หลัง “บีทีเอส” เข้าเทกโอเวอร์ บมจ.เนเชอรัล พาร์ค และเปลี่ยนชื่อเป็น บมจ. ยู ซิตี้ เมื่อปี 2558 ภารกิจของบริษัทคือการพลิกผลประกอบการที่ขาดทุนกลับมาทำกำไร ซึ่งดูเหมือนว่าอาจจะสำเร็จลงได้ในปีนี้
บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เข้าซื้อหุ้น 35% ใน บริษัท เนเชอรัล พาร์ค จำกัด (มหาชน) เมื่อปี 2558 และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บมจ.ยู ซิตี้ โดยในปีนั้นบริษัทมีผลประกอบการขาดทุนอยู่ 277 ล้านบาท และมีหนี้สะสมในบริษัทซึ่งได้ทยอยแก้ปมมาตามลำดับ
บีทีเอสเอง มีการลงทุนหลายขาอยู่ก่อนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจหลักอย่างการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม และธุรกิจอื่นๆ อย่าง วีจีไอ โกลบอล มีเดีย ซึ่ง คีรี กาญจนพาสน์ ประธานคณะกรรมการบริหารของบีทีเอสกล่าวว่า “วันนี้ไม่ได้แค่ทำโฆษณาแล้ว” นอกจากนี้ บีทีเอสยังลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ทั้งอาคารสำนักงาน โรงแรม และที่อยู่อาศัย
หลังจากเทกโอเวอร์ ยู ซิตี้เข้ามา คีรีได้ทำการจัดพอร์ตให้ธุรกิจอสังหาฯ ที่อยู่ในมือบริษัทแม่เข้าไปอยู่ในมือ ยู ซิตี้มากขึ้น และเป็นตัวช่วยล้างขาดทุนให้กับ ยู ซิตี้ อีกด้วย โดยเมื่อปีที่ผ่านมา ยู ซิตี้ได้เข้าไปซื้อหุ้นส่วนของบีทีเอสที่ร่วมลงทุนอยู่กับ บมจ.แสนสิริ ตามดีลสัญญาพัฒนาคอนโดมิเนียมร่วมกัน 25 โครงการ
รวมถึงยังเดินหน้าลุยกับกลุ่มธุรกิจโรงแรม จากเดิมที่มีโรงแรมเฉพาะในไทย ยู ซิตี้ได้เข้าซื้อกิจการบริษัท Vienna House Capital GmbH และบริษัท Warimpex เมื่อปี 2560 โดยเครือโรงแรมทั้งสองแห่งดำเนินกิจการโรงแรมโซนยุโรปตะวันออกรวม 24 แห่ง มาปีนี้ ยู ซิตี้ยังทุ่มซื้อ เครือโรงแรม arcona เพิ่มอีก 17+2 แห่ง ในเยอรมนีและสวิตเซอร์แลนด์ (อีก 2 แห่งยังอยู่ระหว่างก่อสร้าง)
คำอธิบายและวิเคราะห์ฐานะทางการเงินของ ยู ซิตี้ รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ชี้ว่า ณ สิ้นไตรมาส 2/62 บริษัทมีพอร์ตสินทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็น 5.42 หมื่นล้านบาท และเริ่มเห็นผลกำไรเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี โดยมีรายได้ครึ่งปีแรก 2562 ที่ 3.96 พันล้านบาท และกำไรสุทธิ 155 ล้านบาท มาจากการเติบโตของธุรกิจโรงแรม และจากส่วนแบ่งกำไรของโครงการ JV กับแสนสิริ
รร.นานาชาติ, mix-used, โรงแรมหรู เสริมแกร่ง ยู ซิตี้
ปิยพร พรรณเชษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันพอร์ตรายได้ 70-80% ของบริษัทมาจากธุรกิจโรงแรม 50 กว่าแห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในทวีปยุโรป
ส่วนอีก 20-30% นั้นมาจากรายได้เช่าอาคารสำนักงาน 4 แห่ง ได้แก่ ทีเอสที ทาวเวอร์, อาคาร Gracechurch กรุง London, อาคาร Underwood กรุง London และอาคารพาณิชย์ในโครงการโนเบิล เพลินจิต ซึ่งเพิ่งซื้อกิจการเข้ามา รวมถึงพอร์ตคอนโดฯ ร่วมทุนกับแสนสิริ ซึ่งส่วนนี้จะรับรู้เข้ามาเป็นกำไรสุทธิ
เป้าหมายระยะยาวนั้น กลุ่มโรงแรมยังเป็นหัวหอกสำคัญ และปิยพรแย้มว่า มีความเป็นไปได้ที่จะควบรวมกิจการใหม่ๆ เข้ามาอีกในกลุ่มนี้
ส่วนเป้าหมายระยะใกล้ คือโครงการต่างๆ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา 3 โครงการ ได้แก่ โรงเรียนนานาชาติเวอร์โซ (Verso), โครงการ mix-used เดอะ ยูนิคอร์น และโครงการโรงแรมบนที่ดินโรงภาษีร้อยชักสามริมแม่น้ำเจ้าพระยา
สำหรับ โรงเรียนนานาชาติเวอร์โซ นั้นตั้งอยู่บนที่ดิน 168 ไร่ในโครงการธนาซิตี้ (โครงการบ้านจัดสรรและสนามกอล์ฟในเครือบีทีเอส) ถนนบางนา-ตราด มูลค่าการลงทุนเฟสแรก 5 พันล้านบาท เป็นโรงเรียนนานาชาติหลักสูตรอเมริกัน รองรับนักเรียนได้ 1,800 คน เตรียมเปิดการเรียนการสอนเดือนสิงหาคม 2563
ปิยพรกล่าวว่า โรงเรียนนานาชาตินี้บริษัทมองในมุมการลงทุนเชิงกลยุทธ์ มากกว่าการหารายได้เป็นพอร์ตใหญ่ โดยปีแรกที่เปิดคาดว่าจะมีนักเรียนลงทะเบียน 200 คน
‘การลงทุนเชิงกลยุทธ์' ในที่นี้เป็นไปได้ว่าจะเป็นการต่อจิ๊กซอว์ให้พื้นที่ธนาซิตี้ 1,700 ไร่ เนื่องจาก คีรี กล่าวถึงโครงการนี้ว่า เขาตั้งใจที่จะต่อยอดให้ธนาซิตี้เป็นเมืองอย่างแท้จริง จากปัจจุบันที่เป็นโครงการบ้านจัดสรรที่อยู่อาศัยของคน 2,000 คน และสนามกอล์ฟ เมื่อมีโรงเรียนก็จะสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
และบีทีเอสยังคงมีที่ดินเปล่าเกือบ 200 ไร่ในบริเวณธนาซิตี้ ที่เขากำลังพิจารณาคอนเซปท์ว่าจะต่อยอดอย่างไร ความเป็นไปได้มีทั้งออฟฟิศ โรงแรม และธุรกิจบันเทิง คาดว่าจะเห็นแผนชัดเจนปีหน้า โดยยังไม่ฟันธงว่าโอนย้ายให้ ยู ซิตี้พัฒนาหรือไม่
อีกโครงการที่ปักหมุดไปแล้วของบริษัท คือโครงการเดอะ ยูนิคอร์น บนที่ดิน 7 ไร่ บริเวณสถานีรถไฟฟ้าพญาไท มูลค่าโครงการ 9.5 พันล้านบาท ซึ่งเป็น mix-used โรงแรม อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า และที่อยู่อาศัย เริ่มก่อสร้างแล้วและคาดว่าจะให้บริการได้ปลายปี 2564
ปิดท้ายที่ โครงการโรงแรม 5 ดาวในอาคารโรงภาษีร้อยชักสามริมแม่น้ำเจ้าพระยา (สถานีดับเพลิงบางรัก) อายุอาคาร 130 ปี ซึ่งบริษัทประมูลได้สิทธิการเช่า 30+6 ปีจากกรมธนารักษ์ โครงการนี้ ยู ซิตี้เตรียมลงทุน 3 พันล้านบาทเพื่อรีโนเวตอาคาร 1 หลัง และก่อสร้างอาคารเพิ่มอีก 1 หลัง ขณะนี้อยู่ระหว่างออกแบบ คาดว่าจะเปิดบริการในปี 2568
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแลนด์แบงก์สำคัญอยู่ระหว่างศึกษาการพัฒนาโครงการใน 3 ทำเล ได้แก่ ที่ดินราษฎร์บูรณะ 27 ไร่ ที่ดินคูคต 57 ไร่ และที่ดินย่านสุขสวัสดิ์ประมาณ 40-50 ไร่อีกด้วย
ครึ่งปีหลังรอโอนคอนโดฯ ร่วมทุนอีก 6 โครงการ
ย้อนกลับมาที่ปี 2562 ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ยู ซิตี้กำลังจะเก็บเกี่ยวดอกผลจากโครงการร่วมทุนกับแสนสิริได้อีก 6 โครงการ มูลค่าแบ็กล็อกรอโอนกรรมสิทธิ์รวม 6.9 พันล้านบาท ทำให้เป็นไปได้ว่าปีนี้บริษัทจะมีผลประกอบการเป็นบวก
นอกจากนี้ ยังมีแบ็กล็อกที่เหลืออีกราว 9 พันกว่าล้านบาทในคอนโดฯ ร่วมทุนที่จะทยอยโอนตั้งแต่ปี 2563-65 ตุนไว้ในมืออีกด้วย
ปิยพรกล่าวว่า สำหรับสัญญาร่วมทุนกับแสนสิริที่จะพัฒนาคอนโดฯ 25 โครงการนั้นมีการเปิดตัวไปแล้ว 14 โครงการ อีก 11 โครงการที่เหลือนั้นอยู่ในแผนงานแล้ว ไม่ได้มีการยกเลิก เพียงแต่อาจมีการชะลอบ้างตามจังหวะตลาด
ส่วนจะมีการเซ็นสัญญารอบใหม่กับแสนสิริหรือไม่ ต้องติดตามตอนต่อไป
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine