กวิน พงษ์พันธ์เดชา คนหนุ่มสายพันธุ์ดิจิทัล “Bitazza” - Forbes Thailand

กวิน พงษ์พันธ์เดชา คนหนุ่มสายพันธุ์ดิจิทัล “Bitazza”

สินเชื่อดิจิทัลเชื่อถือได้ หรือเงินดิจิทัล ใช้ซื้อสินค้าได้-บริการได้จริงหรือเปล่า สินทรัพย์ดิจิทัลใช้ฐานอะไรในการประเมินมูลค่า ใช้อะไรเป็นเครื่องการันตีการลงทุน จะมั่นใจได้อย่างไรว่าลงทุนแล้วปลอดภัย

    มรสุมปัจจัยลบและความไม่เชื่อมั่นยังคงกระหน่ำธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล แม้หลายประเทศจะคุ้นเคยกับสินทรัพย์แห่งอนาคตเหล่านี้แล้วก็ตาม สำหรับประเทศไทยความเชื่อมั่นยังห่างไกลเมื่อเทียบกับสินทรัพย์อื่นๆ แต่ทว่าโครงสร้างธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้ถือกำเนิดชัดเจน ผู้ให้บริการในธุรกิจนี้พยายามสร้างตัวตนและความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นดังเช่น กวิน พงษ์พันธ์เดชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทาซซ่า จำกัด (Bitazza) บริษัทโบรกเกอร์สินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งดำเนินการภายใต้ใบอนุญาตตามกฎหมาย และได้การยอมรับระดับหนึ่งด้วยปริมาณการเทรดกว่า 1 แสนล้านบาทในปีที่ผ่านมา อีกทั้งกวินยังได้รับการจัดอยู่ในลิสต์ “30 Under 30 Asia 2022” ของ Forbes Asia เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

    กวินเป็นคนหนุ่มสายพันธุ์ดิจิทัลที่เส้นทางการเติบโตและพื้นฐานการศึกษาของเขาเป็นการออกแบบด้วยแนวคิดอย่างเป็นระบบ จะเรียกว่าเขาออกแบบหลักสูตรการเรียนของตัวเองก็ไม่ผิด “ผมจบปริญญาตรีในการเรียนปกติ 4 ปี แต่ได้ปริญญามา 3 สาขา คือวิศวกรรมคอมพิวเตอร์เศรษฐศาสตร์ และสถิติ” ทั้งหมดนี้คือ พื้นฐานความสนใจของกวินเมื่อครั้งเรียนที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย หรือ UC Berkeley ซึ่งมีชื่อในเรื่องการค้นคว้าวิจัย และตั้งอยู่ในย่าน Silicon Valley แหล่งบ่มเพาะสตาร์ทอัพชื่อดังของโลก


- “คิด-ทำ” แตกต่าง -

    นักธุรกิจหนุ่มวัย 30 ปีผู้นี้ต่างจากคนอื่นชัดเจน ความคิดของเขามาจากแรงบันดาลใจความใฝ่รู้และเป้าหมายในชีวิต ซึ่งทุกอย่างเกิดจากแพสชั่นส่วนตัวล้วนๆ เขาเล่าว่า ตั้งแต่เด็กแล้วเขาเป็นคนที่สนใจเรื่องอะไรจะต้องหาคำตอบให้ได้ เมื่อไปเรียนสาขาวิศวะก็พบว่ายังไม่ใช่คำตอบที่ต้องการทั้งหมด เขาจึงไขว่คว้าในวิชาที่ต้องการและยอมเรียนหนักกว่าคนอื่น 3 เท่า เพื่อให้ได้ความรู้อย่างที่ตัวเองต้องการ

    อีกทั้งมหาวิทยาลัยที่กวินเรียนนั้นอยู่ใน Silicon Valley ยิ่งมีแรงบันดาลใจให้คิดนอกกรอบ “ตอนนั้นเริ่มมีบล็อกเชนแล้วแต่ยังไม่แพร่หลาย จริงๆ แล้วคริปโตเคอร์เรนซีหรือบิตคอยน์อะไรพวกนี้มันเริ่มจากลุ่มคนที่คลั่งในการเข้ารหัส” กวินอธิบายที่มาที่ไปของสินทรัพย์ดิจิทัลที่เขาสัมผัสมาตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษา

    เขาเล่าว่า จุดกำเนิดบิตคอยน์มาจากชุมชน ใน San Francisco ซึ่งคาดกันว่า Satoshi Nakamoto ผู้สร้างบิตคอยน์เป็นคนในชุมชนนี้ แต่เขาก็ออกตัวว่าเป็นเรื่องที่คาดคะเนเท่านั้น ไม่มีใครสามารถยืนยันข้อเท็จจริง

    “ตอนที่ผมเรียนคอมพิวเตอร์ก็เรียนเรื่องเขียนโปรแกรม เขียนไปเขียนมาผมก็ไม่อยากเป็นคนเขียนโปรแกรมแล้ว ผมอยากจะเข้าใจโลกให้มากที่สุด โลกมันกว้างใหญ่ก็พยายามติดตามข่าวสาร พออ่านข่าวที่มันเกี่ยวกับเศรษฐกิจการเงินก็ไม่เข้าใจ” จุดนี้กลายเป็นแรงขับให้กวินเลือกเรียนสาขาวิชาที่ 2 นั่นคือ เศรษฐศาสตร์ เขาอยากรู้เรื่องเงินเฟ้อ เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องอัตราการว่างงาน เพราะมองว่ามันเชื่อมโยงกันทั้งโลก


กวิน พงษ์พันธ์เดชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทาซซ่า จำกัด (Bitazza)


    “ผมไปที่คณะเศรษฐศาสตร์คุยกับคนที่นั่นแล้วก็ชอบในความคิด ชอบในหลักสูตรเลยขอเรียน เขาก็ให้เรียน และแล้วเราก็เรียนมาจนถึงปี 4 เขียนวิทยานิพนธ์เสร็จก็สร้างโมเดลทางคณิตศาสตร์ สร้างโมเดลความสัมพันธ์ระหว่างราคาหุ้น ตลาดพันธบัตรและอนุพันธ์”

    พอได้มาเรียนเศรษฐกิจทำวิทยานิพนธ์ กวินก็พบว่าเขาต้องใช้หลักสถิติเข้ามา พอลองค้นผลงานวิจัยก็พบว่าตัวเองไม่เข้าใจสถิติตัวเลข การที่จะเอาตัวเลขไปพิมพ์งานให้คนมาเชื่อ เขาคิดว่าตัวเองต้องมีความรู้มากพอต้องมีหลักคิด “มันควรต้อง proof ด้วยคณิตศาสตร์ได้ว่าโมเดลของเรามีความแม่นยำ 99% ดังนั้น พอปี 3 ปี 4 เลยเข้าไปที่คณะสถิติแล้วขอเรียนด้วย” ในที่สุดกวินก็จบปริญญาภายใต้การเรียน 4 ปี โดยได้ปริญญามา 3 คณะคือ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เศรษฐศาสตร์ และสถิติ ด้วยการเรียนมากกว่าคนทั่วไป 3 เท่า โดยมีบางวิชาที่ใช้ร่วมกันได้บ้าง เขาอธิบายเรื่องนี้เพียงสั้นๆ ว่า “เราพยายามเรียนเพื่อต่อยอดความสนใจและความจำเป็น”

    กวินค่อยๆ อธิบายความตั้งใจของเขาในการเลือกเรียน 3 สาขาในเวลาเดียวกันว่าเป็นการตอบโจทย์คือ เขาได้เรียนในสิ่งที่อยากรู้ และถือว่าเป็นข้อดีของระบบการศึกษาที่สหรัฐอเมริกาเปิดโอกาสให้นักศึกษาเลือกเรียนได้ตามที่สนใจ เพราะถ้าเขาต้องการเรียนแบบนี้ในระบบอังกฤษจะไม่สามารถทำได้ ต้องเลือกเพียงเมเจอร์เดียวแล้วเดินหน้าให้จบตามหลักสูตร


- นักวิจัย WorldQuant -

    กวินเริ่มต้นทำงานในตำแหน่ง “นักค้นคว้าและวิจัย” ของบริษัท WorldQuant ซึ่งเป็นบริษัทระดับโลกที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการนำข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการเงิน การลงทุน และการซื้อขายหุ้น มาใช้เป็นข้อมูลในการสร้างกลยุทธ์ในการลงทุน โดยกวินเป็นผู้ออกแบบระบบการลงทุนแบบอัตโนมัติ ใช้รูปแบบการจำลองทางคณิตศาสตร์ โดยมีอัลกอริทึมช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้เกิดโอกาสในการซื้อขายที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งปัจจุบันระบบนี้สามารถหาโอกาสการลงทุนในตลาดทั้งในสหรัฐฯ จนไปถึงยุโรป

    ซีอีโอวัย 30 ปี มีความมุ่งมั่นและสนใจในเรื่องของเทคโนโลยีและการเงินอย่างมาก ในช่วงเวลาว่างกวินมักจะใช้ไปกับการค้นคว้าข้อมูลและสร้างระบบสำหรับกลยุทธ์การเทรดต่างๆ อยู่เสมอ สิ่งเหล่านี้ถูกนำมาใช้ในระบบการทำงานของข้อมูลจริง ควบคู่ไปกับการลงทุนในระบบการซื้อขายหุ้นและอนุพันธ์ที่หลากหลาย นอกจากนี้ เขายังให้ความสนใจอย่างมากในเรื่องของระบบการลงทุนแบบกระจายศูนย์ที่ให้นักลงทุนสามารถเข้าถึงโอกาสทำกำไรใหม่ๆ อย่าง Decentralized Finance (DeFi) อีกด้วย

    แม้เรื่องของตัวเลข วิศวะ เศรษฐศาสตร์ และสถิติจะเป็นโฟกัสหลักของกวิน แต่เขายังสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ไม่น้อย กวินชอบศึกษาประวัติศาสตร์จากการค้นคว้าและคำนวณด้วยพื้นฐานข้อมูลจริงที่หาได้ เพราะเขาเชื่อว่าประวัติศาสตร์คือรากฐานของปัจจุบัน “ผมคิดว่าคนเราจะไม่สามารถเข้าใจปัจจุบันได้ถ้าไม่มีบริบทของประวัติศาสตร์” และทุกวันนี้แม้เขาจะเปิดบริษัทโบรกเกอร์ด้านสินทรัพย์ดิจิทัล แต่ยังคงค้นคว้าเรื่องประวัติศาสตร์ควบคู่ไปด้วย

    “ทุกอย่างมันมีที่มาที่ไป เรามีวันนี้ได้ก็เพราะการตัดสินใจของคนชั้นนำในอดีต วันนั้นในอดีตที่ต่อยอดกันมา มีพัฒนาการและมีความต่อเนื่อง เราลิงก์กลับไปได้ไกลที่สุดเท่าที่จะไปได้ตั้งแต่เริ่มต้นอารยธรรม” ซีอีโอบิทาซซ่าบอกว่า บางทีการดูแต่ตัวเลขก็เป็นแค่ภาพสะท้อนหนึ่งเท่านั้น มันมีเหตุการณ์อยู่เบื้องหลังเป็นกลไกซึ่งบางครั้งอาจไม่เป็นตัวเลข “ผมเป็นคนชอบตัวเลขมาก แต่ก็ยอมรับว่ามันมีข้อจำกัด ไม่สามารถทำทุกอย่างเป็นตัวเลขได้” กวินยอมรับ



- ก้าวแรก “บิทาซซ่า” -

    แนวคิดนี้คือที่มาของบิทาซซ่า ธุรกิจที่เริ่มต้นด้วยหุ้นส่วน 3 คน กวินเป็นหนึ่งในนั้น เขาก่อตั้งกิจการ Bitazza เพื่อเป็นโบรกเกอร์ หรือผู้ให้บริการด้านการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล บิตคอยน์ คริปโต และโทเคน หรือโดยรวมคือ สินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหมด แต่ไม่ได้จำกัดบทบาทของ Bitazza เป็นแค่โบกเกอร์ เขาต้องการให้บริการมากกว่านั้น 

    เช่น เป็นแหล่งให้ข้อมูล พร้อมที่จะ educate ตลาด รวมถึงหน่วยงานที่จะมากำกับดูแลกิจการด้านนี้ โดยที่ผ่านมากวินได้ออกความเห็นเกี่ยวกับเรื่องของธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในการทำประชาพิจารณ์มานับไม่ถ้วน แต่เขาก็ยอมรับว่าตลาดยังไม่เข้าใจธุรกิจนี้อย่างถ่องแท้ ยังมีช่องว่างของความเข้าใจทั้งจากตลาดและหน่วยงานผู้กำกับดูแล

    “บ้านเรายังดี พอมีกฎหมายออกมาแล้วสามารถใช้งานได้ license ที่ออกมามีผู้ที่ตั้งบริษัทและทำธุรกิจได้จริง ในขณะที่อีกหลายประเทศแม้จะมีกฎหมายออกมาแต่ธุรกิจก็ยังเกิดไม่ได้” กวินเปรียบเทียบความพร้อมในแวดวงธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของประเทศไทยกับอีกหลายประเทศที่ยังไม่เปิดรับในสิ่งเหล่านี้อย่างแท้จริง

    ประสบการณ์ทำงานของกวินคือ การทำกลยุทธ์การซื้อขายแลกเปลี่ยนหุ้น เทรดหุ้นเป็นหลัก ซึ่งตอบโจทย์ยุคแรกที่เขาอยากทำอะไรเกี่ยวกับการเงินอยู่แล้ว ระหว่างทำงานก็ศึกษาไปด้วยและพบว่าระบบการเงินของประเทศไทยยังไม่ทันสมัย เขาเทียบกับตอนอยู่ที่สหรัฐฯ ผู้คนใช้การสแกนจ่ายเงินผ่านแอปฯ ง่ายมาก ส่วนประเทศไทยเรื่องเหล่านี้เพิ่งมาเกิดช่วงโควิด “ก่อนหน้านี้มันไม่ได้ดีขนาดนั้น ผมรู้สึกอึดอัดว่าทำไมเทคโนโลยีมันมี gap ต่างกันมาก เลยมีไอเดียว่าอยากทำธนาคารในไทย”

    กวินเริ่มหาข้อมูลหากจะทำธุรกิจธนาคารในไทยก็พบว่าเป็นเรื่องยากมาก ต้องมีทุนจดทะเบียน 1 พันล้านบาทขึ้นไป นั่นหมายความว่าขนาดธุรกิจต้องเป็นหมื่นล้าน และมีกฎระเบียบควบคุมอีกมากมาย ในขณะที่เขาคิดเพียงแค่จะเป็นสถานที่รับฝากเงินและเป็นตัวกลางในการชำระเงินซึ่งมันไม่ได้ง่ายอย่างที่เขาคิด ระบบธนาคารของไทยเป็นอะไรที่ยังปิดอยู่มาก

    ในที่สุดกวินก็หันมาเปิดกิจการโบรกเกอร์สินทรัพย์ดิจิทัล บิทาซซ่า ในปี 2561 (กรกฎาคม) หลังจากนั้นปลายปี 2562 ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) 2 ใบ คือ เป็นโบรกเกอร์คริปโตเคอร์เรนซี และโบรกเกอร์ดิจิทัลโทเคน “เราไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นแค่โบรกเกอร์ เรามองว่าตัวเองเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยลูกค้า เพราะว่าโบรกเกอร์คือนายหน้าช่วยขาย แต่ฟังก์ชันที่เราทำมันเกินไปกว่านั้นค่อนข้างเยอะ” กวินแจกแจงบริการของบิทาซซ่าที่ทำตั้งแต่แรกถึงปัจจุบัน

    ผ่านมาแล้ว 4 ปีกวินบอกว่า ปัจจุบันเขามีลูกค้าราว 500,000 ราย แต่ยอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชันบิทาซซ่ามีราว 800,000 ราย ส่วนมูลค่าการซื้อขายในปี 2564 มีกว่า 1 แสนล้านบาท “ตัวเลขอาจจะไม่ใหญ่มาก แต่เราก็มองว่าถ้าเทียบกับ traditional ก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี ผมเชื่อว่าสินทรัพย์ดิจิทัลจะมีบทบาทสำคัญของโลก เราต้องเอาตัวเองไปอยู่ในจุดที่มันดีที่สุด” นั่นคือศรัทธาและย่างก้าวของกวินในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

    ซีอีโอหนุ่มยอมรับว่าปัจจุบันคนยังไม่มั่นใจในเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล และข่าวลบในวงการนี้ก็มีค่อนข้างมาก แต่ปัจจุบันโครงสร้างของเทคโนโลยีดีขึ้น “เราต้องสร้างมาตรการหลายอย่างขึ้นมาเพื่อ make sure ว่า สมมุติผมป่วยหรือหายตัวไปหรือเสียชีวิตจะทำอย่างไร เราต้องเดินด้วย speed ที่ช้ากว่าแต่มีความสบายใจ” กวินอธิบายซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่เขาทำคือ การวางระบบงานในรูปแบบบริษัทที่สามารถเดินต่อเนื่องได้แม้ผู้บริหารมีปัญหาหรือไม่อยู่


    ปัจจุบันบิทาซซ่ามีพนักงานกว่า 100 คน กระจายความรับผิดชอบ เก็บข้อมูลความเคลื่อนไหวและความต้องการตลาด และมีคนพร้อมรองรับที่จะบริการลูกค้าในเรื่องต่างๆ และให้บริการแบบ 24 ชม. การแลกเหรียญดิจิทัลกลับมาเป็นเงินสดพร้อมนำเข้าบัญชีลูกค้าสามารถทำได้ในวันเดียว

    ทีมงานและการทำงานของบิทาซซ่าเป็นโมเดลแบบคนรุ่นใหม่ ไม่ได้ยึดติดสถานที่สามารถทำงานได้จากทุกที่ แต่เขาก็มีสำนักงานให้ลูกค้าได้ติดต่ออย่างสบายใจ ที่อาคารชาญอิสระ 2 และโฮมออฟฟิศขนาดใหญ่ในซอยเอกมัย 26 และเขายังทำ metaverse office เป็นสำนักงานเสมือนให้ทีมงานเข้ามาทำงาน แทนที่จะเป็นการประชุมออนไลน์แบบทั่วๆ ไปด้วย


​ภาพ: Bitazza

อ่านเพิ่มเติม:

>> เชน เหล่าสุนทร “WPH” โตแบบยักษ์เล็ก

>> ดาวเด่นจากทำเนียบ Forbes 30 Under 30 Asia 2022 ตอนที่ 2


คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกันยายน 2565 ในรูปแบบ e-magazine