‘เจโทร’ เผยผลสำรวจร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยปี 2567 พบจำนวนร้านซูชิลดลงเกือบ 100 แห่ง เสียแชมป์ให้ร้านประเภทภัตตาคารอาหารญี่ปุ่น ขณะเดียวกันพบอัตราขยายร้านอุด้ง/โซบะ-คาเฟ่-อิซากายะ-สูงมากขึ้น ชี้ปีนี้ตลาดยังแข่งขันแรงต่อเนื่อง เพราะจำนวนประชากรต่อร้านอาหารสูง และคนไทยนิยมของใหม่ แนะผู้ประกอบการต้องปรับตัวเสริมเมนูและบริการที่ตรงตลาด
จำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นปี 67 โตต่ำสุดรอบ 4 ปี
จากการสำรวจจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยขององค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพฯ) ระหว่างวันที่ 15 สิงหาคมถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2567 พบว่าจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยมีจำนวนทั้งหมด 5,916 ร้าน เพิ่มขึ้นมาเพียง 165 ร้าน หรือ 2.9% จากปี 2566
โดยร้านทั้งหมดแบ่งเป็นร้านในกรุงเทพฯ 2,672 ร้านค้า ส่วนร้านในต่างจังหวัดมี 2,371 ร้านค้า และร้านในปริมณฑล 873 ร้านค้า โดยจังหวัดที่มีจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นรองจากกรุงเทพฯ 10 อันดับแรก ได้แก่ ชลบุรี นนทบุรี เชียงใหม่ สมุทรปราการ ปทุมธานี ภูเก็ต นครปฐม นครราชสีมา สงขลา และขอนแก่น และพบว่าตั้งแต่ปี 2563 มีร้านอาหารญี่ปุ่นเปิดดำเนินการครบทุกจังหวัดในประเทศไทยแล้ว
จากจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นทั้งหมด ร้านอาหารประเภทภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นมีจำนวนมากสุดถึง 1,439 ร้าน ตามมาด้วย ร้านซูชิ 1,279 ร้าน ร้านราเมน 802 ร้าน อิซากายะ 480 ร้านสุกี้และชาบู 448 ร้าน ยาคินิคุ 433 ร้าน ร้านคาเฟ่ 329 ร้านและ 162 ร้านเป็นประเภทดงบุริ ซึ่งเป็นร้านข้าวหน้าเนื้อ ข้าวหน้าเท็มปุระ ข้าวหน้าหมูและข้าวหน้าอาหารทะเล ที่เหลือเป็นอื่นๆ อาทิ ร้านข้าวแกง ร้านอาหารตะวันตกสไตล์ญี่ปุ่น ร้านเทปันยากิ ร้านโซบะ เป็นต้น
สำหรับตลาดในกรุงเทพฯ ร้านอาหารที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น ได้แก่ ร้านอิซากายะ โซบะ/อุด้ง ส่วนปริมณฑลเป็นร้านโซบะ/อุด้ง และร้านคาเฟ่ ขณะที่ต่างจังหวัดจะเห็นการเพิ่มขึ้นของจำนวนร้านค้าประเภทอาหารทอด และร้านคาเฟ่
ทั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปีที่จำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยเพิ่มขึ้นในอัตราต่ำสุด เมื่อเทียบกับปี 2561 ที่การเพิ่มขึ้นน้อยสุดอยู่ที่ 230 ร้าน และในปี 2565 ที่เคยมีร้านญี่ปุ่นเพิ่มสูงสุดถึง 955 ร้าน
เมื่อวิเคราะห์ตามประเภทร้านอาหารพบว่า ร้านซูชิซึ่งเป็นประเภทร้านที่มีจำนวนร้านมากที่สุดตั้งแต่ปี 2563 ถึงปี 2566 ลดลงเหลือ 1,279 ร้าน หรือ -6.8% ลดอันดับลงไปอยู่รองจากร้านประเภทภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นซึ่งเป็นร้านอาหารญี่ปุ่นแบบมีเมนูเป็นเซ็ตและอาหารไคเซกิ ที่มีจำนวนร้านมากที่สุดคือ 1,439 ร้าน เพิ่มขึ้นถึง 6.3%
ร้านซูชิปิดมากกว่าเปิด
คุโรดะ จุน ประธาน เจโทร กรุงเทพฯ กล่าวว่า ขณะที่มีร้านซูชิเปิดใหม่เพิ่มขึ้น 181 ร้านในปีที่ผ่านมา แต่กลับมีร้านซูชิถึง 274 แห่งปิดตัวลง ซึ่งจากการสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นของทางเจโทร พบว่ามี 3 เหตุผลหลักที่จำนวนร้านซูชิหดตัวลง
เหตุผลแรกคือ หลายปีที่ผ่านมามีร้านซูชิคุณภาพดีและราคาไม่แพงเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องการซูชิที่มีคุณภาพดียิ่งขึ้นกว่าในอดีต ก่อให้เกิดผลกระทบต่อร้านซูชิที่แข่งขันกันด้านราคา และอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้จำนวนร้านซูชิมีจำนวนลดน้อยลง
เหตุผลที่ 2 คือในปี 2562-2565 มีการเปิดร้านซูชิจำนวนมาก ทำให้เกิดภาวะ over supply
และเหตุผลที่ 3 คืออุปสรรคด้านวัตถุดิบ การต้องใช้วัตถุดิบที่สด ร้านที่ระบบควบคุมความเย็นไม่ดีจึงยากที่จะแข่งขันได้
ส่วนเหตุผลอื่นๆ ที่รองลงมาได้แก่ ร้านที่บริหารภายใต้แฟรนไชส์ไม่ได้ต่อสัญญา ความต้องการของผู้บริโภคและการแข่งขัน ทำให้ร้านซูชิต้องขยายให้บริหารอาหารประเภทอื่นมากขึ้น และบางรายต้องเปลี่ยนตัวเองจากร้านซูชิไปเป็นร้านอาหารญี่ปุ่นในรูปแบบอื่นๆ เพื่อให้อยู่รอดได้ นอกจากนี้ร้านราเมนที่มีความพิถีพิถันได้รับความนิยมมากขึ้น และมีร้านญี่ปุ่นที่ดึงดูดความสนใจของลูกค้าด้วยเมนูและบริการรูปแบบใหม่เพิ่มมากขึ้น
ขณะที่ร้านซูชิหดตัว เจโทรพบว่ามีความนิยมร้านอาหารญี่ปุ่นประเภทอุด้ง โซบะ ร้านคาเฟ่ ร้านอิซากายะ และราเมนในอัตราเพิ่มขึ้นมากที่สุด เพราะราเมนเป็นที่รู้จักของคนไทย ทานง่าย วัตถุดิบหาง่าย และมีร้านที่เข้าถึงคนไทยได้ง่ายขึ้น ส่วนร้านอิซากายะที่มีคอนเซ็ปต์ของญี่ปุ่นยุคเก่าๆ ถูกใจคนไทย และร้านประเภทนี้นั่งสบาย ส่วนร้านคาเฟ่สไตล์ญี่ปุ่นได้รับความนิยมในต่างจังหวัดและปริมณฑลมากขึ้น
เตรียมผลักดันขายวัตถุดิบญี่ปุ่นสู่ร้านอาหารสัญชาติอื่น
จุนกล่าวว่า เจโทร กรุงเทพฯ จะจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นการบริโภคอาหารญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง เพื่อดึงลูกค้าใหม่ๆ ทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวให้รู้จักร้านอาหารญี่ปุ่นมากขึ้น พร้อมส่งเสริมการนำเข้าวัตถุดิบอาหารจากญี่ปุ่นมาจำหน่ายทั้งร้านอาหารญี่ปุ่น และร้านอาหารอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารญี่ปุ่นในเมืองไทย
นอกจากนี้ยังจะส่งเสริมการท่องเที่ยวญี่ปุ่นมากขึ้น เพื่อให้คนไทยได้คุ้นเคยและมีประสบการณ์กับอาหารญี่ปุ่นประเภทใหม่ๆ มากขึ้น จากปัจจุบันที่มีจำนวนคนไทยไปท่องเที่ยวญี่ปุ่นปีละ 1 ล้านคน
“เราเชื่อว่า อุปสงค์ต่ออาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยยังคงมีต่อไป แม้จะมีอุปสรรคด้านต้นทุนวัตถุดิบ ค่าแรง ค่าเช่าพื้นที่ การแข่งขันสูง และคนไทยชอบลองอะไรใหม่ๆ แต่นี่ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดกับร้านอาหารญี่ปุ่นเท่านั้น แต่เป็นปัญหาที่เกิดกับร้านอาหารทุกประเภท
“อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการต้องนำเสนอเมนูอาหารที่มีระดับราคาตรงกับความต้องการของผู้บริโภค การเสริมความรู้เกี่ยวกับเมนูและวัตถุดิบที่นิยมใช้ในเมืองใหญ่ รวมถึงความพร้อมของระบบการขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ” จุนกล่าว และว่า การที่นักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ได้รับความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับอาหารญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความต้องการบริโภคอาหารญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมพร้อมทั้งค้นหาเทรนด์ใหม่ๆ ของอาหารญี่ปุ่นเพิ่มมากยิ่งขึ้น"
“เราจะขยายการส่งออกสินค้าอาหารจากประเทศญี่ปุ่นมายังประเทศไทยมากขึ้น เพื่อเติมเต็มความต้องการของผู้บริโภคในตัวเมืองที่ชอบอาหารญี่ปุ่นแบบต้นตำรับหรือของแท้ดั้งเดิม และเสริมสร้างความรู้ เปิดประสบการณ์การทานอาหารญี่ปุ่น โดยเฉพาะวัตถุดิบที่ยังไม่แพร่หลายให้แก่ผู้บริโภคในส่วนภูมิภาค รวมทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ” จุนกล่าวทิ้งท้าย
ภาพปกเรื่อง : Photo by Luc Bercoth on Unsplash
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : รู้จัก ‘Erewhon’ สมูทตี้แก้วละ 800 บาทแต่ขายดี เพราะกลยุทธ์ชวน ‘คนดัง’ ทำเมนูใหม่
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine