เชลล์ เผยเทรนด์การคมนาคมแห่งอนาคต 5 ประเทศยักษ์ใหญ่แห่งเอเชีย ชี้ประเทศไทยจะได้ประโยชน์อย่างมากจากการปรับตัวด้านการคมนาคม
บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด เปิดตัวรายงานที่สรุปเทรนด์ด้านการคมนาคมในอนาคตของภูมิภาคเอเชีย ภายใต้หัวข้อ “เมืองแห่งการสัญจร: ขับเคลื่อนการปฏิวัติการคมนาคมในเอเชีย” ซึ่งเป็นรายงานที่รวบรวมข้อมูลการวิจัย และบทสัมภาษณ์ต่างๆ เพื่อสรุปเป็นข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับเทรนด์ด้านการคมนาคมของ 5 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ อินเดีย ฟิลิปปินส์ จีน และประเทศไทย โดยรายงานได้กล่าวถึงความท้าทายที่แต่ละประเทศต้องประสบไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล (Digitalisation) ความจำเป็นของทางเลือกในการเดินทางและการคมนาคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งภาพรวมด้านการคมนาคมต่างๆ เช่น พฤติกรรมการเดินทางของผู้คนในแต่ละวัย ช่องทางการคมนาคม ไปจนถึงการพัฒนาด้านการขนส่ง และความท้าทายที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 ไฮไลท์จากรายงานของเชลล์นี้ ได้กล่าวถึงสังคมเมืองที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว การเพิ่มขึ้นของประชากรชนชั้นกลาง การที่ผู้คนมีรายได้สูงขึ้น และมีความมุ่งหวังต่อสิ่งต่างๆ มากขึ้น ซึ่งปัจจัยทั้งหมดนี้กำลังส่งผลกระทบต่อความต้องการด้านการคมนาคมของผู้คนทั่วเอเชีย นอกจากนี้ รายงานยังพูดถึงเทรนด์อื่นๆ ได้แก่ การที่ผู้คนมองหาความสะดวกสบายมากขึ้น ผลกระทบจากทางเลือกดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น และความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม รายงานได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการนำเสนอรูปแบบการคมนาคมเฉพาะที่เหมาะกับสถานการณ์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ยกตัวอย่าง สำหรับในประเทศไทยนั้น แม้ว่าที่ผ่านมาผู้คนจะใช้ยานพาหนะสองล้อเป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันก็มีทางเลือกเพื่อการคมนาคมมากมาย เช่น รถไฟความเร็วสูง บริการเรียกรถตามความสะดวก นอกจากนี้ยังมีการใช้รถยนต์ส่วนตัวในปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ระบบขนส่งสาธารณะก็มีการขยายตัว รวมถึงยังมีโครงการที่จะก่อสร้างสนามบินนานาชาติแห่งที่สามในกรุงเทพฯ ด้วย “ประเทศไทยอยู่ในสถานะที่สามารถก้าวผ่านกับดักรายได้ปานกลาง และมีศักยภาพในการก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านการเดินทางและคมนาคมขนส่ง หากมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการวางแผนเพื่อรุดไปข้างหน้า อย่างไรก็ดี เส้นทางสู่การก้าวขึ้นเป็นผู้นำนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งจากรัฐบาล พันธมิตรในอุตสาหกรรม รวมถึงผู้บริโภคด้วย” ปนันท์ ประจวบเหมาะ ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าว รายงานยังได้พูดถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยประเทศไทยได้ตั้งเป้าว่าจะผลิตยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้อย่างน้อย 750,000 คันต่อปี ภายในปี 2030 สอดคล้องกับแผนของรัฐบาลที่ผลักดันให้ไทยเป็นฐานแห่งยานยนต์ไฟฟ้าของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนภายในปี 2025 เชลล์ ได้มีการพัฒนาสถานีบริการสำหรับชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าผ่าน เชลล์ รีชาร์จ (Shell Recharge) ในประเทศสิงคโปร์ และจีน และเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการสถานีบริการสำหรับชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังให้ความสำคัญกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ โดยจะเห็นได้จากโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกที่ครอบคลุมพื้นที่สามจังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ซึ่งจะถูกพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชั้นนำ โดยเป็นการเชื่อมต่อของระบบการคมนาคมที่แข็งแกร่ง ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ “รัฐบาลไทยได้ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้า อีกทั้งกระทรวงพลังงานก็พยายามผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าเสรีระดับโลกของก๊าซธรรมชาติเหลว นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีโอกาสในการสนับสนุนพลังงานทางเลือก เช่น ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รวมถึงโอกาสในการประเมินศักยภาพเพื่อก้าวไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับไฮโดรเจน” ปนันท์ กล่าวเสริม ด้าน เรืองศักดิ์ ศรีธนวิบุญชัย รักษาการกรรมการบริหารธุรกิจค้าปลีก บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “ประเทศไทยกำลังจะก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงด้านการคมนาคมขนส่ง ซึ่งจะส่งผลดีกับผู้คนในสังคมอย่างมาก โดย 70% ของแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทยระหว่างปี 2015-2022 ที่มีมูลค่ากว่า 75,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการคมนาคมและขนส่ง เชลล์มุ่งมั่นเดินหน้าตอบสนองความต้องการด้านพลังงานในอนาคตของลูกค้าเกี่ยวกับโซลูชั่นพลังงานสะอาด และพร้อมเดินเคียงข้างสังคมไทย ด้วยสถานีบริการแห่งอนาคตของเรา” ขณะที่ Amr Adel รองประธาน เชลล์ รีเทล อีสต์ กล่าวว่า “สิ่งที่ขับเคลื่อนความต้องการของผู้บริโภคในเอเชีย คือ เทคโนโลยีใหม่ๆ ความต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น รวมถึงการที่ผู้คนหันมาใส่ใจถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปล่อยคาร์บอน และภาวะความแออัด แต่ละประเทศต่างต้องมีทางออกที่เฉพาะเจาะจงสำหรับประเทศนั้นๆ เอง แต่ในทุกกรณี จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาล ภาคอุตสาหกรรม และผู้บริโภคต้องร่วมมือกันเพื่อหาทางออกเหล่านั้น” กล่าวโดยสรุป แม้ว่าแต่ละประเทศในเอเชียจะต้องมีการพัฒนาด้านการคมนาคม ระบบนิเวศของพลังงานเชื้อเพลิง และการกำหนดนโยบายตลอดจนกฎระเบียบที่จะสามารถตอบความต้องการที่เฉพาะเจาะจงและเหมาะสมสำหรับแต่ละประเทศเอง แต่สิ่งที่ทุกประเทศต้องมีเหมือนกันคือ ความร่วมมือระหว่างรัฐบาล ภาคอุตสาหกรรม และผู้บริโภค เพื่อนำเสนอทางเลือกที่ตอบสนองต่อเทรนด์ใหม่ๆ และความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ อ่านเพิ่มเติม: 4 เทรนด์ออฟฟิศ รับสถานการณ์ New Normalไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine