กลุ่มคาราบาว ทุ่ม 4.5 หมื่นล้าน พลิกโฉมโชห่วย - Forbes Thailand

กลุ่มคาราบาว ทุ่ม 4.5 หมื่นล้าน พลิกโฉมโชห่วย

กลุ่มคาราบาว ตะวันแดง ทุ่ม 4.5 หมื่นล้านบาท รุกธุรกิจค้าปลีก สร้างแบรนด์ “ถูกดี มีมาตรฐาน” พลิกโฉมโชห่วย 5 หมื่นร้านค้าทั่วประเทศด้วยเทคโนโลยี และองค์ความรู้ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก สร้างฐานข้อมูลมหาศาล ต่อยอดธุรกิจคาราบาว กรุ๊ป ซีเจ เอ็กซ์เพรสในอนาคต

เสถียร เศรษฐสิทธิ์ ประธานกรรมการ บริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจร้านค้าปลีก “ถูกดี มีมาตรฐาน” ประธานกลุ่มคาราบาว กรุ๊ป และซีเจ เอ็กซ์เพรส  และ มหาเศรษฐีลำดับที่ 20 ประจำปี 2564 จากการจัดอันดับโดย Forbes ได้เปิดเผยว่า กลุ่มคาราบาว เตรียมงบลงทุน 45,000 ล้านบาท สำหรับการดำเนินธุรกิจร้านค้าปลีก “ถูกดี มีมาตรฐาน” เป็นการลงทุนศูนย์กระจายสินค้ารวม 15 แห่งที่จะเปิดในปี 2565 เพื่อรองรับการเปิดร้านค้าปลีก “ถูกดี มีมาตรฐาน” ในปี 2565 จำนวน 30,000 ร้านค้า และปี 2566 จำนวน 50,000 ร้านค้า สำหรับปีนี้คาดว่จะเปิดประมาณ 8,000 สาขา “ผมทำคาราบาวแดงเกือบ 20 ปี เกี่ยวข้องกับร้านโชห่วยมากกว่า 4 แสนร้านค้า ปัญหาของร้านโชห่วยในปัจจุบัน คือไม่สามารถแข่งขันกับร้านค้าปลีกสมัยใหม่ได้ เพราะขาดทั้งเงินทุน องค์ความรู้และเทคโนโลยี ที่เราพร้อมจะเข้าไปลงทุนให้ในฐานะพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อทำให้ธุรกิจชุมชนเกิดความเข้มแข็ง และทำให้เศรษฐกิจฐานรากฟื้นตัว” เสถียรกล่าว เสถียร กล่าวว่า การทำธุรกิจร้านถูกดี อยู่ภายใต้แนวคิด “กินแบ่ง” ร้านค้าได้ส่วนแบ่งร้อยละ 85 บริษัทฯ ได้ร้อยละ 15 จากการทดลองเปิดร้านถูกดีฯ จำนวน 1,000 แห่ง แต่ละร้านมียอดขายเพิ่มขึ้น เฉลี่ยอยู่ที่ 15,000 บาทต่อวัน จากที่ผ่านมา บางร้านมียอดขาย 2,000 – 3,000 บาทต่อวัน บริษัทประเมินแล้วว่าถ้าร้านค้าสามารถยอดขายได้ประมาณ 15,000 บาทต่อวัน จะมีกำไรประมาณ 4 หมื่นบาทต่อเดือน สามารถดำเนินธุรกิจได้ ซึ่งขณะนี้มีร้านค้าสนใจเข้าร่วมโครงการอีกประมาณ 1,000 ร้านค้า ในไตรมาส 4 บริษัทจะเริ่งเปิดให้ได้เดือนละ 2,000 ร้านค้า เพื่อให้ครบ 8,000 ร้านค้าในปีนี้ และคาดว่าจะมีรายได้รวม 15,000 ล้านบาท ต่อยอดธุรกิจคาราบาวกรุ๊ป เสถียร กล่าวว่า การลงทุนธุรกิจร้านค้าปลีกถูกดี มีมาตรฐานครั้งนี้ แยกจากกันกับธุรกิจเครื่องดื่มคาราบาว ตะวันแดง และซีเจ ซุปเปอร์มาร์เก็ต แต่มีส่วนเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน เป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าเครื่องดื่มในกลุ่มคาราบาวแดง ขณะที่ธุรกิจซีเจ ซุปเปอร์มาร์เก็ต จะเป็นร้านค้าปลีกอีกรูปแบบหนึ่งที่จะไม่เปิดร้านแข่งขันกัน โดยซีเจ มีทีมงาน การบริหารแยกจากกันโดยเด็ดขาด มุ่งการเป็นคอมมูนิตี้ มอลล์ระดับอำเภอ และมีแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายในปี 2565 “สิ่งที่เราจะได้จากร้านถูกดี มีมาตรฐาน คือการเป็นเครือข่ายร้านค้าปลีกในชุมชน เป็นจุดขาย และเป็นจุดศูนย์รวมทุกอย่าง Point of Everything ซึ่งต่อไปจะมีสินค้าและบริการ เช่น ตู้เอทีเอ็ม จุดบริการเติมเงิน จุดรับ-ส่งสินค้าจากผู้ขายออนไลน์ ซึ่งพฤติกรรมอย่างหนึ่งที่เราพบ คือคนชอบซื้อสินค้าใกล้บ้าน และยิ่งในสถานการณ์โควิดคนยิ่งไม่อยากไปไกล” เสถียรกล่าวและว่า การเป็น Point of Everything ของร้านถูกดีฯ การเป็นศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน จะช่วยต่อยอดการดำเนินธุรกิจใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และยิ่งปริมาณคนที่เข้ามาใช้บริการวันละ 170-180 คนต่อวัน จะทำให้ได้ฐานข้อมูลมหาศาล ที่จะสามารถนำมาต่อยอดการพัฒนาสินค้าและบริการของคาราบาวกรุ๊ปต่อไปในอนาคต และที่สำคัญเป็นการช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้กลับมาเข้มแข็ง และยั่งยืน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกและเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว เสถียร กล่าวว่า ปัจจุบัน คาราบาวกรุ๊ป รับคนหนุ่ม สาว อายุประมาณ 30 ปี เข้ามาทำงาน 300 – 400 คน เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งคนรุ่นนี้เติบโตมากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ การใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจถือเป็นเรื่องสำคัญ คนเหล่านี้จะสามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อรับมือกับการแข่งขัน และสามารถต่อยอดธุรกิจในอนาคตได้ “วันนี้ การทำธุรกิจต้องมองไปในอนาคต 3–5 ปีข้างหน้าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คนหนุ่ม สาวเหล่านี้จะเป็นกุญแจไขปัญหาไปทีละดอกว่าธุรกิจจะคลี่คลายอย่างไร อย่างธุรกิจโชห่วย เราเคยคิดว่ามันจะล่มสลาย แต่โมเดลธุรกิจร้านถูกดี เรานำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ ทำให้ชุมชนเข้มแข็งได้ บวกกับความเป็นเจ้าของธุรกิจของร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม จะช่วยทำให้ธุรกิจอยู่ได้อย่างยั่งยืน” เสถียรกล่าว อ่านเพิ่มเติม: บรรเทิง ว่องกุศลกิจ “MITR PHOL” ไร่อ้อยยั่งยืนต่อยอด Bioeconomy    
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine