แรงงานสูงวัย กองหนุนองค์กรสู่ความยั่งยืน - Forbes Thailand

แรงงานสูงวัย กองหนุนองค์กรสู่ความยั่งยืน

จากรายงานของเจเนอเรชัน และ OECD พบว่า แรงงานที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านองค์กรไปสู่ความยั่งยืน แต่กลับเป็นแรงงานที่ถูกมองข้ามเพราะอคติของนายจ้าง ย้อนแย้งกับการจ้างงานในสหรัฐและยุโรปที่มองว่าแรงงานกลุ่มนี้รับมือกับเทคโนโลยีได้ดีเทียบเท่าคนรุ่นใหม่


    เจเนอเรชัน (Generation) เครือข่ายไม่แสวงหาผลกำไรระดับโลกที่มุ่งส่งเสริมการจ้างงาน และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) มีข้อเสนอแนะว่า นายจ้างจำเป็นต้องเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับผู้สมัครงานในช่วงกลางของอาชีพ (midcareer) และผู้สมัครงานสูงวัย

    จากรายงานในหัวข้อ "โอกาสในช่วงกลางของอาชีพ รับมือกับความท้าทายของแรงงานสูงวัย" (Midcareer Opportunity: Meeting the challenges of an ageing workforce) ได้สรุปข้อมูลเชิงลึกที่ได้มาจากการรวบรวมข้อมูลโดย OECD และจากการสำรวจนายจ้าง ผู้สมัครงาน และลูกจ้างหลายพันคนใน 8 ประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา พบว่า ผู้ที่มีอายุระหว่าง 45-64 ปี คิดเป็นสัดส่วน 40% ของแรงงานทั้งหมดในประเทศสมาชิก OECD ณ ปี 2563 เทียบกับเพียง 28% ในปี 2533 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบุคลากรมากความสามารถในช่วงอายุดังกล่าวมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น



    "แรงงานสูงวัยถือเป็นทรัพยากรที่มีค่า เมื่อพิจารณาจากทักษะ ประสบการณ์ และความมุ่งมั่นตั้งใจของแรงงานกลุ่มนี้" สเตฟาโน สการ์เปตตา (Stefano Scarpetta) ผู้อำนวยการฝ่ายการจ้างงาน แรงงาน และกิจการสังคมของ OECD กล่าวและว่า การรักษาคนกลุ่มนี้ไว้ถือเป็นกุญแจสำคัญในการรักษามาตรฐานการครองชีพระดับสูงในประเทศสมาชิกของเรา ปัจจุบันธุรกิจต่างๆ กำลังประสบความยากลำบากในการสรรหาบุคลากร จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่ทุกฝ่ายจะต้องพยายามมากขึ้นเพื่อทำให้พนักงานทุกคนมีอาชีพการงานที่ประสบความสำเร็จและยืนยาว โดยไม่มีอคติเรื่องอายุ

    แต่อย่างไรก็ตาม รายงานแสดงให้เห็นด้วยว่านายจ้างไม่คว้าโอกาสนี้ โดยนายจ้างเกือบ 40% ต้องการจ้างคนอายุ 20-29 ปี และเกือบครึ่งหนึ่ง (47%) ต้องการจ้างคนอายุ 30-44 ปี ขณะที่มีเพียงหนึ่งในสาม (35%) ที่ต้องการจ้างคนอายุ 45-54 ปี และมีเพียง 13% ที่ต้องการจ้างคนอายุ 55-65 ปี

    ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่มีอายุ 45-64 ปี จึงมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในกลุ่มผู้ว่างงานระยะยาว โดยในประเทศที่สำรวจ ได้แก่ สาธารณรัฐเช็ก ฝรั่งเศส เยอรมนี โรมาเนีย สเปน สวีเดน สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา คนช่วงวัยดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 44% ของผู้ว่างงานระยะยาวในปี 2563 เพิ่มขึ้นจาก 36% ในปี 2543


นายจ้างมองสูงวัยทำงานได้ดีเท่าพนักงานอายุน้อย

    แม้ว่านายจ้างจะให้ความสำคัญกับประสบการณ์ แต่ข้อได้เปรียบนี้ก็ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป โดยในการสำรวจ ผู้จัดการฝ่ายบุคคลมีแนวโน้มที่จะสัมภาษณ์ผู้ที่มีประสบการณ์ 5 ปี พอๆ กับผู้ที่มีประสบการณ์ 25 ปี

    สาเหตุสำคัญ คือความกังวลว่าผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไปจะไม่สามารถปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ โดยนายจ้างมากกว่าครึ่ง (52%) มองว่าคนอายุ 30-44 ปีมีทักษะด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับการทำงาน แต่มีเพียง 30% ที่มีมุมมองเช่นนี้ต่อคนอายุ 45 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ นายจ้างยังเชื่อว่าผู้สมัครงานในช่วงกลางของอาชีพและผู้สมัครงานสูงวัยมีแนวโน้มน้อยกว่าคนอายุน้อยในการลองเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ


    อย่างไรก็ดี ยังคงมีความย้อนแย้งเกี่ยวกับอายุของพนักงาน โดยพบว่านายจ้างให้ความสำคัญมากกับพนักงานอายุ 45 ปีขึ้นไปที่มีอยู่แล้วในองค์กร โดยนายจ้าง 89% มองว่าพนักงานในช่วงกลางของอาชีพและพนักงานสูงวัยที่อยู่ในองค์กรอยู่แล้ว สามารถทำงานได้ดีพอ ๆ กันหรือดีกว่าพนักงานอายุน้อย และเรียนรู้ได้เร็วพอ ๆ กัน (83%)

    "นายจ้างกำลังมองข้ามผู้สมัครงานมากความสามารถที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป" โมนา มัวร์เชด (Mona Mourshed) ซีอีโอระดับโลกของเจเนอเรชัน กล่าวว่า มีหลักฐานมากมายที่แสดงให้เห็นว่าพนักงานอายุ 45 ปีขึ้นไป สามารถประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานได้ โดยนายจ้างสามารถเติมเต็มตำแหน่งงานที่จำเป็นและเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรได้ด้วยการเปลี่ยนแนวปฏิบัติในการจ้างงานเพื่อรองรับผู้สมัครงานทุกวัย

    ผู้สมัครงานในช่วงกลางของอาชีพและผู้สมัครงานสูงวัยรู้สึกถึงอคติด้านอายุอย่างชัดเจน โดยไม่คำนึงถึงระดับการศึกษา ผู้สมัครงานมากกว่าครึ่งหนึ่ง (53-54%) รู้สึกว่าการหางานทำได้ยาก โดยอายุคืออุปสรรคที่พบบ่อยที่สุด

    ผลการวิจัยยังตอกย้ำถึงความไม่สอดคล้องกันระหว่างสิ่งที่นายจ้างให้ความสำคัญมากที่สุดกับการวางตัวในที่ทำงานของพนักงานที่อยู่ในช่วงกลางของอาชีพและพนักงานสูงวัย โดยนายจ้างให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการฝึกอบรมและยกระดับทักษะอย่างต่อเนื่อง แต่พนักงานที่อยู่ในช่วงกลางของอาชีพและพนักงานสูงวัยมักเชื่อว่าประสบการณ์การทำงานเพียงอย่างเดียวเป็นข้อพิสูจน์ถึงความพร้อมในการทำงาน โดยมีไม่ถึง 1 ใน 4 ที่เข้าร่วมการฝึกอบรมในช่วงสามปีที่ผ่านมา และพบว่าการเข้าร่วมการฝึกอบรมลดลงตามอายุ ไม่ว่าพนักงานจะมีการศึกษาระดับใดก็ตาม

    อุปสรรคอย่างหนึ่งอาจเป็นเพราะการเข้าถึงโอกาสเหล่านี้ เพราะมีนายจ้างเพียงครึ่งหนึ่ง (53%) ที่เสนอการฝึกอบรมให้แก่พนักงาน ส่งผลให้พนักงานต้องค้นหาทางเลือกอื่น ๆ ด้วยตัวเอง

    นอกจากนี้ พนักงานอายุ 45 ปีขึ้นไปไม่ได้สมัครงานในที่ที่เหมาะสม โดยนายจ้างมักหาพนักงานผ่านบริษัทจัดหางาน ผ่านการแนะนำ และผ่านลิงด์อิน (LinkedIn) แต่ในขณะที่นายจ้าง 50% ใช้ลิงด์อิน กลับมีพนักงานสูงวัยเพียง 24% ที่นิยมใช้ลิงด์อินเป็นช่องทางสมัครงาน

    สำหรับประเทศไทย ตัวเลขจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า ผู้ว่างงานในไตรมาสสอง ปี 2566 มีจำนวน 4.3 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.06 ลดลงจากไตรมาสสอง ปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.37 โดยผู้ว่างงานส่วนใหญ่จะอยู่ในอายุ 15 – 19 ปี ว่างงานร้อยละ 7.8 ขณะที่อายุ 20 – 24 ปี ว่างงานร้อยละ 6.41



อ่านเพิ่มเติม : 10 อันดับมหาเศรษฐีผู้มั่งคั่งที่สุดในอเมริกาแห่งทำเนียบ Forbes 400 ประจำปี 2023

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine