‘สยามคูโบต้า’ ปิดปี 2567 กวาดรายได้ 62,000 ล้านบาท - Forbes Thailand

‘สยามคูโบต้า’ ปิดปี 2567 กวาดรายได้ 62,000 ล้านบาท

บริษัทเครื่องจักรกลการเกษตรสัญชาติญี่ปุ่นที่อยู่คู่ภาคเกษตรไทยมายาวนานอย่าง ‘สยามคูโบต้า’ ยังคงสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดประกาศรายได้ปี 2567 ปิดยอดขายรวมที่ 62,000 ล้านบาท โต 7% ส่วนปีนี้เตรียมเปิดตัวแทรกเตอร์และรถเกี่ยวนวดข้าวใหม่ คาดการณ์ยอดขายแตะ 67,000 ล้านบาท


    คาซึโนริ ทานิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เผยผลประกอบการปี 2567 ยอดขายมูลค่ารวมปิดที่ 62,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนธุรกิจในประเทศ 60% และต่างประเทศ 40%

    “แม้สภาพภูมิอากาศในปีนี้ค่อนข้างแปรปรวน แต่ราคาสินค้าเกษตรโดยรวมยังทรงตัวในเกณฑ์ดี ผนวกกับนโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมการทำเกษตรแบบสมัยใหม่เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของเกษตรกร จึงทำให้ยอดขายของบริษัทฯ โดยรวมเติบโตขึ้น 7% อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจต่างประเทศที่เติบโตถึง 29% ส่วนในประเทศที่มีรายได้ 39,000 ล้านบาทนั้นลดลง 3%”

    แม้ภาพรวมยอดขายในประเทศจะลดลง แต่สยามคูโบต้ายังคงครองมาร์เก็ตแชร์อันดับ 1 ในไทยด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดกว่า 70-80%

คาซึโนริ ทานิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด


    สำหรับปีนี้สยามคูโบต้าคาดการณ์ยอดขายรวมโตขึ้นราว 8% ตั้งเป้าอยู่ที่ 67,000 ล้านบาท และตั้งเป้าครองมาร์เก็ตแชร์ 70-80% ในไทยไว้ให้ได้ โดยรายได้ส่วนใหญ่ยังคงมาจากรถแทรกเตอร์ รถเกี่ยว และโดรน ตามลำดับ

    ทั้งนี้ ปัจจัยบวกต่างๆ ที่มีผล อาทิ ธุรกิจผู้ให้บริการด้านการเกษตร (Service Provider) ที่มีแนวโน้มการเติบโตขึ้น รวมถึงโครงการส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิตภาคเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) ของภาครัฐ

    นอกจากนี้ภาคการเกษตรในอาเซียนมีแนวโน้มเติบโตขึ้นด้วยปัจจัยที่เน้นการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ และเพิ่มผลิตภัณฑ์โซลูชันใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า ตลอดจนการขยายสินค้าให้หลากหลายครบวงจร

    คาซึโนริ กล่าวอีกว่า ปีนี้สยามคูโบต้าเดินหน้าผลักดันนโยบายหลักมุ่งสู่การเป็น Global Major Brand ด้วยแนวคิด Champion Data เพื่อสร้างสถิติใหม่และรักษาความเป็นที่หนึ่ง Forever ONE ในการเป็นผู้นำเครื่องจักรกลการเกษตรและนวัตกรรมการเกษตรของประเทศไทย ด้วย 4 ปัจจัยสำคัญคือ

    1. การพัฒนาเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ด้วย Smart Farming

    2. เสริมสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจ ขยายตลาดจากเอเชียสู่ระดับโลก

    3. บริหารจัดการตามหลัก K-ESG ยกระดับความปลอดภัย สุขภาพพนักงาน และธรรมาภิบาล พัฒนานวัตกรรมเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และลดก๊าซเรือนกระจก

    4. พัฒนาและขยายผลิตภัณฑ์ ยกระดับความพรีเมียมของสินค้าที่ตอบโจทย์ลูกค้าด้วยคุณภาพและความคุ้มค่าของราคา


    วราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส กล่าวว่า GDP ภาคการเกษตรในปี 2567 มีการหดตัวเล็กน้อยราว 1.1% เมื่อเทียบกับปี 2566 เนื่องจากผลกระทบของสภาพอากาศที่แปรปรวนทั้งเอลนีโญ่และลานีญ่า ทำให้ในช่วงเดือนมกราคม - กันยายน 2567 มีสภาพแห้งแล้งส่งผลต่อผลผลิต

    อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวได้ถึง 1.8% - 2.8% โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือ ปริมาณน้ำฝนสะสมที่เพิ่มขึ้นจากลานีญ่า ผลผลิตภาคการเกษตรคาดว่าจะมีแนวโน้มดีขึ้น

สำหรับ GDP ภาคการเกษตรในประเทศกัมพูชาและลาวคาดว่าจะเติบโต 1.4% และ 3.1% ตามลำดับ โดยเฉพาะสินค้าหลักประเภทข้าวมีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากราคาที่ดีและปัญหาภัยแล้งคลี่คลายเป็นผลจูงใจให้เกษตรกรปลูกเพิ่มขึ้น

วราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส


    “สำหรับการดำเนินธุรกิจในปีนี้ สยามคูโบต้าวางกลยุทธ์ Perform and Transform เพิ่มประสิทธิภาพ สู่การเปลี่ยนอนาคตที่ยั่งยืนใน 4 ด้าน คือ

    1. Empower with Eco System รักษาความแข็งแกร่งด้านการแข่งขัน สร้างคุณค่าในสินค้าตลอดอายุการบริการ

    2. Driving growth with precision farming ขยายตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรอย่างต่อเนื่องร่วมกับการขับเคลื่อนไปสู่เกษตรแม่นยำ (Precision Farming)

    3. ESG for Sustainability ผลักดัน ESG เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืนในภาคเกษตร และสร้างคุณค่าในระยะยาวให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคน

    4. Transforming Efficiency with AI ใช้ AI ในการพัฒนากระบวนการผลิต รวมถึงการพัฒนาให้เป็นโรงงานสีเขียว และพัฒนาบุคลากรภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพ

    ทั้งนี้ สยามคูโบต้ายังคงมุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจไปพร้อมกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมมาตรฐานสากล ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน Sustainable Development Goals (SDGs) โดยสนับสนุนการบรรลุเป้าหมาย Nationally Determined Contributions (NDCs) หรือเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่แต่ละประเทศตั้งขึ้น

    อีกทั้งยังมุ่งลดก๊าซเรือนกระจกในระดับองค์กรโดยการใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งในปี 2568 คาดว่าจะมีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนทั่วทั้งองค์กร 40% รวมทั้งปรับปรุงระบบเครื่องจักรขององค์กรต่างๆ ส่งเสริมการนำน้ำกลับมารีไซเคิลใช้ใหม่ในกระบวนการผลิต

    พร้อมกันนี้ในระดับ Supply Chain รวมถึงระดับสังคม ได้สานต่อแผน NET ZERO EMISSION มุ่งมั่นสร้างโลกเกษตรที่ยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ผ่านการสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ สำหรับเกษตรกร อาทิ โครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn) ส่งเสริมการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง การวิจัยและส่งเสริมการใช้ Biochar เป็นวัสดุปรับปรุงดินในภาคการเกษตร เพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมี ลดการใช้น้ำ ลดต้นทุนการผลิต

    “นอกจากนี้ สยามคูโบต้ายังได้ส่งเสริมการสร้างบุคลากรทางการเกษตรตั้งแต่ระดับเยาวชน Smart Farmer และเกษตรกร ภายใต้แนวคิด สร้างรายได้ สร้างอาชีพ ผ่านโครงการความร่วมมือกับภาคีต่างๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรมีความยั่งยืนและมั่นคงในอาชีพ สร้างความเข้มแข็งในภาคการเกษตรอีกด้วย” วราภรณ์กล่าว


    ขณะที่ ปุณนะ วงศ์ธนาศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการทั่วไป สายงานขาย การตลาดและบริการ กล่าวถึงภาพรวมของตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรในปี 2567 เติบโตขึ้นเล็กน้อยแม้จะเผชิญสถานการณ์ Climate Change แต่ราคาพืชเศรษฐกิจหลักยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี

    ทั้งนี้สยามคูโบต้ายังรักษาความเป็นผู้นำในตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรของประเทศไทย และยังคงมุ่งมั่นพัฒนาสินค้าที่หลากหลายเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกร อาทิ โดรนการเกษตรที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใหม่และเป็นที่ต้องการมาก อีกทั้งยังได้รับการส่งเสริมให้ใช้งานอย่างแพร่หลายจากภาครัฐบาลตามนโยบายโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล

    “สำหรับกลยุทธ์การตลาดของสยามคูโบต้าในปี 2568 เตรียมมุ่งมั่นผนึกกำลังเพื่อร่วมสร้างมิติใหม่ของการดูแลลูกค้าให้เกิดเป็น Seamless Organization ภายใต้กลยุทธ์ ‘ดูแลด้วยใจ ไม่มีที่สิ้นสุด Customer infinity LOOP’ ไม่ว่าจะเป็น เน้นการสื่อสารที่สร้างความแตกต่างและความภาคภูมิใจให้กับลูกค้า, ทำกิจกรรมการตลาดผ่านการเปิดตัวสินค้าใหม่ เตรียมลงพื้นที่ทั่วไทย 1 อำเภอ 1 กิจกรรม, ดูแลลูกค้าหลังการขายทั้งการบริการและอะไหล่ ‘ซื้อแล้วไม่มีวันทอดทิ้ง’ เป็นต้น

ปุณนะ วงศ์ธนาศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการทั่วไป สายงานขาย การตลาดและบริการ


    ขณะที่แผนการเปิดตัวสินค้าใหม่ในปีนี้ สยามคูโบต้าเตรียมยกกองทัพสินค้าใหม่ เพื่อตอบโจทย์เกษตรกรไทย อาทิ แทรกเตอร์รุ่นเรือธงใหม่ L-series ยอดนิยม และรถเกี่ยวนวดข้าวรุ่นใหม่ DC-120X ทำงานได้ต่อเนื่องด้วยเครื่องยนต์ระบบคอมมอนเรล เก็บเกี่ยวได้เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งเตรียมเปิดตัวในไตรมาสนี้

    นอกจากนี้ยังมีแทรกเตอร์รุ่น M7-172 ขนาด 173 แรงม้า นวัตกรรมและขุมพลังเพื่อตอบโจทย์กลุ่มเกษตรกรไร่อ้อยขนาดใหญ่ ทั้งนี้สยามคูโบต้ามั่นใจว่าจะรักษาความเป็น Forever ONE ในตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรของไทยได้อย่างยั่งยืน



ภาพ: สยามคูโบต้า



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เพราะคนไทยชอบซื้อของใกล้บ้าน! เหตุผล ‘อิเกีย’ บุกเชียงใหม่ ลุ้นร่วมกับ ‘ซีพี-ดีแคทลอน’ ไปจังหวัดอื่นเพิ่ม

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine