‘ดุสิตธานี’ โรงแรมที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานอยู่คู่กับถนนสีลมมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2513 โดยมีผู้ก่อตั้งคือ ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ที่ตั้งมั่นว่าจะสร้างให้ประเทศไทยมีโรงแรมระดับ Luxury มีมาตรฐานสากล และไม่แพ้แบรนด์ใหญ่จากทั่วโลก
ปัจุจบันได้ต่อยอดเข้าจดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยมีทายาทของท่านผู้หญิงชนัตถ์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ผ่านบริษัท ชนัตถ์และลูก จำกัด ที่ถือหุ้น 49.74% ซึ่งจะมีชื่อเป็นกรรมการของบริษัทฯ แต่ในการบริหารบริษัทฯ จะมี ‘ศุภจี สุธรรมพันธุ์’ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DUSIT
ช่วงที่ผ่านมา DUSIT เดินหน้าวางรากฐานและปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ อย่างทำเลหัวถนนสีลมที่เป็นพื้นที่ใจกลางกรุงได้พัฒนาสู่การเป็น Mixed-Use ที่จะมีทั้งโรงแรม Residence Retail ไปจนถึงสวนลอยฟ้าขนาดใหญ่ ฯลฯ
ปมขัดแย้งผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่กระทบบริษัทฯ
ทว่าหลายวันมานี้เกิดกระแสข่าวการส่งงบการเงินไตรมาส 1/68 ที่ล่าช้า โดยหลายฝ่ายมองถึงปมความขัดแย้งภายในผู้ถือหุ้นใหญ่ของดุสิตธานี ทำให้ฝั่งซีอีโอ ศุภจี ออกมายืนยันว่า DUSIT ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างการบริหารงาน ไม่ว่าจะเป็นส่วนของคณะกรรมการบริษัทหรือฝ่ายบริหารที่มีอำนาจสั่งการ โดยตนเองยังเป็นผู้บริหารสูงสุดที่ดูแลการทำงานภายในกลุ่มดุสิตธานี ซึ่งยังเดินหน้าแผนงานและการดำเนินธุรกิจตามปกติอย่างต่อเนื่อง
“สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอุปสรรคชั่วคราวที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการภายในของผู้ถือหุ้น ซึ่งบริษัทฯ ไม่สามารถก้าวล่วงหรือแสดงความเห็นเพิ่มเติมแทนผู้ถือหุ้นดังกล่าวได้”
ช่วงที่ผ่านมา DUSIT แจ้งข้อมูลต่อนักลงทุนอย่างต่อเนื่องโดยระบุว่า งบการเงินไตรมาส 1/68 ผู้สอบบัญชีของบริษัทฯ ยังไม่สามารถลงนามรับรองรายงานการสอบทานงบการเงินดังกล่าวได้เนื่องจากยังไม่ได้รับการแต่งต้้งจากที่ประชุมสามัญ ผู้ถือหุ้นประจำปี ครั้งที่ 32/2568 ที่เลื่อนกำหนดออกไปเป็นวันที่ 28 พ.ค. 2568 ซึ่งจะทำให้การส่งงบการเงินไตรมาส 1/2568 ของบริษัทฯ จะล่าช้าออกไป ระหว่างนั้นตลท. จะขึ้นเครื่องหมาย SP (หลักทรัพย์นั้นถูกห้ามซื้อขายเป็นการชั่วคราว) จนกว่าจะนำส่งงบการเงินฯ ได้
ในด้านการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ศุภจี ยืนยันว่า งบการเงินไตรมาส 1/68 ได้จัดทำตามมาตรฐานบัญชีอย่างโปร่งใสและผ่านการตรวจสอบรวมถึงอนุมัติอย่างไม่มีเงื่อนไขจาก ผู้ตรวจสอบบัญชี กรรมการตรวจสอบ รวมถึงคณะกรรมการบริษัทฯ ได้พิจารณาอนุมัติเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นจึงเร่งแก้ไขปัญหานี้อย่างเต็มที่ โดยเข้าพูดคุยกับตลท. ซึ่งทางตลท. เข้าใจสถานการณ์และได้นำงบการเงินไตรมาส 1/68 นี้เผยแพร่บนระบบ SET โดยมี Disclaimer ไว้ว่าผู้ตรวจสอบบัญชียังไม่ได้รับอนุมัติ (งบการเงินนี้ผ่านการพิจารณาของบอร์ดบริหารแล้ว) ทำให้หุ้นไม่ติดเครื่องหมาย SP ในวันที่ 15 พ.ค. 68
นอกจากนี้เพื่อบรรเทาไม่ให้มีผลกระทบกับผู้ถือหุ้นทุกคน คณะกรรมการฯ ได้มีการแต่งตั้งผู้สอบบัญชีสำหรับงบการเงินไตรมาส 1/68 ที่จะเข้าพิจารณาในที่ประชุมผู้ถือหุ้นวันที่ 28 พ.ค. 68 นี้แล้ว
ทิศทางปี 2568 พร้อมเปิดงบไตรมาส 1/68
ก่อนจะไปถึงแผน 5 ปี ‘ศุภจี สุธรรมพันธุ์’ เล่าถึงภาพรวมการท่องเที่ยวปี 2568 นี้ยังมีปัจจัยที่ท้าทายหลายด้านอย่างจำนวนนักท่องเที่ยวที่ชะลอตัว และภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทั่วโลก ดังนั้นปี 2568 นี้ยังมีความไม่แน่นอนสูงเป้าหมายรายได้ปีนี้ที่ตั้งไว้ราว 30-35% ถือว่ายังมีความยากลำบากที่จะไปถึงเป้าหมายนี้ แต่จะต้องมีการปรับแผนเพื่อรับมืออีกครั้งและเชื่อว่ายังเติบโตได้ เพราะปีนี้เป็นปีแรกที่โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ที่สีลมกลับมาเปิดเต็มปีเชื่อว่าจะสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง
แม้ปี 2567 ผลการดำเนินงานรายได้รวม 11,204 ล้านบาทเติบโต 74.8% แต่ที่ยังขาดทุนสุทธิ 237 ล้านบาท สาเหตุเพราะการจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้และเงินกู้ เนื่องจากที่ผ่านมาไม่ได้มีการเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้น อย่างไรก็ตามเมื่อ Dusit Central Park โครงการใหญ่มูลค่ากว่า 46,700 ล้านบาทจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2569 โดยเฉพาะส่วน Residence ที่ปัจจุบันขายไปแล้วกว่า 80% (มูลค่า 15,500 ล้านบาท) โดยจะเริ่มโอนตั้งแต่ปลายปี 2568 จึงคาดว่ารายได้ส่วนนี้จะมาลดต้นทุนเรื่องดอกเบี้ยลง และสามารถทำให้บริษัทฯ พลิกได้อย่างมีนัยสำคัญ
ในส่วนของไตรมาส 1 ปี 2568 ผลการดำเนินงานพบว่ามีรายได้ 2,382 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.0%YoY โดยมีกำไรสุทธิ 48 ล้านบาท
เดินหน้ากางแผน 5 ปี (2568-2573)
สำหรับแผนงาน 5 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2568-2573) ทั้งโครงการ Dusit Central Park ที่จะเสร็จสมบูรณ์ และหลายธุรกิจที่ขยายออกไปเริ่มเข้าที่เข้าทางสามารถต่อยอดได้ ทั้งธุรกิจหลักอย่าง 1) โรงแรมเมื่อ ดุสิตธานี กรุงเทพ ให้บริการเต็มรูปแบบเชื่อว่าจะสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงยังมีรายได้จากการบริหารโรงแรมในต่างประเทศ ซึ่งอาจขยายเพิ่มเติมในญี่ปุ่น (เช่น โอซาก้า)
2) ธุรกิจอาหาร เดิมตั้งใจขยายธุรกิจนี้เพื่อสนับสนุนกลุ่มธุรกิจแม่ โดยมีสินค้าเป็นเครื่องปรุง ผลไม้และข้าวต่างๆ มีบริษัทแยกเช่น Epicure ที่ทำธุรกิจ Catering หรือ Bonjour ที่ทำด้านเบเกอรี่ แม้ธุรกิจอาหารจะมีความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจ แต่ยังเดินหน้าที่จะนำบริษัทลูกเข้าจดทะเบียนในตลท. ช่วงปี 2569 แต่ยังอยู่ระหว่างศึกษาและวางแผนงานว่าจะนำบริษัทฯ ใดเข้าจดทะเบียนในตลาดฯ
3) อสังหาริมทรัพย์ นอกจาก Residence ที่ตั้งอยู่ในโครงการ Dusit Central Park ที่คาดว่ากลางปี 2569 จะสามารถปิดการขายและโอนทั้งหมดตอนโครงการเสร็จสิ้นในปี 2569 และในอนาคตอาจขยายโครงการที่คล้ายกับ ‘ดุสิต อจารา หัวหิน’ ในโมเดลความร่วมมือกับพันธมิตรในการลงทุนก่อสร้าง แต่จะเน้นพัฒนาบนที่ดินที่บริษัทฯ มีอยู่
สุดท้าย 4) ด้านการศึกษา เช่น โรงเรียนสอนทำอาหารที่เพิ่งเปิดมาได้ 2 ปี แม้ยังไม่มีกำไร แต่ได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมามีคนลงเรียนคลาสระยะสั้นกว่า 1,400 คลาส และคลาสระยะยาวอีกจำนวนมาก
การขยายสู่ธุรกิจใหม่ๆ ที่มีศักยภาพเป็นหนึ่งในแผนงานดั้งเดิมที่วางไว้ ส่วนหนึ่งเพื่อสร้างสมดุลด้านรายได้จากเดิมที่ต้องพึ่งพารายได้หลักจากโรงแรมกว่า 90% แต่ภายใน 5 ปี ข้างหน้าเชื่อว่าจะลดสัดส่วนลงมาอยู่ระดับ 60% ซึ่งการมีรายได้จากหลายธุรกิจจะช่วยกระจายความเสี่ยงจากความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้น
ภาพ: Dusit
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ธ.กสิกรไทยประกาศปรับลดดอกเบี้ยฯ 2 ขา 'เงินกู้ลดสูงสุด 0.15% - เงินฝากลดสูงสุด 0.20%'
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine