"สยามโกลบอลเฮ้าส์" ประกาศแตะ 100 สาขาภายใน 5 ปี เปิด DC ระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติ 3 หมื่นตร.ม. - Forbes Thailand

"สยามโกลบอลเฮ้าส์" ประกาศแตะ 100 สาขาภายใน 5 ปี เปิด DC ระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติ 3 หมื่นตร.ม.

สยามโกลบอลเฮ้าส์ คาดปี 2560 รายได้เติบโต 10% ตามเป้าแม้ตลาดวัสดุก่อสร้างหดตัวแรง 8-10% ตั้งเป้าเปิด 100 สาขาในไทยภายในปี 2565 ใส่เกียร์บุกกัมพูชาประเดิมปีหน้าสาขาแรกที่ Phnom Penh เตรียมพร้อมศูนย์กระจายสินค้าระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติ 3 หมื่นตร.ม. จังหวัดอยุธยา

อภิสิทธิ์ รุจิเกียรติกำจร ประธานกรรมการ บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLOBAL เปิดเผยเป้าหมายรายได้ปี 2560 ของบริษัทตั้งเป้าเติบโตจากปีก่อน 10% หรือคิดเป็นมูลค่าราว 2.14 หมื่นล้านบาท โดยครึ่งปีแรกมีรายได้แล้ว 1.09 หมื่นล้านบาท จึงคาดว่ายอดขายปีนี้จะเป็นไปได้ตามเป้า อย่างไรก็ตาม อภิสิทธิ์มองว่าสภาวะตลาดโดยรวมของกลุ่มวัสดุก่อสร้างมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท ปีนี้ซบเซาลงมาก คาดจะติดลบประมาณ 8-10% จากปกติตลาดวัสดุก่อสร้างหากหดตัวมักจะไม่มากไปกว่า 3-4% แต่สยามโกลบอลเฮ้าส์ยังเติบโตได้เนื่องจากมีการขยายสาขาอย่างต่อเนื่องทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น
อภิสิทธิ์ รุจิเกียรติกำจร ประธานกรรมการ บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) 
โดยปี 2560 บริษัทมีการลงทุนเพื่อเปิดสาขาใหม่ราว 2 พันล้านบาท เปิดตัวรวม 8-9 สาขา ยังเหลืออีก 3 สาขาที่จะเปิดช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ได้แก่ จ.พัทลุง, อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา และ ถ.เทพารักษ์ จ.สมุทรปราการ “สำหรับปี 2561 เราก็ยังตั้งใจจะเปิดสาขาเฉลี่ย 8-10 สาขาเช่นเดิม เป็นกลยุทธ์ที่ทำให้บริษัทเติบโต ตอนนี้มีที่ดินและมีการก่อสร้างรออยู่แล้วสำหรับเตรียมเปิดปีหน้า และยังมีที่ดินอีกหลายสิบแปลงทั่วประเทศรองรับแผนในอนาคต เพราะฉะนั้นภายในปี 2565 เราจะมีสาขาในไทยใกล้เคียง 100 สาขาแน่นอน จากสิ้นปีนี้ที่บริษัทจะมีครบ 55 สาขา” อภิสิทธิ์กล่าว ด้านธุรกิจของสยามโกลบอลเฮ้าส์ในต่างประเทศ มีการดำเนินการแล้วใน 3 ประเทศคือ บริษัท โปรวัน โกลบอล จำกัด ในเมียนมา เปิดแล้ว 5 สาขาใน Yangon Mandalay และ Mawlamyine, บริษัท สุวันนี โฮมเซ็นเตอร์ จำกัด ในสปป.ลาว มี 5 สาขาใน Vientiane และ Pakxan และที่ประเทศกัมพูชา โดยในเมียนมาและลาวเป็นลักษณะร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่น ให้บริษัทท้องถิ่นเป็นหลักในการบริหารจัดการ ขณะที่โมเดลธุรกิจในกัมพูชาเป็นการร่วมทุนกับท้องถิ่นเช่นกันแต่สยามโกลบอลเฮ้าส์เข้าไปดำเนินการเองโดยตรงและใช้แบรนด์ Global House เหมือนในประเทศไทย ซึ่งทำให้วางแผนงานได้ดีกว่า และจะเป็นโมเดลสำหรับใช้บุกประเทศอื่นในอาเซียนต่อไป อภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า ปี 2561 สาขาของสยามโกลบอลเฮ้าส์ในต่างประเทศจะมีเพิ่มอีก 3 สาขา คือในประเทศลาว 2 สาขาที่เมือง Pakse และ Savannakhet และจะเปิดสาขาแรกที่ Phnom Penh ประเทศกัมพูชา ซึ่งกัมพูชาถือเป็นตลาดสำคัญของบริษัท มองว่ามีโอกาสเติบโตได้ถึง 20 สาขาทั่วประเทศ แต่ตั้งเป้าระยะ 5 ปี 10 สาขาไว้ก่อนเป็นเบื้องต้น
(ซ้าย) เกรียงไกร สุริยวนากุล และ (ขวา) วิทูร สุริยวนากุล
ด้าน วิทูร สุริยวนากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สภาพเศรษฐกิจไทยมีผลกระทบกับตลาดวัสดุก่อสร้างโดยรวมในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทเองได้รับผลกระทบกับสาขาเดิมทำให้ยอดขายไม่เติบโตต้องอาศัยการเปิดสาขาใหม่ช่วยเร่งรายได้ โดยเฉพาะปีนี้ธนาคารเข้มงวดการอนุมัติสินเชื่อบ้านทำให้ผู้บริโภคซื้อบ้านใหม่น้อยลง อย่างไรก็ตาม บ้านเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่จึงเชื่อว่าวัสดุก่อสร้างที่เป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่องจะยังเติบโตได้ วิทูรกล่าวต่อว่า เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคตบริษัทจึงลงทุนมูลค่า 600 ล้านบาท ก่อสร้าง ศูนย์กระจายสินค้าอัตโนมัติ (DC) ที่ อ.วังน้อย จ.อยุธยา มีเนื้อที่ 20 ไร่ พื้นที่เฟสแรก 3.8 หมื่นตารางเมตร แบ่งเป็น 2 รูปแบบคือ โกดังสินค้าระบบบริหารคลังสินค้าอัตโนมัติ (ASRS: Automated Storage Retrieved System) พื้นที่ 3 หมื่นตารางเมตร จัดเก็บได้ 4.3 หมื่นพาเลท พาเลทเก็บสินค้าได้ยาวที่สุด 2.40 เมตร และมีโกดังระบบปกติพื้นที่ 8 พันตารางเมตร สำหรับเก็บสินค้าหนักขนาดใหญ่ เช่น เหล็กเก็บได้สูงสุด 5 พันตัน กระเบื้องอีก 5 พันพาเลท เฟสแรกของ DC วังน้อยสามารถกระจายสินค้าครอบคลุมได้ 80-100 สาขา นอกจากนี้ ยังนำระบบ ASRS ไปใช้กับร้านสาขาแล้ว 16 แห่ง ซึ่งทำให้ประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บมากขึ้น ลดขนาดร้านจากปกติ 2 หมื่นตารางเมตร เหลือ 1.4 หมื่นตารางเมตรต่อสาขา เกรียงไกร สุริยวนากุล ซัพพลายเชน ไดเรกเตอร์ บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ระบบ ASRS ดังกล่าวเป็นการพัฒนาระบบร่วมกันระหว่างสยามโกลบอลเฮ้าส์กับผู้ผลิต เป็นระบบที่ควบคุมผ่านคอมพิวเตอร์ โดยหุ่นยนต์คอมพิวเตอร์จะใช้การชั่งน้ำหนัก วัดปริมาตรสิ่งของ และ barcode ที่ติดบนกล่องคำนวณจำนวนสิ่งของในแต่ละพาเลท และคำนวณการจัดการเพื่อนำสินค้าเข้า-ออกในแต่ละเที่ยวของหุ่นยนต์หยิบสิ่งของให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
ชั้นวางสินค้าสูง 11 ชั้นใน DC วังน้อย ใช้ระบบหุ่นยนต์หยิบและเก็บของได้อัตโนมัติ
ระบบ ASRS มีข้อดีคือ ทำให้ประหยัดแรงงานคนไปกว่า 60% และยังใช้พื้นที่แนวดิ่งได้มากขึ้นเพราะชั้นสินค้า (rack) สามารถสูงได้ถึง 11 ชั้น ทั้งยังทำให้แต่ละสาขาของ GLOBAL บริหารจัดการสินค้าได้ง่ายขึ้น สามารถสั่งผ่านระบบมายัง DC วังน้อยได้ทันทีจึงไม่ต้องสั่งสินค้าไปจัดเก็บที่สาขาไว้เป็นจำนวนมาก และบริษัทจะเสนอสินค้าได้หลากหลายขึ้นเพราะสินค้าบางชนิดที่มีความต้องการต่อสาขาไม่มากก็สามารถสั่งบิ๊กล็อตมารวมกันที่ DC ได้ ทั้งนี้ อภิสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบ ASRS อาจไม่ได้ลดต้นทุนของซัพพลายเออร์ที่จะส่งสินค้ามาจำหน่ายกับสยามโกลบอลเฮ้าส์ เพราะการส่งของเข้ามาจัดเก็บใน DC จะมีค่าใช้จ่าย แต่สิ่งที่ซัพพลายเออร์จะได้รับคือสินค้าของบริษัทนั้นๆ จะถูกเติมสู่โกดังของแต่ละสาขาได้ตลอดเวลา จึงไม่เสียโอกาสในการขาย เปรียบเทียบจากแต่เดิมที่ซัพพลายเออร์อาจจะต้องรอความคุ้มค่าในการขนส่งของไปในพื้นที่สาขานั้นก่อนทำให้เสียโอกาส