ความเคลื่อนไหวในการประกาศเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของ โกลเด้นแลนด์ โดยเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) เริ่มต้นมาตั้งแต่กลางปี 2562 ล่าสุดมีความชัดเจนในการตกลงขายหุ้นทั้งหมด พร้อมแผนถอนตัวจากตลาดหลักทรัพย์ เป็นการจัดพอร์ตอสังหาฯของกลุ่มเจริญ ในสายธุรกิจอสังหาฯเฟรเซอร์จากสิงคโปร์
แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ก็เป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจับตา กรณี เฟรเซอร์ส์ พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) ประกาศเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดใน โกลเด้นแลนด์ ซึ่งทั้งสองบริษัทเป็นธุรกิจอสังหาฯในครอบครัว “สิริวัฒนภักดี” ซึ่ง เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี จัดสรรให้ ปณต สิริวัฒนภักดี บุตรชายคนเล็ก ซึ่งปัจจุบันนั่งเป็นประธานกลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด (สิงคโปร์) ที่ได้มาพร้อมการเทคโอเวอร์หุ้นเอฟแอนด์เอ็น บริษัทอาหารเครื่องดื่มและอสังหาฯรายใหญ่จากสิงคโปร์เมื่อหลายปีก่อน
ก่อนหน้านี้ได้มีการจัดพอร์ตลงทุนโดยเฟรเซอร์ฯ สิงคโปร์ถือหุ้นให้เฟรเซอร์ประเทศไทย และเป็นเจ้าของผู้พัฒนาโครงการใหญ่ วันแบงค็อก เมืองธุรกิจแสนล้านริมถนนพระราม 4-ถนนวิทยุ ที่ใกล้จะพัฒนาแล้วเสร็จในปัจจุบัน การรวบซื้อหุ้นโกลเด้นแลนด์เข้ามารวมกับเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จะทำให้เฟรเซอร์สฯ กลายเป็นบริษัทอสังหาฯ ใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 3 ของตลาด ที่มีการพัฒนาโครงการอสังหาฯครอบทุกรูปแบบ ทั้งคอมเพล็กซ์ อาคารสำนักงาน โรงแรม บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ คอนโดมิเนียม คลังสินค้า เรียกได้ว่าจากสินค้าระดับแมสราคาเริ่มต้นเพียง 1 ล้านบาทเศษ ไปจนถึงสินค้าระดับไฮเอนด์ราคาหลายร้อยล้านบาท
อย่างไรก็ดี พอร์ตธุรกิจอสังหาฯของครอบครัว “สิริวัฒนภักดี” นอกจากเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) แล้ว ยังมีบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่เจ้าสัวมอบหมายให้ วัลลภา ไตรโสรัส บุตรสาวคนรองนั่งบริหารในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ และเพิ่งนำกิจการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้
การรวมบริษัทโกลเด้นแลนด์ และเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จึงเป็นอีกก้าวสำคัญในการรวบพอร์ตธุรกิจอสังหาฯ จัดสรรมรดกทางธุรกิจครั้งสำคัญของตระกูล “สิริวัฒนภักดี” ครอบครัวที่ใครๆ ก็รู้ว่าถือครองอสังหาฯทั่วฟ้าเมืองไทยมากจนนับไม่ถ้วน นี่คงไม่ใช่ครั้งสุดท้ายในการรวบธุรกิจ เนื่องจากพอร์ตอสังหาฯของตระกูลมหาเศรษฐีไทยอันดับ 3 ที่มีความมั่งคั่งกว่า 3.4 แสนล้านบาท (ลดลงจากปี 2562) จากผลกระทบ COVID-19 ที่ทำให้มูลค่าสินทรัพย์ทั่วโลกลดลง ยังมีทรัพย์สินที่ไม่ได้นำมารวมในกลุ่มบริษัทข้างต้นอีกจำนวนไม่น้อย สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพียงยกแรกของการจัดพอร์ตเท่านั้น
โกลเด้นแลนด์รับคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมด
เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ โกลเด้นแลนด์ (GOLD) ได้เผยแพร่ข้อความว่า เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 บริษัทได้รับคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัท จากบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (“FPT”) ทั้งนี้ เพื่อเพิกถอนหลักทรัพย์ของโกลเด้นแลนด์ออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นไปตามแผนของเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) ที่ได้ประกาศเริ่มรับซื้อรอบแรกในเดือนมิถุนายนปี 2562 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เพื่อปรับกลยุทธ์ เพิ่มศักยภาพของการเชื่อมโยง ต่อยอดธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มให้อยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน ก้าวสู่การเป็นผู้นำในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีความหลากหลาย ครอบคลุมอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย (Residential) โครงการเชิงพาณิชย์ (Commercial) และพื้นที่เชิงอุตสาหกรรม (Industrial) ภายใต้ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย)
โดยการขอเพิกถอนหลักทรัพย์ของ GOLD ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้นได้รับอนุมัติจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของ GOLD เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 และ ณ วันที่ 19 พฤษภาคม 2563 FPT เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ GOLD จำนวน 2.2 พันล้านหุ้น คิดเป็นประมาณ 95.65% ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ GOLD โดย FPT จะทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ที่เหลือทั้งหมดของ GOLD จำนวน 101 ล้านหุ้น คิดเป็นประมาณ 4.35% ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ GOLD โดยมีราคาเสนอซื้อ 8.50 บาทต่อหุ้น ระยะเวลารับซื้อรวมทั้งสิ้น 45 วันทำการ ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม – 23 กรกฎาคม 2563
ธนพล ศิริธนชัย ประธานอำนวยการ บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือโกลเด้นแลนด์ เปิดเผยว่า ก้าวต่อไปของโกลเด้นแลนด์ คือการก้าวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร (Fully Integrated Real Estate Company) ที่มีความหลากหลาย ครอบคลุมอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย (Residential) โครงการเชิงพาณิชย์ (Commercial) และพี้นที่เชิงอุตสาหกรรม (Industrial) แห่งแรกของประเทศไทย ภายใต้นโยบายการลงทุนของเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย)
การรวมกิจการดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มศักยภาพที่จะเติบโตอย่างสมดุล และยั่งยืนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย โดยเมื่อรวมกันแล้วจะกลายเป็นบริษัทฯ ที่มีสินทรัพย์รวมมากกว่า 1 แสนล้านบาท และมั่นใจว่า ก้าวต่อไปของการรวมกันในอนาคตอันใกล้นี้ ไม่เพียงแต่เป็นการเพิ่มศักยภาพในการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจ ยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้พนักงานของบริษัทฯทุกคน ได้เติบโตตามศักยภาพด้วยเช่นกัน”
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine