เครือ BDMS เอ็มโอยูบริษัทจีน ดึง นทท.จีนใช้บริการสุขภาพ หนุนไทยเป็นฮับ Wellness Tourism - Forbes Thailand

เครือ BDMS เอ็มโอยูบริษัทจีน ดึง นทท.จีนใช้บริการสุขภาพ หนุนไทยเป็นฮับ Wellness Tourism

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และประเทศไทยเองก็โดดเด่นเรื่องนี้ไม่น้อย ล่าสุด BDMS Wellness Clinic ประกาศความร่วมมือกับ Fanhua Blue Plus Management โบรกเกอร์ประกัน-ผู้ให้บริการด้านสุขภาพในจีน หวังดึงนักท่องเที่ยวจีนใช้บริการสุขภาพเชิงป้องกัน ผลักดัน Wellness Tourism ของไทย


    นายแพทย์ตนุพล วิรุฬหการุญ ประธานคณะผู้บริหาร บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก และบีดีเอ็มเอส เวลเนส รีสอร์ท บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ข้อตกลงครั้งนี้เป็นการเปิดความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ โดย BDMS Wellness Clinic พยายามรณรงค์เรื่องการดูแลสุขภาพมาโดยตลอด ซึ่งเราต้องการเป็นฟันเฟืองหนึ่งในการขับเคลื่อนให้คนในสังคมมีสุขภาพดี

    “ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุไปเรียบร้อย อีกทั้งในอนาคตก็จะมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งหลายประเทศในโลกนี้ก็กำลังเดินหน้าเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเหมือนกับประเทศไทย

    นอกจากนี้ โรคไม่ติดต่อเรื้อรังยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญของคนไทย ประมาณการว่าใน 1 ชั่วโมงมีคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคกลุ่มนี้ถึง 44 คน ไม่เพียงเท่านั้นโรคกลุ่มนี้ยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้คน 74% บนโลกอีกด้วย และเมื่อเจอกับสถานการณ์โรคระบาด คนที่ไม่แข็งแรง หรือไม่ได้เตรียมตัวรับมือ ก็พลั้งพลาด แพ้โรคระบาด”



    นายแพทย์ตนุพลกล่าวอีกว่า ปัจจัยดังกล่าวทำให้กระแสรักสุขภาพเพิ่มขึ้นมาก BDMS Wellness Clinic เองก็ผลักดันเรื่องนี้ในไทยมาหลายปี กระทั่งตอนนี้มองว่าประชากรประเทศอื่นก็อยากมีสุขภาพดีด้วย จึงอยากนำเสนอความรู้ เทคโนโลยีการตรวจของเครือ BDMS มาสู่ประชาชนมากขึ้น

    ทั้งนี้ ในปี 2566 ที่ผ่านมามีผู้เข้าใช้บริการโรงพยาบาลในเครือ BDMS กว่า 12 ล้านคน โดย 2-3 ล้านคนเป็นชาวต่างชาติ โดยมีชาวตะวันออกกลางและชาวจีนเป็นอันดับต้นๆ

    อย่างไรก็ตาม นพ.ตนุพล กล่าวว่า จำนวนชาวต่างชาติที่มาเข้ารับบริการดังกล่าวนั้นล้วนแต่เป็นผู้ป่วย แต่ความร่วมมือในครั้งนี้ BDMS อยากนำเสนอว่าเขาไม่ต้องป่วย แต่ก็มาเมืองไทย มาใช้บริการสุขภาพที่ไทยได้ หรือเรียกได้ว่าการร่วมมือในครั้งนี้มีเป้าหมายไปที่การให้บริการเชิงสุขภาพที่เน้นการป้องกันก่อนเกิดการเจ็บป่วยนั่นเอง

    “ประเทศไทยถูกจัดอันดับโดย GWI (Global Wellness Institute) เมื่อปี 2020 ให้เป็น Wellness Destination อันดับ 2 รองจากประเทศออสเตรเลีย สิ่งที่หมออยากผลักดันคืออยากให้ประเทศไทยเป็น Wellness Tourism Destination ของโลก คือนอกจากมาเที่ยวประเทศไทยแล้ว ก็อยากจะให้เขากลับไปสุขภาพดีด้วย อยากให้เมื่อผู้คนนึกถึงประเทศไทย ก็นึกถึงเรื่องเวลเนสด้วย”

    ทั้งนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รายงานว่าปี 2566 ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวชาวจีนมาเยือนไทยมากกว่า 4 ล้านคน ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกตามนโยบายฟรีวีซ่า

    นอกจากนี้ ข้อมูลของ Global Wellness Tourism Economy การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพก็ได้เติบโตเพิ่มขึ้นด้วย โดยขนาดตลาดทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 9.19 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2565 และมีอัตราเติบโตต่อปีที่ 7.5% ความร่วมมือครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเจาะตลาดที่กำลังเติบโต ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยได้กลายเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ


    นพ.ตนุพล ยังกล่าวอีกว่า สำหรับชาวจีนที่ Fanhua Blue Plus Management ส่งมาใช้บริการที่ BDMS Wellness Clinic นั้นมีหลายกลุ่มแล้ว กลุ่มแรกๆ ให้ความสนใจเรื่องการดูแลสุขภาพจากข้างใน เช่น การตรวจฮอร์โมน การตรวจว่าร่างกายขาดวิตามินอะไร นอนหลับลึกหรือไม่ ซึ่งคล้ายๆ กับชาติอื่นๆ

    สำหรับบริษัท FanHua Blue Plus Health Management เป็นบริษัทที่มีประวัติอันยาวนานในด้านการให้บริการจัดการทางการเงินและสุขภาพอย่างครอบคลุม ตั้งแต่การคุ้มครองการประกันภัยไปจนถึงการวางแผนการเกษียณอายุ การจัดการสินทรัพย์ การจัดการด้านสุขภาพ การจัดการสินทรัพย์ และบริการดูแลด้านครอบครัวของคนในประเทศจีน ซึ่งการร่วมเป็นพันธมิตรกับบีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก จะช่วยยกระดับชื่อเสียงของประเทศไทยในด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพ และยังช่วยเพิ่มความน่าดึงดูดใจในฐานะจุดหมายปลายทางหลักสำหรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอีกด้วย



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ‘กลุ่มทองแตง’ พลิกโฉม รพ.เปาโล พหลโยธิน สู่ ‘พญาไท พหลโยธิน’ ลุยเจาะกลุ่มพรีเมียม!

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine