‘กลุ่มทองแตง’ พลิกโฉม รพ.เปาโล พหลโยธิน สู่ ‘พญาไท พหลโยธิน’ ลุยเจาะกลุ่มพรีเมียม! - Forbes Thailand

‘กลุ่มทองแตง’ พลิกโฉม รพ.เปาโล พหลโยธิน สู่ ‘พญาไท พหลโยธิน’ ลุยเจาะกลุ่มพรีเมียม!

เครือโรงพยาบาลเปาโล และพญาไท แม้อยู่ในอาณาจักร BDMS แต่ก็มี ‘ตระกูลทองแตง’ หนึ่งในตระกูลที่มีมหาเศรษฐีไทย ถือหุ้นและบริหารอยู่ โดยทั้งสองกลุ่มโรงพยาบาลที่กล่าวไปมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายคนละเซ็กเมนต์กัน แต่ล่าสุดได้มีความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ หลังประกาศพลิกโฉม รพ.เปาโล พหลโยธิน สู่ ‘รพ.พญาไท พหลโยธิน’ รองรับการเติบโตของพื้นที่ถนนพหลโยธินที่กลายเป็นย่านธุรกิจและสภาพเศรษฐกิจเติบโตมากขึ้น


    หนึ่งในนักลงทุนไทยที่กลายเป็นเศรษฐีหุ้นที่หลายคนรู้จักและคุ้นชื่อกันดี คือ ‘วิชัย ทองแตง’ อดีตทนายความผู้ผันตัวมาเป็นนักลงทุนจนได้ฉายาว่าเป็น ‘พ่อมดตลาดหุ้น’ หลังจากเขาเข้าซื้อหุ้น จนถึงเทคโอเวอร์กิจการ จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และเป็นเจ้าของบริษัทหลายแห่ง

    หนึ่งในหุ้นที่เขาซื้อก็คือหุ้นของโรงพยาบาลเปาโล และโรงพยาบาลพญาไทเมื่อกว่า 20 ปีก่อน และสามารถบริหารให้โรงพยาบาลขยายการเติบโตและสร้างความแข็งแกร่งได้

    กระทั่งปี 2553 วิชัย ได้พบกับ นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เจ้าของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ และมีการทำข้อตกลงนำกลุ่มโรงพยาบาลพญาไท มารวมกับกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ เพื่อสร้างเครือข่ายโรงพยาบาลให้แข็งแกร่งกว่าเดิม โดยที่วิชัย ทองแตง ยังคงบริหารในส่วนของกลุ่มโรงพยาบาลพญาไทและเปาโลอยู่เช่นเดิม

    วิชัยลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการโรงพยาบาลพญาไทเมื่อราว 7 ปีก่อน และปัจจุบันกลุ่มโรงพยาบาลแห่งนี้บริหารงานโดยหนึ่งทายาทของเขาอย่าง ‘อัฐ ทองแตง’ ที่ดำรงตำแหน่งประธานคณะผู้บริหาร เครือโรงพยาบาลไทย-เปาโล

    อัฐ ทองแตง กล่าวถึงการพลิกโฉมแบรนด์โรงพยาบาลจากเปาโล พหลโยธิน มาสู่ พญาไท พหลโยธิน ในครั้งนี้ว่า สำหรับแบรนด์พญาไท-เปาโล จากนี้ไปจะมีการปรับแบรนด์พญาไทให้ดูแลในกลุ่มตลาดพรีเมียม ซึ่งในวันนี้จะเห็นได้ว่าพื้นที่ของถนนพหลโยธินมีการปรับตัวเยอะมาก จึงคิดว่าแบรนด์พญาไท น่าจะเป็นแบรนด์ที่เหมาะสมกับถนนเส้นนี้ ส่วนแบรนด์เปาโลจะมีการเติบโตต่อไปเรื่อยๆ ในรูปแบบของการเป็น Community Hospital ช่วยในตลาดกลุ่มลูกค้าประกันสังคม

อัฐ ทองแตง


    “จุดแข็งของเราคือสามารถเข้าถึงลูกค้าคนไทยในฐานกว้าง ทั้งกลุ่มพรีเมียม ลูกค้าที่มีประกันสุขภาพของตนเอง ไปจนถึงกลุ่มที่ใช้สิทธิประกันสังคม เราดูแลได้ทุกระดับ เรามีฐานคนไข้ที่กว้างมาก และมั่นใจว่านี่คือพื้นฐานของการพัฒนาประเทศ เป็นคำมั่นสัญญาของเราว่าทั้งพญาไทและเปาโล จะมีบทบาทในการช่วยดูแลสุขภาพให้กับคนไทยทุกคนและเติบโตไปพร้อมสังคม”

    ทั้งนี้ รพ.เปาโล พหลโยธิน เป็นโรงพยาบาลขนาด 230 เตียงที่ก่อตั้งมากว่า 50 ปีแล้ว และเดิมรองรับลูกค้าสิทธิประกันสังคมด้วย แต่หลังจากมีแผนเปลี่ยนเป็นโรงพยาบาลพญาไท พหลโยธิน โรงพยาบาลได้ย้ายลูกค้าสิทธิประกันสังคมไปยังโรงพยาบาลอื่นในเครือเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

    “ประกันสังคมของที่นี่ (รพ.เปาโล พหลโยธิน) ไม่ได้รับมาสักพักหนึ่งแล้ว เราค่อยๆ ปรับโมเดลธุรกิจให้เหมาะสมกับพื้นที่ ตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลง ลูกค้าก็ย้ายไปอยู่ รพ.เปาโล โชคชัยสี่, รพ.พญาไท นวมินทร์ เป็นต้น” อัฐ กล่าวเพิ่มเติม พร้อมเสริมด้วยว่ายังไม่มีแผนในการรีแบรนด์ รพ.เปาโล อื่นๆ ในปีนี้

    ด้าน ผศ.นพ.วีรยะ เภาเจริญ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลพญาไท พหลโยธิน กล่าวเสริมว่า การรีแบรนด์ในครั้งนี้ เป็นการสร้างความชัดเจนในการส่งมอบคุณค่าในนามของพญาไท หรือ Value-Based Healthcare ให้กับลูกค้า และนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ มาดูแลผู้ป่วยได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น

    โดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เช่น ลูกค้าองค์กร ลูกค้าที่ต้องการเน้นเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ รวมถึงยังตั้งเป้าขยายกลุ่มลูกค้าต่างชาติมากขึ้นด้วย

ผศ.นพ.วีรยะ เภาเจริญ


    “โรงพยาบาลเปิดขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการด้านสุขภาพของผู้คนในพื้นที่ ด้วยการนำเทคโนโลยี (Digital Transformation) และนวัตกรรมการบริการเข้ามายกระดับการดูแลผู้ป่วยกลุ่ม New Age ที่ต้องการความรวดเร็วและบริการที่ตอบสนองเฉพาะบุคคล เช่น แอปพลิเคชัน Health Up ที่ช่วยนัดหมายและติดตามการนัดจากที่บ้าน รวมถึงบริการ Telecare ปรึกษาปัญหาสุขภาพ 24 ชั่วโมง เพิ่มความสะดวกสบายทั้งผู้ใช้บริการและบุคลากรทางการแพทย์”

    ผศ.นพ.วีรยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า “พญาไท พหลโยธิน ต้องการเปลี่ยนภาพลักษณ์จากโรงพยาบาลที่คนมารักษาโรคเป็นสถานที่สำหรับช้อปปิ้งสุขภาพ เน้นการสร้างเสริม Health & Wellness ในทุกมิติ การรีแบรนด์นี้ยังช่วยลดความหนาแน่นของผู้ใช้บริการที่ พญาไท 1 และ พญาไท 2 ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ Mass Transit (สายสุขุมวิท) ทั้งสองโรงพยาบาลจะร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้และทรัพยากรทางการแพทย์ด้วยบริการแบบ Hospitality เพิ่มประสิทธิภาพการดูแลทุกเพศทุกวัยได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น”

    ผศ.นพ.วีรยะ กล่าวต่อว่า พญาไท พหลโยธิน ได้พัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศด้านการแพทย์ 5 ศูนย์ เพื่อยกระดับการรักษาที่มีคุณภาพด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ประกอบด้วย

    -ศูนย์ศัลยกรรมโรคในช่องท้อง : ให้บริการผ่าตัดแบบส่องกล้องขั้นสูง แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว

    -สถาบันกระดูกและข้อ : นำเทคโนโลยีผ่าตัดกระดูกสันหลังแบบส่องกล้อง และการซ่อมแซมข้อไหล่ ข้อศอก และข้อเข่า สำหรับผู้บาดเจ็บจากการเล่นกีฬา การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและข้อสะโพก เป็นต้น

    -ศูนย์ทันตกรรม Digital Dental : ใช้นวัตกรรมดิจิทัลในการรักษาด้านทันตกรรม

    -ศูนย์ Let’s talk : ให้บริการ ปรึกษาปัญหาสุขภาพใจ พร้อมพื้นที่ทำกิจกรรมบำบัดในบรรยากาศอบอุ่นและปลอดภัย

    -ศูนย์ Love Space : ดูแลสุขภาพเพศ พื้นที่ Safe Zone สำหรับทุกคน สามารถรับคำปรึกษาผ่าน Telecare ได้

    นอกจากนี้ยังมีศูนย์บริการเฉพาะทางอื่นๆ เช่น ศูนย์พัฒนาการเด็กและศูนย์ตรวจสุขภาพครบวงจร เพื่อส่งเสริม Well-being ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงผู้ใหญ่



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ‘พฤกษา’ ลุยธุรกิจสุขภาพ พลิกโฉมเทพธารินทร์สู่ ‘รพ.วิมุต-เทพธารินทร์’ เตรียมเปิดร้านขายยา-รพ.เฉพาะทาง-รพ.ผู้สูงอายุ

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine