolitan University ประเทศอังกฤษ และจาก École Supérieure de Commerce et Management ประเทศฝรั่งเศส ก่อนจะกลับมารับผิดชอบงานด้านการตลาดที่นันยางมาร์เก็ตติ้งในปี 2553 ส่วนผสมอันลงตัวของคนรุ่นใหม่ทั้งชัยพัชร์ จักรพล และรุ่น 3 คนอื่นๆ ส่งให้นันยางเริ่มคิดถึงการสร้างแบรนด์ให้สดใหม่และมองหาความเป็นไปได้ในการออกผลิตภัณฑ์เพิ่ม “บางคนบอกว่านักเรียนเป็นกลุ่มที่ทำการตลาดได้ง่าย แต่พวกเราคิดว่ากลุ่มนี้ไดนามิคที่สุด เดี๋ยวนี้เด็กไม่ตื่นมาเปิดทีวีดูการ์ตูนตอนเช้า แต่เปิดอินเทอร์เน็ตดูแทน คนที่เคยใส่เราเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ตอนนี้เขาก็อายุ 30-40 ปี แต่นันยางยังต้องซ้ำชั้นอยู่เรื่อยๆ เพราะฉะนั้นเราต้องรีเฟรชตัวเองตลอดเวลา” คือมุมมองของจักรพล แตกไลน์สินค้าครองใจตลาด สองผู้บริหารนันยางให้ตัวเลขว่าตลาดรองเท้านักเรียนมีมูลค่าราว 5 พันล้านบาท แบ่งเป็นรองเท้าผ้าใบราว 60% (3 พันล้านบาท) รองเท้านักเรียนหญิง 35% และอื่นๆ 5% โดยนันยางเป็นเจ้าตลาดรองเท้าผ้าใบนักเรียน ครองสัดส่วน 40% มีคู่แข่งรายสำคัญคือแบรนด์โกลด์ซิตี้และแบรนด์เบรกเกอร์ นันยางที่อยู่ในธุรกิจรองเท้านักเรียนมานานพบว่าส่วนมากผู้ใช้จะไม่ซื้อรองเท้า 2 แบรนด์ เมื่อซื้อแล้วก็จะสวมใส่ระยะยาวและจะซื้ออีกครั้งในปีการศึกษาถัดไป ดังนั้น วิธีเดียวที่จะเพิ่มยอดขายหรือเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดได้คือการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย ชัยพัชร์และจักรพลจึงแบ่งนักเรียนออกเป็น 2 กลุ่ม คือ มัธยมศึกษา ซึ่งนันยางมีส่วนแบ่งราว 70% การจะดึงตลาดอีก 30% เข้ามาเพิ่มน่าจะเป็นไปได้ยาก ขณะที่กลุ่มนักเรียนชั้นประถมศึกษาใส่รองเท้านันยาง 20-30% โอกาสที่จะเติบโตจึงมีอีกมาก ในที่สุดก็เปิดตัวรองเท้าผ้าใบสำหรับเด็กอายุ 6-9 ปีรุ่น นันยาง แฮฟ ฟัน (Nanyang Have Fun) ในปี 2557 ชูจุดเด่นที่สวมใส่สบาย มีสีสัน พร้อมกล่องรองเท้าลวดลายน่ารัก เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลกลุ่มนักเรียนหญิง พบว่าสวมใส่รองเท้าผ้าใบนันยางสีขาวราว 40% นันยางจึงพัฒนารองเท้าที่ตอบโจทย์กลุ่มนี้นั่นคือออกแบบให้สามารถใส่เรียนหรือใส่เที่ยวได้โดยที่ยังคงถูกระเบียบ ผลลัพธ์คือรุ่น นันยาง ชูการ์ (Nanyang Sugar) ซึ่งปล่อยสู่ตลาดในปี 2559 พื้นรองเท้าด้านในมีสีสันมาพร้อมโบว์หลากสีที่เปลี่ยนเป็นเชือกผูกรองเท้าได้ในวันที่ใส่เที่ยว แม้นันยาง “รุ่นหลาน” จะมีความเคลื่อนไหวด้านผลิตภัณฑ์อย่างคึกคัก ทว่า ทั้งชัยพัชร์และจักรพลก็กล่าวอย่างหนักแน่นว่า นันยางบริหารงานแบบอนุรักษนิยม “สินค้าของเราช้าแต่ชัวร์ ออกขายปีนี้ ปีหน้าและปีต่อๆ ไปก็ยังต้องขายได้ เราเป็นสินค้าฟังก์ชั่นไม่ใช่สินค้าแฟชั่น เรื่องสินค้าแฟชั่นให้คนอื่นเขาทำดีกว่าเพราะเราไม่ถนัด” ชัยพัชร์เน้น นันยางยังพารองเท้าก้าวออกไปรุกตลาดต่างประเทศ อาทิ เมียนมา ซึ่ง ตราช้างดาว เป็นเจ้าตลาดรองเท้าแตะในเมียนมาด้วยส่วนแบ่งตลาด 20% ปัจจุบันนันยางส่งออกรองเท้าผ้าใบและรองเท้าแตะไป 10 ประเทศหลัก ได้แก่ เมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น มีประเทศในเอเชียใต้และตะวันออกกลางบ้างเล็กน้อย รายได้รวมของนันยางอุตสาหกรรม ปี 2558 อยู่ที่ราว 906.1 ล้านบาท มีกำไรสุทธิที่ 197.7 ล้านบาท ชัยพัชร์คาดการณ์รายได้รวมในปี 2559 ว่าเติบโต 2-3% จากปีก่อนหน้า ส่วนปีนี้มองการเติบโตในอัตราเดียวกัน และคาดการณ์ส่วนแบ่งตลาดรองเท้าผ้าใบนักเรียนเพิ่มขึ้นเป็น 42% ต่อจากนี้คือการรักษาเส้นทางตามแผนธุรกิจ 5 ปี (2558-2562) คือเพิ่มการส่งออกจาก 15% ให้เป็น 25% “เราขอโตแค่นี้...ช้าๆ แต่ยั่งยืน เราไม่หวังว่าจะต้องโตไกลระดับโลก ขอแค่ไม่เจ๊ง หมายความว่าอีก 10-30 ปี ลูกหลานเราเข้ามาทำต่อแบบไม่ต้องเข้าตลาดหุ้นเพื่อระดมทุน” คือความหวังของจักรพล ภาพ: กิตติเดช เจริญพร และนันยางคลิกอ่านฉบับเต็ม "ก้าวที่แกร่งแห่งนันยาง" ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ กุมภาพันธ์ 2560