ความสุขที่ได้รับจากการมีส่วนร่วมเป็นจิตอาสาในสมัยศึกษาอยู่รั้วจามจุรีได้กลายเป็นแรงผลักดันให้ สรวิศ ไพบูลย์รัตนากร Saturday School บันดาลฝันเด็กหลังห้อง โปรแกรมเมอร์หนุ่มตัดสินใจทิ้งอนาคตในบริษัทยักษ์ใหญ่ เพื่อรับงานครูอาสาและก้าวต่อไปยังการเริ่มต้นโครงการสร้างแรงบันดาลใจให้เด็ก พัฒนาศักยภาพนอกตำรามากกว่า 3,000 คนในโรงเรียนวันเสาร์
บนเส้นทางชีวิตที่ดูเหมือนจะสมบูรณ์แบบทั้งการเป็นหัวหน้านิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือชัยชนะที่ได้รับจากแข่งขัน IEEEXtreme ในอันดับที่ 16 จากทั่วโลก ยังไม่รวมการเข้าร่วมการแข่งขันเขียนโปรแกรมทั้งระดับชาติและระดับนานาชาตินับไม่ถ้วน จนถึงการได้ทำงานเป็นนักเขียนโปรแกรมของบริษัทโทรคมนาคมขนาดใหญ่ของไทย หากแต่ความสำเร็จตลอดระยะทางกลับไม่ได้เติมเต็มความรู้สึกและความต้องการที่แท้จริงของ สรวิศ ไพบูลย์รัตนากร ซึ่งเพียรพยายามค้นหาคำตอบถึงจุดหมายของชีวิตและการทำตามความฝันในเส้นทางของการเป็นผู้ให้ที่มอบความสุขใจมากกว่าการนั่งอยู่เบื้องหลังคอมพิวเตอร์เขียนโปรแกรมตามวิชาชีพที่ร่ำเรียนมา “เราถามตัวเองตลอดว่า นี่เราอยู่ในจุดที่ถูกต้องหรือไม่ passion ของเราคืออะไร ซึ่งพบว่าเป็นด้านสังคมทั้งหมด โดยเฉพาะการศึกษาเป็นส่วนที่แก้ปัญหาสังคมได้มาก เพราะเป็นรากฐานของปัญหาต่างๆ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ผมเคยเป็นหัวหน้านิสิตของคณะและมีส่วนร่วมช่วยผู้ประสบภัยในช่วงน้ำท่วมใหญ่ โดยเราเห็นภาพของการร่วมแรงร่วมใจช่วยเหลือกันของคนจำนวนมากและกลายเป็นความสุขที่ยังประทับใจ” สรวิศเล่าถึงการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงชีวิตครั้งใหญ่หลังจากทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์เป็นเวลาปีกว่า ก้าวแรกในวิชาชีพใหม่ของสรวิศเริ่มจากการเป็นครูวิชาคณิตศาสตร์ โรงเรียนเพี้ยนพินอนุสรณ์ ภายใต้โครงการครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 1 ของมูลนิธิ Teach For Thailand ประมาณปีครึ่งจึงเริ่มต้นโครงการ Saturday School เปิดพื้นที่ให้เด็ก สามารถเลือกเรียนได้ตามความสนใจ ด้วยวิชานอกหลักสูตรจากอาสาสมัครที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะถ่ายทอดความรู้หรือทักษะต่างๆ มากกว่า 30 วิชา เช่น ศิลปะ คอมพิวเตอร์ ตัดต่อวิดีโอ เต้น การแสดง กีฬา ออกแบบสติ๊กเกอร์ไลน์ ถ่ายภาพ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งเปิดสอนเฉพาะวันเสาร์ตั้งแต่เวลา 9.00-12.00 น. ประมาณ 10 สัปดาห์ และให้เด็กนักเรียนนำเสนอผลงานหรือความสามารถหลังจบหลักสูตร “อุปสรรคมีตลอดทางและท้อแท้บ้าง ทั้งเงินทุนที่ไม่มี เราต้องใช้ทุนส่วนตัวโดยพยายามทำงานต่างๆ อาสาสมัครมาบ้างไม่มาบ้าง หรือช่วงแรกที่เด็กยังไม่รู้จะได้เรียนอะไร แต่ด้วยกำลังใจจากผลที่เกิดขึ้นกับเด็ก และอาสาสมัครที่ลุยไปกับเรา จนเราได้รับการสนับสนุนมากขึ้น หลังจากทำมาช่วงปีที่ 4 เราสามารถจดทะเบียนเป็นมูลนิธิและมีอาสาสมัครสนใจจำนวนมาก” สรวิศกล่าวถึงการจดทะเบียนเป็นมูลนิธิอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2561 หลังจากเริ่มต้นโครงการในปี 2557 ในวันนี้ของ Saturday School สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กจำนวนมากกว่า 3,000 คน จากทั้งหมด 7 รุ่น โดยกำลังเข้าสู่รุ่นที่ 8 ในปีที่ 5 พร้อมโรงเรียนพันธมิตรจำนวน 10 โรงเรียน และอาสาสมัครที่ให้ความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากหลักสิบสู่หลักร้อยรวมจำนวนราว 300-500 คน ส่วนใหญ่อยู่ในวัยเริ่มต้นทำงานช่วงอายุ 20-30 ปีที่ต้องการร่วมสร้างสรรค์สังคมและมอบโอกาสให้เด็กได้พัฒนาศักยภาพอย่างเท่าเทียมกัน “ถ้าคะแนนเต็ม 10 เราให้ Saturday School ประมาณ 7-8 คะแนน จากความเชื่อมั่นของคนที่เข้าร่วมและพร้อมเดินต่อ ผมเชื่อในศักยภาพของบุคคลและเด็กแต่ละคนซึ่งมีความสามารถไม่เหมือนกัน เราจะพัฒนาอย่างไรให้เขาเห็นตัวเองได้และทำให้เด็กเชื่อมั่น ไม่ต้องเก่ง แต่มั่นใจในความสามารถของตัวเอง ซึ่งเราต้องการเห็นเด็กทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการพัฒนาศักยภาพของตัวเองสูงสุด และกลับไปเปลี่ยนแปลงโลกของตัวเอง ครอบครัว สังคมรอบข้างถึงประเทศ เราให้เด็กนิยาม change the world ด้วยตัวเอง” ก้าวต่อไปของ Saturday School เพื่อให้เด็กพัฒนาศักยภาพอย่างเต็มที่และสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมของตนเองได้ สรวิศวางแผนขยายพื้นที่หรือเพิ่มโอกาสให้ครอบคลุมทั้งจำนวนโรงเรียนในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ซึ่งเตรียมดำเนินการกับเครือข่ายที่บ้านเด็กกำพร้า จ.นครศรีธรรมราช และอยู่ระหว่างพิจารณาพื้นที่ จ.ระยอง รวมถึงการเดินหน้าโครงการต่างๆ ที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง เช่น International Saturday School Volunteer อาสาสมัครที่มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาสามารถสอนเด็กแลกเปลี่ยนภาษาและวัฒนธรรมได้ นอกจากนั้น ในโครงการยังมีโปรแกรม Saturday School Student Support ต่อยอดเด็กที่จบโครงการ ด้วยการติดตามเก็บข้อมูลและสนับสนุนเด็กให้สามารถทำตามความฝันได้อย่างต่อเนื่อง โครงการ Saturday School Universal ขยายไปยังเด็กทั่วไปที่ต้องการประสบการณ์และโอกาสพัฒนาศักยภาพของตัวเองผ่านกิจกรรมนอกหลักสูตร ซึ่งเพิ่มการเวิร์กช็อปบิดามารดาให้เข้าใจบุตรหลานมากขึ้น โดยสามารถสนับสนุนให้ทุนกับมูลนิธิได้ พร้อมทั้งร่วมกับชลิพา ดุลยากร พัฒนา “Inscru” (อินสครู) พื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอนของครูไทยทั่วประเทศ ซึ่งได้รับผลตอบรับมีสมาชิกติดตามมากกว่า 60,000 คน “เด็กทุกคนไม่ว่าจะมาจากครอบครัวไหนควรมีโอกาสพัฒนาศักยภาพของตัวเอง และเปลี่ยนแปลงสังคมของเขา เรามองว่า Saturday School เป็นพื้นที่ให้คนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเปิดโอกาสให้สังคมร่วมกันออกแบบการศึกษาหรือพื้นที่ทดลองเพื่อออกนโยบายที่ส่งผลต่อการศึกษาไทยต่อไปถ้าสุดท้ายแล้วเราสามารถเปลี่ยนแปลงเชิงระบบได้โดยไม่จำเป็นต้องมีเรา” สรวิศในวัย 29 ปีปิดท้าย ถึงเป้าหมายสูงสุดของความมุ่งมั่นสร้างการเติบโตให้ Saturday School เพื่อให้เกิดการเรียนรู้เข้าถึงทุกพื้นที่มากที่สุด และส่งผลต่อเนื่องยังการออกแบบการศึกษาของประเทศให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้ สรวิศ ไพบูลย์รัตนากร เป็นอีกหนึ่งหนุ่มสาวชาวไทยจากทั้งหมด 5 ราย ที่ติดในรายชื่อ จากการจัดอันดับของ 30 UNDER 30: 30 สุดยอดหนุ่มสาวแห่งเอเชียในปี 2019 ในหมวดผู้ประกอบการเพื่อสังคม ภาพ: กิตติเดช เจริญพร อ่านเพิ่มเติม- 30 UNDER 30 สุดยอดหนุ่มสาวดาวรุ่งแห่งเอเชียปี 2019: ตอนที่ 1
- ภานุพงศ์ เตชะไพบูลย์ Ticketmelon อีเวนต์ไซส์เล็กเปิดโลก
- “Band Protocol” ปั้นเงินดิจิทัล ด้วยโซลูชั่นบล็อกเชน
- รัศมี กวาตรา “Sixteenth Street Capital” ธุรกิจเงินทุนเอเชียตลาดเพิ่งเริ่มต้น
- พงษ์ชาญ รัสเซล แห่ง Ter’ra ร้านอาหารฝรั่ง มี “story” วัตถุดิบไทย
คลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจและการลงทุนได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกรกฎาคม 2562 ในรูปแบบ e-Magazine