Hertz สวนกระแสแก้ขาดทุน ขาย EV ซื้อรถยนต์สันดาปแบบเดิม - Forbes Thailand

Hertz สวนกระแสแก้ขาดทุน ขาย EV ซื้อรถยนต์สันดาปแบบเดิม

Hertz ผู้ให้บริการเช่ารถรายใหญ่ที่เคยลงทุนมหาศาลกับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ตลอดหลายปีที่ผ่านมา กลับตัดสินใจเดินเกมย้อนกลับ เตรียมขายรถยนต์ไฟฟ้าราว 1 ใน 3 ที่ครอบครองอยู่ออก และนำเงินไปซื้อรถยนต์สันดาปขับเคลื่อนด้วยน้ำมันแบบเดิมแทน


    บรรดาผู้บริหารเผยว่า รถยนต์ไฟฟ้าส่งผลร้ายต่อการเงินของ Hertz เพราะแม้ว่าค่าบำรุงรักษาจะต่ำกว่า แต่ค่าซ่อมแซมเมื่อได้รับความเสียหายและค่าเสื่อมราคากลับสูงกว่า

    “ค่าซ่อมรถ EV ที่เกิดการชนและได้รับความเสียหายนั้นสูงกว่าค่าซ่อมรถยนต์สัปดาปถึงสองเท่า” Stephen Scherr ซีอีโอแห่ง Hertz กล่าวในการประชุมทางการเงินของบริษัทเมื่อเร็วๆ นี้

    อีกทั้งราคารถ EV ในตลาดรถยนต์มือหนึ่งที่ตกลงก็ยิ่งกดมูลค่าการขายต่อรถ EV ที่ Hertz เคยปล่อยเช่าด้วยเช่นกัน

    “ราคาขายปลีกที่แนะนำของผู้ผลิต (MSRP) ในตลาด EV ตลอดปี 2023 อันมี Tesla เป็นแรงขับเคลื่อนหลัก ผลักให้ราคากลางในตลาดสำหรับรถ EV ของเราตกต่ำลงเทียบกับปีก่อน รถที่ต้องซ่อมหนักๆ ก่อให้เกิดการขาดทุนมากขึ้น และกลายเป็นภาระหนัก” Scherr อธิบาย

    พูดง่ายๆ คือ ผู้คนมักยินดีจะจ่ายเงินให้รถที่ผ่านการใช้งานแล้วเป็นมูลค่าน้อยกว่าที่จ่ายให้รถคันใหม่เอี่ยม เมื่อราคาของรถมือหนึ่งถูกลง ย่อมส่งผลกระกอบต่อราคารถที่ผ่านมือมาแล้วเช่นกัน

    Hertz ประมาณการว่าต้องแบกรับภาระขาดทุนราว 245 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้กับค่าเสื่อมสภาพรถ EV โดยตัวเลขเฉลี่ยต่อคันอยู่ที่ 12,250 เหรียญ ตามที่ทางบริษัทเผยในเอกสารที่ยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

    และแม้ว่า Hertz จะไม่ได้ชี้เฉพาะไปที่ใคร แต่ดูเหมือนว่า Tesla คือตัวการสำคัญ

    รถ EV ในครอบครองของ Hertz เกือบ 80% มาจาก Tesla ซึ่งในบรรดารถยนต์ของ Hertz ทั้งหมด มีรถ EV ประมาณ 11% เมื่อ Tesla หั่นราคารถยนต์ไฟฟ้าของตัวเองลง ผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นก็ดำเนินรอยตาม พอพวกเขาลดราคารถยนต์มือหนึ่งจึงสะเทือนไปยังตลาดรถยนต์ใช้แล้วที่กำลังขายรถรุ่นเดียวกัน ก่อให้เกิดการเสื่อมราคาอย่างรวดเร็ว

    สำหรับผู้ให้บริการเช่ารถอย่าง Hertz ที่ต้องขายรถยนต์ใช้แล้วจำนวนมาก ค่าเสื่อมราคานับเป็นผลกระทบอันใหญ่หลวงต่อธุรกิจ และเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจเลือกรุ่นรถมาปล่อยเช่า

    ผู้บริหาร Hertz วิเคราะห์ว่า ในฐานะที่ Tesla ค่อนข้างจะเป็นบริษัทหน้าใหม่ อะไหล่รถยนต์ของพวกเขาจึงมีตัวเลือกทดแทนไม่มากนัก เช่นเดียวกับจำนวนช่างซ่อมรถผู้เชี่ยวชาญ ทำให้ค่าซ่อมรถมีราคาแพงและยังเสียเวลาซ่อมนานอีกต่างหาก

    “ยังจำกันได้ไหมครับ ใช้เวลาเป็นสิบๆ ปีกว่าผู้ผลิตรถยนต์หลายราย เช่น GM จะสร้างเครือข่ายจัดหาอะไหล่ในระดับนานาชาติได้” Scherr ย้อนความ “ในกรณีของ Tesla ชัดเลยว่าตลาดอะไหล่หลังการขายตัวรถยนต์ไปแล้วนั้นยังต้องพัฒนาอีกมาก”

    นอกเหนือจากค่าซ่อมที่สูงกว่าเมื่อเกิดการชน Scherr บอกด้วยว่ามีรายงานรถ EV ประสบอุบัติเหตุบ่อยขึ้น แน่นอนว่ารถ Tesla ซึ่งคิดเป็น 80% ของรถยนต์ไฟฟ้าที่ Hertz ครอบครองอยู่คือส่วนที่มีปัญหามากที่สุด

    “งานของเรากับ Tesla คือให้ความสำคัญกับสมรรถนะของรถ และลดอัตราการเกิดความเสียหาย” Scherr กล่าว “และเราก็มีส่วนร่วมโดยตรงกับพวกเขาในการจัดซื้ออะไหล่ จัดหาแรงงาน และอื่นๆ”


แปลและเรียบเรียงจาก Hertz is selling 20,000 electric vehicles to buy gasoline cars instead


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : 20 อันดับแอปพลิเคชันไทย ยอดดาวน์โหลดสูงสุด

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine