อิชิตัน ได้อานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อของภาครัฐ หนุนยอดขายผ่านร้านโชห่วยเพิ่ม นำแบรนด์ไบเล่วางจำหน่ายอีกครั้งเจาะเฉพาะร้านค้าย่อย พร้อมรับรู้รายได้ตลาดอินโดเซียพลิกมีกำไร ปีนี้ตั้งเป้ารายได้รวม 6,500 ล้านบาท ขยายตัว 24% ห่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อกระทบต้นทุน
ตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ICHI เปิดเผยว่า ในปีที่ผ่านมา ตลาดชาพร้อมดื่มมูลค่า 11,213 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 3.96 ขณะที่กลุ่มเครื่องดื่มเซกเมนต์อื่นหดตัวลง ซึ่งแนวโน้มตลาดชาเขียวพร้อมดื่มยังเติบโตต่อเนื่อง โดยข้อมูลจาก Nielsen พบว่าในเดือนมกราคมขยายตัวร้อยละ 28.65 จากเดือนมกราคมของปีก่อนข้อมูลสำคัญ:
- ปี 2565 อิชิตัน ตั้งเป้ารายได้รวม 6.5 พันล้านบาท เติบโตร้อยละ 24
- ปัจจัยการเติบโตมายอดขายผ่านช่องทาง Traditional Trade หรือโชห่วย
- มูลค่าตลาดน้ำผลไม้ที่มีสัดส่วนน้ำผลไม้แท้ต่ำกว่า 24% มีมูลค่า 3,000 ล้านบาท
- ตลาดผู้บริโภคอินโดนีเซียมีความนิยมผลิตภัณฑ์ชานม รสชาติแบบไทย และชานมบราว ซูการ์ เพิ่มขึ้น
สำหรับอิชิตัน ในปี 2564 ที่ผ่านมา มีกำไรสุทธิ 546.8 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 6.1 ทำให้มีอัตรากำไรขั้นต้นร้อยละ 19.3 มีอัตรากำไรสุทธิร้อยละ 10.5 ด้านรายได้จากการขาย 5,228.3 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 2.5 จากปีก่อน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตรากำไรดีขึ้นมาจากยอดขายผ่านช่องทาง Traditional Trade หรือโชห่วยเพิ่มขึ้น ซึ่งได้รับผลดีจากมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อของภาครัฐ ทำให้ร้านโชห่วยขายดีขึ้น ทำให้กำไรของอิชิตันเติบโต ปัจจุบันสัดส่วนยอดขายผ่าน Modern Trade และ Traditional Trade อยู่ที่สัดส่วน 51:49 จากเดิมการขายผ่านโมเดิร์นเทรดคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 60
นำแบรนด์ไบเล่เจาะตลาดโชห่วย
ตัน กล่าวว่า ปีนี้บริษัทจะขยายช่องทางร้านโชห่วยเพิ่มขึ้น โดยนำแบรนด์ไบเล่ออกมาทำตลาดอีกครั้ง เน้นราคาจำหน่ายขวดละ 10 บาท รวมทั้งนำอิชิตันชาเขียวพร้อมดื่มรสน้ำผึ้งผสมมะนาว ที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่งที่ผู้บริโภคให้การตอบรับ จัดแคมเปญบุกตลาด Traditional Trade ต่อเนื่อง “ที่ผ่านมา การทำตลาดแบรนด์ไบเล่ เราพยายามถอดสูตรให้เหมือนกับรสชาติดั้งเดิม ซึ่งมีต้นทุนสูง ทำให้ไม่สามารถวางตลาดได้ แต่ครั้งนี้เราพัฒนารสชาติให้ใกล้เคียง แต่อร่อยกว่า ตั้งราคาขายไม่แพง เพื่อเจาะกลุ่มร้านโชห่วยโดยเฉพาะ และร้านค้าส่งอย่างแม็คโคร ซึ่งคาดว่าจะได้รับการตอบรับดี” ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายยอดขายไบเล่อยู่ที่ 100 ล้านบาท สำหรับตลาดน้ำผลไม้ที่มีสัดส่วนน้ำผลไม้แท้ต่ำกว่าร้อยละ 24 ยังเป็นตลาดที่เติบโต ปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 3,000 ล้านบาท นอกจากนี้จะมีสินค้าใหม่ในกลุ่มเครื่องดื่มอัดแก๊ส หรือ Carbonated Soft Drink ในเดือนมิถุนายนและการรับจ้างผลิตให้กับแบรนด์อาซาฮีในช่วงเดียวกันตั้งเป้ารายได้ 6,500 ล้านบาท
ตัน กล่าวว่า ปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายยอดขายที่ 6,500 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 24 จากปีก่อน และคาดว่ากำไรจะเติบโตในสัดส่วนร้อยละ 10 ซึ่งปีนี้แม้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัว จากสถานการณ์โควิดที่ไม่รุนแรง แม้จะมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แต่มีปัจจัยเสี่ยงเรื่องต้นทุนจากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น กระทบต่อวัตถุดิบในการผลิตขวด ซึ่งหากยืดเยื้อถึงเดือนมิถุนายนต้องมีปรับราคาสินค้าอีก “ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตขวดเพิ่มร้อยละ 3.2 ทำให้เราต้องปรับราคาขายส่งเพิ่มขึ้นลังละ 2 บาท ซึ่งยังไม่กระทบผู้บริโภค แต่หากสงครามยืดเยื้อในเดือนมิถุนายนต้องมาดูกันอีกรอบ เพราะปกติจะทำสัญญาทุก 6 เดือน ถึง 1 ปี หากราคาน้ำมันยังไม่ลดลง ก็จำเป็นต้องปรับราคาสินค้าอีกรอบ” ตันกล่าว
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine