เอเชียแปซิฟิกคือภูมิภาคแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 และน่าจะเป็นภูมิภาคสุดท้ายที่กลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง ท่ามกลางความท้าทายมากมายตลอดปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ข้อจำกัดด้านการเดินทางไปจนถึงห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก ในซีกโลกตะวันออกแห่งนี้การดำเนินธุรกิจได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง
แม้จะเผชิญความท้าทายต่างๆ นานา แต่ก็หยุดเหล่าผู้ประกอบการรุ่นเยาว์ทั่วภูมิภาคไม่ได้ พวกเขาได้ทดลองไอเดียใหม่ๆ สานต่อความสำเร็จ และบางรายยังสามารถก่อตั้งกิจการขึ้นมาเป็นของตนเอง บรรดาผู้ที่ติดทำเนียบ 30 Under 30 Asia สร้างสรรค์ผลงานไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมการให้บริการด้านอี-คอมเมิร์ซและการศึกษาออนไลน์ ตลอดจนการพัฒนาพื้นที่ Web3 ด้วยวิสัยทัศน์แบบหัวก้าวหน้า มีความมุ่งมั่นและมองโลกในแง่ดี พวกเขากำลังวาดภาพอนาคตโฉมใหม่ให้เกิดขึ้นกับธุรกิจและสังคมในทวีปเอเชีย
ในการจัดทำเนียบปีนี้มีผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อกว่า 4,000 ราย ซึ่งผู้สื่อข่าวของเราและคณะกรรมการผู้ทรงเกียรติได้ตรวจสอบและคัดเลือกจนเหลือ 300 คนสุดท้าย พบกับ 5 ดาวเด่นจากหมวดอุตสาหกรรม การผลิต และพลังงาน, การดูแลสุขภาพและวิทยาศาสตร์, เทคโนโลยีเพื่อผู้บริโภค, มีเดีย การตลาด และโฆษณา และเทคโนโลยีสำหรับองค์กร ของทำเนียบ Forbes 30 Under 30 แห่ง Asia ประจำปี 2022 ได้ในตอนที่ 2
KEVIN ZHANG
อายุ: 28 ปี • ผู้ก่อตั้ง Inteluck • ฟิลิปปินส์
หมวด: อุตสาหกรรม การผลิต และพลังงาน
Kevin Zhang กำลังเร่งขยายธุรกิจ Inteluck สตาร์ทอัพด้านโลจิสติกส์ของเขาที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในสิงคโปร์ไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากที่ปักหลักในฟิลิปปินส์ได้แล้วในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา Zhang ผู้มาจากจีนเริ่มก่อตั้งบริษัทโลจิสติกส์แห่งนี้ที่ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนในปี 2014 หลังจากเขาเดินทางไปฟิลิปปินส์เพื่อประเมินโอกาสการลงทุนที่ครอบครัวของเขากำลังศึกษาอยู่ และระหว่างอยู่ที่นั่น Zhang ก็เห็นโอกาสทำธุรกิจในประเทศหมู่เกาะแห่งนี้ซึ่งวงการโลจิสติกส์ยังแตกเป็นรายเล็กรายน้อย
Inteluck เริ่มต้นจากการเสนอโซลูชันเพื่อช่วยเหล่าบริษัทโลจิสติกส์ในการติดตามกลุ่มยานพาหนะของตัวเอง ต่อมา Inteluck ก็เริ่มมีบริการรถห้องเย็นขนส่งเค้กให้เครือร้านเบเกอรี่ของฟิลิปปินส์ชื่อ Goldilocks ปัจจุบันบริษัทนี้ช่วยให้ลูกค้าในฟิลิปปินส์ รวมถึง Asia Brewery ของเศรษฐีพันล้าน Lucio Tan, Coca-Cola และ Nestle สามารถจองรถบรรทุกของผู้ให้บริการโลจิสติกส์บุคคลที่ 3 ซึ่งลงทะเบียนไว้กับแพลตฟอร์มดิจิทัลของ Inteluck ได้ตามต้องการ
Zhang กล่าวว่ารายได้ของ Inteluck น่าจะเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าจนเป็น 70 ล้านเหรียญในปีนี้ โดยมีตัวสร้างรายได้ที่สำคัญคือ ฟิลิปปินส์และประเทศไทยซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่บริษัทเจาะเข้ามาในปีที่แล้ว “เราอยากเป็นบริษัทโลจิสติกส์แบบ B2B ที่ใช้เทคโนโลยีเป็นพื้นฐานรายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” Zhang กล่าว Inteluck เล็งจะขยายธุรกิจเข้าสู่เวียดนามและอินโดนีเซียในปีหน้า หลังจากระดมทุนซีรีส์ B ได้เงินมา 15 ล้านเหรียญจากนักลงทุนซึ่งรวมถึง East Ventures และ Creo Capital -- J.B
ภาพ: ADAM DEAN
SUN WEIJIE และ ZHANG LINFENG
อายุ: 28 และ 28 ปี • ผู้ร่วมก่อตั้ง DP Technology • จีน
หมวด: การดูแลสุขภาพและวิทยาศาสตร์
Sun Weijie และ Zhang Linfeng ได้ร่วมก่อตั้ง DP Technology ในปี 2018 เพื่อช่วยลดต้นทุนที่สูงที่บริษัทยาต้องเผชิญในการพัฒนายา โดย London School of Economics ประมาณการไว้ว่าต้องใช้เงินโดยเฉลี่ย 1.3 พันล้านเหรียญในการนำยาตัวหนึ่งๆ ออกสู่ตลาด ซึ่งรวมถึงต้นทุนในการวิจัย พัฒนา และการทดลองที่ล้มเหลว
ผู้ประกอบการรุ่นใหม่พยายามที่จะร่นขั้นตอนโดยใช้อัลกอริทึม DP Technology ซึ่งไม่เป็นบริษัทเภสัชกรรมได้ใช้ปัญญาประดิษฐ์ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลทางการแพทย์เพื่อวิเคราะห์ว่า ยาขนานไหนมีศักยภาพที่จะเป็นยาตัวใหม่
บริษัทสตาร์ทอัพแห่งนี้สร้างแบบจำลองอัลกอริทึมด้วยกลศาสตร์ควอนตัมตามคำบอกเล่าของ Sun และ Zhang คอมพิวเตอร์ที่เข้าใจสมการฟิสิกส์เหล่านั้นจะสามารถจำลองวิธีที่โปรตีนก่อโรคทำปฏิกิริยากับโมเลกุลต่างๆ จึงช่วยให้เราระบุวิธีรักษาที่เป็นไปได้ด้วยความแม่นยำที่สูงขึ้น “เราจำลองสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกใบจิ๋ว” Zhang หัวหน้านักวิทยาศาสตร์กล่าว “เราย้ายการทดสอบในห้องปฏิบัติการมาไว้ในยังคอมพิวเตอร์แทน”
Zhang และ Sun เจอกันที่ Peking University ของจีน พวกเขาลงเรียนคนละหลักสูตร Zhang เรียนด้านคณิตศาสตร์ ส่วน Sun เรียนด้านการบริหารจัดการ แต่พวกเขามักจะเล่นบาสเกตบอลด้วยกัน หลังจากเรียนจบ Sun ทำงานที่บริษัท VC ใน Beijing ชื่อ Will Hunting Capital ในขณะที่ Zhang เรียนต่อปริญญาเอก สาขาวิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์ที่มหาวิทยาลัย Princeton พวกเขาตัดสินใจเปิดธุรกิจร่วมกันหลังจากที่ Zhang เดินทางกลับจีนในปี 2018
ผู้ร่วมก่อตั้งกล่าวว่า ลูกค้าของ DP Technology นั้นมีทั้ง Hansoh Pharmaceutical ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง และ Wuxi Biortus Biosciences ซึ่งใช้ซอฟต์แวร์ของสตาร์ทอัพแห่งนี้วิจัยยาใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น บริษัทแบตเตอรี่ยักษ์ใหญ่อย่าง Contemporary Amperex Technology ก็เป็นลูกค้าของที่นี่เช่นกัน โดยใช้อัลกอริทึมที่พัฒนามาโดยเฉพาะในการวิเคราะห์สารเคมีและวิจัยวัสดุใหม่ๆ สำหรับผลิตแบตเตอรี่
“เราสอน AI ให้เข้าใจหลักการทางวิทยาศาสตร์” ซีอีโอ Sun กล่าว “เราสร้างแบบจำลองเพื่อประมวลปัญหาที่พบในอุตสาหกรรม”
ในเดือนมกราคม DP Technology ระดมทุนได้หลายสิบล้านเหรียญในรอบซีรีส์ B จากนักลงทุนซึ่งรวมถึง Qiming Venture Partners และ Source Code Capital โดย Sun กล่าวว่า เป้าหมายต่อไปคือ การหาลูกค้าเพิ่ม “สำหรับวงการเภสัชกรรม เรากำลังมุ่งเน้นไปที่การค้นหายาใหม่ๆ สำหรับรักษาโรคเกี่ยวกับเนื้องอก ระบบประสาท และภูมิคุ้มกัน” เขากล่าว -- Yue Wang
ภาพ: FANG YAN
RISA FENG
อายุ: 27 ปี • ผู้ร่วมก่อตั้ง BUD • จีน
หมวด: เทคโนโลยีเพื่อผู้บริโภค
หลังจากที่คาดการณ์ไว้ว่า metaverse จะก้าวขึ้นมามีบทบาท Risa Feng ปัจจุบันเธอนั่งเป็นซีอีโอได้ร่วมก่อตั้ง BUD ขึ้นในปี 2019 เพื่อเพิ่มประสบการณ์ทางสังคมในรูปแบบใหม่ ผู้ที่ใช้แอปฟรีนี้สามารถสร้างและแลกเปลี่ยนเนื้อหา 3 มิติ เช่น อวตารและข้าวของน่ารักกุ๊กกิ๊กด้วยการลากแล้ววาง พวกเขายังสามารถหาเพื่อนพูดคุยและชวนกันเล่นเกมต่อสู้ออนไลน์ในโหมดเอาชีวิตรอดที่เพิ่งเพิ่มเข้ามา
หลังจากการเปิดตัวแอปในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว Feng ได้เปิดตัว BUD ในร้านแอปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว เธอปฏิเสธที่จะเปิดเผยจำนวนผู้ใช้งานในปัจจุบัน แต่ข้อมูลของแพลตฟอร์มวิเคราะห์อย่าง Sensor Tower ระบุว่า มีการดาวน์โหลดแอป 12.5 ล้านครั้งจาก Google Play ทั่วโลก เธอกล่าวว่า “ตั้งแต่ข้อความ รูปภาพ ไปจนถึงวิดีโอ คนทุกรุ่นเข้าถึงได้ด้วยสื่อที่ตนเองชอบใช้”
“แล้วทำไมเนื้อหา 3 มิติแบบโต้ตอบได้จะกลายเป็นแพลตฟอร์มสื่อกระแสหลักสำหรับคนรุ่นต่อไปไม่ได้ล่ะ” Feng ผู้เกิดในจีนมีความเชี่ยวชาญที่จะพา BUD ไปได้ไกลกว่านั้น หลังจากจบปริญญาตรี สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์และคณิตศาสตร์จาก Cornell University เธอเข้าทำงานที่ Snap ในสหรัฐฯ ในปี 2017 ในตำแหน่งวิศวกรกับทีมเทคโนโลยี AR เธอทำงานด้านฟิลเตอร์ยอดนิยมของแอปรับส่งข้อความมากมาย รวมถึงฟิลเตอร์สลับเพศด้วย
เธอได้ร่วมมือกับ Shawn Lin อดีตเพื่อนร่วมงานที่ Snap และใช้เวลาเกือบ 2 ปีในการปลุกปั้น BUD จากนั้นทั้งคู่ก็โน้มน้าวนักลงทุนรวมถึง GGV Capital และ Qiming Venture Partners ให้ลงเงิน 15 ล้านเหรียญให้กับรอบซีรีส์ A+ ของ BUD ในเดือนกุมภาพันธ์ ตามด้วยรอบซีรีส์ B ที่นำโดย Sequoia India ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งระดมทุนได้เกือบ 37 ล้านเหรียญ สตาร์ทอัพแห่งนี้ซึ่งปัจจุบันทำงานจากเมือง Shenzhen ซึ่งเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีของจีนจะตั้งสำนักงานใหญ่ของตัวเองในสิงคโปร์ในปีนี้ บริษัทกล่าวว่า เงินทุนที่เพิ่งได้มานั้นจะใช้ในการขยายตัวไปในต่างประเทศ -- Y.W
ภาพ: COURTESY OF BUD
ROHAN NAYAK
อายุ: 29 ปี • ผู้ร่วมก่อตั้ง Pocket FM • อินเดีย
หมวด: มีเดีย การตลาด และโฆษณา
Rohan Nayak ใช้เวลาเดินทางไปกลับ 3 ชั่วโมงทุกๆ วันระหว่าง Gurgaon และ Noida ทำให้เขาก็เหมือนกับชาวอินเดียคนอื่นๆ ที่นึกอยากได้คอนเทนต์คุณภาพ มาฟังระหว่างการเดินทางเป็นอย่างมาก ไม่ถึง 4 ปีหลังจากที่เปิดตัว Pocket FM แอปสตรีมมิ่งใช้ฟังคอนเทนต์ต่างๆ คุยว่า มีผู้ใช้ประจำเป็นจำนวนมากกว่า 15 ล้านคนไปแล้ว
บริษัทแห่งนี้ร่วมก่อตั้งขึ้นโดย Nishanth KS และ Prateek Dixit (ทั้งคู่อายุมากกว่า 30 ปี) ขณะที่ Nayak มีหน้าที่ช่วยสร้างสรรค์คอนเทนต์ ซึ่งปัจจุบันสามารถใช้สตรีมมิ่งได้มากกว่า 100,000 ชั่วโมงในรูปแบบขนาดยาวในหัวข้อต่างๆ จากหมวดบันเทิงไปถึงหมวดการศึกษาผ่าน 8 ภาษาด้วยกันคือ อังกฤษ เบงกอล ฮินดี กันนาดา มลยาฬัม ทมิฬ และเตลูกู
ทั้งนี้ Nayak บอกว่า โดยปกติแล้วผู้ใช้จะใช้เวลา 100 นาทีในทุกๆ วันฟังคอนเทนต์ของ Pocket FM จนถึงปัจจุบันบริษัทจากเมือง Bangalore แห่งนี้สามารถระดมทุนได้ 94 ล้านเหรียญจากบรรดานักลงทุนอย่าง Goodwater Capital, Tanglin Venture Partners และ Lightspeed India Partners และหลังจากใช้เวลามุ่งไปกับการพัฒนาคอนเทนต์ในช่วงไม่กี่ปี่ที่ผ่านมา Noyak บอกว่า เป้าหมายต่อไปคือ จับกลุ่มผู้ฟังที่เป็นสมาชิกแบบจ่ายเงินให้ได้ 10% -- Ramakrishnan Narayanan
ภาพ: ABHISHEK BALI
KOSUKE MITARAI
อายุ: 27 ปี • ผู้ร่วมก่อตั้ง QunaSys • ญี่ปุ่น
หมวด: เทคโนโลยีสำหรับองค์กร
คอมพิวเตอร์เชิงควอนตัมน่าจะสร้างสิ่งๆ ดีให้เกิดขึ้นได้อย่างมหาศาล อย่างเช่นการประมวลผลข้อมูลที่ทำได้รวดเร็วกว่าแบบเก่าเอามากๆ ซึ่งเป็นผลมาจากควอนตัมบนปฏิบัติการเชิงฟิสิกส์ แต่คำถามที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ มันยังมีปัญหาอยู่ใช่ไหม? คำตอบก็คือ ใช่ และ Kosuke Mitarai ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากบัณฑิตวิทยาลัยด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่ Osaka University ก็กำลังพยายามที่จะเอาชนะอุปสรรคเหล่านี้เพื่อให้คอมพิวเตอร์เชิงควอนตัมเกิดขึ้นให้ได้ในปี 2018 ขณะเป็นว่าที่ดุษฎีบัณฑิตสาขาวิศวกรรมศาสตร์ เขาได้ร่วมก่อตั้งบริษัทผลิตซอฟต์แวร์สำหรับคอมพิวเตอร์เชิงควอนตัมที่ชื่อ QunaSys
เขากล่าวว่า เครื่องควอนตัมจะพยายามช่วยแก้ไขปัญหาแบบเจาะจงทางด้านฟิสิกส์และเคมี เช่น สามารถเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ว่า พืชต่างๆ ได้เปลี่ยนพลังงานแสงไปเป็นพลังงานเคมีได้อย่างไร สิ่งนี้จะนำไปสู่การสังเคราะห์แสงประดิษฐ์ที่มีศักยภาพพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนรูปของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปเป็นเชื้อเพลิง
จนถึงวันนี้ QunaSys สามารถระดมทุนได้ 1.6 พันล้านเยน (12.4 ล้านเหรียญ) ซึ่งผู้สนับสนุนยังรวมไปถึงบริษัทลงทุนของ Fujitsu ซึ่งเป็นผู้ผลิตซูเปอร์คอมพิวเตอร์สัญชาติญี่ปุ่น “มีการคาดกันไปต่างๆ นานาว่า ความก้าวหน้าของคอมพิวเตอร์เชิงควอนตัมจะใช้ได้ในโลกจริงในอีก 5-10 ปีข้างหน้า เป้าหมายของเราก็คือ มันจะกลายเป็นซอฟต์แวร์มาตรฐานใช้ได้จริงอย่างไม่เป็นทางการ และเก็บรวบรวมไว้ในโปรแกรมมาตรฐานของคอมพิวเตอร์ให้ทุกคนได้ใช้” เขากล่าว
แล้วเขาก็ประสบความสำเร็จในการเปิดตัวอัลกอริทึมสำหรับใช้กับการเรียนรู้ของเครื่องเชิงควอนตัมชิ้นแรกของโลก โดยสามารถใช้กับคอมพิวเตอร์เชิงควอนตัมแบบเจาะจงที่รู้จักกันในชื่อ NISQ เพื่อช่วยลดการประมวลผลผิดพลาด โดยงานวิจัยนี้ได้การอ้างอิงเกือบ 550 ครั้งตั้งแต่ปี 2018 ส่งผลให้งานชิ้นนี้อยู่ในระดับอ้างอิงสูงสุดที่ 1% ในสายวิจัยนี้และยังเก็บไว้ในคลังการเรียนรู้ของเครื่องเชิงควอนตัมของ Google และบริษัทอื่นๆ ได้นำอัลกอริทึมนี้ไปปรับใช้ -- James Simms
ภาพ: SIMON BONNY
บรรณาธิการ: RANA WEHBE WATSON เรียบเรียง: รัน-รัน, ธรรดร โสถิอำรุง, พินน์นรา วงศ์วิริยะ และ บำรุง อำนาจเจริญฤทธิ์
วิจัยและรายงาน: Jonathan Burgos, Karsha Green, John Kang, Danielle Keeton-Olsen, Loan Khong, Suzanne Nam, Ramakrishnan Narayanan, Yessar Rosendar, James Simms, Catherine Wang, Yue Wang, Jennifer Wells, Ardian Wibisono และ David Yin
*จุดตัดวันเกิดในการคัดเลือกคือวันที่ 31 ธันวาคม 1991
อ่านเพิ่มเติม:
>> ดาวเด่นจากทำเนียบ Forbes 30 Under 30 Asia 2022 ตอนที่ 1
>> ลูกตุ้มยักษ์เงินสหรัฐฯ แข็งค่าและผลต่อตลาดเอเชีย