เขย่าตลาดอีคอมเมิร์ซ ใหญ่เกินกว่าจะ chat - Forbes Thailand

เขย่าตลาดอีคอมเมิร์ซ ใหญ่เกินกว่าจะ chat

FORBES THAILAND / ADMIN
04 Feb 2015 | 09:50 AM
READ 3330
4 กุมภาพันธ์ 2558 - ในวันนี้ คงยากที่จะบอกว่า LINE เป็นเพียง app ส่งข้อความ หลังเปิดตัว “ซุปเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์” ในประเทศไทยเป็นตลาดแรก แม้แต่ Forbes.com ยังต้องสนใจกับทิศทางการเติบโตของโปรแกรม chat ยอดนิยมฝั่งเอเชีย
 
 
หลังประสบความสำเร็จจากการสร้างแพลตฟอร์มเพื่อเล่มเกม สนทนา และส่งสติ๊กเกอร์ ในวันนี้ LINE เริ่มรุกสู่บริการใหม่ จัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคแบบส่งตรงถึงบ้าน โดยเริ่มต้นในประเทศไทยเป็นที่แรก หลังจากปีที่ผ่านมา คู่แข่งสำคัญอย่าง WeChat ก้าวสู่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซและบริการจัดส่งอาหารไปก่อนแล้ว
 
จากโปรแกรม chat เล็กๆ ที่ไว้ใช้เฉพาะสื่อสารพูดคุย มาวันนี้กลับพัฒนาตัวเอง แตกกิ่งก้านกลายเป็นแพลตฟอร์มรองรับผู้ใช้งานหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะใช้ติดต่อสื่อสาร เล่นเกม ซื้อของ ไปจนถึงเรียกรถแท็กซี่
 
การขยายฐานบริการให้กว้างขวางก็เพื่อหาช่องทางสร้างรายได้ให้เป็นกอบเป็นกำมากขึ้น เนื่องจากรายได้หลักอย่างการขายโฆษณาทาง mobile ads นั้น ถูกยึดครองโดยเครือข่ายสังคมออนไลน์เช่น Facebook ไปเสียแล้ว และอาจดูไม่ดีนักสำหรับโปรแกรมส่งข้อความ เพราะไม่มีผู้ใช้งานคนใดอยากเห็นแบนเนอร์โผล่ขึ้นมา ขณะกำลังพิมพ์ข้อความส่งหาเพื่อนๆ เป็นแน่  อย่างไรก็ดี LINE ยังทำรายได้ในปี 2013 ถึง 338 ล้านเหรียญ จากการขายเกมและสติ๊กเกอร์ดิจิทัล
 
ก้าวต่อไปของ app สนทนายอดนิยม ที่มีผู้ใช้งานตกเดือนละ 181 ล้านราย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วอยู่ในญี่ปุ่นและทวีปเอเชีย ก็คือการลงสนามธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เช่นเดียวกับคู่แข่ง WeChat
 
บริการร้านชำออนไลน์ “ถูกชัวร์ชัวร์” (Cheap Sure Sure) ของ LINE เริ่มเปิดเป็นทางการแล้ว 4 กุมภาพันธ์นี้ โดยจะเน้นสินค้าในชีวิตประจำวัน เช่น น้ำดื่ม กาแฟ และบะหมี่สำเร็จรูป ในราคาที่มีส่วนลดและบริการส่งฟรี เริ่มเปิดบริการเฉพาะประเทศไทย ซึ่งมีผู้ใช้งานเป็นประจำถึง 33 ล้านรายเป็นที่แรก โดยยังไม่ได้เปิดเผยแผนการว่าจะขยายไปยังตลาดอื่นๆ เช่นญี่ปุ่นหรือไม่
 
ธุรกิจอีคอมเมิร์ซและสั่งอาหารออนไลน์ได้กลายมาเป็นองค์ประกอบสำคัญใน app ที่มีคนใช้งานเป็นจำนวนมากไปแล้ว เช่น WeChat ในประเทศจีน ซึ่งมีผู้ใช้งานตกเดือนละ 467 ล้านราย และความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีพันธมิตรที่เข้มแข็งด้วย ในเดือนมีนาคม 2014  Tencent บริษัทแม่ของ WeChat เข้าซื้อหุ้น 15% ใน JD ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซอันดับสองของจีน รองจาก Alibaba โดยให้ JD เป็นช่องทางการจัดจำหน่ายเฉพาะบนแพลตฟอร์ม WeChat  ต่อมาในเดือนธันวาคมก็เริ่มเปิดบริการสั่งอาหารออนไลน์ ด้วยความร่วมมือกับ Foodpanda 
 
ล่าสุด KakaoTalk ซึ่งมีผู้ใช้งาน 50 ล้านรายในเกาหลีใต้และบางประเทศในอาเซียน ก็ยอมรับเช่นกันว่ากำลังมีแผนการเข้าสู่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่มี Coupang หรือ “Amazon ของเกาหลีใต้” เป็นเจ้าตลาด จะเห็นได้ว่าโปรแกรม chat แต่ละรายอาศัยความได้เปรียบจากฐานผู้ใช้งานที่มีเป็นหลักล้าน โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนมหาศาลเพื่อสร้างฐานลูกค้าใหม่แต่อย่างใด 
 
สำหรับ LINE Thailand เคยทดลองลงตลาดอีคอมเมิร์ซมากว่าหนึ่งปีแล้ว โดยร่วมเป็นพันธมิตร aCommerce ผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซในอาเซียน ให้ทำหน้าที่ดูแลจัดหา จัดเก็บ และส่งสินค้า  จากรายงานของ aCommerce มีสินค้าถึง 8 รายการที่ประสบความสำเร็จ ขายได้หมดในช่วงเวลาไม่นาน มีทั้งเครื่องสำอาง Maybelline และเคสโทรศัพท์ iPhone ของ LINE เอง (ขายหมดใน 25 นาที) มีผู้สั่งซื้อประมาณ 5.5 ล้านราย ในช่วงอายุ 25-34 ปี
 
“ประเทศไทยเป็นหนึ่งในตลาดที่สำคัญที่สุดของเรา และพร้อมที่จะออกไปสู่ระดับภูมิภาคต่อไป” Sedong Nam ผู้บริหาร LINE ย้ำ



เรียบเรียงจาก Chat Apps Battle To Bring Groceries To Your Door โดย Parmy Olson


ภาพประกอบ: LINE Thailand Page