แม้ว่าเทรนด์คนโสดจะกลายเป็นหนึ่งในวิกฤตด้านโครงสร้างสังคมและประชากรศาสตร์ แต่สังคมตัวคนเดียวและเศรษฐกิจคนโสด ก็กำลังนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ
คนทั่วโลกเลือกที่จะอยู่เป็นโสดมากขึ้นเรื่อยๆ
ปัจจุบันจำนวนคนโสดในหลายประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ (United Nations) ที่ระบุว่า ในปีที่ผ่านมา (2023) มีคนโสดทั่วโลกมากถึงราว 2.12 พันล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 4 ของจำนวนประชากรทั้งหมด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 3 พันล้านคน ภายในปี 2030
โดยจากข้อมูลล่าสุดในปี 2023 พบว่า ประเทศที่มีสัดส่วนคนโสดต่อประชากรมากที่สุดในโลกคือ เดนมาร์ก โดยอยู่ที่ 24.1% ของจำนวนประชากร รองลงมาคือ ฝรั่งเศสและฟินแลนด์ ที่ 22.8% และ 19.6% ตามลำดับ ซึ่งจะเห็นว่าประเทศที่ติด 10 อันดับแรกเกือบทั้งหมดอยู่ในทวีปยุโรป
ซึ่งนอกจากจะเป็นผลมาจากความไม่พร้อมในการสร้างครอบครัวจากปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้าแล้ว ยังมีพื้นฐานมาจากวัฒนธรรมในเรื่องการให้ความสำคัญกับความเป็นตัวตน (Individualization) ที่ชัดเจนและหยั่งรากลึกในสังคมยุโรปมาอย่างยาวนาน ขณะที่ในฝั่งเอเชียพบว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีสัดส่วนคนโสดสูงที่สุด และอยู่ในอันดับที่ 15 ของโลก โดยอยู่ที่ราว 15.5% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ
ไทยเองก็กำลังกลายเป็นสังคมแห่งคนโสด
คนไทยเองก็มีแนวโน้มแต่งงานลดลงและเลือกที่จะใช้ชีวิตตัวคนเดียวมากขึ้นไม่ต่างจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากค่านิยมและทัศนคติของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการใช้ชีวิตที่อิสระ มีโลกส่วนตัวมากขึ้น รวมไปถึงเหตุผลด้านความไม่พร้อมทางเศรษฐกิจและความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงด้านหน้าที่การงาน
ประเด็นเหล่านี้ส่งผลให้คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่มีแนวโน้มครองตัวเป็นโสดมากขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่เปิดเผยว่า คน Gen Y มีค่านิยมครองตัวเป็นโสด ไม่สมรส ไม่มีลูก และมุ่งทำงานเพื่อความสำเร็จ หรือให้ความสำคัญกับงานมากกว่าครอบครัวนั่นเอง สะท้อนได้จากสถิติการจดทะเบียนสมรสในไทยที่มีแนวโน้มปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง
โดยพบว่าในช่วงระหว่างปี 2013-2022 อัตราการจดทะเบียนสมรสของคนไทยลดลงจาก 13.1 คู่ต่อพันครัวเรือน ในปี 2013 มาอยู่ที่ 11.3 คู่ต่อพันครัวเรือนในปี 2022 ซึ่งคาดว่าส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้ต้องมีการเลื่อนการจัดงานแต่งงานและการจดทะเบียนสมรสออกไปก่อนในช่วงปี 2020-2021 ก่อนจะกลับมาเพิ่มสูงขึ้นในปี 2022 แต่ตัวเลขดังกล่าวก็ยังคงอยู่ต่ำกว่าสถิติการจดทะเบียนสมรสในอดีตอีกพอสมควร
นอกจากนี้ในทางกลับกัน ข้อมูลสถิติของกรมการปกครองยังบ่งชี้ว่า คนไทยมีแนวโน้มหย่าร้างเพิ่มขึ้นอีกด้วย โดยอัตราการจดทะเบียนหย่าเพิ่มสูงขึ้นจาก 4.7 คู่ต่อพันครัวเรือน ในปี 2013 มาอยู่ที่ 5.4 คู่ต่อพันครัวเรือนในปี 2022 สูงที่สุดในรอบ 10 ปี
ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสะท้อนถึงโครงสร้างของครัวเรือนในไทยที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งในแง่ขนาดของครัวเรือน (Household size) โดยเฉลี่ยที่เล็กลงเรื่อยๆ รวมถึงสัดส่วนครัวเรือนที่อยู่อาศัยคนเดียว (Single person household) ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ครัวเรือนที่อยู่อาศัยคนเดียวนั้นส่วนใหญ่คือกลุ่มคนโสดนั่นเอง
ปรากฏการณ์คนโสดที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลกไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่มีสาเหตุที่คล้ายคลึงกันจากหลายปัจจัย ทั้งนี้เหตุผลสำคัญประการแรกคือ การขยายตัวของสังคมเมือง (Urbanization) ที่มีส่วนทำให้คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมืองใหญ่มีแนวโน้มที่จะครองตัวเป็นโสดมากขึ้น
ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากวิถีชีวิตที่วุ่นวายและเร่งรีบ ทุ่มเทกับเรื่องการทำงานมากขึ้น จึงทำให้มีเวลาส่วนตัวน้อยลง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวทำให้ค่านิยมในเรื่องการแต่งงานหรือการมีครอบครัวของคนในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป
ประการต่อมาคือปัญหาความไม่พร้อมทางเศรษฐกิจ (Economic factor) ทั้งจากความไม่แน่นอนด้านรายได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งภาระทางการเงินต่างๆ ที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจากผลสำรวจในต่างประเทศพบว่า ปัจจัยข้อนี้เป็นสิ่งที่คนกลุ่ม Gen Y และคนรุ่นใหม่ๆ ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิต ความสัมพันธ์กับคนรอบตัว และความสามารถในการสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์แบบในอนาคต
และประการสุดท้าย คือมุมมองเกี่ยวกับโลกและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาและความวุ่นวายต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งปัญหาด้านสังคมและปัญหาอาชญากรรมต่างๆ ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน จนทำให้คนรุ่นนี้ไม่อยากให้คนรุ่นต่อไปต้องเกิดมาเผชิญกับปัญหาเหล่านี้ และต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากในอนาคต
คนโสดกลายเป็นกลุ่มผู้บริโภคหลัก
กระแสคนโสดดังกล่าว ส่งผลให้ประชากรกลุ่มนี้กลายเป็นผู้บริโภคหลักในตลาดที่มีศักยภาพสูงและน่าสนใจ นอกจากคนโสดจะเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่กำลังมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นทั่วโลกแล้ว ประชากรกลุ่มนี้ยังมีอำนาจในการจับจ่ายสินค้าและบริการสูง รวมทั้งยังมีแนวโน้มปรนเปรอตัวเอง (Self indulgence) และกล้าใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อความสุขให้ตัวเองมากกว่าผู้บริโภคกลุ่มอื่นอีกด้วย
ไม่ว่าจะเป็นการซื้อสินค้าแบรนด์เนมต่างๆ การซื้อรถยนต์ซื้อของเล่นหรือของสะสมราคาแพง การออกไปรับประทานอาหารอร่อยๆ นอกบ้าน การเข้าคลินิกเสริมความงามหรือสปา การเดินทางท่องเที่ยวหรือผจญภัยเพื่อซื้อประสบการณ์ที่แปลกใหม่ในชีวิตให้กับตัวเอง เป็นต้น หรือแม้แต่การใช้จ่ายเงินเพื่อพัฒนาและยกระดับความรู้ความสามารถตัวเองเพื่อนำไปสู่ความก้าวหน้าในสายอาชีพมากขึ้น
ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนกลุ่มนี้มีภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ในชีวิตประจำวันน้อยกว่าคนที่มีครอบครัวแล้วและสามารถตัดสินใจใช้จ่ายเงินโดยไม่ต้องปรึกษาใคร จึงทำให้มีอิสระและมีความยืดหยุ่นในการใช้จ่ายเงินสูง
พฤติกรรมเหล่านี้นอกจากจะสะท้อนถึงความกล้าใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อความสุขให้ตัวเอง ก็ยังกลายเป็นโอกาสทางธุรกิจก้อนโตสำหรับผู้ประกอบการเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้ากระเป๋าหนักเหล่านี้
กระแสคนโสดนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ
กระแสคนโสดยังนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่กำลังเติบโตขึ้น และน่าจับตามอง ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสคนโสดนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ทั้งในส่วนของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ร้านอาหารสำหรับนั่งทานคนเดียว ธุรกิจจัดส่งวัตถุดิบพร้อมปรุง (Meal kits delivery) เพื่อตอบโจทย์คนโสดที่อยากทำอาหารทานเองแต่มีเวลาน้อย
โปรแกรมการท่องเที่ยว รวมทั้งห้องพักและกิจกรรมต่างๆ ที่เหมาะกับคนที่เดินทางท่องเที่ยวคนเดียว ที่อยู่อาศัยที่เหมาะและตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนโสด หรือแม้แต่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงเพื่อตอบโจทย์คนโสดขี้เหงา
ภาคธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัว
ผู้ประกอบการที่ต้องการคว้าโอกาสจากเทรนด์นี้ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดและโมเดลธุรกิจเพื่อนำเสนอสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์และตรงใจผู้บริโภคกลุ่มนี้ ภาคธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวและโมเดลในการทำธุรกิจเพื่อรองรับตลาดคนโสด ทั้งในเรื่องความต้องการที่มีความเฉพาะเจาะจงและแตกต่างจากผู้บริโภคกลุ่มอื่นในตลาด ไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิต รวมไปถึงการปรับกลยุทธ์ทางการตลาดให้มีความเฉพาะเจาะจงและเหมาะสมมากยิ่งขึ้นเพื่อให้โดนใจลูกค้ากลุ่มนี้
เพราะนอกจากจะเป็นการรองรับความต้องการจากตลาดในประเทศที่เติบโตขึ้นแล้ว ยังสามารถขยายตลาดไปเจาะกลุ่มลูกค้าในต่างประเทศได้อีกด้วย ท่ามกลางจำนวนคนโสดทั่วโลกที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นทุกขณะ
บทวิเคราะห์จาก SCB EIC โดย โชติกา ชุ่มมี ผู้จัดการกลุ่มธุรกิจสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการผลิต
อ่านเพิ่มเติม : แรงงานสูงวัย กองหนุนองค์กรสู่ความยั่งยืน
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine