เกรียงไกร กาญจนะโภคิน พา "ไทยแลนด์ พาวิลเลี่ยน" สู่สายตาชาวโลก - Forbes Thailand

เกรียงไกร กาญจนะโภคิน พา "ไทยแลนด์ พาวิลเลี่ยน" สู่สายตาชาวโลก

ท่ามกลางอากาศที่ร้อนแรงมหานครดูไบ UAE ได้เนรมิตทะเลทรายที่เวิ้งว้างเป็นสถานที่จัด World Expo 2020 Dubai ในฐานะเจ้าภาพได้ลงทุนในการจัดงานในครั้งนี้สูงถึง 6,800 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ด้านประเทศไทยมีกระทรวงดิจิทัลฯ เป็นกระทรวงเจ้าภาพและได้ Index Creative Village ที่มี เกรียงไกร กาญจนะโภคิน รับหน้าที่จัดแสดง

Index Creative Village ที่นำโดย เกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) ได้ฝั่งตัวกับการจัดงานยาวนานนับตั้งแต่ชนะการประมูลในการจัดงาน ซึ่งการจัดงาน World Expo 2020 ที่ดูไบซึ่งการจัดงานครั้งนี้มี 192 ชาติเข้าร่วม ทิ้งระยะเวลาจากกำหนดการเดิมนานกว่าปกติ อันเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ใน UAE ในช่วงตุลาคมปีที่ผ่านมาถือว่าผ่อนคลายขึ้นมากประชากรของประเทศได้วัคซีนอย่างทั่วถึง อันเนื่องจากการจัดการของรัฐบาลที่ทุ่มทุนในการเตรียมการด้านวัคซีนเป็นอย่างดีไม่ว่าจะเป็นการจัดหา การจัดสร้างโรงงานผลิต วันที่เปิดงาน World Expo 2020 Dubai เกิดขึ้นท่ามกลางความร้อนแรงของสภาพอากาศซึ่งเป็นหนึ่งในความท้าทายสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อ เกรียงไกร อันเนื่องจาก สองอาทิตย์แรกของการเปิดตัวคือสิ่งตัดสินและเป็นมาตรวัดความสำเร็จในสงครามเพื่อแทรก ไทยแลนด์ พาวิลเลี่ยน ติดหนึ่งในสิบที่ผู้คนกล่าวถึงในพื้นที่ข่าวบนโลกโซเชียลและจำนวนผู้เข้าชม “ถ้าย้อนกลับไปมันคือประโยคที่ผมใช้ทุกครั้งที่เปิดตัวงานเอ็กซ์โปไม่ว่าในการจัดแสดงที่ไหนคือ “1 2 3” ภาพยนตร์เข้าพร้อมกัน ผู้ชมส่วนมากเดินทางมาชมงานเต็มที่สองครั้งซึ่งพวกเขาต้องเลือกดู และตรงกับผลงานวิจัยที่เรามีว่าเราจะทำอย่างไรให้สงครามครั้งนี้เราชนะด้านจำนวนคนเข้าชม เกรียงไกรกล่าว การสัมภาษณ์ครั้งนั้นเป็นการให้สัมภาษณ์ที่ร้านอาหารภายในงาน World Expo 2020 และเป็นครั้งแรกที่เขาเดินลึกเข้ามาภายในพื้นที่โซนอื่นๆ นอกสถานที่ตั้งของไทยแลนด์ พาวิลเลี่ยน ที่ตั้งในโซน Mobility ขนาบด้วยฝรั่งเศสและเบลเยียม โดยมี เกาหลีใต้ห่างออกไป ซึ่งเหตุผลที่เขาไม่ห่างจาก ไทยแลนด์ พาวิลเลี่ยน คือการจดจ่ออยู่กับเกมการดึงผู้เข้าชม ตามแผนงานด้านมาร์เก็ตติ้งที่เขาวางไว้อย่างมีชั้นเชิงของเนื้อหาเพื่อดึงคนผู้ชมอยากเข้ามาถ่ายรูป เข้ามาชม การเล่าเรื่องภายในห้องจัดแสดงต่างๆ ที่คุ้นตาสำหรับคนไทยแต่เป็นเรื่องใหม่สำหรับผู้เข้าชมงาน ผ่านการจัดแสดงด้วยเทคโนโลยีล่าสุด “ถ้าเทียบทางด้านเทคโนโลยีการจัดแสดงแล้วพาวิลเลี่ยนต่างๆ เท่าทันกันหมด ยุคนี้เป็นเรื่องการใช้วิดีโอเล่าเรื่อง การทัชสกรีนเป็นเรื่องเก่าไปแล้ว” เกรียงไกร กล่าวเสริม สำหรับเกมการแข่งขันดึงผู้ชมในครั้งนี้ สิ่งที่ไทยแลนด์ พาวิลเลี่ยน ต้องแข่งขันกับนานาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นพาวิลเลี่ยนหลักจากทั้งสามธีม พาวิลเลี่ยนขนาด XL เต็มไปด้วยคู่แข่งอย่าง จีน เยอรมัน ซาอุดิอาระเบีย เกาหลีใต้ โดยเกรียงไกรยอมรับเกมที่นั่ง 10 แห่งในดวงใจของผู้เข้าชมเรียกว่าได้ว่าเก้าอี้เกือบครบแล้ว

แนวคิดสร้าง "ไทยแลนด์ พาวิลเลี่ยน"

จากธีมงานที่เจ้าภาพให้มา “Connecting mind Creating the future” มีธีมการจัดงานย่อย 3 หัวข้อ ได้แก่ Opportunity, Mobility และ Sustainability โดยประเทศไทยเลือกธีมการจัดงานย่อยคือ Mobility ซึ่งเกรียงไกรตีความหมายคอนเซ็ปต์ถึงการเคลื่อนที่ การติดต่อเดินทาง เกิดเป็นแนวทางในการเชื่อมโยง สถานที่ คน และเนื้อหาจากประวัติศาสตร์ของประเทศ แสดงผ่านอินเตอร์แอคทีฟที่มีนัยยะการแสดงที่สะท้อนให้เห็นประสบการณ์การจัดงานแสดงอันหลากหลายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศของกลุ่มผู้จัดงานกลุ่มนี้ ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่สมัยอยุธยา เปิดรับวัฒนธรรมต่างชาติมานานตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยไทยยังเป็นหนึ่งไม่กี่ชาติในเอเชียที่เดินทางไปยุโรป สืบเนื่องจนมาถึงปัจจุบันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการบิน การท่องเที่ยว การลงทุน เป็นสถานที่ที่ชาวต่างชาติเลือกมาเกษียณอายุ มารักษาตัวกับแพทย์ไทย เกรียงไกรเปิดเผยด้วยว่างานวิจัยพบว่าเหตุผลที่ผู้คนเดินทางมาประเทศไทย ได้แก่ธรรมชาติทางทะเลสวยงาม วัฒนธรรมไทยอันอับอุ่น และอาหารการกินที่หลากหลาย และสิ่งหนึ่งที่ชาวต่างชาติผู้ถึงประเทศไทยมากที่สุดคือความเอื้อเฟื้อ ความยิ้มแย้มแบบคนไทย จึงนำสัญลักษณ์ “พวงมาลัย” มาพัฒนาต่อทางความคิดผ่านอาคารจัดแสดง ด้านนอกของตัวอาคารจึงเป็นลวดลายของพวงมาลัยจากดอกรักที่สามารถเปลี่ยนแสงสี เสียงต่างๆ ในยามกลางคืน และนำดอกรักและดอกมะลิ มาเป็นมาสคอตสำคัญในการร้อยเรียงเนื้อหาของประเทศภายในห้องจัดแสดงทั้ง 4 ห้องจัดแสดง โดยมีมาสคอต รัก และ มะลิ ในรูปแบบดิจิทัลเป็นตัวละคร เดินเรื่องและเชื่อมเนื้อหาเข้าด้วยกัน โดยทั้ง 4 ห้องประกอบไปด้วย ห้องแรก Thai Mobility ผ่านความงดงามของศิลปะไทย เป็นการจัดแสดงในรูปแบบ Walkthrough Exhibition โดยมี “เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์จำลอง” ที่รับการอนุญาตจากกรมศิลปากรข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อนำมาจัดแสดงและยังเป็นพาหนะเดินทางในในสมัยก่อน ห้องที่สอง Mobility of Life น้ำขับเคลื่อนชีวิตไทย เป็นการจัดแสดงในรูปแบบ Aquatic Performance แบบ 4 มิติสะท้อนภาพประวัติศาสตร์ สังคม ประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิตจากอดีตสู่ปัจจุบันเนื่องจากประเทศไทยมีน้ำเป็นเส้นทางหลักในการเดินทางหลักในการคมนาคม ห้องที่สาม Mobility of The Future การขับเคลื่อนประเทศในยุคดิจิทัล การจัดแสดงในรูปแบบ 360 องศา พาผู้ชมเดินทางสู่ภาพอนาคตจำลองของประเทศไทยที่พัฒนาเมืองอัจฉริยะใน 7 มิติ ได้แก่ SMART Economy (การเพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจและการลงทุน) SMART Mobility (ระบบการขนส่งและการเดินทางที่ทันสมัย) SMART People (การศึกษาที่เข้าถึงทุกคนไม่ว่าจะอยู่ใกล้หรือไกล) SMART Living (การส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี) SMART Governance (การพัฒนาระบบข้อมูลและการให้บริการภาครัฐ) SMART Environment  (การบริหารจัดการทรัพยากร) และ SMART Energy (การบริหารจัดการด้านพลังงาน) ด้วยความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อผลักดันตัวเองเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีดิจิทัลในภูมิภาคอีกด้วย และห้องที่สี่ Heart of Mobility หัวใจหลักของการขับเคลื่อน เป็นการจัดแสดงในรูปแบบหนังสั้นผ่านเทคนิค PYRAMID MOTION PICTURE ชาวต่างชาติที่อยู่อาศัยและตั้งหลักธุรกิจในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น Bill Heinecke ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ กลุ่ม Minor ที่เดินทางมาประเทศไทย รวมทั้งผู้ประกอบการอื่นๆ และชาวต่างชาติที่หลงรักเมืองไทย ผ่านมุมมองต่างๆ กับเสน่ห์แบบไทยที่สร้างความประทับใจให้ทั่วโลก ซึ่งนั่นคือหัวใจของการขับเคลื่อนประเทศอย่างแท้จริง เมื่อออกจากห้องสุดท้ายจะเจอกับร้านอาหารไทย ร้านอาหารไทย The Taste of Thai ที่ยกครัวปรุงอาหารกันแบบสดใหม่ ซึ่งวัฒนธรรมทางอาหารไทยถือเป็นจุดแข็งสำคัญอย่างหนึ่ง รวมถึงร้านของที่ระลึก Thai Souk ที่นำสินค้าจากผู้ประกอบการไทยมาจัดจำหน่าย "เราออกแบบประสบการณ์การเข้าชมเริ่มจากบรรยากาศนิ่งๆ ก่อนที่ห้องถัดมาเย็น่ำด้วยละอองน้ำ พอเข้ามาอีกห้องขึ้นโดรน มาจบที่มาลงทุนประเทศไทย" โดยในช่วงเย็นค่ำบริเวณลานด้านหน้าอาคารนิทรรศการจัดแสดงจะมีการแสดงซึ่งเปลี่ยนเนื้อหาการแสดงใหม่ๆ หมุนเวียนเข้ามาเพื่อสร้างความประหลาดใจกับผู้เข้าชมรวมไปถึงผู้จัดงานด้วยกันเอง ทั้งยังเป็นการแสดงของนักแสดงจริงผสมผสานวิชวลเอฟเฟค ผ่านจอแอลซีดีขนาดใหญ่ที่ด้านหลังเป็นแบคกราวน์ตามชุดการแสดงเหล่านั้น รวมไปถึงการนำเด็กๆ นักดนตรีชาวไทยไปจัดแสดงมินิคอนเสิร์ต “วันนี้ผู้จัดแสดงมาแบบโมเดิร์นทั้งหมด คิดเล่นๆ ถ้าเอาวัดไทยมาเราคงชนะเลิศเลย ส่วนตัวผมเป็นคนทันสมัยแต่เวลาทำงานเราเอาตัวเอง อีโก้ของตัวเองมาใช้ไม่ได้ อีโก้ของตัวผมคือตัวทำงานให้สำเร็จ KPI ต้องสำเร็จ คนต้องมาเยอะ” เกรียงไกร กล่าว ก่อนเริ่มต้นงานเอ๊กซ์โป อินเด็กซ์ตั้งแคมเปญที่เป็นพีอาร์ภายในเรียกว่า "we will surprise you" หนึ่งเดือนก่อนงานเริ่มได้จับมือกับร้านอาหารไทย Little Bangkok บนโต๊ะอาหารนำเทคนิค กราฟฟิค แมปปิ้ง รักกับมะลิ บนโต๊ะอาหารด้วยอนิเมชั่น ทันทีที่แขกเข้ามานั่งที่ร้านและยังสามารถถ่ายรูปเพื่อลุ้นรับบัตรเข้างานเอ็กซ์โป เพียงวันแรกร้าน Little Bangkok ทำรายได้เกือบ 500,000 ดีแรห์มฯ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรากล้าพูดก็คือ เราเชื่อว่าจบงานนี้ สิ่งที่ประเทศจะได้คือการท่องเที่ยว นั่นคือ "quick money" สิ่งที่สอง เราสร้างสิ่งที่ผู้ชมอยากจะเดินทางมาไทยไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด

จับมือเมืองโบราณ

เกรียงไกร เล่าเสริมถึงสถานการณ์โควิด ที่เข้ามากระทบการจัดอีเวนต์ทั่วทั้งโลกตลอดสองปีที่ผ่านมา "พินาศทั้งโลก" งานแฟร์ งานเทรดโชว์ ไม่มีการจัดในโลกมาเป็นเวลา 2 ปี คนในอุตสาหกรรมนี้ไม่ว่าจะเป็นเอนเตอร์เทนเมนท์ ซัพพลายเชนต่างๆ พินาศหมด ทำให้เราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงธุรกิจของตนเอง ด้านพอร์ตฟอลิโอของอินเด็กซ์ต้องเปลี่ยนอย่างแน่นอน "มาร์เก็ตติ้ง เซอร์วิส" พอร์ตที่ใหญ่ที่สุดของธุรกิจที่เคยต้องรอการว่าจ้าง เขาจึงตัดสินใจเลือกที่จัดงานเองทำให้เดือนพฤศจิกายน ปี 2563 สืบเนื่องไปถึงเดือนมกราคม 2565 จัดงาน Forest of illumination ที่ คีรีมายา เขาใหญ่ Village of Illumination และ Thailand International Lantern & Food Festival ที่เมืองโบราณ สมุทรปราการ โดยเมืองโบราณจะเป็นฐานในการจัดงานต่างๆ "แต่ก่อนเราเข้าเมืองโบราณเพื่อไปเที่ยวชม แต่เราจะทำให้เมืองโบราณเป็นเมืองกิจกรรม เราทำซับบอร์ด เราทำลานสเก็ต เป็นสนามแข่งขันในอนาคต" โดย อินเด็กซ์​ กับเมืองโบราณได้จับมือกันเป็น "สตาติจิก พาร์ตเนอร์" ซึ่งกันและกัน อย่างปลายปี 2564 ได้เปิดโซนใหม่ที่เมืองโบราณ เพื่อมาจัดงานแสดง Thailand International Lantern & Food Festival เป็นครั้งแรก เพราะฉะนั้นในหนึ่งปีจะมีการกิจกรรมอย่างน้อยกับเมืองโบราณถึง 2 งาน ซึ่งเป็นการจัดแสดงงานหลักและงานใหญ่ นอกจากนี้ยังมีการร่วมลงทุนสร้างล้านสเก็ตในเมืองโบราณเกือบ 20 ล้านบาท "ตอนนี้อินเด็กซ์ไม่มีโหมดนั่งรอ มีแต่โหมดพุ่งออกไปข้างหน้า อย่างคีรีมายาก็เป็นโมเดลโคครีเอชั่นร่วมกันเป็นการลงทุนของเราทั้งหมดแล้วแบ่งกำไร เราจะไปโคครีเอชั่นกับแลนด์ลอร์ดทั้งหลายและเรามั่นใจว่าจบจากงานเอ็กซ์โปที่ UAE เราเตรียมต่อยอดงานที่ UAE ได้อย่างแน่นอน" เกรียงไกร กล่าวย้ำ ภาพ: Index Creative Village

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine