REIC เผยสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยกรุงเทพฯ - ปริมณฑล ไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 ยังชะลอตัว สะท้อนจากความต้องการซื้อบ้านสร้างใหม่-ที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ลดลงทั้งในเชิงมูลค่าและจำนวน ส่วนภาพรวมทั้งปี 67 มีจำนวนโครงการเปิดขายใหม่ที่ 62,771 หน่วย ลดลง 34.9% และจำนวนหน่วยเหลือขายยังเพิ่มขึ้น 2.9% ยังหวังปี 68 มีแรงหนุนจากการผ่อนปรน LTV
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) รายงานผลสำรวจภาคสนามอุปทานและอุปสงค์โครงการที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างการขาย ประจำไตรมาส 4 ปี 2567 ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล โดยสำรวจเฉพาะโครงการที่มีหน่วยเหลือขายไม่น้อยกว่า 6 หน่วย พบว่า สถานการณ์ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัย (บ้านจัดสรรและอาคารชุด) ในกรุงเทพฯ และ 5 จังหวัดปริมณฑล (กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม) ปรับตัวลดลงทั้งอุปสงค์ และอุปทาน โดยอุปสงค์ที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่ ณ ไตรมาส 4 ปี 2567 มีจำนวน 15,038 หน่วย ลดลงร้อยละ 21.6 มูลค่า 90,713 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 8.1
ขณะที่จำนวนที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ในไตรมาส 4 ปี 2567 มีจำนวน 17,153 หน่วย ลดลงร้อยละ 45.3 มูลค่า 137,882 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 42.5 โดยการปรับตัวดังกล่าวมีผลให้หน่วยที่มีการเสนอขายทั้งหมดในตลาด ปี 2567 ลดลงร้อยละ -3.3 แต่มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 275,541 หน่วย มูลค่า 1,700,189 ล้านบาท มีโครงการเปิดขายใหม่ จำนวนทั้งสิ้น 62,771 หน่วย ลดลงร้อยละ 34.9 มูลค่า 500,957 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 16.2 มีจำนวนที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่ จำนวนรวม 59,585 หน่วย ลดลงร้อยละ 20.8 มูลค่า 348,991 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10.7 มีผลให้หน่วยเหลือขายสิ้นงวด ณ ปี 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 215, 956 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 คิดเป็นมูลค่า 1,351,198 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.5
สำหรับทำเลที่มีหน่วยเหลือขายสูงสุด 5 อันดับแรกยังคงเป็นไปในทิศทางเดียวกับจำนวนที่อยู่อาศัยเสนอขายทั้งหมดประกอบด้วย
อันดับ 1 ย่านบางใหญ่-บางบัวทอง-บางกรวย-ไทรน้อย จำนวน 21,705 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 118,082 ล้านบาท อัตราดูดซับร้อยละ 1.5
อันดับ 2 ย่านลำลูกกา-ธัญบุรี จำนวน 19,236 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 97,795 ล้านบาท อัตราดูดซับ ร้อยละ 1.1
อันดับ 3 ย่านคลองหลวง จำนวน 16,544 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 61,935 ล้านบาท อัตราดูดซับ ร้อยละ 1.6
อันดับ 4 ย่านเมืองปทุมธานี-ลาดหลุมแก้ว-สามโคก จำนวน 14,940 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 67,283 ล้านบาท อัตราดูดซับร้อยละ 1.7
อันดับ 5 ย่านเมืองนนทบุรี-ปากเกร็ด จำนวน 13,022 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 97,790 ล้านบาท อัตราดูดซับ ร้อยละ 1.7
ทั้งนี้ ที่อยู่อาศัยหน่วยเหลือขายสูงสุด เป็นกลุ่มระดับราคา 2.01 – 3.00 ล้านบาท จำนวนถึง 62,167 หน่วย และระดับราคา 3.01 – 5.00 ล้านบาท จำนวน 53,371 หน่วย
อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ภาพรวมสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัย ปี 2568 จะมีทิศทางการฟื้นตัวที่ดีขึ้น จากเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะขยายตัว 2.2 - 3.2% เพราะมีแรงส่งจากการใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้น การลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณการฟื้นตัว และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศผ่อนคลายเกณฑ์ LTV ชั่วคราว ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2568 – 30 มิถุนายน 2569 ในทุกระดับราคา จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคงค้างในระบบได้เป็นอย่างดี
ดังนั้นศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ จึงคาดการณ์ภาพรวมสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัย ปี 2568 จะมีทิศทางการฟื้นตัวที่ดีขึ้น โดยคาดว่าจะมีการลงทุนพัฒนาโครงการใหม่สร้างอุปทานใหม่เสนอขายในตลาดที่อยู่อาศัยรวม (บ้านจัดสรรและอาคารชุด) ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ร้อยละ 16.8 หรือประมาณ 73,291 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 519,692 ล้านบาท แบ่งเป็น
- โครงการบ้านจัดสรร 37,800 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 348,564 ล้านบาท
- โครงการอาคารชุด 35,491 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 171,128 ล้านบาท
ด้านอุปสงค์คาดว่าสถานการณ์การขายจะฟื้นตัวดีขึ้น โดยมีทิศทางที่ดีขึ้นของหน่วยขายได้ใหม่ โดยจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 หรือประมาณ 61,714 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 361,216 ล้านบาท แบ่งเป็น
- โครงการบ้านจัดสรร 37,173 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 252,975 ล้านบาท
- โครงการอาคารชุด 24,542 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 108,241 ล้านบาท
แต่ในส่วนของอัตราดูดซับในปี 2568 คาดการณ์ว่าจะยังไม่ฟื้นตัวมากนัก โดยภาพรวมคาดว่าอยู่ในอัตราร้อยละ 1.8 เนื่องจากยังมีที่อยู่อาศัยคงค้างในตลาดซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 หรือประมาณ 227,304 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 1,454,101 ล้านบาท แบ่งเป็น
- โครงการบ้านจัดสรร 129,394 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 966,149 ล้านบาท
- โครงการอาคารชุด 97,909 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 487,952 ล้านบาท
Photo by Breno Assis on Unsplash
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เมื่ออสังหาฯ ‘ยอดขายชะลอ-ราคาร่วง’ ไทยยังเสี่ยงตามรอยญี่ปุ่นสู่ “ทศวรรษที่สูญหาย”
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine