เปิด 4 ธุรกิจอาณาจักร WHA เจ้าของนิคมฯ ที่วงการ “รถยนต์” เข้าไปสร้างโรงงาน - Forbes Thailand

เปิด 4 ธุรกิจอาณาจักร WHA เจ้าของนิคมฯ ที่วงการ “รถยนต์” เข้าไปสร้างโรงงาน

รู้หรือไม่ว่านิคมอุตสาหกรรมในไทยที่ “ค่ายรถยนต์” รวมไปถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับรถยนต์ เข้าไปสร้างโรงงานมากเป็นอันดับต้นๆ ก็คือนิคมอุตสาหกรรมของกลุ่ม WHA หรือดับบลิวเอชเอ ที่ปัจจุบันมีนักธุรกิจหญิงคนเก่งอย่าง “จรีพร จารุกรสกุล” ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร


    ถามว่ามีรถยนต์แบรนด์ไหนบ้างที่เข้ามาสร้างโรงงานในอาณาจักร WHA คำตอบก็คือ มีทั้งค่ายอเมริกันอย่าง ‘ฟอร์ด’ ที่มีเนื้อที่โรงงานมากกว่า 500 ไร่ ค่ายญี่ปุ่นอย่าง ‘ซูซูกิ’ มีเนื้อที่โรงงานมากกว่า 400 ไร่ ค่ายญี่ปุ่นอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น อีซูซุ และมาสด้า ไปจนถึงค่ายรถยนต์จากชาติอื่นๆ เช่น GWM เจ้าของ Ora good Cat, MG, BYD และล่าสุดคือ Changan ล้วนมีโรงงานตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมฯ WHA

    ยังไม่รวมถึงยางรถยนต์และชิ้นส่วนเกี่ยวกับยานยนต์หลายแบรนด์ ก็สร้างโรงงานในอาณาจักรของ WHA จนทำให้กลุ่มยานยนต์นั้นครองสัดส่วนลูกค้าถึง 31% ของ WHA เลยทีเดียว


    แต่ถึงอย่างนั้น ถ้ามองดูเข้าไปในอาณาจักรของ WHA จริงๆ แล้วก็จะพบว่า WHA ไม่ได้เป็นเพียงเจ้าของนิคมอุตสาหกรรม แต่มีธุรกิจหลักๆ ด้วยกันถึง 4 กลุ่ม คือ โลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม สาธารณูปโภคและพลังงาน และดิจิทัล โซลูชัน

    ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป เริ่มก่อตั้งในปี 2546 นำโดย นพ.สมยศ อนันตประยูร และคุณจรีพร จารุกรสกุล โดยมีธุรกิจแรกคือโลจิสติกส์อย่างคลังสินค้า ก่อนจะขยายมาสู่โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีลูกค้าเข้ามาเป็นจำนวนมาก

    จนกระทั่งในปี 2557 “ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)” ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และสามปีถัดมา ได้รวมกิจการกับบริษัทเหมราช พัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) นักพัฒนาที่ดินที่ใหญ่ที่สุดและประสบความสำเร็จมากที่สุดในประเทศไทยด้านนิคมอุตสาหกรรม ระบบสาธารณูปโภคและพลังงาน และทางเลือกด้านที่ดิน ส่งผลให้ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป เข้มแข็งยิ่งขึ้นกว่าเดิม


    และจนถึงวันนี้ WHA บอกว่าธุรกิจของบริษัทได้สร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจประเทศไทยแล้วกว่า 2 ล้านล้านบาท เกิดการจ้างงานกว่า 2 แสนตำแหน่ง เกิดการพัฒนาเมืองในจุดที่เข้าไปพัฒนานิคมอุตสาหกรรม พร้อมๆ ไปกับการดูแลชุมชนโดยรอบควบคู่กัน

    โดย 4 ธุรกิจของ WHA อยู่ภายใต้บริษัทต่างๆ ดังนี้

    -โลจิสติกส์: บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

    -การพัฒนาอุตสาหกรรม: บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (ชื่อเดิม บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน))

    -สาธารณูปโภคและพลังงาน: ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน)

    -ดิจิทัล: ดับบลิวเอชเอ ดิจิทัล จำกัด (มหาชน)

    ไกรลักขณ์ อัศวฉัตรโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ด้วยความมุ่งมั่นของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ในฐานะผู้นำธุรกิจหลักทั้ง 4 กลุ่ม เราให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการเตรียมความพร้อม ตลอดจนหานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน คว้าโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ และขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตไปในทิศทางที่สอดคล้องกับบริบทของโลก ซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน

ไกรลักขณ์ อัศวฉัตรโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)


    โดยทั้งหมดนี้จะช่วยผลักดันให้เราบรรลุเป้าหมายที่จะก้าวเป็น “บริษัทเทคโนโลยี” อย่างเต็มตัวในปี 2567 ด้วยศักยภาพจากการสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจที่ครบวงจรและแข็งแกร่งของเรา ล้วนมีส่วนช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายภายใต้พันธกิจ WHA: WE SHAPE THE FUTURE ในการสร้างคน สังคม สิ่งแวดล้อม ตลอดจนพัฒนาประเทศชาติอย่างยั่งยืน”

    โดยหนึ่งในไฮไลต์ของนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป คือ ศูนย์ควบคุมส่วนกลาง (Unified Operation Center: UOC) ที่ตั้งอยู่ภายในอาคารดับบลิวเอชเอ ทาวเวอร์ ถนนเทพรัตน สมุทรปราการ

ศูนย์ควบคุมส่วนกลาง (Unified Operation Center: UOC)


    โดยองค์ประกอบสำคัญของ UOC คือ ศูนย์เฝ้าระวังและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (EMcC) ระบบกล้องวงจรปิดรักษาความปลอดภัย (CCTV) และระบบควบคุมการจราจร (VMS) และศูนย์ควบคุมระบบน้ำและระบบบําบัดน้ำเสีย ซึ่งเป็นการบูรณาการข้อมูล ที่จะแสดงข้อมูลในพื้นที่ปฏิบัติงานต่างๆ ของกลุ่มบริษัทฯ แสดงผลการตรวจสอบแบบเรียลไทม์

    ไม่ว่าจะเป็นค่าความบริสุทธิ์ของน้ำจากระบบผลิตน้ำ กำลังการผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ในพื้นที่ของดับบลิวเอชเอ การจราจรภายในเขตนิคม ฯลฯ

    เพื่อให้ได้รู้ข้อมูลตลอดเวลา หากเกิดปัญหาขึ้นก็สามารถแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว และยังสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกลุ่มบริษัทฯ ที่ต้องการให้มีการแสดงข้อมูลผลชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อมอย่างโปร่งใส เป็นไปตามข้อกําหนดของหน่วยงานรัฐในการเผยแพร่ผลการตรวจวัดสู่สาธารณะ

    สำหรับกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ ที่นับเป็นจุดเริ่มต้นของดับบลิวเอชเอ ก่อนที่จะเริ่มขยายไปสู่กลุ่มธุรกิจอื่นๆ ซึ่งดับบลิวเอชเอ เป็นผู้นำในกลุ่มธุรกิจนี้ ด้วยการให้บริการทั้งในด้านคลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า และโรงงานระดับพรีเมียมที่ได้รับมาตรฐานระดับโลก และยังเป็นรายแรกที่ทำอาคารโรงงาน และคลังสินค้าในรูปแบบ Built-to-Suit ในปี 2546 โดยในปัจจุบัน มีพื้นที่รวมกว่า 2.9 ล้านตารางเมตร บนทำเลจุดยุทธศาสตร์ 70 แห่ง ทั่วประเทศ

    ล่าสุด ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ได้มีการทำโครงการ Green Logistics ที่เป็นการนำเทคโนโลยีสีเขียวมาปรับใช้กับกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ ได้แก่ การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในการขนส่งสินค้า สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า การใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นแหล่งพลังงานของสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นศูนย์กลางในการควบคุมการดำเนินงานของยานยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของประเทศในระยะยาว

    ขณะที่กลุ่มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ ในฐานะผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมคุณภาพระดับโลก ด้วยโครงสร้างพื้นฐาน และบริการสาธารณูปโภคครบวงจร ได้แก่ การผลิตน้ำประปา การบำบัดน้ำเสีย การทิ้งและฝังกลบขยะ และการผลิตพลังงานไฟฟ้า


    ปัจจุบัน ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป มีนิคมอุตสาหกรรมทั้งสิ้น 13 แห่ง บนพื้นที่กว่า 71,300 ไร่ ทั้งในประเทศไทย และประเทศเวียดนาม ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งคลัสเตอร์อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี ในโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งตะวันออก หรืออีสเทิร์นซีบอร์ด และโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

    ปิดท้ายที่กลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภคและไฟฟ้า ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ในเครือดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ในฐานะผู้ให้บริการด้านระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ให้กับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงการร่วมลงทุนด้านไฟฟ้าในหลายรูปแบบ


    ธุรกิจนี้เป็นส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นใจในการให้บริการด้านสาธารณูปโภคแก่ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยกำลังการผลิตน้ำรวมถึง 168 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นของโรงไฟฟ้าที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์รวม 847 เมกะวัตต์

    โดยจากนี้จะเน้นการพัฒนาพลังงานทดแทนเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าหลากหลายรูปแบบทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงลดการปล่อยคาร์บอนสู่บรรยากาศ อาทิ

    1.Floating Solar โดยโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำของบ่อเก็บน้ำดิบ ภายในนิคมอุตสาหกรรม อีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) ที่มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (AAT) กำลังผลิตไฟฟ้าขนาด 8 เมกะวัตต์ และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศได้กว่า 5,400 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี ซึ่งโครงการนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2567

    2.Solar Carpark บนหลังคาที่จอดรถขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่ ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) โดยมีพื้นที่หลังคารวม 59,000 ตารางเมตร มีขนาดไฟฟ้ารวม 7.7 เมกะวัตต์ และพร้อมเปิดดำเนินการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 2567

    3.Solar Rooftop ปริงซ์ เฉิงซาน ไทร์ (ประเทศไทย) จำกัด กำลังผลิตไฟฟ้าขนาด 24.24 เมกกาวัตต์ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 18,300 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี

    นอกจากนี้ ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป นำกระบวนการ “Reverse Osmosis (RO)” มาประยุกต์ใช้ในโรงงานผลิตน้ำระบบอาร์โอ เพื่อเป็นมาตรฐานการจัดการการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดในนิคมอุตสาหกรรม

    โดยผลิตน้ำ 2 ประเภท คือ Permeate คือน้ำที่สามารถนำไปใช้ในกระบวนการผลิตได้ และ Concentrate คือน้ำที่มีความเข้มข้นของสารละลายในน้ำสูง ซึ่งไม่สามารถใช้ในกระบวนการผลิตได้ แต่นำมาใช้แทนน้ำดิบหรือใช้ประโยชน์ในการชำระล้างพื้นภายในโรงงาน รดน้ำต้นไม้ เป็นต้น

    ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป มีความมุ่งมั่นในการสร้างสังคม ชุมชนและประเทศให้ดียิ่งขึ้น จึงนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเข้ามาขับเคลื่อนทั้งในองค์กร

    รวมถึงได้นำแนวคิดนี้มาขยายและส่งต่อไปยังพันธมิตรต่างๆ ในนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงชุมชนใกล้เคียงผ่านกิจกรรมและโครงการต่างๆ เพื่อช่วยให้เกิดระบบเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพและเกิดเป็นความยั่งยืนอย่างแท้จริงด้วยโครงการปันกัน ที่เปิดพื้นที่สำหรับการประชาสัมพันธ์และจําหน่ายผลิตภัณฑ์และสินค้าขึ้นชื่อในท้องถิ่นที่ผลิตโดยชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบนิคมอุตสาหกรรมของกลุ่มบริษัทในจังหวัดชลบุรีและระยอง มีช่องทางสื่อสารบนโซเชียลมีเดีย

    เพื่อเชื่อมโยงผู้ซื้อและผู้ขาย สร้างเป็นพื้นที่ให้กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยในชุมชนได้นําเสนอผลิตภัณฑ์ของตนให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เช่น งานฝีมือหัตถกรรม ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทย ไปจนถึงอาหารประจําท้องถิ่นและจานเด็ดประจําบ้าน เพื่อโอกาสในการเพิ่มรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิต นอกจากนี้ยังช่วยอนุรักษ์มรดกของชุมชนและสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : พัทยากรุ๊ป รุกธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศ ดัน "พัทยาแอร์เวย์" ชิงส่วนแบ่งตลาด Southeast Asia 3-5%

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine