บรรเทิง ว่องกุศลกิจ “MITR PHOL” ไร่อ้อยยั่งยืนต่อยอด Bioeconomy - Forbes Thailand

บรรเทิง ว่องกุศลกิจ “MITR PHOL” ไร่อ้อยยั่งยืนต่อยอด Bioeconomy

ท่ามกลางเป้าหมาย SDGs (Sustainable Development Goals) ที่เรียกว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อที่สหประชาชาติวางเป็นทิศทางการพัฒนาของโลกมาตั้งแต่ปี 2558 ทว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนในหลายธุรกิจดำเนินการมาก่อนหน้านั้น เช่น กลุ่มมิตรผลผู้พลิกผืนดินสร้างโอกาสชาวไร่อ้อยและธุรกิจน้ำตาลเติบโตคู่กันได้อย่างชัดเจนและส่งต่อมาถึง บรรเทิง ว่องกุศลกิจ เจเนอเรชั่นที่ 3

“ผมเป็นเจเนอเรชั่นที่ 3 ทำงานกับมิตรผลมา 40 ปี เพิ่งก้าวมารับตำแหน่งนี้ได้ราว 2 เดือน” บรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มมิตรผล ออกตัวในการให้สัมภาษณ์ทีมงาน Forbes Thailand เมื่อกลางเดือนมีนาคม ปี 2564 ซึ่งตอนนั้นเขาเพิ่งรับช่วงต่องานบริหารมาจาก อิสระ ว่องกุศลกิจ คุณลุงซึ่งเป็นผู้นำธุรกิจเจเนอเรชั่น 2 ผู้สร้างการเติบโตให้กับอาณาจักรมิตรผลยืนหนึ่งในอุตสาหกรรมน้ำตาลของไทย เติบโตควบคู่มากับคู่ค้าลูกไร่ด้วยการทำมาค้าขายที่เป็นธรรม ไม่เอาเปรียบคู่ค้าและพันธมิตร “คุณพ่อผมมักพูดเสมอว่า อย่าโกงตราชั่งชาวไร่นะกว่าเขาจะปลูกอ้อยได้มันเหนื่อย” เป็นประโยคจำที่ส่งผ่านรุ่นต่อรุ่น เพื่อปลูกฝังทายาทมิตรผลทุกคนให้รักษาความซื่อตรงในการค้าขายที่ยังคงยึดมั่นถึงปัจจุบัน ชาวไร่อ้อยคือ ต้นกำเนิดของธุรกิจในกลุ่ม “มิตรผล” กิจการเกษตรอุตสาหกรรมของครอบครัว “ว่องกุศลกิจ” ที่ดำเนินต่อเนื่องมายาวนานถึง 65 ปี จากรุ่นบุกเบิกในฐานะชาวไร่อ้อยที่ จ. ราชบุรี เริ่มต้นด้วยพื้นที่ 10 ไร่ ก้าวสู่อาณาจักรไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล ด้วยเครือข่ายพื้นที่ปลูกอ้อยกว่า 2 ล้านไร่ทั่วประเทศ และ 40,000 ไร่ของมิตรผลในพื้นที่ปลูกอ้อยหลักที่ อ. ด่านช้าง จ. สุพรรณบุรี ความพิเศษของกลุ่มเกษตรอุตสาหกรรมน้ำตาลรายนี้คือ แนวคิดการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนด้วยสโลแกน “ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ” ที่พิสูจน์ให้เห็นจากความสำเร็จของบรรดาลูกไร่ พันธมิตรคู่ค้าที่เติบโตก้าวหน้าจากชาวไร่ดั้งเดิมสู่เกษตรกรสมัยใหม่ smart farmer ที่บริหารไร่แบบ modern farm ใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรการเกษตรมาทำให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว  

เป้าหมาย Bioeconomy

นอกจากทำธุรกิจแล้ว มิตรผลยังทำการเกษตร เป็นกลุ่มธุรกิจที่เกิดมาจากการเป็นเกษตกร เติบโตมาจากครอบครัวที่ทำไร่อ้อยจึงมีความใกล้ชิดกับชาวไร่ เข้าใจความต้องการ เห็นถึงความลำบาก จึงมีความตั้งใจที่จะช่วยพัฒนาชาวไร่ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมีอาชีพที่มั่นคง และพยายามสร้างความเติบโตและพัฒนาชาวไร่ไปพร้อมๆ กับก้าวย่างการพัฒนาของบริษัทที่ดำเนินควบคู่กันมาตลอด “อ้อย” คือ วัตถุดิบต้นทาง และหลังจากเข้าสู่กระบวนการผลิตได้น้ำตาล เหลือกากในการผลิตสามารถนำไปต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์อื่น โดยอ้อยเป็นหัวใจหลักของการผลิต กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นคือก้าวย่างความสำเร็จที่เดินควบคู่กันไประหว่างมิตรผลและลูกไร่ที่เป็นทั้งพันธมิตรคู่ค้าและหุ้นส่วนสำคัญในวงจรธุรกิจ ซึ่งผู้นำมิตรผลมองว่า นับจากนี้ไปคงไม่ได้มีแค่น้ำตาล แต่จะต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อีกหลายกลุ่ม เป้าหมายของผู้นำมิตรผลคนใหม่คือ สร้างการเติบโตในธุรกิจที่ต่อยอดจากน้ำตาลไปสู่ธุรกิจพลังงานและอื่นๆ โดยมีปลายทางที่มุ่งหวังคือ biopharma ตามเทรนด์ความต้องการของโลก และพยายามพัฒนาไปสู่ bioeconomy value chain ด้วยการต่อยอดเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร ด้วยการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการแปรรูปสินค้าจากพืชเศรษฐกิจสู่สินค้าแปรรูปขั้นสูง โดยกลุ่มมิตรผลมุ่งมั่นที่จะพัฒนาต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้อ้อยและน้ำตาลเป็น value creation เพื่อมุ่งสู่ bioeconomy นำความรู้การวิจัยและพัฒนาเข้ามาเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับองค์กร และสร้างความมั่นคงทางอาชีพให้กับชาวไร่ไปในเวลาเดียวกัน “เราทำวิจัยและพัฒนามาตลอด 20 กว่าปีในการต่อยอดการผลิตอ้อยสู่น้ำตาล และต่อเนื่องไปยังผลิตภัณฑ์อื่นๆ เป้าหมายของเราอยากทำให้ถึง pharma grade” เป็นเป้าหมายการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องจากการผลิตน้ำตาลไปสู่ bioenergy, biochemical & materials (PLA/PBS), food & feed, cosmetics, nutrition, และ biopharma ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนว่าสัดส่วนรายได้ในอนาคตของกลุ่มมิตรผลย่อมเปลี่ยนไป แม้ยังไม่อาจระบุสัดส่วนใหม่ที่ชัดเจนได้ แต่แม่ทัพอาณาจักรน้ำตาลอันดับ 1 ก็ได้วางเป้าหมายเรื่องรายได้ไว้ชัดเจนว่า ภายในปี 2568 กลุ่มมิตรผลจะมีรายได้แตะยอด 1 แสนล้านบาท (ปัจจุบันอยู่ที่ 8.5 หมื่นล้านบาท) โดยปัจจุบันสัดส่วนรายได้ธุรกิจน้ำตาลมาจากการส่งออกร้อยละ 70 และขายในประเทศอีก 30

“มิตร” และ “ผล”

นั่นคือเป้าหมายตัวเลขทางธุรกิจ แต่นอกเหนือจากตัวเลขแล้ว แม่ทัพเจเนอเรชั่น 3 ย้ำว่าสิ่งที่มิตรผลทำมาตลอดคือ การพัฒนาความยั่งยืนร่วมกับคู่ค้าและพันธมิตร ตั้งแต่เริ่มตั้งองค์กรในยุคบุกเบิก โดยชื่อกลุ่มมิตรผลมาจากคำว่า “มิตร” และ “ผล” ซึ่งแปลได้ว่า เป็นผลผลิตจากมิตรแท้ที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา จนเกิดเป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจแบบ “ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ” ซึ่งเขาบอกว่า การพัฒนาทุกอย่างเกิดจากการวิจัยและพัฒนาเพื่อผลผลิตที่ดีที่สุดไม่ใช่สำหรับบริษัทเท่านั้น แต่ต้องดีมาตั้งแต่ต้นทาง ดีสำหรับชาวไร่ ดีต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และไปถึงปลายทางคือ ดีต่อผู้บริโภค “การอยู่ร่วมในชุมชน สังคมอยู่ได้ เราก็อยู่ได้ ถ้ารวยคนเดียวก็อยู่ไม่ได้ เราทำงานได้เงิน แต่ก็ต้องมีความสุข มีสุขภาพที่ดีด้วย” เป็นปรัชญาโดยสรุปที่แม่ทัพคนใหม่วัยต้น 60 ยึดมั่นสืบต่อมาจากผู้นำรุ่นแรกๆ ความมั่นคงของมิตรผลไม่ได้มาจากบริษัทเพียงอย่างเดียว แต่พันธมิตรชาวไร่คือ องค์ประกอบที่สำคัญ บรรเทิง ว่องกุศลกิจ ความผูกพันระหว่างมิตรผลในฐานะหัวหน้าโควตากับชาวไร่เกื้อกูลกันมาตลอด “เราช่วยทุกเรื่อง ช่วยค่าเทอมลูก ให้เงินไปหาหมอ จะว่าไปก็คล้ายๆ ผู้ใหญ่บ้านช่วยเหลือกัน ชาวไร่คู่สัญญาแรกๆ มีราว 10-20 ครอบครัว พอมาเป็นโรงงานน้ำตาลมีคู่ค้า 200 ราย ปัจจุบันมี 40,000-50,000 ครอบครัว และ 7 โรงงานที่ต้องดูแล” บรรเทิงลำดับก้าวย่างของมิตรผลกับลูกไร่ที่เกื้อกูลและผูกพันเหมือนครอบครัวเดียวกันตลอดมา เมื่อกิจการเริ่มเติบโตจากฐานการปลูกเดิมที่ จ. ราชบุรี ได้ย้ายไปอยู่ที่สุพรรณบุรี เนื่องจากมองอนาคตวัตถุดิบไม่พอ “ที่ราชบุรีตอนนั้นกำลังหีบทำได้แค่ 90 วัน แต่เราต้องทำให้ได้อย่างน้อย 120 วัน จึงย้ายไปที่ อ. ด่านช้าง จ. สุพรรณบุรีกำลังหีบเพิ่มขึ้นเท่าตัว” นอกจากไม่เอาเปรียบชาวไร่แล้ว ยังมองเรื่องต่อยอดการผลิต “ระยะหนึ่งทำเรื่องแค่อ้อยและน้ำตาลก็ได้ molasses (กากน้ำตาล) ผลผลิตที่ได้มาสมัยก่อน molasses ก็จะขายให้โรงงานสุราเจ้าเดียว สุดท้ายเราก็ดูว่าถึงยุคที่ใช้ ethanol แล้ว จึงผันตัวเองเอา molasses ที่มีอยู่มาทำ ethanol สำหรับรถยนต์ต่อยอดไปอีกขั้น นี่เป็นหนึ่งในธุรกิจใหม่ที่ไม่ขัดกับกฎของครอบครัวซึ่งบรรเทิงบอกว่า “เป็นกฎเหล็กของครอบครัวเราคือ จะไม่ทำการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่ทำเรื่องสุรายาเมา การผลิต ethanol ให้รถยนต์อย่างเดียวจึงตรงกับเป้าหมาย แต่ปัจจุบันเราก็ดูเทรนด์โลกกำลังมาเรื่อง EV มาก การใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น เราก็มองเรื่องโรงงานไฟฟ้า”

เกษตรสมัยใหม่

สิ่งที่มิตรผลทำมาโดยตลอดคือ กิจกรรมร่วมกับลูกไร่ ส่วนใหญ่เน้นหาแนวทางหลักว่าทำอย่างไรจะช่วยเพิ่มรายได้ให้ชาวไร่ จะมีการอบรมหาโอกาสและแนวทางใหม่ๆ พอใช้เครื่องจักรในการทำไร่ และมีระบบบริหารจัดการแบบ smart farming ก็ทำให้ชาวไร่มีเวลาเหลือ มิตรผลจึงต่อยอดไปทำโครงการที่เรียกว่า “ทำตามพ่อ ปลูก เพ(ร)าะสุข” ซึ่งเขาบอกว่า ชื่อโครงการมี 2 นัย “พ่อผมเป็นชาวไร่ เรื่องการปลูกอ้อย ถ้ามองที่โลโก้โครงการคำว่าตามจะมีเลข ๙ แอบอยู่ เพราะได้นำปรัชญาในหลวง ร. 9 มาทำคู่สัญญาดัชนีความสุขร้อยละ 80 ตอนนี้มีเกษตรกรร่วมโครงการอยู่ 8,200 ราย ก็ไม่ได้หวือหวาใหญ่โต มีโรงเรือนแค่เล็กๆ เหมาะกับแต่ละครัวเรือน” ทุกวันนี้เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง จากเกษตรกรไร่อ้อยยุคเก่าเริ่มเปลี่ยนเป็นเกษตรกรยุคใหม่ ทำเกษตรสมัยใหม่ มีคนหนุ่มสาวเข้ามาเป็นเกษตรกรมากขึ้น “ผมมีสาวๆ จบมหาวิทยาลัยขับแทรกเตอร์ตัดอ้อยเองหลายคน ซึ่งทุกวันนี้ทำแล้วสนุกไม่เหนื่อย เพราะใช้เครื่องจักรที่ทันสมัยรถทุกคันติดแอร์ มี GPS วิ่งได้เองแค่กดปุ่มเลี้ยวซ้ายขวาเท่านั้น ทุกวันนี้บอกได้ว่าเกษตรกรชาวไร่อ้อยเราใช้เทคโนโลยีเทียบเท่ากับต่างประเทศ แต่เพิ่งเริ่มต้นยังไม่ครบทุกครัวเรือน” บรรเทิง ว่องกุศลกิจ   ยั่งยืนในทุกขั้นตอน ล่าสุดกลุ่มมิตรผลเพิ่งได้รับการจัดอันดับโดย S&P Global ให้เป็นผู้นำด้านความยั่งยืนอันดับ 4 ของโลก ในอุตสาหกรรมอาหาร รางวัล “Sustainability Award Silver Class 2021” และสมาชิกในรายงานความยั่งยืนต่อเนื่อง 2 ปีซ้อน (S&P Global Sustainability Yearbook Member) จากผลประการประเมินความยั่งยืนขององค์กรประจำปี 2563 (Corporate Sustainability Assessment) ยิ่งตอกย้ำสิ่งที่ผู้นำมิตรผลยืนยันเรื่องความยั่งยืน ว่าอยู่ในกระบวนการทำธุรกิจและเติบโตอย่างแข็งแรงมาพร้อมกับการเติบโตองค์กรและพันธมิตรคู่ค้า ซึ่งรางวัลระดับโลกที่ได้รับล่าสุดถือเป็นอีกหนึ่งการยืนยันถึงความยั่งยืนของการดำเนินธุรกิจ “หลายคนชอบถามมิตรผลต่างจากคนอื่นอย่างไร สิ่งที่ผมตอบได้ชัดคือ เราดูแลชาวไร่คู่สัญญา 40,000 กว่าครอบครัวหลายคนชอบพูดว่า ลดความเหลื่อมล้ำ เราคิดว่ามันจะลดอะไรได้ถ้าเงินน้อย จึงส่งเสริมให้ชาวไร่มีรายได้มากขึ้น โดยเข้าไปทำหลายเรื่อง เช่น ถ้าเราปลูกอ้อย ใช้เครื่องจักรเข้ามาก็มีเวลาเหลือ สมัยก่อนหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินพอมีเครื่องทุ่นแรง ออโต้ ไอทีก็ใช้เวลาน้อยในการจัดการ เวลาที่เหลือก็ไปทำอย่างอื่นเสริม” ทำให้ผลผลิตเพิ่มโดยไม่ใช้พื้นที่มากเกินไป พื้นที่เหลือนำมาขุดสระเป็นชลประทานน้ำในไร่อยู่แล้วยังสามารถเลี้ยงปลา ปลูกผัก เป็นรายได้เสริมหมุนเวียนในครอบครัว ในชุมชนแลกเปลี่ยนกันมิตรผลช่วยบริหารการตลาด บางทีผลิตภัณฑ์จากชุมชนมาไม่สวยบริษัทก็ช่วยดีไซน์ให้ใหม่ สิ่งเหล่านี้ช่วยสร้างรายได้กลับไปยังชุมชนทำให้มีเงินเข้าสู่ชุมชนมากขึ้น ชีวิตก็ดีขึ้น ซึ่งเขาบอกว่า ทำสิ่งเหล่านี้มาได้เกือบ 10 ปีแล้ว หลักคิดที่น่าสนใจของมิตรผลในการอยู่ร่วมกับชุมชนด้วยปณิธานที่ว่า “ถ้าชุมชนอยู่ได้ สังคมอยู่ได้ เราก็อยู่ได้” ดังนั้น นอกจากการพัฒนาที่ช่วยยกระดับศักยภาพในการทำเกษตรของชาวไร่แล้ว มิตรผลยังดูแลชุมชนและสังคม มุ่งสร้างชุมชนเข้มแข็งและยั่งยืน “ปีนี้ครบรอบ 10 ปีที่กลุ่มมิตรผลได้ดำเนินโครงการพัฒนาชุมชนยั่งยืนใน 3 ด้านคือ การจัดการชุมชนอย่างยั่งยืน การพัฒนาระบบเกษตรชุมชนและอาหารปลอดภัย และการพัฒนาระบบเศรษฐกิจชุมชน โดยทำงานผ่านเครือข่ายตำบล มิตรผลร่วมพัฒนาจำนวน 23 ตำบลใน 8 จังหวัด ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงในท้องถิ่นได้จริง เช่น สร้างกลุ่มอาชีพในชุมชน รวมรายได้หมุนเวียนกว่า 2.8 ล้านบาทต่อปี สร้างอาหารปลอดภัยให้ชุมชน สร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงในชุมชน สร้างสุขภาพที่ดีให้ชุมชน สร้างความภาคภูมิใจให้ผู้พิการได้มีงานทำให้ท้องถิ่น สร้างองค์ความรู้สู่ชุมชน สร้างเทคโนโลยีชุมชน เป็นต้น   บรรเทิง ว่องกุศลกิจ รู้จริง ทำจริง ตั้งใจ บรรยากาศในการสัมภาษณ์ครั้งนี้ดูเรียบง่าย แต่ทุกคำตอบของผู้นำคนใหม่กลุ่มมิตรผลล้วนสะท้อนแนวคิดและตรรกะในการทำงาน การบริหาร และการผสานความร่วมมืออย่างยั่งยืน เช่น เมื่อพูดถึงปัจจัยที่สร้างความสำเร็จให้กลุ่มมิตรผล เขาบอกว่า หัวใจคือ “ต้องรู้จริง รู้จักปัญหา” หรือ pain point ของชาวไร่ ลูกค้า ผู้บริโภค รู้เรื่องดินฟ้าอากาศว่าเกี่ยวข้องกับดีมานด์ ซัพพลาย ราคาผลผลิตที่ขึ้นลง “เราเรียนรู้สิ่งเหล่านี้มาพอสมควร ทำให้แก้ไขปัญหาได้ถูกจุด เตรียมตัวตั้งรับจนพัฒนาต่อเนื่องมาเป็นลำดับ และที่สำคัญเรากระตือรือร้นที่จะแข่งขันและพัฒนาตัวเองตลอดเวลา เราคิดเสมอว่า หากชาวไร่อยู่ได้ เราก็อยู่ได้ ต้องซื่อสัตย์ต่อตัวเอง ต่อหน้าที่ ต่อลูกค้า คู่ค้า รักษาคำพูด นึกถึงใจเขาใจเรา ไม่เอาเปรียบชาวไร่ และมอบองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้พวกเขาอยู่เสมอ” ก่อนจบการสัมภาษณ์ครั้งแรกในฐานะประธานคนใหม่มิตรผล กรุ๊ป บรรเทิงได้ฝากแนวคิดในการทำงานที่ทำให้เขาเติบโตและก้าวสู่การเป็นผู้นำว่ามาจากพื้นฐานสำคัญคือ ความตั้งใจและการปฏิบัติ “รับปากเรื่องอะไรแล้วต้องทำให้ได้ การทำงานต้องตั้งเป้าหมายให้สูง และที่สำคัญผมเรียกว่า ททท คือ ต้องทำทันที” หลักคิดง่ายๆ แค่นี้สำหรับประธานกรรมการบริหารกลุ่มมิตรผล ผู้ชายที่ดูติดดินและเต็มไปด้วยความมุ่งมั่นเรียนรู้ทั้งจากวิถีปฏิบัติและเทคโนโลยีเป็นผู้นำที่สะท้อนยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี จากเกษตรดั้งเดิมสู่ยุค modern farm ได้อย่างชัดเจน ภาพ: กิตติเดช เจริญพร และ มิตรผล อ่านเพิ่มเติม: อิสระ ว่องกุศลกิจ ทางสีเขียวแห่ง “มิตรผล” ความมั่งคั่งสู่ความมั่นคง
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤษภาคม 2564 ในรูปแบบ e-magazine