จัดทัพรุกทะเล ลุยธุรกิจ “เรือยอชต์” - Forbes Thailand

จัดทัพรุกทะเล ลุยธุรกิจ “เรือยอชต์”

เศรษฐกิจของไทยจะชะลอตัวอย่างไร ก็ดูเหมือนว่าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่เจาะกลุ่มเป้าหมายเศรษฐีผู้มีกำลังซื้อสูงเท่าไรนัก เช่น ธุรกิจเรือยอชต์ ที่ดึงดูดให้ ดร.สัณหวุฒิ ธรรมชวนวิริยะ นักธุรกิจหมื่นล้าน ผู้เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัท มาสเตอร์ กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) จำกัด หรือ เอ็มจีซี-เอเชีย ผู้นำเข้าและจำหน่ายรถหรู อาทิ Rolls-Royce, Aston Martin, BMW และ Mini กระโดดเข้าไปเป็นหนึ่งในผู้เล่น ด้วยเหตุผลว่าต้องการเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจลักชัวรี จึงก่อตั้ง บริษัท เอ็มจีซี มารีน (เอเชีย) จำกัด ขึ้นเมื่อราวกลางปี 2557 ใช้งบลงทุนกว่า 300 ล้านบาท นำเข้าและจำหน่ายเรือยอชต์ Azimut จากอิตาลี ให้บริการเต็มรูปแบบทั้งการขาย การเช่า การประกันภัย รวมถึงบริการจัดเลี้ยง ความคึกคักของธุรกิจเรือยอชต์ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดในปี 2558 เมื่อรัฐบาลส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางมารีน่าของอาเซียน นำสู่การจัดมหกรรมเรือสำราญและมารีน่าครั้งแรกของไทยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จัดแสดงเรือยอชต์และซูเปอร์ยอชต์ (เรือยอชต์ที่มีขนาด 79 ฟุตขึ้นไป) ที่โดดเด่นทั้งในแง่ความสวยงามและนวัตกรรมขึ้นที่ จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีเรือยอชต์เข้ามาเทียบท่าเป็นจำนวนมาก ตอกย้ำอนาคตของธุรกิจเรือยอชต์ ด้วยการที่รัฐบาลดำเนินการปรับปรุงกฎหมายและระเบียบต่างๆ อาทิ การตรวจคนเข้าเมือง การเดินเรือ ศุลกากร การจัดเก็บภาษี ฯลฯ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจดังกล่าว ด้านกรมเจ้าท่าก็ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนามารีน่าเพิ่มเติม ทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน ประกอบด้วย จ.ภูเก็ต 2 แห่ง จ.พังงา 2 แห่ง เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี 2 แห่ง จ.ชลบุรี 1 แห่ง และ จ.ตราด 1 แห่ง จากที่มีมารีน่าระดับมาตรฐานอยู่แล้วในฝั่งอ่าวไทย 5 แห่ง และฝั่งอันดามัน 6 แห่ง เป็นการกระตุ้นให้การท่องเที่ยวขยายตัวและสร้างรายได้ให้ประเทศมากขึ้น ดร.สัณหวุฒิ เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลที่ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจทางทะเลของภูมิภาค เนื่องจากระยะหลังมีนักท่องเที่ยวนำเรือยอชต์มาท่องเที่ยวและจอดพักในไทยปีละกว่า 1,000 ลำ และในภาพรวม ตลาดก็มีความต้องการเรือยอชต์ในระดับราคาราว 10 ล้านบาทไปจนถึง 100 กว่าล้านบาท ปีละประมาณ 50-60 ลำ ดังนั้น ปี 2559 เอ็มจีซี มารีน จึงชูกลยุทธ์ให้ลูกค้าทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าถึงแบรนด์ได้มากขึ้น เน้นการนำเรือยอชต์รุ่นระดับราคาหลักสิบล้านบาทเข้ามาทำตลาด “ปีที่แล้วเราจำหน่ายเรือยอชต์ขนาดกลาง-ใหญ่ ได้จำนวน 3 ลำ ส่วนปีนี้เราจะเปิดตัวเรือยอชต์ขนาด 40-50 ฟุต ราคาไม่เกิน 50 ล้านบาท ซึ่งเป็นขนาดที่เหมาะกับคนไทย คาดว่าปีนี้ยอดจำหน่ายเรือยอชต์เมื่อคิดเป็นลำ จะเติบโตจากปีก่อน 200-300%” หัวเรือใหญ่ของเอ็มจีซี มารีน บอก ทว่า ดร.สัณหวุฒิ ก็ไม่ได้คาดการณ์ให้ธุรกิจเรือยอชต์เป็นตัวสร้างรายได้หลักให้ เอ็มจีซี-เอเชีย ซึ่งปีที่แล้วมีรายได้รวมกว่า 2.15 หมื่นล้านบาท จากธุรกิจจำหน่ายรถยนต์ใหม่ รถยนต์มือสอง รถเช่า โบรกเกอร์ประกันภัย ฯลฯ และปีนี้ก็คาดหวังให้รายได้รวมขึ้นไปแตะ 2.5 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งเพราะเรือยอชต์ยังเป็นธุรกิจใหม่ของกลุ่ม ต้องใช้เวลาในการเติบโตและสร้างฐานให้แข็งแกร่ง ถึงอย่างนั้น ผู้บริหารหนุ่มก็คาดหวังถึงรายได้ของเรือยอชต์ที่มากขึ้นในอนาคต ท่ามกลางผู้เล่นเจนคลื่นลมที่โลดแล่นอยู่หลายรายในท้องทะเล
Azimut S Collection ขนาด 86 ฟุต โฉมโฉมในน่านน้ำพร้อมดีไซน์การตกแต่งภายในที่โอ่โถง
ภาพ: เอ็มจีซี-เอเชีย
พบบทความทางธุรกิจอันสร้างแรงบันดาลใจทางธุรกิจได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ APRIL 2016 ในรูปแบบ E-Magazine