กวิน กาญจนพาสน์ Tycoon “กินแบ่ง” - Forbes Thailand

กวิน กาญจนพาสน์ Tycoon “กินแบ่ง”

กวิน กาญจนพาสน์ ทายาทธุรกิจรถไฟฟ้า BTS ยังคงยืนเคียงบ่าเคียงไหล่ช่วย คีรี กาญจนพาสน์ บิดาของเขาผู้ให้กำเนิดโครงการรถไฟฟ้าสายแรกของประเทศไทย สานต่อภารกิจจาก “บนฟ้า” ผลักดันต่อขยายระบบเครือข่ายขนส่งมวลชนให้กับประเทศ ด้วยมูลค่าการลงทุนหลายแสนล้านบาทพร้อมไปกับการพัฒนารูปแบบธุรกิจยุคใหม่ และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของ VGI บริษัทสื่อโฆษณาที่เขาเป็นผู้ริเริ่ม ให้เหนือชั้นและแตกต่าง

แตกต่างจากทายาทธุรกิจหลายๆ คน กวินเริ่มปฐมบทการทำธุรกิจบนเส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เขาต้องลาออกจากการเรียนวิศวกรรมโยธาปีสุดท้ายที่ประเทศอังกฤษอย่างกะทันหันในปี 2541 เมื่อถูกคีรีเรียกตัวให้บินมาเมืองไทยเพื่อช่วยกันผลักดันโครงการรถไฟฟ้าที่กลุ่มธนายงชนะประมูลในปี 2535 ให้เปิดดำเนินการให้ได้ ท่ามกลางมรสุมพิษเศรษฐกิจจากวิกฤต “ต้มยำกุ้ง” BTS เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้สำเร็จในปี 2542 กลุ่มธนายง [ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (BTSG)] ต้องใช้เวลาถึงเกือบ 10 ปีกว่าจะสามารถฟื้นฟูกิจการและนำาเอาบริษัทออกจากกระบวนการฟื้นฟูของศาลได้ในปี 2551 ประสบการณ์ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้กวินกลายเป็นคนที่ “conservative” และกลัวความเสี่ยง ตรงข้ามกับคีรีผู้พ่อผู้ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “ไฟเตอร์” ที่ไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ (ซึ่งนั่นทำให้เขาเข็นโครงการรถไฟฟ้า BTS ออกมาได้ในที่สุด แม้ว่าจะประสบปัญหานานาประการตั้งแต่ก่อนและหลังเปิดดำเนินการ) “That’s why ผมถึงอายุ 44 แต่เหมือนอายุ 60 แล้ว กลัวทุกอย่าง กลัวความเสี่ยงมากๆ ทุกคนก็รู้ คุณคีรีกับผม ผมเป็นคนกลัวความเสี่ยงมากสุด ปกติไม่ใช่กลับกันใช่ไหม คุณพ่อก็ต้องเป็นคนที่...เฮ้ยอย่าช้าๆ นะ... conservative เกินที่เขาคิด เวลาผมมองทุกอย่าง 5-10 ปียังน้อยไป ต้องเกิน 10 ปี เพราะเราอยู่โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าหรือขนส่ง สำหรับ BTS 20 ปี สำหรับผมมันสั้นมากๆ” กวินบอก Forbes Thailand อย่างตรงไปตรงมาในระหว่างการสัมภาษณ์ 2 ชั่วโมงเต็มที่ ยู สาธร หนึ่งในโรงแรมของกลุ่ม BTSG  

ตั้งเป้าโตขยายเส้นทางรถไฟฟ้า 4 เท่าตัว ลุยบิ๊กโปรเจกต์ EEC หลายแสนล้าน

ปัจจุบัน BTSG จัดโครงสร้างกิจการประกอบด้วย 4 ธุรกิจหลัก ได้แก่ 1. ธุรกิจระบบขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้า BTS) 2. ธุรกิจสื่อโฆษณา (ภายใต้ บมจ.วีจีไอ โกลบอล มีเดีย และ บมจ.มาสเตอร์ แอด) 3. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (ภายใต้ บมจ.ยู ซิตี้) และ 4. ธุรกิจบริการ ซึ่งมีกิจการหลากหลายตั้งแต่บริษัทรับเหมาก่อสร้าง บริษัทพัฒนาระบบและซอฟต์แวร์ ไปจนถึงโปรแกรมสะสมคะแนน Rabbit Rewards และร้านอาหารจีน Chef Man ภาพรวมกลุ่ม BTSG ในการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลายครั้งในช่วงปีผ่านมา คีรี ในฐานะประธานกรรมการ BTSG ย้ำถึงความมั่นใจในภาพรวมของเครือที่มีความมั่นคง แข็งแกร่งมากขึ้น ด้วยเป้าหมายรายได้และกำไรเติบโตเฉลี่ย 25% ต่อปีในช่วง 5 ปีข้างหน้าโดยในส่วนของธุรกิจรถไฟฟ้านั้น บริษัทตั้งเป้าการขยายเส้นทางระบบเครือข่ายรถไฟฟ้าเติบโต 4 เท่าตัวจาก 48.9 กิโลเมตร (40.2% ของเครือข่ายรถไฟฟ้าทั้งหมดในประเทศ) ในปี 2561 เพิ่มเป็น 215 กิโลเมตร ในปี 2566 ซึ่งในจำนวนนี้ 133.7 กิโลเมตรเป็นเส้นทางที่ได้รับอนุมัติสัญญาจากทางการแล้ว BTSG มองโอกาสในการได้สัญญาสัมปทานในโครงการรถไฟฟ้าอีก 81.2 กิโลเมตร จากเส้นทางทั้งหมด 206.6 กิโลเมตรที่กรุงเทพมหานคร การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (MRTA) และการรถไฟแห่งประเทศไทย คาดว่าจะมีการเปิดประมูลและเปิดดำเนินการภายในปี 2566  

ทุ่ม 1.4 หมื่นล้านซื้อกิจการ ปั้น VGI โตบน 3 แพลตฟอร์ม

ประสบการณ์ในต่างแดนที่ได้เห็นระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในฮ่องกงและประเทศอื่นๆ ที่มีระบบรถไฟฟ้าก่อนไทย ทำให้เขาเห็นโอกาสในการต่อยอดธุรกิจรถไฟฟ้าของ BTSG จึงได้ริเริ่มจัดตั้งบริษัท วีจีไอ โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) (VGI) เพื่อทำธุรกิจสื่อโฆษณาบนเส้นทางรถไฟฟ้า BTS ที่วิ่งผ่านใจกลางเมืองกรุงเทพฯ ในปี 2542 “ไม่ได้ตั้งใจสักเท่าไร กลับจากฮ่องกงไม่มีอะไรทำ พูดตรงๆ BTS ทำเสร็จแล้ว อสังหาฯเจอวิกฤต ธนายงต้องเข้าไปฟื้นฟู” กวิน กล่าวถึงจุดเริ่มต้นในการเปิด VGI ของเขา VGI จึงเป็นผลงานที่กวินภูมิใจจากการเป็นผู้ริเริ่มสร้างขึ้นมาจากจุดเล็กๆ ที่เดิมไม่มีใครมองเห็น (ระบบรถไฟฟ้า BTS ที่สร้างตอนเริ่มแรกไม่มีการวางระบบไฟฟ้าประปา เตรียมไว้รองรับการใช้ประโยชน์บนพื้นที่สถานี) จนมาเป็นผู้นำาในธุรกิจสื่อโฆษณานอกบ้าน (Out of Home Media) ที่มีส่วนแบ่งการตลาดและมูลค่าหลักทรัพย์(มาร์เก็ตแคป) อันดับ 1 ในประเทศไทยและมีอัตราส่วนกำไรสูงที่สุดเป็นอันดับ 2ในเอเชีย โดยกวินให้เครดิตอย่างสูงกับ Nelson Leung ซีอีโอ VGI อดีตเพื่อนร่วมชั้นเรียนสมัยวัยรุ่นที่ฮ่องกง ในฐานะผู้สร้างและพัฒนา Rabbit Card ขึ้นมาตั้งแต่เริ่มแรก “VGI มีกำไรโดยไม่ต้องเบิร์นเงิน” ผลประกอบการ BTS ผลประกอบการ VGI

ปรับทัพ MACO เป็นหัวหอกรุกอาเซียน

นอกจากนี้ในส่วนของสื่อกลางแจ้งที่ดำเนินการโดย บมจ.มาสเตอร์ แอด (BTSG ถือหุ้น 31.7%) แรงขับเคลื่อนการเติบโตจะมาจากการชิฟต์ไปสู่สื่อดิจิทัลและการให้บริการดิจิทัลโซลูชั่น การเชื่อมโยงสื่อในมัลติ-แพลตฟอร์มและฐานข้อมูลบิ๊กดาต้า(Offline-to-Online หรือ O2O โซลูชั่น) การแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจ และการขยายไปตลาดต่างประเทศ ซึ่งในปี 2561 ได้มีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับ Sinarmas Group กลุ่ม conglomerate ยักษ์ใหญ่จากอินโดนีเซีย และมีการจัดโครงสร้างใหม่ในกลุ่ม BTSG เพื่อให้ MACO เป็นหัวหอกในการรุกตลาดสื่อโฆษณาของกรุ๊ปในอาเซียน ตามแผนธุรกิจ 3 ปีของ VGI บริษัทตั้งเป้าเติบโตของรายรับเฉลี่ย 35% ต่อปีและกำไรสุทธิ 30% ต่อปี เพื่อบรรลุเป้าหมายยอดรายได้ 1 หมื่นล้านบาท และกำไรสุทธิ2 พันล้านบาทภายในปี 2563/64 เพื่อรองรับเป้าหมายนี้บริษัทจะต้องเพิ่มจำนวนแผ่นป้ายโฆษณาในระบบดิจิทัลอีก 40% เพิ่มจำนวน สมาชิก Rabbit Rewards เป็น 10 ล้านคน จำนวนธุรกรรมขนส่งพัสดุและสินค้าของ Kerry Express เป็น 2 ล้านครั้งต่อเดือน และจำนวนฐานข้อมูลลูกค้าเป็น 40 ล้านดาต้าพอยต์ ที่มีความลึกและมีมิติเพียงพอในการทำทาร์เก็ตมีเดียได้ อย่างไรก็ตามกวินชี้ว่าปัจจุบันจำนวนสมาชิกแรบบิทเพิ่มเป็นกว่า 5 ล้านคนแล้ว กลุ่มธุรกิจโรมแรงของ ฺBTS Holding Group

ย้ำโมเดลสร้าง “พันธมิตร”

ขยายธุรกิจโรงแรม อสังหาฯ กวินเล่าที่มาที่ไปของการเริ่มกิจการในกลุ่มโรงแรมว่า เกิดขึ้นหลังจากทำ VGI ได้ประมาณเกือบ 10 ปี ธุรกิจซึ่งตอนนั้นยังเป็นป้ายโฆษณาแบบดั้งเดิมเริ่มอยู่ตัวแล้วประกอบกับขณะนั้นธนายงเพิ่งออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ และคีรีแต่งตั้งให้เขาเป็นซีอีโอจึงมองไปที่ธุรกิจที่อิงกับแบรนด์ เช่น โรงแรมเพราะถ้าทำธุรกิจอสังหาฯ ทั่วไปจะต้องใช้เงินจำนวนมาก “ตอนนั้นธนายงออกจากการฟื้นฟู ข้างในไม่มีอะไรแล้ว เราต้องคิดใหม่ว่าจะต้องทำอะไร บริษัทไม่กี่พันล้านบาท ทุนก็ไม่มีเท่าไหร่เป็นไปไม่ได้ที่จะไปซื้อของที่ดีๆ มา เพราะอสังหาฯ ส่วนใหญ่ใช้เงินเยอะ ตอนนั้นผมอยากทำแบรนด์มากกว่า มั่นใจว่าพีอีต้องถูกถ้าเข้าตลาดได้ สองต้นทุนต่ำ มันเหมาะกับธนายงตอนนั้น ผมก็ไปหาพันธมิตรเพราะผมทำแบรนด์ไม่เป็น ก็คือ Jonathan” แต่เมื่อพบว่า “ค่าตัว” ของ Jonathan Wigley นั้นสูงไม่น้อย และจับความรู้สึกได้ว่าฝรั่งคนนี้ซึ่งเป็นอดีตผู้บริหารไมเนอร์ กรุ๊ป ที่ร่วมบุกเบิกแบรนด์อนันตรา และ JW Marriot ให้กับ Bill Heinecki มาก่อน อาจจะไม่อยากเป็นลูกจ้างใครอีกแล้ว เขาจึงเปลี่ยนแนวหันมาชักชวนให้ Wigley ร่วมทุนบุกเบิกธุรกิจโรงแรมกับกลุ่ม BTSG แทน โดยอาศัยทักษะและประสบการณ์ชีวิตที่ได้จากการได้ไปเรียนอยู่ในโรงเรียนกินนอนที่อังกฤษเป็นเวลา 5 ปีที่ เขาบอกว่าเป็นประสบการณ์ที่มีค่าที่สุดในชีวิตเพราะได้มีโอกาสคบหาสมาคม รู้จักนิสัยใจคอของคนหลากหลายเชื้อชาติ วัฒนธรรม “เหมือนขายประสบการณ์… ที่ผมคุยกับฝรั่งใน boarding school เรื่องจริง ผมคุยกับคนเยอะ รู้ว่าเขาชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ถ้าเขาชอบ ไม่อยากเป็นพนักงานเรา เขาอยากเป็นเจ้าของ ไม่เป็นไร ธนายงกับยู join กัน 50:50 รับปาก 2 อย่าง ตั้ง 2 แบรนด์ คือแบรนด์ ยู ซึ่งเขาเสนอ และแบรนด์ Travelodge Hotels ทุกๆ แบรนด์ผมจะสร้าง 1 โรงให้ แล้วยูจะทำอะไรก็ได้… บริษัทนี้ผมจำได้ว่าเขาใส่ 4 ล้านผมใส่ 4 ล้าน รวมทุน 8 ล้าน กำไร 70-80ล้านบาท asset light ปีหนึ่งเจอเขา 3-4 ครั้ง”

“กินแบ่ง” และรู้จักพอ

กวินกล่าวว่าประสบการณ์จากวิกฤตเศรษฐกิจทำให้เขารู้สึก “แก่เกินวัย” เหมือนคนอายุ 60 ปี และเนื่องจากวันนี้ BTSG อยู่ในจุดที่สามารถ “เลือกได้” ว่าจะทำหรือ ไม่ทำอะไร เขาจึงพร้อมที่จะเลือก “ไม่ทำ” ไว้ก่อนเสมอ หากรู้สึกว่าธุรกิจนั้นๆ ไม่ได้อยู่ในจุดที่ “เหนือกว่า” อย่างเพียงพอ โดยสามารถประคองตัวให้อยู่ในสถานะที่ดีกว่าคนอื่นในภาวะวิกฤตได้ “ภายในโลกนี้ ผมว่าทุกอย่างมีขึ้นมีลงคุณเก่งขนาดไหน เมื่อไหร่ที่ลงคุณก็ต้องโพรเทคตัวเองได้ เมื่อไหร่อยู่ในสังคมธุรกิจยูลงแรงกว่าเขา ยูจะไม่มี bargaining power สำหรับผม ผมไม่ชอบ ผมชอบที่สุดคือ either ผมเลือกที่จะไม่ทำ แต่สมมติผมทำก็ต้องอยู่ใน upper hand ที่คิดว่าปลอดภัย ผมต้องมี bottom line ของผมแต่ bottom line ของผมส่วนใหญ่ตั้งต่ำ that’s why คุณก็อยากร่วมกับผม ไม่ต้องเจรจา แต่บางคนชอบอยู่ตรงนี้ก่อน (ชี้นิ้วขึ้นข้างบน) แล้วค่อยๆ เจรจา อย่างนั้นเบื่อ...ชอบอะไรที่แบบเร็วๆ” ภาพ: ชัยสิทธิ์ จุนเจือดี และ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ https://www.youtube.com/watch?v=4s77l5VEn5o&feature=youtu.be  
คลิกเพื่อฉบับเต็ม "กวิน กาญจนพาส Tycoon กินแบ่ง" ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ พฤษภาคม 2562 ในรูปแบบ e-Magazine